All Blog
เจ๋ง ! ปศุสัตว์พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน
"กรมปศุสัตว์"พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน สายพันธุ์ไทย ในโค-กระบือได้แล้วผลทดสอบได้ผลเกินคาด เทียบเท่าวัคซีนต่างประเทศ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกินในโค-กระบือ สำหรับใช้ป้องกันและควบคุมโรคกรณีฉุกเฉิน ว่าล่าสุดหน่วยพัฒนาวัคซีนของกรมปศุสัตว์ ที่ทดสอบเบื้องต้นพบว่าเบื้องต้นมีความคุ้มโรคเทียบเท่าวัคซีนจากต่างประเทศ คาดว่าวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ในราคาต้นทุนโด๊สละ 9 บาท ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคให้แก่เกษตรกร และเป็นการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของไทยอีกด้วย

ทั้งนี้จากปัญหาการเกิดโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ (Lumpy Skin Disease) : LSD ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในปี 2564 เป็นครั้งแรกที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 29มีนาคม 2564 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น





 





 
รวมถึงเกษตรกรและประชาชน ดำเนินการใน 5 มาตรการสำคัญ เพื่อการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. ควบคุมการเคลื่อนย้าย 2. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด 3.ป้องกันและควบคุมแมลงพาหะนำโรค 4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ และ 5. การใช้วัคซีนควบคุมโรค โดยมีการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการควบคุมโรคให้สงบได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคที่ผ่านมา จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ได้นำเข้า 5.3 ล้านโด๊ส ใช้งบประมาณสนับสนุนไปกว่า 160 ล้านบาท และภาคเอกชน สมาคม และกลุ่มเกษตรกรนำเข้ามาอีกประมาณ 5 แสนโด๊ส มูลค่าประมาณ 22.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ารวมกว่า 180 ล้านบาท

และเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้กรมปศุสัตว์วิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ โดยสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็น 2 ส่วนราชการภายในกรมปศุสัตว์ ที่มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่มีความชำนาญในการผลิตวัคซีน





 




 
ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับใช้ป้องกันและควบคุมโรคกรณีฉุกเฉิน ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สามารถแยกไวรัสจากตัวอย่างสัตว์ป่วยในประเทศมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้สำเร็จ และส่งหัวเชื้อไวรัสต่อให้สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ นำมาขยายปริมาณไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง และผลิตเป็นแอนติเจนที่หมดฤทธิ์ในการก่อโรค

จากนั้นได้ทดลองผลิตเป็นวัคซีน 2 สูตรได้แก่ วัคซีนเชื้อตายในรูปแบบชนิดน้ำและวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน โดยผลการทดลองในสัตว์ตามวิธีมาตรฐานการผลิตวัคซีน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้ง 2 สูตร มีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในสัตว์ และวัคซีนชนิดน้ำมันให้ความคุ้มโรค 100% สูงกว่าชนิดน้ำที่ให้ความคุ้มโรค 80% โดยวัคซีนชนิดน้ำมันยังให้ความคุ้มโรคต่อเนื่องจนถึงเดือนที่ 7 ซึ่งกรมปศุสัตว์จะดำเนินการทดลองความคุ้มโรคต่อไปอีกจนครบ 12 เดือน
 
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในพื้นที่จริง (field trial) เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้รับความร่วมมือให้นำวัคซีนต้นแบบชนิดน้ำมันไปทดสอบในพื้นที่ฟาร์มโชคชัย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งผลการทดสอบในเบื้องต้นพบว่าวัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศและวัคซีนที่ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ มีผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี






 






 
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้เดินหน้าขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (pilot scale) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในขวดเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของการผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย และที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่มีความชำนาญ เทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณการผลิตวัคซีนที่ 50,000-100,000 โด๊สต่อเดือน

ตลอดกระบวนการผลิตใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ และคาดว่าจะผลิตวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ในราคาต้นทุนโด๊สละ 9 บาท ในช่วงปีแรก (มิ.ย. 2565 - พ.ค. 2566) สามารถผลิตวัคซีนได้ มีมูลค่า 6 ล้านบาท หากต้องนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้งบประมาณถึง 27 ล้านบาท  จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 21 ล้านบาท

เพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการใช้สำหรับการควบคุมและป้องกันภายในประเทศ รวมถึงสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์ได้ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายกำลังการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน เชื้อตาย ชนิดสื่อน้ำมัน โดยใช้เทคโนโลยี large scale roller หรือ Microcarrier ให้สามารถผลิตได้เดือนละ 5 แสน ถึงกว่า 1 ล้านโด๊ส ซึ่งจะทราบผลการศึกษาในช่วงกลางปี 2566

หากกำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จะสามารถช่วยลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้มากถึงปีละ 8 ล้านโด๊ส ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 360 ล้านบาท ดังนั้นการที่กรมปศุสัตว์สามารถผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน เองได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่าปีละ 280 ล้านบาท อีกทั้งสามารถส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกด้วย นอกจากนี้การฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงยังนำไปสู่การกำจัดโรคลัมปี สกิน ให้หมดไปจากประเทศไทยได้อย่างถาวรในอนาคต





 




 


 



Create Date : 24 มีนาคม 2565
Last Update : 24 มีนาคม 2565 18:21:04 น.
Counter : 451 Pageviews.

0 comment
เร่งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่รองรับการเป็นครัวโลกในอนาคต
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ผู้ประกอบการ ในการประชุมและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร การผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ผู้ประกอบการ และกิจกรรมแปลงใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ เทิดวลัยฟาร์ม   ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการดูแลลูกหลานของเกษตรกร

พัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรยุคใหม่ ผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่จบภาคการเกษตร มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรทั้งระบบ เพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต





 





 
การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 17 – 45 ปี มุ่งเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่ายให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้” มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม

พัฒนาให้มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังได้รับการพัฒนาต่อยอดจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันการเงิน และองค์กรอิสระอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ




 





 
กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมกับการสร้างบุคลากรด้านการเกษตรรุ่นใหม่ให้มีความทันสมัย สามารถทำการเกษตรได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน และเป็นกำลังสำคัญของภาคเกษตรสำหรับรองรับการเป็นครัวโลกในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีการประกอบอาชีพการเกษตรให้แก่เยาวชน เกษตรกร และบุคคลทั่วไป รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชุมชนสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจจากฐานการเกษตรได้ต่อไป

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในการทำการเกษตร โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 – 2564 แบ่งเป็น Step 1 Getting Idea หรือการปรับกระบวนทัศน์สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนาเป็น Young Smart Farmer ของ










 
กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 18,215 ราย Step 2 Set up Project หรือการเริ่มต้นประกอบกิจกรรมการเกษตรในเชิงธุรกิจเกษตร ปัจจุบันมี Young Smart Farmer ได้รับการพัฒนา จำนวน 6,152 ราย Step 3 Startup หรือการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรเต็มตัว ปัจจุบันมี Young Smart Farmer ได้รับการพัฒนาต่อยอด จำนวน 1,003 ราย และ Step 4 Go to Global หรือการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรสากล ปัจจุบันมี Young Smart Farmer ได้รับการพัฒนาต่อยอด จำนวน 100 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer โดยการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (ศบพ.) จังหวัดละ 1 ศูนย์ รวม 77 ศูนย์ทั่วประเทศ และได้ขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอและชุมชน

ทำให้เกิดเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 592 ศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับจังหวัดในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันการเงิน ร่วมกันพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร




 







 



Create Date : 20 มีนาคม 2565
Last Update : 20 มีนาคม 2565 17:43:01 น.
Counter : 376 Pageviews.

0 comment
"รมว.คลัง"เยี่ยมชมลูกค้าวิสาหกิจชุมชนบ้านนาเจริญ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านนาเจริญ กลุ่มผู้ผลิตข้าวดาวพระศุกร์ ที่ปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 ข้าวเหนียวดำ ข้าวทับทิมชุมแพ (อุบล) และข้าวสามเสี่ยว




 






 
โดยได้ให้แนวคิดการดำเนินงานแก่เกษตรกรรุ่นใหม่และชมผลิตภัณฑ์ข้าวของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งธ.ก.ส. เป็นผู้สนับสนุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยมีนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ให้การต้อนรับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ บ้านนาเจริญ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี



 



 



Create Date : 20 มีนาคม 2565
Last Update : 20 มีนาคม 2565 16:54:19 น.
Counter : 499 Pageviews.

0 comment
หวั่นกักตุนสินค้า ! "ปศุสัตว์"เดินหน้าตรวจห้องเย็นต่อเนื่อง
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 




 





 
ล่าสุดรายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 16 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี มุกดาหาร ขอนแก่น นครปฐม กาญจนบุรี สงขลา ระยอง เชียงใหม่ ตรวจพบซากสุกรจำนวน 259,994.40 กิโลกรัม

รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 16,627,851.27 กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 402 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)

รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 10 มีนาคม ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเล็กน้อย แม้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์และค่าพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง

ขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตา ปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานะการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา

ทั้ง ๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล (เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB 32.9983/USD) ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 84) สรุปแนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง หากประชาชนพบความผิดปกติต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินการต่อไป



 




 
 

 



Create Date : 19 มีนาคม 2565
Last Update : 19 มีนาคม 2565 20:31:01 น.
Counter : 345 Pageviews.

0 comment
เตือน !  ชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวังโรคผลเน่า
นายศรุต  สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกกำลังให้ผลผลิตขณะนี้ ขอแจ้งเตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เฝ้าระวังโรคผลเน่า  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพลดลง    

โดยโรคนี้พบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน  แต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว  และระหว่างการบ่มผลให้สุก  โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล และจุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล  ในสภาพที่มีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล  โดยจะพบอาการของโรคได้ตั้งแต่ผลยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด  




 





 
ทั้งนี้โรคผลเน่ามักพบหลังการเก็บเกี่ยวโดยเชื้อราสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผลเน่า ได้แก่ เชื้อราไฟทอฟธอรา พาลมิโวรา  ซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหายได้หากมีการปฏิบัติดูแลแปลงตามคำแนะนำ  โดยเฉพาะในแปลงที่มีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมาก  

อย่างไรก็ตาม ยังมีเชื้อราบางชนิดที่สามารถทำให้เกิดการอาการผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้แต่สาเหตุหลักมักพบเกิดจากเชื้อราลาซิโอดิพโพลเดีย ธีโอโบรมี และเชื้อราโฟมอปซีส  ในพื้นที่ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย   ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดความเสียหายจากโรคผลเน่าทุเรียน  เกษตรกรควรเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว





 





 
สำหรับการดูแลในแปลงปลูกก่อนการเก็บเกี่ยวให้หมั่นตรวจผลทุเรียนในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ตัดผลที่เป็นโรค และเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน

ควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลอย่างน้อย 15 วัน  ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ  และทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง  ในแปลงปลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง เนื่องจากมีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมาก เชื้อสาเหตุโรคอาจจะติดไปกับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการ





 






 
การเก็บเกี่ยวผลต้องระมัดระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับดิน  หรือปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาด เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค  และการขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล
 
“เชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าสามารถแพร่ระบาดได้ด้วยลม  รวมทั้งเศษซากพืชที่เป็นโรคภายในแปลง แนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนทุเรียน  ที่สำคัญหลังจากเก็บเกี่ยวไม่ควรวางผลทุเรียนสัมผัสกับดินโดยตรง  และการขนย้ายต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลและการกระแทกกันของผลทุเรียน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคผลเน่า  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิคพืช  กลุ่มวิจัยโรคพืช  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  โทร. 0-2579-9583”
นายศรุตกล่าว




 



 



Create Date : 19 มีนาคม 2565
Last Update : 19 มีนาคม 2565 20:08:20 น.
Counter : 348 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments