All Blog
"ปศุสัตว์"เร่งช่วยเกษตรกรน้ำท่วม 7 จังหวัดใต้
"อธิบดีกรมปศุสัตว์"สั่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใต้ระดมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 7 จังหวัดภาคใต้ด่วนพร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ล่าสุดตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานในพื้นที่ให้เร่งดำเนินการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย พร้อมให้การช่วยเหลือด้านเสบียงสัตว์ซึ่งเตรียมไว้รองรับภัยพิบัติ รวมทั้งแร่ธาตุ และเวชภัณฑ์แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เป็นการด่วน






 






 
โดยให้ประสานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง 2 เขต จำนวน 7 หน่วยงาน ดังนี้ พื้นที่เขต 8 จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชุมพร สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ ชุมพร และระนอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ ตรัง และกระบี่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์พัทลุง สนับสนุนเสบียงสัตว์ภายในจังหวัดพัทลุง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครศรีธรรมราช สนับสนุนเสบียงสัตว์ภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่เขต 9 จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สตูล สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 3 จังหวัด คือ สตูล สงขลา และปัตตานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นราธิวาส สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ นราธิวาส และยะลา 





 






 
ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ กรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 3,494 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัด 14 อำเภอ 57 ตำบล 198 หมู่บ้าน ให้ความช่วยเหลือปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบแล้ว เป็นจำนวน17,199 ตัว  แบ่งเป็น โค 5,732 ตัว กระบือ 454 ตัว แพะ/แกะ 5,083 ตัว สัตว์ปีก 5,930 ตัว แปลงหญ้า 102 ไร่ โดยกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนเสบียงสัตว์ ไปแล้ว 43,800 กิโลกรัม

แบ่งเป็นเสบียงแห้ง 41,300 กิโลกรัม และเสบียงสด 2,500 กิโลกรัมซึ่งเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเสบียงสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อกลุ่มโครงการพิเศษและป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315

"หลังจากน้ำลดและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมปศุสัตว์จะให้การช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการฟื้นฟูสภาพการเลี้ยงสัตว์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ต่อไป" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว



 





 
 



Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2565 18:36:50 น.
Counter : 459 Pageviews.

0 comment
"มหิดล"-กยท.MOUต้นแบบคาร์บอนเครดิตสวนยางลดก๊าซเรือนกระจก
"มหาวิทยาลัยมหิดล"โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำบันทึกข้อตกลงเดินหน้าพัฒนาต้นแบบโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมในภาคการเกษตรณ ห้องประชุมนาทตัณฑวิรุฬห์ อาคารนาทตัณฑวิรุฬห์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในความร่วมมือในการขับเคลื่อน สนับสนุน ส่งเสริม และดำเนินการการพัฒนาพื้นที่ปลูกยางพาราให้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อส่งเสริมและมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573

โดยมีอ.ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินงานหลักร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาข้อตกลงความร่วมมือนี้

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรในเรื่องการเพาะปลูก ผลผลิต ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งภาครัฐได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นที่มาให้ กยท. ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางของ





 





 
โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ นำองค์ความรู้ข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำ คำปรึกษา เพื่อนำร่องให้ภาคการเกษตร อาทิ สวนยางพาราที่อยู่ในการดูแลของ กยท. จำนวนกว่า 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้เข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ในประเด็นการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูก เพื่อร่วมกันสร้างสมดุลให้กับสภาวะแวดล้อม ตลอดทั้งสร้างรายได้อีกทางให้กับเกษตรกร จากการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง

ในปี 2565-2567 กยท.จะดำเนินจัดทำสวนยางต้นแบบในโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ใช้สวนยางของ กยท.ในการเก็บข้อมูล ติดตามผลและจัดทำรายงานประเมินผลการลดการปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

เพื่อนำมาคำนวณค่าที่ได้ตามระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจก จากการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ อบก. กำหนด เพื่อผลักดันให้สวนยางพาราในประเทศไทยได้ยกระดับพัฒนาคุณภาพของสวนยางพาราให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป




 



 



Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2565 17:51:32 น.
Counter : 638 Pageviews.

0 comment
เปิดถนนทุเรียน ตราด ต้อนรับนักท่องเที่ยว

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ร่วมกับแขวงทางหลวงชนบทตราด ลงนามบันทึกความร่วมมือในการดำเนินการปฏิบัติงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร เน้นคน พื้นที่ สินค้า ทำจริง ต่อเนื่อง มีความยั่งยืน เพื่อให้จุดเด่นการผลิตทุเรียนเป็นที่รู้จักแพร่หลายภายใต้ชื่อ “ถนนทุเรียนตราด (Durian Road@Trat)” 




 




 

โดยได้มีการพัฒนาเส้นทางถนนทางหลวงชนบท ตร. 4008 หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ระยะทาง 6 กิโลเมตร ที่ตัดผ่านสวนทุเรียนจากบ้านแหลมศอกไปท่าเรือแหลมศอก-เกาะกูด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและมีศักยภาพให้กลายเป็นเส้นทางผลไม้ แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องสวนทุเรียนคุณภาพ  
 

มุ่งเน้นให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนร่วมพัฒนาพื้นที่บริเวณสองข้างทาง บ้านอ่าวใหญ่ หมู่ 1 บ้านแหลมพร้าว หมู่ 4 บ้านแหลมศอก หมู่ 6 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ให้เป็นเส้นทางที่สวยงาม มีป้ายแนะนำสวนเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน ง่ายแก่ผู้สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างเกษตรกรต้นแบบ 5 เสือคนทำจริง ต้นแบบการส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยบูรณาการกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทุ่งเพล และการสร้างแบรนด์ทุเรียนที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตราด 




 




 

ปัจจุบันถนนทุเรียนตราดได้กำหนดเป็นกลยุทธ์เพื่อให้เป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการ โดยมีหน่วยงานร่วมมือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมตลอดห่วงโซ่ของการผลิตทุเรียน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ถนนทุเรียนตราดเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ ได้แก่ การติดป้ายบอกทางถนนทุเรียนตราด กิจกรรมปั่นปัดดอกทุเรียนร่วมกับกลุ่มแกนนำเกษตรกร การสร้างจุดชมวิวสวนทุเรียนริมเลลุงอี๊ด และการเยี่ยมชมแปลงตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
 

นอกจากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นย้ำเรื่องทุเรียนอ่อนมาตลอด มีการดึงเกษตรกรมาร่วมเป็นเครือข่าย สร้างจิตสำนึกไม่ตัดทุเรียนอ่อน ตลอดจนสร้างการรับรู้การทำสวนทุเรียนที่ออกก่อนที่อื่น ๆ ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสวนทุเรียนที่ดูแลเอาใจใส่ให้ทุเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบสามารถขยายผลสร้างทุเรียนตราดให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลที่ต่างประเทศยอมรับตามสโลแกน “ทุเรียนออกก่อน คุณภาพดี ต้องที่จังหวัดตราด”




 




 

จากความนิยมบริโภคทุเรียนทั้งในและต่างประเทศทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่จังหวัดตราด มีการคาดการณ์ผลผลิตปีนี้อยู่ที่ประมาณ 90,000 ตัน และขณะนี้เป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังเริ่มให้ผลิตออกสู่ตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลห้วงน้ำขาว ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด 
 

ทุเรียนที่นี่มีลักษณะเด่นและเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น ผลผลิตทุเรียนออกก่อนทุกปี ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นแหลมยื่นสู่ทะเล ทำให้แต่ละปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าและล้งต่าง ๆ เข้ามาวางแผนเพื่อซื้อผลผลิตทุเรียนเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จนเป็นที่มาของการรณรงค์ เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียน ผู้ประกอบการส่งออก และมือตัดทุเรียนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อจำหน่าย

 


 





 

 




Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2565 19:50:21 น.
Counter : 449 Pageviews.

0 comment
มอบ GAP นาเกลือทะเล 2 รายแรกเร่งพัฒนาสู่มาตรฐานสากล
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 1/2565 ผ่านการประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม 

ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล ปี 2564/2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) มีจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรวม 7 จังหวัด (สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และจันทบุรี) จำนวน 597 ครัวเรือน 941 แปลง เนื้อที่ 19,041.27 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 82.57 เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในปีการผลิต 2563/2564 และคาดการณ์ว่าปีการผลิต 2564/2565 จ.สมุทรสาคร จะมีปริมาณผลผลิตออกมามากสุด 316,459 ตัน





 





 
นอกจากนั้นยัง ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานมาตรฐานเกลือทะเลไทยในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) ในปีงบประมาณ 2565 โดยมีเกษตรกรที่มายื่นขอรับการรับรองแล้วจำนวน 25 ราย 50 แปลง พื้นที่ 1,461.22 ไร่

ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับการรับรองตาม มกษ. 9055 แล้วจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายเลอพงษ์ จั่นทอง จ.สมุทรสาคร พื้นที่การผลิตเกลือทะเล 40 ไร่ และนางสาววรรณจิตร สินทะเกิด จ.สมุทรสาคร พื้นที่การผลิตเกลือทะเล 44 ไร่  (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) 


ขณะเดียวกันนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กษ. ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบหมายให้ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรทั้ง 2 ราย และยังมีเกษตรกรนาเกลือที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจรับรองเพื่อขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจรับรองแปลงนาเกลืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แปลง เพื่อยกระดับการผลิตเกลือทะเลไทยให้ได้มาตรฐานและรองรับการขยายช่องทางการจำหน่ายต่อไป 




 





 
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 ในพื้นที่การผลิตเกลือทะเล จำนวน 3 จังหวัดที่มีผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก จากปีการผลิต 2562/63 โดยชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร ตันละ 250 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ผลผลิตไม่เกินรายละ 443.40 ตัน

ผลการดำเนินงานชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเลให้เกษตรกร จำนวน 111 ราย เกลือทะเลจำนวน 39,841.17 ตัน แบ่งเป็น จ.เพชรบุรี 107 ราย เกลือทะเลจำนวน 33,067.42 ตัน จ.สมุทรสาคร 36 ราย เกลือทะเลจำนวน 6,173.75 ตัน และ จ.สมุทรสงคราม 2 ราย เกลือทะเลจำนวน 600 ตัน ซึ่งจำนวนเกลือทะเลที่เข้าร่วมโครงการและการชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเล คิดเป็นร้อยละ 81.70 ของเป้าหมายโครงการ

ส่วนผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 10,076,707.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 81.61 ของวงเงินอนุมัติ เป็นค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นเงินจำนวน 9,960,291.75 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 116,416 บาท ส่งคืนกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเงิน 2,493,592.25 บาท และมีค่าดอกเบี้ยเงินฝากจำนวน 7,860.69 บาท (ข้อมูลวันที่ 12 มกราคม 2565)




 





 
ที่ประชุมได้พิจารณายกร่างแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนาเกลือที่ประสบภัยพิบัติเพื่อบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยกำหนดชนิดของภัย ได้แก่ 1) ชนิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วมในแปลงนาเกลือทะเล 2) ชนิดภัยธรรมชาติ น้ำทะเลหนุนในแปลงนาเกลือทะเล

3) ชนิดภัยธรรมชาติ พายุ/ฝนหลงฤดู ในแปลงนาเกลือทะเล พร้อมทั่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์เกษตรกรเพื่อเร่งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน

ส่วนกรณีที่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ จ.เพชรบุรี ประสบภัยพิบัติฝนตกมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เกิดความเสียหายเกลือละลายไปกับน้ำฝนถึง 5 หมื่นตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 75 ล้านบาทนั้น ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจถึงกระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ เพื่อขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรให้ทันท่วงทีต่อไปด้วย



 




 
 



Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2565 19:35:20 น.
Counter : 497 Pageviews.

0 comment
เตือนชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังหนอนกออ้อย
จากสภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า แดดจัดในตอนกลางวัน ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน และมีฝนตกบางพื้นที่กรมวิชาการเกษตรขอแจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอให้หมั่นสำรวจไร่อ้อยซึ่งอยู่ในระยะแตกกอเพื่อเฝ้าระวัง หนอนกออ้อย ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก  หนอนกอสีขาว  และหนอนกอสีชมพู

โดยให้สังเกตลักษณะการทำลายของหนอนแต่ละประเภท ดังนี้หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5 - 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม




 






 
หนอนกอสีขาว หนอนเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไป กัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู  หนอนเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง





 











 
แนวทางในการป้องกันและกำจัด ในแหล่งชลประทานควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย  ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา อัตรา 30,000 ตัว/ไร่/ครั้ง โดยปล่อยติดต่อกัน 2 - 3 ครั้ง ช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย  ปล่อยแมลงหางหนีบอัตรา 500 ตัว/ไร่

โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลง และควรปล่อยให้ชิดกออ้อย และใช้ใบอ้อยหรือฟางที่เปียกชื้นคลุมจะช่วยให้โอกาสรอดสูงขึ้น   และทำการปล่อยซ้ำถ้าการระบาดยังไม่ลดลงช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย   หากปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาไม่ต้องปล่อยแมลงหางหนีบ  เพราะแมลงหางหนีบจะกินแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาด้วย

ในระยะอ้อยแตกกอหรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ให้พ่นสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นโดยใช้น้ำ 50 ลิตรต่อไร่พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน  ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในแปลงที่ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา และแมลงหางหนีบ




 



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2565 18:54:42 น.
Counter : 644 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments