All Blog
"มนัญญา"กำชับตรวจเข้มผักนำผ่านรถไฟป้องกันโควิด
"กรมวิชาการเกษตร"เด้งรับนโยบายมนัญญาสั่งตรวจเข้มศัตรูพืชพร้อมเชื้อโควิด-19 สกัดปนเปื้อนผักนำเข้าตามเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน  หลังเปิดให้บริการ 1 เดือนพบสินค้านำข้าด่านตรวจพืชหนองคาย 159 ชิปเม้นท์  ปริมาณรวมกว่า 2 พันตัน มูลค่ารวม 41 ล้านบาท  ผักกาดขาวแชมป์นำเข้ามากสุด  ด่านตรวจพืชหนองคายเฉียบ! ตรวจพบกะหล่ำปลีสีม่วงไม่แจ้งในรายการแถมขาดใบรับรองสุขอนามัยพืชสั่งผู้ประกอบการทำลายภายใน 14 วัน

นายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  นับตั้งแต่มีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม  2564 เป็นต้นมาทำให้เริ่มมีการนำเข้าผักสด และดอกไม้สดจากจีนโดยเส้นทางรถไฟผ่านด่านตรวจพืชหนองคาย  ซึ่งนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบทั้งศัตรูพืชและเชื้อโควิด-19 ในสินค้าที่นำเข้าจากจีนอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องกันไม่ให้มีศัตรูพืชต่างถิ่นและเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนมากับสินค้านำเข้า





 





 
การตรวจสอบดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติเดียวกับที่จีนได้ตรวจสอบสินค้านำเข้าจากไทย  โดยในช่วงระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2564 - วันที่ 3 มกราคม 2565 ด่านตรวจพืชหนองคาย  กรมวิชาการเกษตร  ได้รายงานการตรวจสินค้านำเข้าจากจีนมีปริมาณการนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชหนองคายจำนวน 159 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 2,292 ตัน มูลค่ารวม 41 ล้านบาท

โดยผักที่มีการนำเข้าจากจีนมากที่สุด คือ ผักกาดขาว ปริมาณ 419 ตัน มูลค่า 4,777,466 บาท  บร็อคโคลี 253  ตัน มูลค่า 6,607,693 บาท  กะหล่ำปลีรูปหัวใจ ปริมาณ 120 ตัน มูลค่า 1,566,356 บาทบัวหิมะ ปริมาณ 81 ตัน มูลค่า 1,486,863 บาท และผักกาดหัว 80  ตัน มูลค่า 87,912 บาท ตามลำดับ





 





 
จากการตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชผักสดนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาจำนวนทั้งหมด 159 ชิปเม้นท์  พบว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม  2564 และวันที่ 1 มกราคม  2565 มีสินค้านำเข้าจำนวน 2 ชิปเมนท์ที่ไม่มีใบแจ้งรายการนำเข้าผ่านระบบ NSW  และตรวจพบกะหล่ำปลีสีม่วงไม่แจ้งมาในรายการพืชและไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชรับรองทั้ง 2 รายการ ซึ่งด่านตรวจพืชหนองคายได้แจ้งผู้ประกอบการที่นำเข้าทำลายให้เสร็จสิ้นภายใน 14 วัน   พร้อมกับได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังจีนแล้ว




 





 
ด่านตรวจพืชหนองคาย ตั้งอยู่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมือง จ.หนองคาย  ตรงกับนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีสินค้าพืช และผลผลิตพืช ที่นำเข้าจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวผ่านด่านตรวจพืชหนองคายเพียงประเทศเดียว โดยสินค้าที่นำเข้า ได้แก่ ใบยาสูบแห้ง ปริมาณ 1,322  ตัน คิดเป็นมูลค่า 129 ล้านบาท

มันสำปะหลัง ปริมาณ  5,970 ตัน คิดเป็นมูลค่า 27.85 ล้านบาท ไม้กฤษณาปริมาณ 1.40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.27 ล้านบาท ไม้แปรรูป ปริมาณ 1,249 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8.93 ล้านบาท และกากข้าวบาเรย์ ปริมาณ 14,526 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8.38 ล้านบาท  โดยปริมาณการนำเข้าทั้งปีรวม  23,069 ตัน  คิดเป็นมูลค่า 184.91 ล้านบาท





 





 
รัฐมนตรีมนัญญา ได้สั่งการมาให้ด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร เข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้าจากจีนที่ผ่านเข้ามาตามเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน  เพราะมีความเป็นห่วงว่าจะมีศัตรูพืช และเชื้อโควิดปนเปื้อนมากับผลผลิตที่นำเข้า ตนได้ลงพื้นที่ไปกำกับดูแลการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชหนองคายพร้อมกับได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

จากรายงานพบว่าในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมามีการนำเข้าผักจากจีนผ่านเส้นทางรถไฟจำนวน 159 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 2,292 ตัน มูลค่ารวมกว่า 41 ล้านบาท โดยผักที่มีการนำเข้าจากจีนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ผักกาดขาว บร็อคโคลี กะหล่ำปลีรูปหัวใจ  บัวหิมะ และผักกาดหัว  

มีกะหล่ำปลีสีม่วงไม่แจ้งมาในรายการพืชและไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช ด่านตรวจพืชหนองคายจึงได้แจ้งผู้ประกอบการที่นำเข้าทำลายให้เสร็จสิ้นภายใน 14 วัน   พร้อมกับได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังจีนแล้วว่าพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าระหว่าง 2 ประเทศ




 





 



Create Date : 06 มกราคม 2565
Last Update : 6 มกราคม 2565 17:35:34 น.
Counter : 479 Pageviews.

0 comment
ด่วน ! ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตแก้ปัญหาเนื้อราคาสูง
"กรมปศุสัตว์"เร่งแก้ไขปัญหาเนื้อหมูแพง ออกมาตรการด่วนห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตแก้ไขปัญหา ขาดแคลนที่ส่งผลให้เนื้อสุกรราคาสูง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังกรมปศุสัตว์วางแผนด่วน เรื่องการแก้ไขปัญหาปริมาณสุกรที่ลดลง ทำให้ส่งผลถึงราคาจำหน่ายเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยต้องแก้ปัญหาครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารสัตว์ ยารักษาโรค

รวมไปถึงการพบโรคระบาดในสุกร อีกทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และผู้เลี้ยงสุกรรายกลางเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวโรคระบาดในสุกร จึงเร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์มจำนวนมาก จึงทำให้ส่งผลกระทบไปยังปลายน้ำอย่างผู้บริโภคที่ยังคงมีความต้องการสูง ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ตอบรับคำสั่ง พร้อมเตรียมแก้ไขปัญหา ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวโดยจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วนต่อไป




 







 
นายแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์จัดเตรียมมาตรการ 3 ระยะเพื่อแก้ไขปัญหา คือ 1. มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรภายในประเทศให้มากขึ้น การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น

พร้อมเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการสรรและกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค





 






 
2. มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกรสนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน การศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3. มาตรการระยะยาว ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชอื่น แล้วส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในฤดูแล้งให้มากขึ้น การยกระดับมาตรการปรับปรุงระบบ Biosecurity ในการเลี้ยงสุกรให้เป็น GAP หรือ GFM ซึ่งจะป้องกันโรคได้ดีขึ้น ใช้ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสุกรไปต่างประเทศ ใช้ระบบการติดตามการเคลื่อนย้ายสุกร Tracking Smart Logistics





 






 
พร้อมทั้งศึกษาและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ได้สุกรพันธุ์ดีและทนทานต่อโรคระบาด ศึกษาและพัฒนาการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรทั้งวงจรโดยกรมปศุสัตว์จะเร่งหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร เพื่อหาแนวทางมาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ส่งผลเนื้อสุกรราคาสูง ที่ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี พร้อมกล่าวว่า ภายหลังมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่าง ขณะที่ปริมาณการเลี้ยงสุกร ลดลง จากปัญหาปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว

โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว จึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค




 




 



Create Date : 06 มกราคม 2565
Last Update : 6 มกราคม 2565 16:04:54 น.
Counter : 610 Pageviews.

0 comment
เตือน ! ระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาด
"กรมส่งเสริมฯ"เตือนเกษตรกร ระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาด  ในพื้นที่จังหวัดตราดกำชับเจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจเกษตรกร ป้องกันก่อนระบาดหนัก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย  ซึ่งพบว่าเป็นโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือเชื้อรา Colletotrichum sp. ซึ่งสามารถแพร่ระบาดโดยการพัดไปตามกระแสลม และน้ำฝน รวมถึงการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์หรือวัสดุปลูกจากแปลงที่เกิดโรค






 






 
ทั้งนี้ หากเกิดโรคในอาการเริ่มแรก จะเกิดจุดช้ำบริเวณใต้ใบ และด้านบนของใบบริเวณเดียวกันจะเป็นสีเหลืองลักษณะกลม ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นสีคล้ำ ขอบแผลดำ และกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขีดขาวซีด รูปร่างจุดแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีสีเหลืองล้อมรอบ จำนวนมากกว่า 1 จุด อาจซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ เมื่ออาการรุนแรงจะเกิดใบเหลืองและร่วง

หากเชื้อเข้าทำลายฝักจะเกิดอาการเน่า โดยอาจพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุม ฝักไม่แตก และไม่ร่วงหล่นและจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยางได้ โดยขณะนี้พบในจังหวัดตราดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนราชอาณาจักรกัมพูชาที่มีการปลูกยางพารา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่กระจายในวงกว้าง






 






 
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอลงพื้นที่สำรวจพร้อมสร้างเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราและโรคใบร่วงยางพาราชนิดหม่ที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วนเพื่อควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด

สำหรับโรคการแก้ปัญหาการป้องกันกสรระบาดโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำดังนี้ 1) ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยางพารา เมื่อเกิดอาการใบเหลืองและร่วง ต้นยางจะสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงเนื่องจากโรคได้อย่างรวดเร็ว

2) ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโครเดอร์มา ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับใบที่ร่วงลงดิน และจะช่วยส่งเสริมให้ต้นยางแข็งแรง 3) พ่นสารเคมีควบคุมโรค โดยฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มและพื้นดินให้ทั่วแปลงเมื่อพบการระบาดที่รุนแรง โดยฉีดพ่นพุ่มใบอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำซ้ำทุก 7-15 วัน และฉีดพ่นพื้นสวนที่มีใบที่เป็นโรคร่วงหล่นด้วย




 




 

 



Create Date : 30 ธันวาคม 2564
Last Update : 30 ธันวาคม 2564 15:33:20 น.
Counter : 629 Pageviews.

0 comment
"สศก."จับมือการเคหะฯเชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศพัฒนาพื้นที่เกษตร
"สศก."จับมือการเคหะแห่งชาติ เชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ พัฒนาพื้นที่เกษตร สร้างรายได้จากผลผลิต ยกระดับวีถีชีวิตชุมชนการเคหะฯ
         
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โดยมี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม

พร้อมด้วย ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ เรืออากาศโทชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องประชุม 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting และ FB Live เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชน
         
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ การเคหะแห่งชาติ จะร่วมมือกันทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันของข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยของประชาชน เชื่อมโยงการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่






 






 
ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงดิน การส่งเสริมการเพาะปลูก และพัฒนาตลาดเกษตรและสินค้าชุมชน และที่สำคัญ คือการให้บริการข้อมูลด้านการเกษตรด้วยระบบภูมิสารสนเทศ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรมาปรับใช้ และร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ และพัฒนาด้านการเกษตรให้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติร่วมกัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูล ด้านการเกษตร ทั้งด้านพื้นที่ ข้อมูลพืชและสินค้าเกษตร future crop ที่เหมาะสมกับพื้นที่  โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการปลูกพืชในโรงเรือน และอาคารปิด เพื่อแนะนำ ส่งเสริมการผลิตที่มีคุณภาพ

มูลค่าสูงในพื้นที่จำกัด ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ข่าวสาร ให้เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้น ความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในวันนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยการเคหะแห่งชาติ จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง






 






 
เชื่อมั่นว่า จะสามารถการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประชาชนในชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีการพัฒนาเมืองและชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ตลอดจนเกิดการการบริหารจัดการชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความสัมพันธ์ในการพัฒนาด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การเคหะแห่งชาติ มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ

หากมีการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ จะทำให้ประชาชนมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งการสร้างรายได้ทางการเกษตร ด้วยการผลิต การแปรรูป และสร้างการตลาดของพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ที่จำกัด

นับเป็นสิ่งที่การเคหะแห่งชาติ และประชาชนในพื้นที่มีความต้องการอย่างมาก เพราะทำให้มีทางเลือกและช่องทางการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้จากการทำการเกษตรมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการเกษตรให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ และพื้นที่โดยรอบให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน




 




 



Create Date : 21 ธันวาคม 2564
Last Update : 21 ธันวาคม 2564 18:12:30 น.
Counter : 401 Pageviews.

0 comment
ดึงเกษตรกร 3 แสนรายดันแปลงใหญ่”สมุนไพรอินทรีย์”สร้างรายได้กว่าห้าหมื่นล้าน
“เฉลิมชัย”เดินหน้าหนุนนโยบาย สมุนไพรอินทรีย์ ดึงเกษตรกร3แสนรายดันแปลงใหญ่ชู”สมุนไพรอินทรีย์” ลุยตลาด เบื้องต้นสร้างรายได้แล้วกว่า50,400ล้าน 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่าจากที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนกำหนดนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต(Future Food Future Crop) เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกและมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและทุกภาคีภาคส่วนถือเป็นหนึ่งในเกษตรมูลค่าสูงโดยส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา(R&D)ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำการตลาด






 





 
 
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรได้มีมาตรการการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรโดยในปัจจุบันมีเกษตรกร 369,353 รายขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร (รวม 82 ชนิด) ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่  

แบ่งออกเป็น การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรอื่น ๆ กว่า 6.4 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง จำนวนเกษตรกร 1,565 ราย พื้นที่ 7,913 ไร่ ใน 22 จังหวัด

ปี 2565 ได้มีกลุ่มเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 15 กลุ่ม กำลังอยู่ในขั้นตอนขอรับรองแปลง และกระทรวงฯ มีโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรปี 2565 มีเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 1,110 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด และจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 16 ศูนย์เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน





 






 
โดยตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรขณะนี้ได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 ที่มูลค่าตลาดประมาณ 54,500 ล้านบาทโดย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทุกมิติ โดยใช้ตลาดเป็นตัวนาการผลิต เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดาเนินการวิจัยตั้งแต่การกาหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ตาม 10 ภารกิจหลักในการพัฒนาตามแผนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2563 –2565

ประกอบด้วย 1. การปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งดำเนินการได้ 64,225 ไร่ จาก 82 ชนิดพืช

2. กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ณ สถานที่ปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์ และสารสกัดอย่างง่ายในระดับชุมชน จำนวน 92 แห่ง

3. กำหนดมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานพืชสมุนไพรตามกลุ่มที่ใช้ของพืช จำนวน 5 ฉบับ

4. จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสาหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) 24 ชนิด

5. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร (Land Use) 1 ฐานข้อมูล

6. ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 ให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ จำนวน 8 แห่ง

7. พัฒนาระบบตลาดกลาง 1 แห่ง และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 1แห่ง (E-Market) 

8. กาหนดมาตรฐานสมุนไพรในตารามาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) จำนวน 109 รายการ

9. พัฒนาฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ของประเทศไทย (National Database of Thai Plants and Traditional Knowledge) 1 ฐานข้อมูล

10. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัตถุดิบ 57 เรื่อง




 






 



Create Date : 20 ธันวาคม 2564
Last Update : 20 ธันวาคม 2564 18:04:56 น.
Counter : 768 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments