All Blog
"กรมประมง"ยันประมงนอกน่านน้ำไทยไม่กระทบ“หญ้าทะเล” ในเขต SIOFA

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับร่างรายงานผลกระทบ Impact Assessments of Bottom Trawl Fisheries on VME Indicator Species จากภาคีสมาชิกองค์การบริหารจัดการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement, SIOFA) ที่ประเมินความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง (VME) 14 ชนิดในพื้นที่ทำประมงอวนลากบริเวณ Saya de Malha Bank พบว่า มีความเสี่ยงในระดับต่ำ 3 ชนิด และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง 11 ชนิด ทั้งนี้ในรายงานระบุชัดเจนว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเล





 




 

โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมสามัญประจำปีของ SIOFA ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐภาคี มีองค์กร The Deep Sea Conservation Coalition, DSCC ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เข้าร่วมประชุมในสถานะผู้สังเกตการณ์การประชุมได้นำเสนอเอกสารที่มีสถานะเป็น information paper ต่อที่ประชุม เรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ความหลากหลายทางระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank โดยเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดทำการประมงในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank จนกว่าจะมีการประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและชนิดสัตว์น้ำ ตลอดจนหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ภาคีสมาชิก SIOFA พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่มิได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือรองรับจึงไม่ได้รับมติเห็นชอบจากภาคีสมาชิก SIOFA 





 





 

ทั้งนี้ต่อมา SIOFA เห็นว่า การศึกษาผลกระทบการประมงต่อพื้นท้องทะเลเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการประมงเชิงพื้นที่ จึงมีมติให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (SIOFA Scientific Committee, SC) ศึกษาระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank ตามแผนงานที่วางไว้ โดยให้ใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี และให้นำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี SC ในเดือนมีนาคม 2565 โดย SC ประสานงานกับกรมประมงมาเป็นระยะเพื่อขอรับข้อมูลการทำประมงของกองเรือประมงไทย ใช้ประกอบการศึกษาวิเคราะห์ นอกจากนี้กรมประมงยังได้ประสานแจ้งและร่วมดำเนินการกับผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทยและสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ตามแม้ร่างรายงานผลกระทบที่ออกมาชี้ชัดว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเล แต่ประเทศไทยจะยังคงให้ความร่วมมือกับ SC เพื่อศึกษาผลกระทบตามแผนงานที่วางไว้ต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลและเป็นการแสดงให้ภาคีสมาชิก SIOFA เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการบริหารจัดการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืนและปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย

 

 

 




Create Date : 19 มีนาคม 2565
Last Update : 19 มีนาคม 2565 19:15:17 น.
Counter : 463 Pageviews.

0 comment
“รมว.กษ.”ลงนาม MOU ไทย - บราซิลสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตร  ปศุสัตว์ และอุปทานอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ อาทิ พืช ประมง ปศุสัตว์ ดิน การจัดการน้ำ การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรกร รวมถึงสาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน โดยผ่านรูปแบบความร่วมมือของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม การสัมมนา





 





 
รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือในภาคการเกษตรระหว่างไทยและบราซิล ที่จะเกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรของทั้งสองประเทศ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหาร แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล จะเริ่มมีการดำเนินการความร่วมมือด้านการเกษตรร่วมกันอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันนี้ หลังจากที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 63 ปี ทางประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ต่างให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตร และมีนโยบายภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แม้ว่าจะห่างไกลกัน แต่ทั้งสองประเทศก็อยู่ในเขตการเกษตรของภูมิอากาศเขตร้อนเหมือนกัน

ดังนั้น ภาควิชาความรู้จะสามารถแลกเปลี่ยนและนำสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการเกษตรให้แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรได้โดยตรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ อันจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย นำส่งบันทึกความเข้าใจฉบับที่ได้ลงนามในวันนี้ ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหาร แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และหวังว่าทั้งสองกระทรวงฯ จะใช้กรอบนี้ในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตร และหารือประเด็นที่สนใจร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ได้จัดพิธีลงนามฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย   จะจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

โดยมีท่านเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามในวันนี้จะทำให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ และนำไปสู่การเริ่มต้นของการดำเนินความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันอย่างเป็นทางการต่อไป





 




 





 



Create Date : 16 มีนาคม 2565
Last Update : 16 มีนาคม 2565 20:00:31 น.
Counter : 385 Pageviews.

0 comment
"เกษตรฯ"เตรียมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง 130 ปี
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมความพร้อมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบปีที่ 130 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี และตรงกับวันข้าราชการพลเรือนด้วย

โดยภายในงานจะมีการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ได้แก่ ศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลท้าวเวสสุวรรณ ศาลตา-ยาย องค์พระพิรุณทรงนาค (หน้าอาคาร) และองค์พระพิรุณทรงนาค (ห้องพิพิธภัณฑ์)   และเข้าสู่ช่วงพิธีสงฆ์ นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมในพิธีมอบเกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน





 






 
รวมถึงการแสดงผลงานสำคัญ 130 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยจะได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังการมอบเกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้มีจิตอาสา ประกอบคุณงามความดีที่มีความประพฤติเหมาะสม ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือมีผลการปฏิบัติงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติบุคคลตามข้อ 4 (9) และ (10) ของระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยเกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. 2564





 





 
ทั้งนี้คือ 1) เป็นผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติงานในหน้าที่และนอกเหนือหน้าที่สม่ำเสมอ เต็มใจมีจิตมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานที่รับผิดชอบ จนมีผลงานด้านการสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืนปรากฏที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ ประชาชน มากกว่าผู้อื่นอย่างเด่นชัด

2) เป็นผู้มีผลงานเชิงประจักษ์ดีเด่นด้านการสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นที่ยอมรับ สมควรได้รับการยกย่อง โดยคำนึงถึงผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เป็นอันดับแรก ผลงานจากการอุทิศ ทุ่มเท เสียสละ เกิดประโยชน์ยิ่งกับส่วนราชการ หรือสาธารณชน ทั้งนี้ อาจปรากฎเป็นผลงานด้านเอกสารที่สืบค้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันยัง มีขกิจกรรม “เหลียวหลัง แลหน้า 130 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเล่าเรื่องบอกกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 – 2565 เหตุการณ์และนโยบาย ที่สำคัญ และการขับเคลื่อนภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) ต่อไป




 




 



Create Date : 16 มีนาคม 2565
Last Update : 16 มีนาคม 2565 18:50:08 น.
Counter : 391 Pageviews.

0 comment
มกอช.เห็นชอบ 5 ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร
"ประภัตร "นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบ 5 ร่างมาตรฐาน “หัวพันธุ์มันฝรั่ง-ข้าวยั่งยืน-GAP พืชต้นอ่อน” เตรียมประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 

นายประภัตร กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดให้ตลาดกลางเป็น “กิจการต่อเนื่องอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรตามที่คณะกรรมการกำหนด” ตามบทนิยามคำว่า “ผู้ผลิต” (2) ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เริ่มดำเนินการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับตลาดกลางสินค้าเกษตรและเสนอคณะกรรมการเพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการต่อไป





 
 




 
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่ 1.หัวพันธุ์มันฝรั่ง 2.ข้าวยั่งยืน 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน 4.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ และ 5.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง คือ 1.หัวพันธุ์มันฝรั่ง ปัจจุบันหัวพันธุ์มันฝรั่ง ผลิตเองในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ

โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง จำนวน 7,099,072 กก. คิดเป็นมูลค่า 207,361,418 บาท ซึ่งการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งอาจมีโรคและแมลงติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งได้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาแนวทางผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปขยายพันธุ์ได้เอง

มกอช. จึงได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หัวพันธุ์มันฝรั่งขึ้น โดยครอบคลุมเฉพาะหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เนื่องจากคุณภาพของหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ ชนิดของศัตรูพืช และการจัดการของประเทศนั้นๆ





 





 
2.ข้าวยั่งยืน ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปี 2564 มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.599 ล้านไร่ ผลผลิต 26.019 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 8.442 ล้านไร่ ผลผลิต 4.996 ล้านตัน มีการส่งออก ประมาณ 6.117 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.078 แสนล้านบาท

กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม การเตรียมการก่อนปลูก การใช้น้ำ การจัดการธาตุอาหาร การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

สุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรสิทธิแรงงานในฟาร์ม การแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสินค้าข้าว และการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างของข้าวเปลือกและสินค้าข้าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารและการพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งครอบคลุมข้าวเปลือก และสินค้าข้าวประเภทข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่ได้จากระบบการผลิตข้าวยั่งยืน

3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน ซึ่งเป็นพืชที่นิยมบริโภค เช่น ถั่งงอก ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง จากความเชื่อว่าเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ มีเอนไซม์ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินและสารอาหารสูงกว่าพืชชนิดเดียวกันที่เจริญเต็มที่แล้ว แต่มักพบปัญหาที่โรคพืชที่เกิดจากความชื้นที่ไม่เหมาะสม ขึ้นรา รากเน่า ส่งผลต่อคุณภาพ และปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค Salmonella, E. coli, Listeria ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย




 





มกอช. จึงเห็นควรกำหนดมาตรฐาน GAP พืชงอกและพืชต้นอ่อน เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชงอกและพืชต้นอ่อนที่มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะ การเก็บเกี่ยว การจัดเตรียมก่อนการบรรจุ การบรรจุ จนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย เพื่อให้ได้พืชงอกและพืชต้นอ่อนที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค

4.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ ในปี 2564 (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) ประเทศไทยส่งออกเมล็ดโกโก้ (ทั้งเมล็ดหรือที่แตก ดิบหรือคั่ว) ปริมาณ 5,411 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,167,720 บาท และมีการนำเข้าปริมาณ 18,435 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 3,499,588 บาท

มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex ได้กำหนดมาตรฐาน Code of Practice for the Prevention and Reduction of Ochratoxin A contamination in cocoa (CAC/RCP 72-2013) เพื่อเป็นข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ มกอช. จึงได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโกโก้ เพื่อรองรับแผนการส่งเสริมการปลูกโกโก้ในอนาคต เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ที่ได้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและลดการปนเปื้อนสารโอคราทอกซิน เอ

5.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด การพัฒนาการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก ที่เลี้ยงไว้ผลิตเนื้อหรือไข่เพื่อการค้า เช่น ไก่ เป็ด ไก่งวง นกกระทา นกกระจอกเทศ ห่าน แบบเลี้ยงปล่อย ครอบคลุมข้อกำหนด

องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการการเลี้ยง การจัดการไข่สัตว์ปีก การทำความสะอาดและบำรุงรักษา บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์ปีก มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีสุขภาพแข็งแรง และได้ผลิตผลที่มีคุณภาพในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค 




 





 



Create Date : 16 มีนาคม 2565
Last Update : 16 มีนาคม 2565 18:39:03 น.
Counter : 488 Pageviews.

0 comment
"มนัญญา"สั่งสุ่มตรวจสารตกค้างผัก-ผลไม้ การันตีพืช GAP ปลอดภัย
"มนัญญา"สั่งกรมวิชาการเกษตร  ลุยตรวจสารตกค้างผัก ผลไม้ และทุเรียน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ตั้งเป้าสุ่มตรวจติดตามปี 65 ทั้งห้างและแปลงเกษตรกรครอบคลุมทุกภาคกว่า 3,000 ตัวอย่าง พบยังปลอดภัยจากสารตกค้างตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มอบอธิบดีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการวิเคราะห์สารตกค้างในทุเรียนและตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียนให้อยู่ในค่ามาตรฐานเน้นย้ำปฏิบัติตาม GMP Plus

นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า  ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตามนโยบายสำคัญที่ได้มอบหมายไว้ คือการให้ความรู้และรณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร และสมัครเข้าสู่ระบบการผลิตพืชตามมาตรฐานที่ปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์  รวมทั้งกำชับให้เร่งตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัยให้ได้มากที่สุด





 





 
ในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้รายงานให้ทราบว่าได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจรับรองแปลง GAP ไว้จำนวน 100,000 แปลง นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรตรวจติดตาม  และเฝ้าระวังสารตกค้างในผัก ผลไม้และทุเรียนทั้งจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค หากตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยให้ทวนสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาและเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการสุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผัก ผลไม้  และทุเรียนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากแปลงและแหล่งจำหน่ายผลผลิตในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งเป้าหมายสุ่มเก็บตัวอย่างพืช GAP และวิเคราะห์สารตกค้าง จำนวนทั้งสิ้น 3,152 ตัวอย่าง  

ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืช GAP จากแปลงและห้างสรรพสินค้าเพื่อวิเคราะห์สารตกค้างแล้วจำนวน 543 ตัวอย่าง แยกเป็นตัวอย่างพืช GAP จากห้างสรรพสินค้าจำนวน 200 ตัวอย่าง  ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างพบว่ามีผลความปลอดภัย 185 ตัวอย่าง และพบความไม่ปลอดภัย 15 ตัวอย่าง และสุ่มเก็บตัวอย่างพืชจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 343 ตัวอย่าง

ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างพบว่ามีความปลอดภัย 296 ตัวอย่าง และพบความไม่ปลอดภัย 47 ตัวอย่าง ภาพรวมผลการสุ่มตรวจตัวอย่างจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวพบว่ามีความปลอดภัยจากสารตกค้างจำนวน 481 ตัวอย่าง  คิดเป็น 88 เปอร์เซ็นต์  ชนิดพืชที่มีความปลอดภัย มากที่สุด 5  ลำดับ ได้แก่  หน่อไม้ฝรั่ง  ผักกาดขาวปลี  กระเจี๊ยบเขียว  มะพร้าว  และกะหล่ำปลี  

ส่วนพืชที่พบความไม่ปลอดภัยสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานโดยสุ่มตรวจจากห้างสรรพสินค้า 5 อันดับ ได้แก่ โหระพา  ส้มสายน้ำผึ้ง  มะระขี้นก  ส้มโอ  สับปะรด  ส่วนที่สุ่มตรวจจากแปลง 5 อันดับ ได้แก่ กะเพรา  แก้วมังกร   องุ่น  ถั่วฝักยาว  และทุเรียน

จากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างพืชดังกล่าวสรุปได้ว่าสินค้าพืชตามมาตรฐาน GAP มีความปลอดภัยจากสารตกค้างเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์  กรมวิชาการเกษตรจะยังคงเฝ้าระวังและสุ่มตรวจตัวอย่างพืชเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเพื่อเฝ้าระวังและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการระทรวงเกษตรฯ

หากตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRL) ในแปลงจะแจ้งข้อมูลการตรวจพบให้เกษตรกรทราบ หรือกรณีตรวจพบวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้แล้วจะแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุงระบบการผลิตพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากตรวจพบปัญหาซ้ำจะพิจารณาให้พักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช  

ส่วนกรณีสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกและร้านค้าที่วางจำหน่ายสินค้า Q GAP หากตรวจพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน MRL จะแจ้งข้อมูลการตรวจพบให้ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่วางจำหน่ายทราบ  

รวมทั้งมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบเข้าทวนสอบกลับเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข หรือในกรณีการตรวจพบวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้แล้ว จะสั่งเพิกถอนใบรับรอง พร้อมกับสั่งการให้สารวัตรเกษตรเข้าติดตามตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ หากพบการกระทำผิดจะแจ้งเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป





 





 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการวิเคราะห์สารตกค้างในทุเรียน ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียน เพื่อวัดความอ่อน-แก่ ให้อยู่ในค่ามาตรฐาน พร้อมให้การช่วยเหลือให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการ ทางด้านปัญหาในการส่งออก ณ บริษัท ปั้นเพลิน อินเตอร์ฟรุ๊ต เอ็กพอร์ต จำกัด

การตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียน เพื่อวัดความอ่อน-แก่ ให้อยู่ในค่ามาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรก่อนการส่งออกไปในต่างประเทศและการบริโภคในประเทศนั้น ค่ามาตรฐานทุเรียนสายพันธุ์หลักเพื่อการส่งออก มีอยู่ 4 สายพันธุ์ได้แก่ กระดุม 27% พวงมณี 30% ชะนี 30% หมอนทอง 32% เป็นต้น

โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม  GMP Plus (มาตรการ GMP + Covid-19 ) การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 เพื่อให้เป็นมาตรฐานการบริการและผลิตผลทางการเกษตรของประเทศไทย




 


 



Create Date : 15 มีนาคม 2565
Last Update : 15 มีนาคม 2565 18:48:05 น.
Counter : 496 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments