All Blog
ผลไม้ใต้กว่า 5.7 แสนตันทยอยออกตลาดแล้ว
นายนิกร  แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลภาคใต้ ปี 2565 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 11 พฤษภาคม 2565) ซึ่ง สศก. โดย สศท.8 และ สศท.9 ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ พิจารณาผลพยากรณ์ ของสินค้า 4 ชนิด

ทั้งนี้ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู






 






 
เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,108,655 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 1,082,795 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีการปลูกทุเรียนทดแทนกาแฟ ยางพารา และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง ขณะที่ลองกอง ลดลงร้อยละ 8 เงาะ ลดลงร้อยละ 4

มังคุด ลดลงร้อยละ 1 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นเงาะ มังคุด และลองกอง เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนเนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 931,688 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 898,467 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 8 และเงาะ ลดลงร้อยละ 3

ด้านปริมาณผลผลิตรวม ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดว่ามีจำนวน 574,026 ตัน ลดลงจากปี 2564 ที่มีจำนวน 841,134 ตัน (ลดลงร้อยละ 32) โดย ทุเรียน มีจำนวน 465,959 ตัน ลดลงร้อยละ 19 มังคุด มีจำนวน 59,659 ตัน ลดลงร้อยละ 63 เงาะ มีจำนวน 41,858 ตัน ลดลงร้อยละ 36 และลองกอง มีจำนวน 6,550 ตัน ลดลงร้อยละ 82 ซึ่งไม้ผลทั้ง 4 ชนิดลดลง เนื่องจากมีฝนตกตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง ออกเป็นใบอ่อนแทนการออกดอก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงตามไปด้วย






 






 
สำหรับภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงผลเล็ก

โดยทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

ลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอก คาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน 2565






 






 
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ จะยึดหลัดการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 - 2566 คือ “มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม” โดยมุ่งเน้น 1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ระดับจังหวัด การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิตจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด

2) การบริหารจัดการเชิงปริมาณ มุ่งเน้นการบริหารจัดการจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน จัดทำข้อมูลความต้องการตลาด และปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน เชื่อมโยงข้อมูลประมาณการผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดของผลไม้แต่ละชนิด และ 3) จัดเตรียมเหตุรองรับปริมาณผลผลิตในช่วงที่ผลไม้ออกมาก

เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกติดต่อกันเป็นช่วงๆ อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงได้อีก ซึ่งสศท.8 และ สศท.9 จะได้ติดตามสถานการณ์โดยร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับผลการพิจารณาข้อมูลเอกภาพไม้ผล ปี 2565 ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 2 นี้ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและจัดการไม้ผล (Fruit Board) ต่อไป ท่านที่สนใจข้อมูลไม้ผลภาคใต้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th






 




 



Create Date : 18 พฤษภาคม 2565
Last Update : 18 พฤษภาคม 2565 19:29:27 น.
Counter : 303 Pageviews.

0 comment
“อลงกรณ์”เสนอซาอุช่วยเกษตรกรไทยขายปุ๋ยราคามิตรภาพ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมงานฟอรั่มการลงทุนซาอุดีอาระเบีย-ไทย 2022( Saudi-Thai Investment Forum 2022) ระหว่างวันที่15-16 พฤษภาคมนี้ที่กรุงริยาด โดยมีกระทรวงการลงทุน(Ministry of Investment)ของซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

ซึ่งในการประชุมระหว่างภาครัฐกับกลุ่มธุรกิจชั้นนำของ2ประเทศมีเจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด( Prince Faisal bin Farhan Al Saud )รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.และประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาล นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)





 





 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้บริหารบริษัทในสาขาต่างๆเช่นเอสซีจี (SCG.) ,ปตท.(PTT) , ซีพี. ไทยยูเนี่ยน , ซีแวลู ,โตโยต้า ,,ทีโอเอ., โตชิบา และแอร์เอเซีย ร่วมประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในมิติต่างๆโดยเจ้าชายไฟซอล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด( Prince Faisal bin Farhan Al Saud )รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในฐานะตัวแทนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายไทยเสนอประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียช่วยเหลือสนับสนุน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าการประชุมร่วมกันครั้งนี้ได้เสนอให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจำหน่ายปุ๋ยราคามิตรภาพให้กับประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยพุงสูงขึ้นจากผลกระทบของโควิดระบาดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน และยังได้เสนอให้ขยายความร่วมมือด้านการเกษตรทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์และการชลประทาน การพัฒนาอาหารและมาตรฐานฮาลาล การร่วมลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรและเขตอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้และการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมใหม่ๆโดยจัดตั้งกลไกในการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันด้วย





 






 
“กระทรวงเกษตรฯ.โดยรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียทางด้านการเกษตร การชลประทาน การปศุสัตว์และการประมง ฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร(Food Security)สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติของไืทยและวิสัยทัศน์ ซาอุดีอาระเบีย2030 (Saudi 2030)เพื่อยกระดับมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียสู่มิติแห่งโอกาสใหม่ของ 2 ประเทศ” นายอลงกรณ์กล่าว

ในส่วนทางด้านเจ้าชายไฟซอลได้ตอบรับที่จะพิจารณาข้อเสนอเรื่องปุ๋ยของไทยเป็นวาระพิเศษลำดับต้นโดยจะมอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ และยินดีในการยกระดับความร่วมมือด้านการเกษตรกับประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายความมั่นคงด้านอาหารตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030รวมทั้งประเด็นความร่วมมือด้านฮาลาลและเทคโนโลยีสมัยใหม่

สำหรับการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐในช่วงบ่ายคณะผู้แทนกระทรวงเกษตรประกอบด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรี อธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมชลประทาน ได้พบหารือกับคณะผู้แทนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำและเกษตร(MEWA)โดยเห็นพ้องต้องกันที่จะพัฒนาความร่วมมือทางด้านการเกษตรในมิติต่างๆและจะจัดให้มีการประชุมทางไกลในด้านต่างๆให้เร็วที่สุด






 





 



Create Date : 18 พฤษภาคม 2565
Last Update : 18 พฤษภาคม 2565 17:36:21 น.
Counter : 301 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"เตือนระวังโรคระบาดสัตว์ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
“กรมปศุสัตว์เตือนภัย  อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือระวังโรคระบาดสัตว์ในช่วงฤดูฝนสุขภาพอ่อนแอ ป่วยง่าย

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกชื้นโดยพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง ทำให้สัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคคอบวม นอกจากนี้สัตว์ยังมีโอกาสติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนได้ เช่น โรคไข้สามวัน






 





 
โดยเฉพาะโรคไข้สามวัน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ โดยสัตว์จะติดเชื้อไวรัสผ่านแมลงดูดเลือด เช่น ยุง แมลงวัน เห็บ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-4 วัน อาการของโรคจะพบได้แตกต่างกันไปในแต่ละตัว โดยอาการแรกที่พบสัตว์จะมีไข้สูง ขึ้นๆลงๆ ซึม ไม่อยากเคลื่อนไหว 

ทั้งนี้อาการของสัตว์จะเริ่มชัดเจนขึ้นโดยจะพบเห็นว่าสัตว์เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อสั่น ขาแข็ง ขาเจ็บ เดินลำบาก มีน้ำมูก น้ำลายไหล สัตว์บางรายอาจะพบการบวมน้ำบริเวณคอหรือไหล่ หายใจลำบาก ปอดบวม ลุกลำบาก หรือนอนไม่ยอมลุก พบอาการท้องอืดได้กรณีที่สัตว์นอนนานๆ ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น 1-2 วันหลังเริ่มแสดงอาการ และจะฟื้นตัวสมบูรณ์อีกประมาณ 1-2 วัน ซึ่งโคนมอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะกลับมาให้น้ำนมปกติ






 





 
โรคนี้มักพบอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น เส้นประสาทขาหลัง เป็นอัมพาต เต้านมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ตาย แต่สาเหตุการตาย   เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคปอด ซึ่งวิธีการรักษาเป็นแบบรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาโดยตรง ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนร่วมกับยาบำรุง สัตว์ที่ขาเจ็บและลุกไม่ขึ้น จะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยควรนอนในที่ที่มีสิ่งปูรองที่นุ่มและมีการช่วยพลิกตัวหรือพยุงตัวสัตว์ในแต่ละวัน

สำหรับการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี ติดมุ้ง หรือหลอดไฟเพื่อป้องกันแมลงพาหะ มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ

นอกจากนี้ควรทำความสะอาดโรงเรือน หรือคอกสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอโดยขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์คอยสังเกตอาการของสัตว์เป็นประจำ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที





 





 



Create Date : 18 พฤษภาคม 2565
Last Update : 18 พฤษภาคม 2565 17:04:26 น.
Counter : 285 Pageviews.

0 comment
"สันนิบาตสหกรณ์กาฬสินธุ์"จัดมหกรรมสินค้าจากสมาชิกสู่ผู้บริโภค
"กาฬสินธุ์"จับมือสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์จัดงานมหกรรมสินค้าผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภทโดยตรงสู่ผู้บริโภค

จังหวัดกาฬสินธุ์ และสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดงานมหกรรมสินค้าผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภท เป็นผลผลิตโดยตรงสู่ผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2565 เพื่อสานต่อนโยบายของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเก่า) มีสินค้าแปรรูป ผ้าพื้นเมือง ผลิตผลทางเกษตร การแปรรูปอาหาร ฯลฯ มีการแสดงบนเวทีกลางทุกคืน






 






 
พล.ต.ต มนตรี จรัลพงศ์ ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะประธานผู้จัดงานกล่าวว่า ขอเรียนเชิญพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภทและสมาชิกสหกรณ์ผู้ขายสินค้า OTOP ทุกท่าน สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมที่จะจัดงานและขอต้อนรับผู้ที่จะมาเที่ยวชมงานมหกรรมสินค้าผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภท เป็นผลผลิตโดยตรงสู่ผู้บริโภค ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 25 - 31 พฤษภาคม 2565 เป็นความร่วมมือของจังหวัดกาฬสินธุ์ และสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์และเป็นการสานต่อนโยบายของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและเพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรทั่วไปอย่างแท้จริง





 





 

เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผลผลิตและสินค้าของเกษตรกร โดยตรงสู่ผู้บริโภค งานนี้จัดขึ้นบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเก่า) มีสินค้าแปรรูป ผ้าพื้นเมือง ผลิตผลทางเกษตร การแปรรูปอาหาร ฯลฯ มีการแสดงบนเวทีกลางทุกคืน ขอเชิญทุกท่านมาเที่ยวได้ และขอให้มั่นใจได้ว่า เรามีมาตรการคัดกรองป้องกัน โควิด-19 ทุกช่องทาง และที่เน้นมากๆ ก็คือจะมีการตรวจผู้ที่นำสินค้ามาจำหน่ายในงานอย่างเคร่งครัด...อย่าลืมมาจับจ่ายสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงโควิด 19 นี้




 






 



Create Date : 18 พฤษภาคม 2565
Last Update : 18 พฤษภาคม 2565 16:45:37 น.
Counter : 397 Pageviews.

0 comment
ผลเสี่ยงทายแรกนาขวัญน้ำจะมาก-ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
       
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสด็จด้วย ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง







 






 
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม    ต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย

 
การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08.19 - 08.49 น. ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร





 






 
เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปี พ.ศ.2565 นี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง






 
 





 
ในโอกาสเดียวกันนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565รวม 34 ราย ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 16 ราย ได้แก่
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายพัด ไชยวงค์ จ.เชียงใหม่
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา จ.ประจวบคีรีขันธ์
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางจิระวรรณ ยืนนาน จ.ชุมพร
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางนิกร แก้ววิสัย จ.อุดรธานี
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประวัติ พิริยศาสน์ จ.ปราจีนบุรี
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอรรถพงษ์ บุญเลิศฟ้า จ.นครปฐม
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวัลลภ วุ่นสุด จ.นครปฐม
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมพร โล่ห์จินดา จ.เชียงราย
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายอดุลย์ วิเชียรชัย จ.ปทุมธานี
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม
13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสานนท์ พรัดเมืองจ.สุราษฎร์ธานี
14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสุจารี ธนสิริธนากร จ.กาฬสินธุ์
15) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวประทุมรัตน์ จงคูณกลาง จ.นครราชสีมา
16) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ จ.ตราด
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางค้อม จ.นครศรีธรรมราช
2) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
3) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร
4) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลาส้มบ้านคำกลาง จ.อุบลราชธานี
5) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโฮ้งหมู่ 5 จ.แพร่
6) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา
7) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตะเคียนงาม จ.กำแพงเพชร
8) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง
จ.จันทบุรี
9) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลบัวงาม 
จ.อุบลราชธานี
 
10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์
สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
11) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน  
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรกุดข้าวปุ้น จำกัด จ.อุบลราชธานี
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน
3) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลชัยภูมิ จำกัด จ.ชัยภูมิ
4) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด จ.สกลนคร
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 3 สาขา ได้แก่
1) สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ 
    นายเอนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง
2) สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ จ.กระบี่
3) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จ.ราชบุรี







 






 



Create Date : 13 พฤษภาคม 2565
Last Update : 13 พฤษภาคม 2565 18:27:32 น.
Counter : 311 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments