An Education บทเรียนชีวิต (เอ็กซิสเทนเชียลิสม์)




An Education
บทเรียนชีวิต (เอ็กซิสเทนเชียลิสม์)

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 10 มกราคม 2553


*An Education คือหนึ่งในหนังที่จะผ่านหูผ่านตาบ่อยครั้งในฤดูแจกรางวัลช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะการแสดงของ คารีย์ มัลลิแกน ในบทสาวน้อยวัยเรียนซึ่งพร้อมจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว กระทั่งน่าจะส่งให้เธอไปไกลถึงเวทีใหญ่อย่างออสการ์เลยทีเดียว

องค์ประกอบที่น่าสนใจของหนังอังกฤษเรื่องนี้ยังอยู่ที่บทภาพยนตร์ของ นิค ฮอร์นบี นักเขียนเจ้าของผลงานที่เคยถูกสร้างเป็นหนังดังอย่าง High Fidelity (2000) และ About a Boy (2002) คราวนี้ฮอร์นบีเขียนบทโดยดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำของ ลินน์ บาร์เบอร์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสชาวอังกฤษ ฉากหลังของเรื่องจึงไม่ใช่เวลาปัจจุบัน แต่ย้อนไปยังช่วงต้นทศวรรษ 1960

อีกองค์ประกอบหนึ่งคือ โลน เชร์ฟิก ผู้กำกับหญิงชาวเดนมาร์กซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังปี 2000 เรื่อง Italian for Beginners ในฐานะผู้หญิงคนแรกที่ทำหนังแบบ “ด็อกมา 95” หรือการทำหนังให้บริสุทธิ์โดยปราศจากองค์ประกอบปรุงแต่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ด็อกมาของเชร์ฟิกในคราวนั้นดูจะประนีประนอมกับผู้ชมจนทำให้หนังดูง่ายและเป็นกันเองกว่าด็อกมาเรื่องอื่นๆ (เช่น The Idiots ของ ลาร์ส วอน ทริเยร์) ทั้งยังเป็นโรแมนติค-คอมิดี้ในโทนอบอุ่นอ่อนโยน เน้นบรรยากาศของผู้คนและสถานที่ การขยับมาทำหนังดรามาใสๆ เกี่ยวกับการก้าวผ่านวัยของเด็กสาวซึ่งโลกรอบตัวมีอิทธิพลต่อเธอโดยตรงจึงไม่ใช่การเปลี่ยนแนวทางที่ห่างไกลกันนัก

ฉากหลังคือชานกรุงลอนดอนปี 1961 ปีสุดท้ายในโรงเรียนมัธยมของ เจนนี (คารีย์ มัลลิแกน) เด็กสาวสดใสเฉลียวฉลาดซึ่งมีแผนการแน่ชัดว่าจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ตามความต้องการของพ่อ (อัลเฟรด โมลินา) และแรงหนุนหลังของครู กระนั้น เจนนีไม่ใช่เด็กเรียบร้อยหัวอ่อนว่านอนสอนง่ายไปหมดทุกเรื่อง บ่อยครั้งที่เธอเห็นแย้งและตั้งคำถามยอกย้อนด้วยอาการต่อต้านกับพ่อของเธอ แต่ที่สุดแล้วเธอทำตามที่พ่อบอกแต่โดยดี ไม่ใช่เพราะเห็นคล้อยตาม แต่เพราะเธอไม่เห็นความจำเป็นต้องปฏิเสธ

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเจนนีพบกับ เดวิด (ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) ชายที่มีอายุมากกว่าเธอนับสิบปี มีรสนิยมในการใช้ชีวิตฟู่ฟ่าโฉบเฉี่ยวอย่างที่เจนนีไม่เคยสัมผัส เขาพาเจนนีไปฟังคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิค เข้าไนต์คลับสไตล์แจ๊ซ ชมการประมูลภาพเขียน สนุกในสนามแข่งสุนัข แต่ละกิจกรรมล้วนแต่ทำให้เจนนีรู้สึกถึงรสชาติของชีวิตที่แท้จริง

ที่พิเศษสุดคือการพาไปเที่ยวที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส สถานที่ในฝันของเจนนีในวันที่เธออายุครบ 17 ปี และตัดสินใจละทิ้งความบริสุทธิ์ไว้ที่นั่น

เจนนีหลงใหลชื่นชมเดวิดมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าระหว่างนั้นเธอจะได้รับรู้ว่าเดวิดทำมาหากินแบบไม่ซื่อตรงนัก แต่นั่นก็ไม่สำคัญไปกว่าการเป็นผู้ชายที่ช่วยให้เธอรู้จักปลดปล่อยตนเองอย่างเต็มที่ กระทั่งเจนนีคิดได้ว่าเธอไม่ต้องการจมอยู่กับกิจวัตรซ้ำซากน่าอึดอัดอีกต่อไป และแผนการเรียนต่อไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากการเป็นจุดเริ่มต้นของความน่าเบื่อชั่วชีวิต

*เชร์ฟิกทำ An Education ได้อย่างมีชีวิตชีวาตามวันวัยของตัวละคร โดดเด่นตั้งแต่ฉากเครดิตเปิดเรื่องซึ่งผสมภาพกิจกรรมของนักเรียนหญิงกับลายเส้นภาพประกอบในตำรา บอกเล่าชีวิตวัยเรียนของเด็กสาวที่มีทั้งความบริสุทธิ์สดใสและความแก่นเซี้ยวซึ่งถึงอย่างไรก็ยังอยู่ในระบบการศึกษาที่วางเอาไว้

มองเผินๆ An Education คือหนังว่าด้วยการเติบโตทางความคิดและจิตใจในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยมอบทางเลือกให้แก่ตัวละครว่าการใช้ชีวิตตามแบบแผนที่ดีงามอย่างการศึกษา การประพฤติตนตามกฎกรอบต่างๆ อย่างเคร่งครัด กับชีวิตที่มีอิสระ ไม่ขึ้นกับกฎเกณฑ์ใดๆ นอกจากความพอใจของตนเอง ทางเลือกใดมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง

แม้ว่าเรื่องราวและบทสรุปดูจะมีคำตอบมอบให้ แต่อันที่จริงแก่นสารหลักของหนังไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวละครเด็กสาวเติบโตขึ้นด้วยการเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่อยู่ที่ว่าเธอได้โอกาสตัดสินใจเลือก เพราะไม่ว่าผลของการตัดสินใจนั้นจะเป็นด้านดีหรือร้าย สำคัญคือเด็กสาวจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองในที่สุด

ชื่อหนัง An Education จึงไม่ได้หมายถึงการศึกษาซึ่งเป็นเส้นทางชีวิตของตัวละคร แต่หมายถึงการได้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนชีวิต

ตรงแก่นสารของหนังนี่เองที่ทำให้ฉากหลังของหนังและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งฮอร์นบีใส่ไว้ในบทภาพยนตร์มีความหมายพิเศษขึ้นมา เริ่มจากฉากหลังปี 1961 ใช่เพียงหมายถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และอยู่ในช่วงเริ่มต้นยุคแสวงหา แต่ทศวรรษก่อนหน้านั้นของอังกฤษถือเป็นยุครุ่งเรืองของพรรคอนุรักษนิยมซึ่งกลับมามีอำนาจแทนพรรคแรงงานได้อีกครั้ง

อังกฤษในช่วงเวลาดังกล่าวแม้สภาพเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น แต่สถานะและบทบาทบนเวทีโลกกลับตกต่ำลง ทั้งการเสียท่าในวิกฤตคลองสุเอซ พลาดพลั้งและถูกกีดกันให้เข้าร่วมในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของยุโรปที่มีฝรั่งเศสของ ชาร์ลส์ เดอ โกล นำทีม เริ่มต้นให้เอกราชแก่ชาติแอฟริกาที่เคยเป็นอาณานิคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลองคิดเปรียบเทียบว่าหากพ่อของเจนนีและโรงเรียนที่เคร่งครัดคืออังกฤษยุครัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม เจนนีผู้หลงใหลฝรั่งเศสและฝันจะได้ไปปารีสย่อมแสดงถึงการอยู่ฟากฝั่งตรงข้าม หรืออาชีพของเดวิดที่ขนครอบครัวคนผิวดำไปอยู่ใกล้ๆ กับบ้านของคนชราเพื่อให้ย้ายหนีและยอมขายบ้านให้ในราคาถูก เหมือนเป็นการแก้เผ็ดพวกหัวเก่าที่ยังมองคนผิวสีเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่ำต้อยกว่าไม่ต่างจากอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม

อาการ “ขบถ” ของเจนนีทั้งต่อที่บ้านและโรงเรียนยังสะท้อนผ่านรสนิยมด้านศิลปะซึ่งล้วนแต่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงของ จูเลียต เกรโค นักร้องหญิงชาวฝรั่งเศสสาวกสไตล์ “โบฮีเมียน” และเป็นเพื่อนสนิทกับ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เจ้าปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism - มนุษย์ต้องมีเสรีภาพในการเลือก)

สไตล์โบฮีเมียนของเกรโคยังเป็นคำที่เชื่อมโยงกับศิลปะพรีราฟาเอลไลท์ของอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่อต้านการเขียนภาพแบบ “ศิลปะสถาบัน” และเจนนีชอบเป็นพิเศษ

ที่โรงเรียนเจนนีถูกครูเรียกเปรียบเทียบให้เป็น เจน แอร์ ตัวละครหญิงในวรรณกรรมอังกฤษชื่อเดียวกันของ ชาร์ล็อตต์ บรอนเต ตัวแทนของการยึดมั่นในคุณความดี แต่เจนนีกลับชอบอ่านวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง “คนนอก” ของ อัลแบร์ กามู ซึ่งปฏิเสธค่านิยมตายตัวตามแนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม

ไม่เพียงเท่านั้น ชื่อนักเขียนอย่าง ซี.เอส.ลูอิส ผู้เขียนหนังสือชุด “นาร์เนีย” (The Chronicles of Narnia) ยังถูกเจนนีและเดวิดนำมาอ้างถึงแบบมั่วๆ เพื่อโกหกพ่อ กระทั่งแสดงว่าทั้งสองไม่เคยแยแสนักเขียนอาวุโสเคร่งศาสนาคริสต์รายนี้ และเดวิดรู้ว่าควรอ้างถึงใครเพื่อเอาใจพ่อหัวเก่าของเจนนี

อย่างไรก็ตาม อาการขบถที่แสดงผ่านศิลปะต่างๆ อาจอธิบายได้ง่ายๆ ว่าเจนนีได้รับอิทธิพลจากกระแสทางวัฒนธรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคบีทช่วงทศวรรษ 1950 ในสหรัฐ

เพียงแต่การเรียนรู้ที่จะเลือกใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์อาจช่วยให้เธอเติบโตโดยไม่ต้อง “แสวงหา” อย่างไร้จุดหมายอีกแล้ว




 

Create Date : 07 มีนาคม 2553
15 comments
Last Update : 7 มีนาคม 2553 23:15:49 น.
Counter : 3746 Pageviews.

 

วันนี้แล้วสิครับ ออสการ์

เรื่องนี้เห็นคุณอาร์ต BdMd ให้คะแนนเต็ม

ผมคงได้ดูหลังการประกาศผลครับ อยากพิสูจน์การแสดงของ คารีย์ มัลลิแกน ^^

 

โดย: Seam - C IP: 203.144.144.164 8 มีนาคม 2553 9:18:59 น.  

 

อยากดูมากครับ เรื่องนี้ เขียนได้ดีมากเลยครับ

 

โดย: Swallowtail 8 มีนาคม 2553 11:41:55 น.  

 

อยากดูมากที่สุด ณ จุดนี้

 

โดย: เอกเช้า IP: 203.144.144.164 8 มีนาคม 2553 22:33:50 น.  

 

อยากดู ๆๆๆ

 

โดย: beerled IP: 203.144.144.164 10 มีนาคม 2553 13:48:06 น.  

 

พี่เอ้เช็คเมลค่ะ ^o^

 

โดย: ม่วน IP: 125.25.189.254 10 มีนาคม 2553 16:52:22 น.  

 

น่าดูนะเนี่ย

 

โดย: คนขับช้า 12 มีนาคม 2553 15:56:42 น.  

 

อยากดูมานานแ้ล้ว รอแผ่นไทยชื่อว่า "ปริญญารักไม่มีวันเรียนจบ" ให้ตายเถอะ -*-

 

โดย: McMurphy 13 มีนาคม 2553 17:06:02 น.  

 


^
^
555
แต่ก็ยังดีที่ออกแผ่นเรื่องนี้ครับ เสียดายไม่ได้เข้าโรง


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 14 มีนาคม 2553 3:08:59 น.  

 

ปริญญารักไม่มีวันเรียนจบ -- 5555555555

เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ดู (อีกแล้ว) ผมเพิ่งเคลียร์งานเสร็จครับ ว่าจะออกจากบ้านไปเก็บหนังออสการ์ซะหน่อย ปรากฏมีม็อบซะงั้น -_-'

 

โดย: merveillesxx 14 มีนาคม 2553 4:11:01 น.  

 

ตั้งชื่อไทยเหมือนหนังโป๊ญี่ปุ่นมากๆ - -*

ผมชอบเรื่องนี้ที่สุดในบรรดา 10 เรื่องหนังยอดเยี่ยม และก็ชอบที่สุดในสาขานักแสดงนำหญิงด้วย (แต่แซนดร้าได้ไปผมก็ไม่รังเกียจนะ อารมณ์มันเหมือนกับทุกคนรักเธอจริงๆ ไม่ได้สักแต่จะอวย แต่เป็นการให้ที่เธอเองก็รู้ว่า เพราะเธอคงไม่ได้มายืนตรงนี้อีกแล้วตลอดชีวิต ในขณะที่แครีย์เพิ่งจะอายุ 24) เสียดายที่ผู้กำกับไม่ติด ทั้งที่เธอออกจะกำกับได้เก๋ซะขนาดนี้แล้ว

+ โอลิเวีย วิลเลี่ยมส์ ในบทครูที่สนิทกับเจนนี่ แสดงได้ดีเหมือนโดนหมัดฮุคเลยทีเดียว ส่วน แซลลี่ ฮอว์กินส์ นี่ก็เซอร์ไำพรส์ผมชนิดลงไปนอนตายคาพื้นเวทีเลย ทำไปได้ (เอ็มมา ธอมป์สันยังสู้ไม่ได้ 55555)

ชอบส่วนที่เขียนโยงถึงศิลปินและนักปรัชญาคนต่างๆในตอนท้ายของบทความนี้มากครับ


ป.ล. เพิ่งกลับมาจากไต้หวัน เลยยังไม่ได้จัดการนาโนกายอวอร์ดต่อซักที คนอ่านเบื่อกันเต็มทนแล้วมั้งเนี่ย เฮ้อ

 

โดย: nanoguy IP: 118.173.97.122 14 มีนาคม 2553 8:24:48 น.  

 

"ปล.Hachiko ไม่ใช่แนวจริงๆ ครับ"
555

 

โดย: beerled IP: 203.144.144.164 14 มีนาคม 2553 12:36:47 น.  

 


ชอบงานเขียนชิ้นนี้ค่ะ


ชื่อไทย "ปริญญารักไม่มีวันเรียนจบ"
นึกถึง ปริญญาใจ ศิริพร อำไพพงษ์


 

โดย: renton_renton 14 มีนาคม 2553 13:25:57 น.  

 

ชื่อไทยน่าดูมากๆเลยค่ะ

 

โดย: dymeeina IP: 58.8.48.254 4 เมษายน 2553 18:09:27 น.  

 

ดูแล้วชอบเหมือนกันแต่ไม่เต็มร้อย

 

โดย: bim IP: 61.90.108.81 25 เมษายน 2553 15:39:28 น.  

 

วันนี้ เพิ่งได้ดูจากทรู ชอบมากเลยค่ะ ❤❤❤

 

โดย: คะน้า IP: 1.46.238.129 18 กันยายน 2560 14:23:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.