All Blog
‘แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง’สร้างรายได้ปีละกว่า 10 ล้านบาท


"สกลนคร"แหล่งผลิตมันฝรั่งอันดับ 1 ภาคอีสาน เกษตรกรรวมกลุ่ม ‘แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง’สร้างรายได้กลุ่มปีละกว่า 10 ล้านบาท


นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตมันฝรั่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร แหล่งผลิตมันฝรั่งอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกเป็นพืชเสริมรายได้จากการทำนาเป็นหลัก จากข้อมูล สศก. ณ เดือนพฤษภาคม 2566 จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง 1,783 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1,431 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.59)






 





 

เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสนับสนุนการปลูกมันฝรั่งหลังฤดูทำนาปี ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาราคาดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก พื้นที่ปลูกครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง พังโคน และโคกศรีสุพรรณ ผลผลิตรวม 5,438 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 5,930 ตัน (ลดลงร้อยละ 9.11) เนื่องจากมีฝนตกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงมันฝรั่งลงหัวส่งผลให้หัวมันเน่า


จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง บ้านโคกก่อง ตําบลโคกก่อง อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแปลงใหญ่มันฝรั่งหนึ่งเดียวในจังหวัดสกลนคร เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันผลิตมันฝรั่งจนประสบผลสำเร็จ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2545 ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 97 ราย พื้นที่ปลูกรวม 574 ไร่


โดยมีนายธาตุ คำสงค์ เป็นประธานแปลงใหญ่ ด้านสถานการณ์การผลิตของกลุ่ม เกษตรกรจะปลูกมันฝรั่งเป็นพืชหลังฤดูการทำนาปี ปีละ 1 รอบ ซึ่งในการปลูกมันฝรั่งเกษตรกรจะใช้หัวพันธุ์ในการเพาะปลูกประมาณ 250 - 325 กิโลกรัม/ไร่ ราคาหัวพันธุ์อยู่ที่ 26 - 35 บาท/กิโลกรัม หัวพันธุ์ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ มีระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน นิยมปลูกช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม





 





 

สำหรับในปี 2566 กลุ่มแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 23,590 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,090 กิโลกรัม/ไร่/ปี รวมผลผลิตทั้งกลุ่ม 1,774 ตัน/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 41,200 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,610 บาท/ไร่/ปี หากคิดเป็นกำไรของทั้งกลุ่มในการผลิตมันฝรั่งอยู่ที่ 10 ล้านบาท/ปี    


สถานการณ์การตลาด กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่ง โดยทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทมารับผลผลิตทั้งหมดที่ไร่ของเกษตรกร โดยในปี 2566 ราคาประกัน ณ ไร่นา ที่เกษตรกรขายได้ คือ เกษตรกรที่ทำสัญญาและเพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคม 2565 ราคาขายจะอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม


เกษตรกรที่ทำสัญญาและเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน ราคาขายจะอยู่ที่ 12.70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตที่ออกในช่วงแรกมีปริมาณน้อยทำให้ราคาสูงเป็นไปตามกลไกตลาด โดยหลังจากที่บริษัทรับซื้อผลผลิตแล้ว ผลผลิตจะถูกส่งไปยังห้องเย็นและโรงงานแปรรูปใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และพระนครศรีอยุธยา เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบและขนมขบเคี้ยว





 





 

ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อความยั่งยืน จากการที่แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่องเข้าร่วมโครงการกับบริษัททำให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น รวมถึงการกำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตามหลักตลาดนำการผลิต


โดยมีโครงการสนับสนุน ได้แก่ การศึกษาการลดต้นทุนปุ๋ยเคมี การศึกษาวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง การขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ และยกร่างการเกษตรพันธสัญญาที่ครอบคลุมและราคาที่เป็นธรรม อีกทั้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนครได้ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ฯ เข้าร่วมโครงการ เห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งเกิดความยั่งยืน


ในปี 2567 กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 600 ไร่ ตามนโยบายบริษัทและความต้องการตลาด อย่างไรก็ตาม ควรมีการเพิ่มองค์ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น





 






รวมถึงเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ดูแลรักษาคุณภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพ และควรเฝ้าระวังโรคของมันสำปะหลังที่อาจทำลายผลผลิตให้เสียหาย ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคเหี่ยวเขียว โรคเน่า โรคไวรัส และไส้เดือนฝอยรากปมมันฝรั่ง


หากท่านใดสนใจศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง หมู่ 2 บ้านโคกก่อง ตําบลโคกก่อง อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่นายธาตุ คำสงค์ ประธานแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง โทร 08 6234 3575 หรือ ติดต่อข้อมูลที่สํานักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร โทร 0 4273 3482




 



 



Create Date : 04 สิงหาคม 2566
Last Update : 4 สิงหาคม 2566 16:19:38 น.
Counter : 399 Pageviews.

0 comment
ติวเข้มรองนายทะเบียนลดข้อบกพร่องสหกรณ์


"กรมส่งเสริมสหกรณ์"ติวเข้มผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ เพิ่มพูนความเข้าใจ เสริมสร้างทักษะ เพิ่มศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้ ถูกต้องเหมาะสม พร้อมผลักดันสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบสหกรณ์มากขึ้น
     

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์” พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายด้านการกำกับแนะนำส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร” โดยมี ผู้ตรวจราชการกรม สหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้อำนวยการกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฝึกอบรม



 
     




 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ มีหน้าที่ความรับผิดชอบค่อนข้างมาก และมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องดูแลตั้งแต่การรับจดทะเบียนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การรับจดทะเบียนข้อบังคับ เห็นชอบการถือใช้ระเบียบ การสั่งให้ระงับการดำเนินการของสหกรณ์


การสั่งให้ผู้ตรวจการสหกรณ์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือกิจการของสหกรณ์ จนกระทั่งการสั่งเลิก การชำระบัญชี การกำกับผู้ชำระบัญชี และการถอนชื่อสหกรณ์และกลุ่มสหกรณ์ เน้นย้ำการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ ต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง


พร้อมทั้งพัฒนาสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เติบโตมีเงินทุน มีความเข้มแข็ง และในบางพื้นที่มีสหกรณ์หลายแห่ง ขอให้ควบรวมเป็นหนึ่งสหกรณ์ ให้มีสาขาอยู่ในพื้นที่ ลดจำนวนสหกรณ์ เพิ่มจำนวนสมาชิก มีความหลากหลายด้านอาชีพ เพิ่มและขยายธุรกิจ ส่งเสริมอาชีพและให้บริการสมาชิกอย่างเต็มที่ทั่วถึง ให้สินเชื่อที่ดีเหมาะสมกับสมาชิก ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น สหกรณ์ในประเทศไทยเข้มแข็ง เจริญขึ้น และเติบโตขึ้น






 





 

นอกจากนี้ ขอให้เร่งดำเนินการชำระบัญชี เลิกสหกรณ์ที่ไม่สามารถปิดบัญชี ดำเนินงานขาดทุนสะสม เป็นสหกรณ์เทียมที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ และไม่สามารถดำเนินงานได้ รวมทั้งมีปัญหาการทุจริตในสหกรณ์
   

ทั้งนี้ กรมฯ มีระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการช่วยเหลือดำเนินกิจการของสหกรณ์ พ.ศ. 2543 ที่สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือการดำเนินงานสหกรณ์ในด้านบริหาร กำกับดูแล และสั่งการดำเนินงานตามแผนสหกรณ์ พิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ด้านการจัดการ เข้าไปกำกับดูแล แนะนำสั่งการด้านธุรกิจ การเงิน บัญชี และการประชุม


รวมทั้งขอมอบหมายให้ไปช่วยเหลือสหกรณ์ตามบทบาทหน้าที่ ดำเนินการหาสหกรณ์เป้าหมายอย่างน้อย 1 แห่งในจังหวัดที่รับผิดชอบ และมอบหมายผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระเบียบฯ วัดผลสำเร็จ 1 ปี พร้อมกันนี้ต้องให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ด้วย


ขอให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์ทุกท่านทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ ดำเนินมาตรการตรวจสอบ สอบทานตามมาตรฐาน ประสานงานกับผู้สอบบัญชีอย่างใกล้ชิด สหกรณ์ต้องไม่ขาดทุน สมาชิกไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ พึงระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง มีความตระหนัก รอบรอบ มีกระบวนการ เทคนิคการตรวจสอบข้อเท็จจริง หาหลักฐานเอกสารประกอบการพิจารณาสั่งการ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ ระเบียน ข้อบังคับของสหกรณ์






 





 

รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ และขอให้นำความรู้ ทักษะ เทคนิค ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


โครงการฝึกอบรม หลักสูตร “ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายทะเบียนสหกรณ์”  กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 - 2 ผู้ตรวจราชการกรม วิทยากร ผู้สังเกตการณ์ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 110 คน


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้อำนาจรองนายทะเบียนสหกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมาย


แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ดุลยพินิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักกฎหมาย มีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันการเกิดข้อบกพร่องต่าง ๆ ในอนาคตได้ ทำให้สหกรณ์เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ส่งผลต่อการยกระดับชั้นของสหกรณ์ให้สูงขึ้นต่อไป




 




 



Create Date : 25 กรกฎาคม 2566
Last Update : 25 กรกฎาคม 2566 14:57:39 น.
Counter : 320 Pageviews.

0 comment
"สหกรณ์นิคมพนม"ปลูกปาล์มน้ำมันยั่งยืน RSPO รักษาสิ่งแวดล้อมราคาสูงสร้างรายได้มั่นคง

สมาชิกสหกรณ์นิคมพนม จำกัด สุราษฎร์ธานี รวมกลุ่มปลูกปาล์มน้ำมันยั่งยืน RSPO “Roundtable on Sustainable Palm Oil” สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิก มุ่งขยายผลความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง


นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนิรันต์ ศรีวิไล สหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสหกรณ์จังหวัดใกล้เคียง ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรของนายเจริญ เจริญนพคุณ สมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO หมู่ 3 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี





 





 
ในการนี้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO นั้น เป็นการผลิตปาล์มน้ำมันแบบรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ น้ำ สัตว์ป่า ถ้าเกษตรกรสามารถทำได้ตามมาตรฐานที่ RSPO กำหนด สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น และเกษตรกรสามารถขายเครดิตในลักษณะของกลุ่มได้ และที่นี่เป็นสหกรณ์ที่มีการขายเครดิต


นอกจากนี้มีภาคเอกชนที่เข้ามารับซื้อปาล์มในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่จะส่งไปยุโรป หรือส่งตลาดที่มีความต้องการสินค้าปลอดภัย จะต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการพัฒนาเกษตรกรไปด้วย


ขณะนี้มีจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชุมพรและกระบี่ ดำเนินการส่งเสริมกลุ่มในลักษณะ RSPO และมาเรียนรู้จากสหกรณ์นิคมพนม จำกัด ซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,200 คน รวมทั้งในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งท่าแซะ ปะทิว อ่าวลึก คลองท่อม ที่อยู่ใกล้ ๆ จะมาเรียนรู้การทำสวนปาล์ม RSPO มากขึ้น เพื่อขยายตลาดน้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพ และได้ราคาดีเพื่อให้เกษตรกรสามารถที่จะอยู่ได้ต่อไป


ในเรื่องของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ การทำการเกษตรเชิงเดี่ยวของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม ยางพารา เวลาราคาตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตของตัวเอง




 






 
เกษตรกรจะต้องปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีอาชีพหลากหลาย มีรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ส่วนหนึ่งถ้ามีหนี้สินก็สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งในขั้นต้นเกษตรกรมีอาหารบริโภคในแต่ละวัน ที่เหลือสามารถเก็บขายได้ เน้นการทำการเกษตรทำแบบรักษ์โลก ไม่เน้นเคมีมากเกินไป หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักมากขึ้น
 

นายเจริญ เจริญนพคุณ สมาชิกและกรรมการสหกรณ์นิคมพนม จำกัด กล่าวว่า ตนเองปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 16 ไร่ ตามมาตรฐาน RSPO และยังได้ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น ไม้ผล อื่น ๆ ในพื้นที่แปลงด้วย ทั้ง ทุเรียน มังคุด พริก พุทรา มะละกอ สับปะรด กล้วย ผักหวาน ไว้บริโภคในครัวเรือน และนำไปจำหน่าย สามารถสร้างรายได้หมุนเวียน เฉลี่ยสัปดาห์ละพันกว่าบาท


นอกจากนี้ ตนเองได้จดบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ในการทำสวนปาล์ม และจดบันทึกบัญชีครัวเรือนทำให้ทราบถึงรายรับ รายจ่าย โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานเครือข่ายเข้ามาช่วยดูแลแปลง การตรวจวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การบริหารจัดการแปลงด้วย
     

กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความเข็มแข็งให้สหกรณ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกไปสู่การกินดีอยู่ดี สมาชิกจะสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคายุติธรรม โดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกันทั้งด้านการผลิตและการตลาด สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่


รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานภายใต้การบูรณาการร่วมกันของภาครัฐและเอกชน จึงได้เกิดมีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน และนิคมสหกรณ์พนม ได้ ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การเตรียมการ การรวมกลุ่ม มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานและนำแผนไปปฏิบัติ





 




 

รวมทั้งมีการตรวจติดตาม ทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ จัดอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการสวนปาล์มให้ได้ปาล์มที่มีคุณภาพ การวิเคราะห์ดิน รวมทั้งมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ผลสำเร็จจากการดำเนินงานนั้น สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้ใบรับรองมาตรฐาน RSPO มีรายได้จากการขายเครดิต
     

สำหรับมาตรฐาน RSPO เป็นการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน มี 4 หลักการ ได้แก่ หลักการที่ 1 การเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพ ผลกระทบเชิงบวกและมีภูมิคุ้มกัน หลักการที่ 2 ความถูกต้องตามกฎหมาย การเคารพสิทธิในที่ดิน และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน หลักการที่ 3 เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิและสภาพแวดล้อมสำหรับคนทำงาน และหลักการที่ 4 ปกป้อง อนุรักษ์และเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม 
     

กลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด ได้มีการรวมกลุ่มผู้ปลูกปาล์มและจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำแผนปฏิบัติการตามมาตรฐาน RSPO ของแต่ละกลุ่ม และอบรมสมาชิกตามหัวข้อมที่มาตรฐานกำหนด สหกรณ์นิคมพนม จำกัด และได้เห็นถึงความสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


สิ่งสำคัญคือความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในพื้นที่เขตนิคมสหกรณ์ สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จึงได้ทำการเปิดโครงการ RSPO ว่าการจัดทำโครงการในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้สมาชิกมีความมั่นคง ยั่งยืนยิ่งขึ้น และสามารถจัดการบริหารสวนปาล์มน้ำมันได้อย่างเป็นระบบ




 





 



Create Date : 14 กรกฎาคม 2566
Last Update : 14 กรกฎาคม 2566 17:22:06 น.
Counter : 273 Pageviews.

0 comment
“กรมส่งเสริมสหกรณ์"ชูกลไกสหกรณ์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพสมาชิก


"อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์"ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เยี่ยมชมแปลงเกษตรของ 3 สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด เร่งเดินหน้าการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้สมาชิก ขยายผลสู่สหกรณ์ทั่วประเทศ พร้อมหนุนสหกรณ์ดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน    

      

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนิรันต์ ศรีวิไล สหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรของนายธำรง ใจงาม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด กลุ่ม 13 บ้านท่าเพชร ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมันและปลูกผัก และได้กู้เงินสหกรณ์ฯ เพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งทางครอบครัวสนใจในการปลูกผักสลัดเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน เพียง 1 กะบะ 





 





 

หลังจากนั้นขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง ผักสลัดเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมเยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสานของนายนิวิทย์ สุวรรณรัตน์ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด  โดยวัตถุประสงค์ในการเป็นสมาชิกครั้งแรกคือ ต้องการเงินทุนในการปลูกปาล์มน้ำมัน 

 

เมื่อปาล์มน้ำมันได้รับผลผลิต มีโอกาสได้ศึกษาดูงานกับสหกรณ์ฯ ตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายครั้ง เลยตัดสินใจล้มปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 7 ไร่ เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลาและปลูกผัก ครั้งแรกปลูกเสาวรส และเปลี่ยนจากเสาวรสมาเป็นพริกไทย ปลูกเสริมด้วยฝรั่งกิมจู และในคูน้ำร่องสวนเลี้ยงหอยขม ซึ่งรายได้จากสวนปาล์มน้ำมันนำมาส่งชำระหนี้สหกรณ์ ส่วนแปลง 7 ไร่ ทำไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

 

จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มแพะของนายสมบูรณ์  ปานนก สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด กลุ่ม 20 บ้านน้ำทรัพย์ ประกอบอาชีพทำสวนผัก และรับจ้างโรงงานยางพารา ต่อมาขอกู้เงินจากสหกรณ์ฯ เพื่อลงทุนในการเลี้ยงวัว


โดยในครั้งแรกเริ่มเลี้ยง 2 ตัวไว้ข้างบ้าน ต่อมาวัวออกลูกเพิ่มขึ้น และได้ขายมูลวัวเพื่อเป็นปุ๋ยคอก เลยมองเห็นช่องทางรายได้ และได้ขอกู้เงินจากสหกรณ์เพื่อนำไปซื้อที่ดินขยายพื้นที่เลี้ยงวัว ขณะนี้มีวัว 20 ตัว มีแพะ มีแกะ ปัจจุบันพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ของสหกรณ์และของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งให้ความรู้แก่บุคคลและหน่วยงานที่มีความสนใจ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป





 




 

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันนี้ ได้มาตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรของ 3 สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จะเห็นได้ว่าสหกรณ์แห่งนี้มีการส่งเสริมอาชีพที่หลากหลาย ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้สมาชิก


ทางภาคใต้มีความต้องการในเรื่องของผักค่อนข้างมาก เนื้อที่ของสมาชิกแค่ไม่กี่งานก็สามารถสร้างรายได้ อย่างน้อย 15,000 - 20,000 บาท ถือเป็นรายได้ที่ดี สมาชิกของสหกรณ์มีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพริกไทย ฝรั่งกิมจู เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ และเลี่ยงวัว อีกด้วย ทำให้มีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี 

 

นอกจากนี้ ในเรื่องของการทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งนั้น สมาชิกของสหกรณ์ต้องใช้บริการของสหกรณ์ ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในสหกรณ์ 1แห่ง ควรมีสมาชิกมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ อย่างน้อยร้อยละ 60 ขึ้นไป ซึ่งจากการที่สมาชิกมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การกู้เงินไปทำธุรกิจ กำไรส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้ และสหกรณ์นำมาบริหารงานในลักษณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่าง ๆ ถ้ามีอัตราที่เหมาะสม มีการควบคุมภายในที่ดี 

 

เรื่องรับจ่ายเงินต่าง ๆ ก็จะทำให้สหกรณ์ไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริต ไม่มีเรื่องข้อบกพร่อง สหกรณ์มีความเข้มแข็ง ซึ่งคือนโยบายของกรมฯ และถ้าหากสหกรณ์มีความต้องการเรื่องเงินทุน ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์กู้ยืมไปส่งเสริมอาชีพสมาชิก ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 นำไปต่อยอดในธุรกิจต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป





 





 

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผลไม้ (เงาะ) ของนายธวัธชัย ง้าวลาย สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด ซึ่งสวนเงาะแห่งนี้มีพื้นที่ 24 ไร่ เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นเงาะใหญ่ ส่วนเงาะเล็กปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสวนเงาะแห่งนี้ ปลูกมาระยะเวลาประมาณ 3 ปี ถึงจะได้ผลผลิต


ในระยะเวลา 3 ปี นั้น มีการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย แต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นแข็งแรง เหมาะต่อการออกผลผลิต ซึ่งสวนเงาะ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 20 ต้น ผลผลิตต่อตันอยู่ที่ประมาณ 20 ตะกร้า ตะกร้าละประมาณ 20 กิโลกรัม ราคาขึ้นอยู่กับกลไกตลาดในแต่ละปี 

 

พร้อมเดินทางไปตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกล่าวชื่นชมสหกรณ์ที่ดำเนินงานและทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องผลไม้ สหกรณ์ยังคงเหนียวแน่นกับการมาขายผลผลิตกับตลาดกลางของสหกรณ์


สหกรณ์มีตลาดกลางที่รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรทั่วไป ตรงนี้จะเป็นดุลยภาพราคาสินค้าเกษตรที่ออกมาในช่วงระยะเดียวกัน เพราะว่า พ่อค้าต่างๆ ก็ดูตลาดของสหกรณ์ ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต

 

อธิบดีฯ ได้เป็นประธานในพิธีปล่อยคาราวานสินค้าผลไม้ของสหกรณ์ ณ ตลาดกลางสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมมอบตะกร้าผลไม้ ให้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุราษฎร์ธานี จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด ซึ่งกรมฯ สนับสนุน จำนวน 560,300 บาท สหกรณ์สมทบ จำนวน 240,300 บาท และเปิดเผยต่อว่า 

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและกระตุ้นการเติบโตของสหกรณ์ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในภาคใต้ช่วงเดือน กรกฎาคม - กันยายน 2566 จะมีผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดมาพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดกระจุกตัวของผลผลิตในพื้นที่ และกดดันราคาผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งจะต้องมีการนำระบบสหกรณ์มาส่งเสริม สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์พัฒนาคุณภาพมีผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และช่วยขยายตลาดผ่านช่องทางต่างๆ 





 





 

รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดเพื่อช่วยในการรักษาคุณภาพผลไม้และสะดวกในกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค แต่เรื่องที่สำคัญคือ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลผลิต และการรับประกันคุณภาพสินค้าหลังการขาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ


ภาครัฐควรร่วมมือกับเครือข่ายสหกรณ์ และภาคเอกชนที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถ จะสามารถทำให้ผลไม้  ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ สามารถขยายตลาดเพิ่มได้มากขึ้น ราคาสอดคล้องกับคุณภาพของผลผลิตเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาด้านคุณภาพการผลิต การตลาดได้ในอนาคต  

        

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ใช้ระบบสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ โดยได้ส่งเสริม สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยในแต่ละปีสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดตะกร้าผลไม้เพื่อช่วยในการรักษาคุณภาพผลไม้และสะดวกในกระจายผลผลิตสู่สหกรณ์เครือข่ายและผู้บริโภคทั่วไป 

 

จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายด้านผลผลิตผลไม้ จำนวน 3 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด และเครือข่ายสหกรณ์ที่เป็นสหกรณ์หนึ่งที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ คือ สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุราษฎร์ธานี จำกัด


สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด (ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์) ซึ่งในแต่ละปี ที่ผ่านมาสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ดังกล่าว สามารถรวบรวมและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตได้ในระดับหนึ่ง ปริมาณผลผลิตที่สหกรณ์รวบรวมประมาณ ปีละประมาณ 2,000 ตัน

       



 






สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2513 ปัจจุบันมีสมาชิก 833 คน  มีทุนดำเนินงานกว่า 266 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน คือ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจระดมทุน และธุรกิจรวบรวมผลผลิต เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง และกล้วยหอมทอง ซึ่งสหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน

 

ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้เงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตและการปรับปรุงพื้นที่ลานคอนกรีตในการรวบรวมผลผลิต รถกระบะห้องเย็นสำหรับขนส่งกระจายผลผลิต ตะกร้าผลไม้ และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์ทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจำหน่ายสินค้าผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งแมคโคร เทสโก้ โลตัส Top Supermarket 

 

รวมถึงส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย อีกทั้ง สหกรณ์มีกลยุทธ์ในการจัดการผลไม้ เน้นชูจุดเด่นของสินค้า ที่โดดเด่นเพื่อสร้างจุดขายมาตรฐานสินค้า GAP,GMP สร้าง Brand สินค้าสร้าง Story และพัฒนาบรรจุภัณฑ์สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยวางแผนการผลิตและจำหน่ายร่วมกัน ซึ่งผลที่ได้รับจากการทำงานด้านรวบรวมผลผลิตนั้น สมาชิกมีความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจของสหกรณ์ได้อีกด้วย

 


 






 

 

 




Create Date : 11 กรกฎาคม 2566
Last Update : 11 กรกฎาคม 2566 15:09:43 น.
Counter : 399 Pageviews.

0 comment
ส่งออกทุเรียน-ผักผลไม้ทางรถไฟย้ำต้องมีใบ GAP



กรมวิชาการเกษตร จับมือ กรมการค้าภายใน และกรมศุลกากรลุยส่งออกทุเรียนทางรถไฟ พร้อมเน้นย้ำส่งออกผัก ผลไม้ไทยต้องมีใบ GAP

       
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท Pan Asia Silk Road จำกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการส่งออกทุเรียนทางรถไฟ (มาบตาพุด - คุนหมิง) ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียนผ่านเส้นทางรถไฟไทย


พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ด่านตรวจพืชในพื้นที่ภาคตะวันออก เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ร่วมให้การต้อนรับ






 





 
       
การเปิดใช้รถไฟสายไทย - ลาว - จีน ผ่านสถานีรถไฟมาบตาพุดมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 135 ตู้ ทุเรียน 109 ตู้ ลำไย 26 ตู้ มูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนใต้จากจังหวัดชุมพร จะขนส่งมาโดยรถบรรทุก แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีมาบตาพุด ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง จากสถานีท่านาแล้งจะมีการเปลี่ยนรถไฟ


โดยใช้รถบรรทุกจากฝั่งลาว ขนส่งไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทร์ใต้ ลำเลียงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน หรือ ด่านโม่ฮาน (เปลี่ยนรถบรรทุกเข้าด่านที่บ่อเต็น) หากเป็น คุนหมิง ยูนนาน สามารถผ่านด่านทางรถไฟโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุก โดยการขนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 วัน เป็นอีกเส้นทางที่มีศักยภาพ รวดเร็ว ลดระยะเวลา สามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้


ผู้ประกอบการส่งออกต่างให้ความสนใจ เลือกใช้เป็นเส้นทางส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลผลิตทุเรียนสด สามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพตลอดฤดูกาล  พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลให้ทุเรียนไทยได้รับมาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน

       
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน นับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยด้วยระบบราง ภายใต้พิธีสารการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย – จีน เป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทย – ลาว - จีน






 






 
โดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน  กรมศุลกากร  และการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบให้บริการด้านการส่งออกด้วยการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางบกโดยการขนส่งทางราง


เพื่อลดความแออัดที่หน้าด่านนำเข้าของจีนในส่วนของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างที่หน้าด่านในช่วงที่มีผลผลิตในปริมาณมากๆ เหมือนเช่นที่ปีก่อนๆที่ผ่านๆมา เกิดความล่าช้า ผลผลิตเน่าเสีย ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ และส่งผลมาจนถึงราคาผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรเกิดความผันผวน

       
ในวันนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามกระบวนการขั้นตอนการส่งออกทุเรียน และ มังคุด ร่วมกับอธิบดีกรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร  ซึ่งมีการขนส่งทั้งหมด 15 ตู้ เป็นทุเรียน 14 ตู้ น้ำหนักรวม 254 ตัน มังคุด 1 ตู้ น้ำหนัก 17 ตัน รวม 271 ตัน โดยจะร่วมกันตัดซีลเปิดตรวจตู้ทุเรียน 1 ตู้  และ ตู้มังคุด 1 ตู้ พร้อมติดซีลตู้


นอกจากนี้ยังได้ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มงวดในมาตรการการตรวจสอบศัตรูพืช ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด เพื่อให้ทุเรียนภาคใต้ที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทาง มีคุณภาพได้มาตรฐานเช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผลผลิตออกมาก่อนหน้านี้





 





 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวการจับกุมทุเรียน และกระบวนการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP  กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินมาตรการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เบื้องต้นได้ดำเนินการพักใช้หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว


นอกจากนี้ ในประเด็น ข้าวโพด กระเทียม และ หอมแดง ทราบว่า อาจมีการลักลอบนำเข้า หรือ สำแดงเท็จ โดยเฉพาะจากแนวชายแดนนั้น กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน และกรมศุลกากร ขอเน้นย้ำ สินค้าพืชและผลไม้ทุกชนิดต้องมีมาตรฐานในการนำเข้า ส่งออก เป็นไปตามพระราชบัญญัติกักพืช
 

ในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ติดตาม ขยายผลการสั่งระงับล้ง และระงับบริษัทผู้ส่งออก ผู้กระทำความผิดด้วย โดยสั่งการให้ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ประสานหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  และให้ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรกำชับด่านตรวจพืชท่าเรือและแหลมฉบัง


ตรวจสอบการส่งออกและนำเข้า สินค้าเกษตรทุก lot ต้องมีคุณภาพ ห้ามมีการสวมสิทธิ์ หรือสำแดงเท็จอย่างเด็ดขาด หากพบสวมสิทธิ์ สั่งดำเนินคดีทางกฎหมาย ทุกกรณี  ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิต ทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด





 




 



Create Date : 05 กรกฎาคม 2566
Last Update : 5 กรกฎาคม 2566 19:07:52 น.
Counter : 185 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments