All Blog
เดินหน้าวิจัยแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง
"กรมวิชาการเกษตร"เดินหน้าทำแผนโครงการวิจัยเร่งแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งระบาดใน 23 จังหวัด กำหนดเวลา 2 ปี ทดสอบและขยายผลศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตสร้างความแข็งแรงให้มันสำปะหลังในพื้นที่การระบาด พร้อมเร่งรัดผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนพ่นสารเคมีกำจัดแก้ปัญหาโรคระบาดในพืช

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินงานวิจัยเร่งด่วนเพื่อยืนยันข้อมูลทางวิชาการเรื่องศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตสร้างความแข็งแรงให้แก่มันสำปะหลังซึ่งได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลัง






 






 
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนโครงการวิจัยพัฒนาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระยะเวลาดำเนินการวิจัย 2 ปี  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ใน 23 จังหวัด 

มุ่งเน้นการวิจัย การทดสอบและขยายผลศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตในพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมพื้นที่ทดสอบ 150 ไร่  การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างความแข็งแรงให้มันสำปะหลังในพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง






 






 
โดยการใช้แคลเซียมคาร์บอเนต กรดซาลิไซลิค สารปรับปรุงดิน และปุ๋ยชีวภาพ PGPR ในสภาพพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยเมื่อเกิดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังและการวิจัยพัฒนาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง

ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การวิจัยเร่งรัดการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด เพื่อเป็น Clean Buffer Stock ในระบบการผลิตมันสำปะหลังของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนเกษตรสำหรับพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีได้  และการประเมินความทนทานของพันธุ์มันสำปะหลังและสายพันธุ์ก้าวหน้า สำหรับแนะนำส่งเสริมเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาด

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่มพบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินงานวิจัยด้านพืชได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องโดยมาตรการด้านงานวิจัย ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง การประเมินพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง การผลักดันให้เกษตรกรใช้พันธุ์ทนทานและท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง





 







 
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีพันธุ์มันสำปะหลังที่ต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง  โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ระยะเริ่มต้นซึ่งตลอดทั้งกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6-7 ปี ดังนั้นแนวทางที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังต่อระบบการผลิตมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ในปัจจุบันจะต้องประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างผสมผสาน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ 

สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อสาเหตุ Sri-Lankan Cassava Mosaic Virus มีรายงานการระบาดครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 พื้นที่ 45,400 ไร่ ใน 11 จังหวัด เนื่องจากเชื้อสาเหตุสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้จึงแพร่กระจายเมื่อนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ  

ประกอบกับประเทศไทยมีแมลงพาหะ คือ แมลงหวี่ขาวยาสูบจึงทำให้การการระบาดแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ในปีการเพาะปลูก 2564/65 พบรายงานการระบาดสูงสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2564) ประมาณ 328,533 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการระบาดสูงสุด 3 อันดับแรก คือ นครราชสีมา สระแก้ว และบุรีรัมย์  





 



 


 



Create Date : 08 เมษายน 2565
Last Update : 8 เมษายน 2565 11:45:53 น.
Counter : 290 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"เปิดขอใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มผ่านระบบBiz Portal
"ปศุสัตว์"ยกระดับบริการเปิดรับคำขอและออกใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล ผ่านระบบออนไลน์ ระบบ Biz Portal 

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานภาครัฐระบบราชการ 4.0 ที่มุ่งอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพให้บริการแก่ประชาชน พัฒนาระบบให้บริการอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยยึดผู้ใช้บริการหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถให้บริการเสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลาและผ่านการติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสาน ไม่ว่าจะมาติดต่อด้วยตนเอง อินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ 




 





 
ทั้งนี้ล่าสุดได้ยกระดับการให้บริการเปิดรับคำขอและออกใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จออนไลน์ผ่านระบบ Biz Portal จบเพียง 5 ขั้นตอน สามารถให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

การยื่นขอรับใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล ผ่านระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) สามารถให้บริการทั้งการขอรับใบรับรอง/ต่ออายุใบรับรอง/ใบแทนใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพียงใน 5 ขั้นตอน 





 






 
โดยขั้นตอนที่ 1 ลงชื่อเพื่อเข้าสู่ระบบที่เว็ปไซต์ Bizportal.go.th โดยเลือกเข้าระบบด้วยบัญชีประชาชน สำหรับท่านใดที่ยังไม่มี Digital ID ให้ทำการสมัครเพื่อรับ Digital ID ก่อน เพื่อสามารถเข้าสู่ระบบ

ขั้นตอนที่ 2 เลือกหัวข้อ การขออนุญาตออนไลน์ คลิกที่หัวข้อการขออนุญาต/งานบริการใหม่ และเลือกหัวข้อการขอใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือการขอใบแทนใบรับรองฯ หรือผู้ขอต่ออายุใบรับรองฯ

ขั้นตอนที่ 3 ทำการกรอกแบบฟอร์มและอัปโหลดเอกสารแนบเพื่อยื่นคำขอ

ขั้นตอนที่ 4 ทำการติดตามสถานะ/รับทราบผลการตรวจสอบเอกสาร โดยสามารถเลือกการรับแจ้งได้ทางอีเมล์และ กล่องข้อความทางโทรศัพท์ SMS

ขั้นตอนที่ 5 การรับใบรับรองฯ อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทาง Bizportal.go.th

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า นับว่าเป็นการยกระดับการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการประชาชนสามารถใช้บริการได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมในฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP 16 ประเภท ได้แก่ สุกร โคเนื้อ โคนม แพะเนื้อ แพะนม แกะเนื้อ ไก่พันธุ์ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย เป็ดพันธุ์ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ ห่าน (ทุกสายพันธุ์) นกกระทา (ทุกสายพันธุ์) และผึ้ง (ทุกสายพันธุ์) รวม 23,246 แห่งทั่วประเทศ และมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดจำนวน 7,594 ราย โดยใบรับรองฯ ยังไม่หมดอายุ 2,594 ราย 

อย่างไรก็ตามยังสามารถดูข้อมูลและวิธีการยื่นขอใบรับรองผ่านระบบฯ เพิ่มเติมได้ที่ https://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-05-01-14-47-42/2017-11-15-02-35-10/1655-biz-portal หรือโทร 02-653-4444 ต่อ 3155, 3134ด้วย




 




 



Create Date : 04 เมษายน 2565
Last Update : 4 เมษายน 2565 18:27:37 น.
Counter : 336 Pageviews.

0 comment
"กรมปศุสัตว์"แนะใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศลดนำเข้า
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่าปัจจุบันสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในต่างประเทศที่มีความผันผวนของวัตถุดิบ ที่มีผลกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค กรมปศุสัตว์จึงสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อทดแทนวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่นอกเหนือจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ผลิตอาหารสัตว์ ยังมีมันสำปะหลัง ปลายข้าว รำข้าว รวมถึงข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ผลพลอยได้ที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เช่น กากมันสำปะหลัง กากเบียร์ กากน้ำตาลที่สามารถใช้ทดแทนได้ 




 





 
ทั้งนี้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ทดแทนดังกล่าวต้องคัดเลือกและตรวจสอบให้มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย โดยเฉพาะต้องไม่พบสิ่งปลอมปนซึ่งมาจากวัตถุดิบอื่น เชื้อราชนิดต่างๆ เมล็ดแตก เสีย มีกลื่นเหม็นหืน รวมถึงสิ่งที่ปนมาโดยธรรมชาติ เช่น ดิน หิน ทราย มีความชื้นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดสารพิษจากเชื้อรา ตลอดจนปริมาณการใช้ต้องเหมาะสมตามความต้องการด้านโภชนาการของสัตว์แต่ละชนิด วัตถุดิบบางชนิดไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ สุขภาพสัตว์





 






 
รวมถึงผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า กรมปศุสัตว์จึงได้พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกระเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม  เป็นต้น 

วัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ หากใช้ปริมาณที่ไม่เหมาะสมในสูตรอาหารสัตว์ อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ผลผลิต หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้ ทั้งนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://nutrition.dld.go.thเพื่อใช้อย่างเหมาะสมต่อไป





 



 



Create Date : 04 เมษายน 2565
Last Update : 4 เมษายน 2565 17:57:25 น.
Counter : 364 Pageviews.

0 comment
'ประภัตร'ผุดไอเดียโซล่าร์เซลล์ช่วย'เกษตรกร'ประหยัดได้ 20-30% ต่อเดือน
'ประภัตร' ผุด ไอเดีย โซล่าร์เซลล์ช่วย 'เกษตรกร' ลดค่าไฟ ลดมลภาวะ ประหยัดได้ 20-30% ต่อเดือน เป้าหมาย 1 ล้านครัวเรือน ดันออก NFT ระดมทุนจากกองทุนต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานในภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน ภาคการขนส่ง และภาคส่วนอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เชื้อเพลิงส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีราคาแพง

จากข้อมูล พบว่ามีเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพทางการเกษตร สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้น และต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาพลังงานในภาคเกษตรโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงในไม่ช้านี้






 






 
นายประภัตร กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขพลังงานด้านการเกษตร จากการที่ตนได้ทำงานคลุกคลีกับชาวไร่ ชาวนา มานาน ได้มองเห็นสภาพปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับ บริษัท แคปปิตอล ทรัสต์กรุ๊ป จำกัด ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทจัดการกองทุนสิงคโปร์ ในการตั้งกองทุนที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์สิงคโปร์ ที่ได้ทำการศึกษา และวิเคราะห์เรื่องการใช้พลังงานในภาคเกษตรของประเทศไทย

จึงได้ทำการออก NFT หรือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิตอลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้ ชื่อ Solar Panels NFT for Thai Farmers มูลค่า 6 ล้านอีเธอร์เรียม (Ethereum) เพื่อขายให้กับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ที่อยู่ในสิงคโปร์อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งยังวางแผนตั้งกองทุนเพื่อนำมาลงทุนซื้อ NFT ดังกล่าว ไว้สำหรับระบบโซล่าร์เซลล์คุณภาพสูงพร้อมติดตั้งให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือน เพื่อใช้ทดแทนพลังงานที่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิง
 
นายประภัตร กล่าวว่า การติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์ดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในภาคเกษตรกรได้ อย่างเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถไฟฟ้า รถไถนาเดินตามไฟฟ้า รถดำนาไฟฟ้า เครื่องสีข้าวไฟฟ้า รถแทรกเตอร์ไฟฟ้า รถเกี่ยวนวดข้าวไฟฟ้า เครื่องอบมันสำปะหลังสะอาด แบตเตอรี่ลิเธียม ปั๊มพญานาคไฟฟ้า ปั๊มบาดาลไฟฟ้า โดรนสำหรับพ่นปุ๋ย
 
นายประภัตร กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยประหยัดไฟ หรือลดการใช้ไฟได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ทั้งนี้เบื้องต้นได้มีการเร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยให้เร่งศึกษาความเป็นไปได้จัดหาแนวทางดำเนินงาน แนวทางการเก็บเงิน การตรวจสอบคุณภาพระบบโซล่าร์เซลล์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับกองทุนต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ นอกจากนี้ตนจะช่วยประสานกับสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการเป็นตัวแทนรับเก็บเงินจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลาการเช่าระบบโซล่าเซลล์
 
"ผมได้ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านครัวเรือน มีเป้าหมายช่วยเกษตรกรลดค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ของเกษตรกรกลุ่มนี้ ได้มากกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน โดยหลังจากมีการสำรวจความต้องการของกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเสร็จสิ้น จากบริษัทแคปปิตอลทรัสต์ฯ ตั้งเป้าที่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่ารวม 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณมูลค่ากองทุนรวมทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท" นายประภัตร กล่าว
 
นายประภัตร กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อย่างน้อยวันละ 5 ลิตรต่อครัวเรือน หรือ 10 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นเงิน 300 ล้านบาทต่อวัน (ราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทต่อลิตร) โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า และค่าเชื้อเพลิง ตลอดระยะเวลา 15 - 20 ปี ซึ่งหากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ จะสามารถขยายผลติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์ไปยังเกษตรกรทุกครัวเรือน และครัวเรือนอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตร

ตนได้แนะนำบริษัทแคปปิตอลทรัสต์ฯให้พิจารณาซื้อระบบโซล่าร์เซลล์ที่มีคุณภาพสูง มีความน่าเชื่อถือระดับโลก จากบริษัท เทสล่า เพราะเชื่อว่าถ้าเกษตรกรในประเทศมีความต้องการระบบโซล่าร์เซลล์ ของบริษัท เทสล่า มากกว่า 1 ล้านครัวเรือน บริษัทแคปปิตอลทรัสต์ฯ น่าจะต่อรองเรื่องราคาให้เหมาะสมกับคุณสมบัติที่เหมาะกับเกษตรกรไทย





 




 



Create Date : 03 เมษายน 2565
Last Update : 3 เมษายน 2565 12:11:56 น.
Counter : 395 Pageviews.

0 comment
ยึด“เรือฝึกปลาลัง”ต้นแบบลดต้นทุนแรงงาน-พลังงาน
“อลงกรณ์”เดินหน้าพัฒนาเรือประมง ผนึกศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมสมาคมประมงไทยพัฒนาเทคโนโลยีการจับปลา ยึด “เรือฝึกปลาลัง” เป็นต้นแบบ มุ่งลดต้นทุนแรงงาน-พลังงาน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เข้าเยี่ยมชมเรือฝึก "ปลาลัง" ณ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) จ.สมุทรปราการ โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว นายประพันธ์ ลีปายะกุล รองอธิบดีกรมประมง นางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MR.Koichi Honda จากรัฐบาลญี่ปุ่น นายพิชัย แซ่ลิ้ม นายกสมาคมประมงสมุทรปราการและกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการประมงฯ กรมประมง ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการเรือฝึก "ปลาลัง"





 





 
เรือฝึก “ปลาลัง” เดิมเป็นเรือประมงอวนล้อมจับ และได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นเรือฝึกประมงอวนลากในปี 2564 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกรมประมงและรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้งบประมาณ Japanese Trust Fund ในหัวข้อโครงการ Responsible Fishing Technology and Practice ให้เป็นเรือฝึกประมงตัวอย่าง ในการพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งทำการประมง รวมถึงภาวะโลกร้อน (Low Impact and Fuel Efficient)  




 





 
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของลูกเรือบนเรือประมง เสริมสร้างความปลอดภัยการทำงานในทะเล การส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้านการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ทั้งแบบสดและมีชีวิต (Fresh & Life Fish) อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้สามารถคงความสด ลดการสูญเสีย และขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด

นายอลงกรณ์ ได้เสนอแนะให้ศูนย์ซีฟเดคและกรมประมงบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในการนำเทคโนโลยี และเครื่องจักรกลมาใช้ในการพัฒนาเรือประมงของไทยต่อยอดจากแนวทางการพัฒนาเรือฝึก “ปลาลัง” ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี ขอให้สมาคมการประมง เข้ามาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงเรือประมงของไทยมุ่งเป้า 1 จังหวัด 1 ลำ




         





 



Create Date : 01 เมษายน 2565
Last Update : 1 เมษายน 2565 17:45:26 น.
Counter : 350 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments