All Blog
สภาเกษตรกร“จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ”เพื่อการทำนาที่ยั่งยืน
นายณรงค์รัตน์  ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขด้านข้าวและชาวนาไทย 4 ภาค โดยมีชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ส่งออก มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแล้วจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืนและครบวงจร ซึ่งทั้ง 4 เวทีพี่น้องชาวนาจะประสบปัญหาหลักเรื่องเดียวกัน คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงมากโดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นไปถึง 200% กว่า

รวมทั้งเรื่องสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งหมดเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่ชาวนาต้องใช้ จากค่าเฉลี่ยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเรื่องต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณเกือบ 4,000 บาทต่อไร่ ทั้ง 4 เวทีที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขด้านข้าวและชาวนาไทยนั้นกลับพบชาวนาที่ใช้ต้นทุนการผลิตเพียงแค่ประมาณ 2,000 บาทนิดๆ หรือชาวนาที่ใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงถึง 6,000 กว่าบาทต่อไร่ก็มีเช่นเดียวกัน





 





 
จึงนำมาถึงบทสรุปว่า สภาเกษตรกรฯจะนำชาวนาที่ประสบความสำเร็จกับการลดต้นทุนการผลิตในการทำนาด้วยวิธีการ "จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ" เพื่อเป็นการกระตุ้นและนำร่องการขับเคลื่อนให้พี่น้องชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศได้ก้าวข้ามปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงไปให้ได้ 

เรื่องใหญ่ที่สุดตอนนี้คือเกษตรกร ชาวนา มีความจำเป็นvpjk',kdที่จะต้องปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่ภาครัฐพยายามควบคุมราคาปัจจัยการผลิตแต่ไม่สามารถทำได้  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ได้กล่าวให้แนวทางว่า บันไดก้าวแรกพี่น้องเกษตรกร ชาวนา ต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อเป็นทางรอด จึงนำสู่แนวคิด "จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ” ด้วยสภาเกษตรกรฯมีเกษตรกร ชาวนาที่เป็นต้นแบบประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ปรับตัว เรื่องการทำนาในพื้นที่ของตนเองและสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้สู่พี่น้องชาวนาผู้ร่วมอาชีพได้ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติจะนำไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าว เพื่อร่วมกันถ่ายทอดความรู้สู่ชาวนาต่อไป โดยแนวคิด "จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ" จะนำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบในการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและโครงการเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป





 





 



Create Date : 25 เมษายน 2565
Last Update : 25 เมษายน 2565 16:44:09 น.
Counter : 388 Pageviews.

0 comment
ราคาสุกรปรับขึ้นจากหลายปัจจัย-กลไกตลาด
ปศุสัตว์ย้ำคุมโรค ASF หมูได้ในวงจำกัด แนะเกษตรกรทำระบบปลอดภัยทางชีวภาพ กำจัดแมลงและสัตว์พาหะชี้ราคาสุกรปรับขึ้นจากหลายปัจจัยและตามกลไกตลาด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากกรณีราคาหมูพุ่งอีกครั้ง และมีแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละมีการปรับขึ้นราคาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกกิโลกรัมละ 5 บาท โดยมีราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มประจำวันพระที่ 16 เมษายน 2565 ที่กิโลกรัมละ 96-98 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีราคาระดับสูงที่สุดในโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) นั้นเอง

ในส่วนราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากทวีปยุโรปซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาวะสงครามในประเทศยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารและน้ำมันที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในการทำระบบการป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม





 





 
การพักคอกและการปรับปรุงเพื่อเตรียมความพร้อมระบบการเลี้ยงก่อนการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 โดยสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาเนื้อสุกรจึงจะปรับราคาลดลง สำหรับสถานการณ์ของโรค ASF นั้น นับแต่พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จากการควบคุมและดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในทุกพื้นที่ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้น จนถึงปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อไป

ต้องขอความร่วมมือให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจประเมินระบบการป้องกันโรคของฟาร์มสุกร รวมทั้ง ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระบาดในสุกรเพื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ กำจัดแมลงและสัตว์พาหะในฟาร์ม และขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกรมปศุสัตว์




 




 



Create Date : 22 เมษายน 2565
Last Update : 22 เมษายน 2565 17:19:25 น.
Counter : 316 Pageviews.

0 comment
“ข้าวเหนียวมะม่วง ฟีเวอร์”ชาวนาได้รับผลดี
อธิบดีกรมการข้าวเผยชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียวได้รับผลดีจากกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง ฟีเวอร์” ที่จุดโดย “มิลลิ” แรปเปอร์สาวชาวไทย พร้อมกันนี้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่องทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยกรมการข้าวจะเร่งส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์รับรองที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากกระแสที่น้องมิลลิ แรปเปอร์สาวมากความสามารถได้ขึ้นไปแสดงบนเวทีระดับโลกอย่างเวที Coachella ที่สหรัฐอเมริกา แล้วรับประทาน “ข้าวเหนียวมะม่วง” ถือเป็นการประกาศให้คนทั้งโลกรับรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีดีแต่ “ต้มยำกุ้ง” แต่ยังมีผลไม้และอาหารหวานอย่างข้าวเหนียวมะม่วงที่อร่อยมาก ต่อมาเกิดกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง ฟีเวอร์” อย่างรวดเร็ว คนไทยสั่งซื้อข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 







 







 
โดยชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียวได้รับประโยชน์จากกระแสนี้ด้วย โดยกรมการข้าวจะเร่งสนับสนุนการปลูกข้าวเหนียวให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยกรมการข้าวมีพันธุ์รับรองหลายพันธุ์เช่น พันธุ์ กข6 กข18 ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และพันธุ์สันป่าตอง1 เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับการนำมาทำข้าวเหนียวมูลในการรับประทานคู่กับมะม่วง 

สำหรับข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 นั้นให้ผลผลิตสูง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม ส่วนข้าวเหนียวพันธุ์ กข18 คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร สำหรับข้าวเหนียวเขี้ยวงู เมื่อนึ่งสุกแล้วข้าวมีความขาว นุ่ม เหนียวติดกัน แต่ไม่เละ มีความเลื่อมมันค่อนข้างมาก มีกลิ่นหอม และข้าวเหนียวพันธุ์ สันป่าตอง1 ให้ผลผลิตสูง เป็นข้าวเหนียวที่สามารถปลูกได้ตลอดปี 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกทั้งข้าวเจ้าข้าวเหนียวปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้งดส่งออกข้าวสาลี จึงมีการนำเข้าข้าวเจ้าข้าวเหนียวไปทดแทนทั้งในอาหารคนอาหารสัตว์ รวมถึงสร้างความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศ ประกอบกับพ่อค้าคาดว่า ปุ๋ยและปัจจัยการผลิตต่างๆ อาจขาดแคลนและทำให้ผลผลิตข้าวลดลงจึงรับซื้อผลผลิตที่ออกมาแล้วมากขึ้น เมื่อมีกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง ฟีเวอร์” ซึ่งจะมีการความต้องการบริโภคข้าวมากขึ้นจะช่วยหนุนให้ราคาข้าวของชาวนาขยับขึ้นอีก





 




 



Create Date : 21 เมษายน 2565
Last Update : 21 เมษายน 2565 18:11:59 น.
Counter : 353 Pageviews.

0 comment
บวงสรวงคันไถในพระราชพิธีพืชมงคล
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีบวงสรวงคันไถในพระราชพิธีพืชมงคลฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน 
        

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีบวงสรวงคันไถในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2565 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ อาคารจัดเก็บคันไถ กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพมหานคร พิธีบวงสรวงคันไถ ได้เริ่มในเวลา 11.39 น. ประธานในพิธีจุดเทียนธูปบูชาเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ พราหมณ์พิธีกล่าวนำคำอธิษฐานจิต จากนั้นประธานปักธูปบนเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปักธูปบนเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ ต่อมาประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้บริเวณปะรำพิธีที่ตั้งคันไถ พราหมณ์พิธีประพรมน้ำเทพมนตร์ และเจิมแป้ง ประธานนำมาลัยคล้องคันไถ และผู้บริหารที่ร่วมในพิธีนำมาลัยมาวางบนพานหน้าคันไถเป็นอันเสร็จพิธี





 
        





 
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าวเป็นพืชสำคัญแก่การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ในอดีตคันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว โดยใช้แรงงานสัตว์ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชการที่ 4 ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์

จึงมีพิธีพืชมงคลรวมกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ พระราชพิธีดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา ชักนำให้มีความมั่นใจความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญในแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยวันที่จะกำหนดตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมตามปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของทุกปี





 





 
คันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าวมาตั้งแต่อดีต และถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งคันไถที่ใช้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเก็บ ดูแลรักษา ซ่อมแซมปรับปรุงคันไถ ตลอดจนจัดเตรียมคันไถเพื่อเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ และวันงานพระราชพิธีฯ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงเดือนเมษายนก่อนพระราชพิธีของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และจัดพิธีบวงสรวงคันไถ เพื่อความเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน






 






 
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเว่า ชุดคันไถประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ  1) คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาด หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2) แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม 3) ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ

4) ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร




 


 

 



Create Date : 21 เมษายน 2565
Last Update : 21 เมษายน 2565 16:46:36 น.
Counter : 511 Pageviews.

0 comment
“เกษตรฯ”เล็งตั้ง”ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต”50 เขตกรุงเทพฯ
“เกษตรฯ”เล็งตั้ง”ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต” 50เขต กรุงเทพฯภายใต้โครงการเกษตรกรรมยั่งยืนเน้นอาหารปลอดภัย ดัน กรุงเทพสู่มหานครสีเขียวแห่งอนาคต

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Sustainable Urban Agriculture Development Project @ Bangkok) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯนายอลงกรณ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้ประชากรและชุมชนเพิ่มขึ้นประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เพราะมีพื้นที่เกษตรน้อยและมีพื้นที่สีเขียวไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากรกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน

คณะกรรมการบริหารและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

 





 
โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ “3’s”(Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) ที่มุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok 2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

อีกทั้งยังสอดรับกับโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ที่ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดในลักษณะองค์รวม โดยมีตัวอย่างบางโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองพื้นที่วัด (Green Temple) ณ ธรรมสถานวัดพระราม 9 กาญจนภิเษก รวมถึงวัดพระยาสุเรนทร์ บนความร่วมมือระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียน (บ.ว.ร.) เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัดร่วมทำการเกษตรพัฒนาอาหารปลอดภัย สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเกิดการแบ่งปัน รวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมปักกล้าดำนาข้าวพันธุ์ กข 87 พร้อมปลูกต้นกล้าป่าเบญจพรรณ 962 ต้น ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา ทวีวัฒนา โดยที่ประชุมยังได้กำหนดเตรียมการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา เขตทวีวัฒนาและพื้นที่การทำการเกษตรยั่งยืนในเมืองของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งประธานฯ ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสาน รศ.ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) ในการลงพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งตลาดเกษตรกร( Farmer Market )ในกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอจากการศึกษาตัวอย่างมีลักษณะและแนวทางที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย 1) จัดตั้งในเขตชุมชนเมือง ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายองค์กรเกษตรกร ภาคเอกชนและภาครัฐ 2) ตลาดเกษตรกรออนไลน์ โดยการจองล่วงหน้าและมารับผลิตผล  ณ พื้นที่จัดงาน ผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์มจ่ายตลาด (Jaitalad) เพื่อช่วยในเรื่องการกระจายสินค้าที่ทั่วถึง

หากนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสานกันจะทำให้การจัด Farmer Market มีการกระจายตัวของเกษตรกร และผลิตผลถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัด Farmer Market ในเขตกรุงเทพมหานคร และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน พื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่การเคหะรวมถึงวัด และสถานศึกษาโดยขอให้กระจายให้ครบทั้ง 50 เขต

โดยมอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  กรมวิชาการ  กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้นเข้ามาร่วมในการดูแลเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย(Food safety)ด้วย พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมเป็นการเฉพาะในเรื่องการออกแบบตลาดหลายขนาดตั้งแต่เล็ก กลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมยังมอบหมายอนุกรรมการศึกษารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise )เป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป





 





 

 



Create Date : 20 เมษายน 2565
Last Update : 20 เมษายน 2565 11:59:53 น.
Counter : 369 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments