All Blog
"มกอช."MOUส.การค้าตลาดกลางฯนำมาตรฐานสินค้าเกษตรสร้างความเชื่อมั่นซื้อ-ขาย
"มกอช."ร่วมมือ สมาคมการค้าตลาดกลางฯ ลงนาม MOU หนุนนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ในตลาดกลาง เสริมความเชื่อมั่น สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้าเกษตร

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ไปปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และ สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย (TAWMA) โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายกสมาคมการค้าตลาดกลางค้าฯ  เป็นผู้ลงนาม ณ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 






 






 
นายประภัตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านเกษตรกรรมของประเทศ รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ตลาดกลางสินค้าเกษตรไทย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบห่วงโซ่คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาด เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ จนถึงปลายทางผู้บริโภค

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตและจัดการการค้าสินค้าเกษตรของประเทศ ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับความเชื่อถือ และนำพาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นตลาดชั้นนำที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล

นายพิศาล พงศาพิชณ์ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เกิดขึ้น มกอช. ได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการนำมาตรฐานสินค้าไปปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง เริ่มตั้งแต่การคัดแยกคุณภาพ ตัดแต่ง บรรจุ ตลอดจนการขนส่ง เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ ลดการสูญเสีย

จนถึงปลายทางผู้บริโภค การวางระบบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรสำหรับตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย ถือเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้า และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้






 






 
ทั้งนี้ มีแผนการดำเนินงานประกอบด้วย ระยะ Quick win คือแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน โดย มกอช. และสมาคมฯ ได้กำหนดให้มีการจัดพิธีลงนามในวันนี้ รวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มาตรฐานสินค้าเกษตรและระบบการรับรอง

รวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ การดำเนินงานในระยะที่ 1 การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและพัฒนาต้นแบบการจัดการสินค้าเกษตร ตามมาตรฐาน โดยนำร่องที่ “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และมีความสำคัญมากต่อห่วงโซ่อาหารและสินค้าเกษตรของประเทศ

การดำเนินงานในระยะที่ 2 เป็นการจัดทำมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพตลาดกลางสินค้าเกษตร และการดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นการเตรียมความพร้อมระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานและจัดทำระบบ Supply Chain จากนั้นจะนำต้นแบบจาก “ตลาดไท” ขยายผลไปยังตลาดกลางสินค้าเกษตรแห่งอื่นเพิ่มเติมในปีถัดไป






 
    





 
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อใช้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย ให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเกษตร ซึ่งปัจจุบัน สมาคมฯ มีสมาชิกตลาดกลางค้าส่งทั่วประเทศ 17 แห่ง ในการกระจายสินค้าเกษตร

โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้จำนวนมากที่ต้องกระจายผ่านตลาดกลางค้าส่งเหล่านี้ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงมีความยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุน 
          
การนำมาตรฐานสินค้ามาปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง โดยได้ร่วมมือกับ มกอช. ในการพัฒนาตลาดกลางต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพตลาดสินค้าเกษตร โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการ ผู้ขายมีความมั่นใจในสินค้าเกษตร

ส่งผลให้การซื้อขายมีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งตลาดมีพื้นที่จัดสรรและหมุนเวียนเพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรมากขึ้น ภายใต้ความเป็นธรรมในการค้าขายสินค้าเกษตร รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านอาหารในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย




 



 



Create Date : 29 กันยายน 2564
Last Update : 29 กันยายน 2564 15:16:34 น.
Counter : 630 Pageviews.

0 comment
นาข้าวสุพรรณจมน้ำหลายหมื่นไร่
"ประภัตร"ลุยช่วยเหลือ ประชาชนพื้นที่สามชุก​  สุพรรณ หลังน้ำท่วมนาข้าวหลายหมื่นไร่​ พร้อมสั่งชลประทานเร่งตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ระบายน้ำออกจากนา  พร้อมมอบถุงยังชีพชาวบ้าน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะ ส.ส. สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ลงพื้นช่วยเหลือชาวนาที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี





 





 

หลังจากที่ผ่านมาในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีน้ำเหนือลงมาสมทบทำให้น้ำในแม่น้ำท่าจีนและในคลองต่างๆ ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในนาข้าวมีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำไหลเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวงใกล้จะได้กำหนดเก็บเกี่ยว และท่วมนาข้าวที่เพิ่งเริ่มทำใหม่ รวมแล้วนาข้าวจำนวนหลายหมื่นไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้ขณะนี้ชาวนาหลายตำบลในอ.สามชุกได้รับความเดือดร้อนหนัก

นายประภัตร เปิดเผยว่า จากที่ช่วงนี้ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถระบายน้ำออกจากนาข้าวได้ ต้นข้าวจมอยู่ในน้ำไม่เกิน 7 วัน ก็จะเน่าเสีย นาข้าวอาจเสียหายเบื้องต้นได้สั่งให้นายพงษ์ศักดิ์ อัครมณี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา และเครื่องสูบน้ำจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ





 











 
เพื่อระบายน้ำจากในนาข้าวระบายลงแม่น้ำท่าจีนและคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อเร่งกู้นาข้าวที่ยังไม่เสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์อีกจำนวนมาก นอกจากนี้​ ยังต้องใช้รถแบ็คโฮ มาทำคันดินเสริมคันคลองหลายสายในพื้นที่ ต.หนองผักนาก ต.กระเสียว อ.สามชุก เพื่อป้องกันน้ำล้นคันคลองเข้าท่วมนาข้าวขยายวงกว้างไปอีก  

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง ไปมอบให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 3 จุด ประกอบด้วยที่ อบต.หนองผักนาก สหกรณ์ออมทรัพย์ หมู่ 5 ตำบลหนองผักนาก และบ้านหนองโรง หมู่ 4 ต.หนองผักนาก อ.สามชุก กว่า 500 ชุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านเบื้องต้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม


โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม.มาช่วยฉีดแอลกอฮอล์ และให้ให้คำแนะนำกับชาวบ้านให้สวมแมสหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19




 






 



Create Date : 28 กันยายน 2564
Last Update : 28 กันยายน 2564 16:54:41 น.
Counter : 503 Pageviews.

0 comment
"มหิดล"ร่วมเครือข่ายสร้างมาตรฐานความปลอดภัยจากสวนสู่จาน
"มหิดล"ร่วมเครือข่ายจังหวัดน่าน และซินเจนทา สร้างมาตรฐานความปลอดภัยจากสวนสู่จาน 
 
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และซินเจนทา สรุปผลโครงการ “รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม” สร้างมาตรฐานความปลอดภัยการใช้สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชภาคเกษตรกรรม โดยได้ผลตอบรับดีเยี่ยม ประสบความสำเร็จ หวังขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

รศ. ดร. สรา อาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการ รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564 ได้ดำเนินงานร่วมกันในหลายภาคส่วนจากเครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และบริษัท ซินเจนทาฯ เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง

ไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดน่าน รวมทั้ง สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และวิทยากรมืออาชีพ ให้ความรู้ สนับสนุนการทำงาน และติดตามผลการทำงานของเกษตรกรเรื่องความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการเพาะปลูกปลอดภัยแบบ GAP” 





 






 
หัวใจของความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ คือ 1) การเข้าไปสำรวจ ศึกษาและทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในเบื้องต้น เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเกษตรกรโดยองค์รวม หลังจากนั้น 2) ได้ออกแบบแนวทางการให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมด้วยการฝึกปฏิบัติจริง เรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรมเรียนรู้แบบใหม่ หรือ Innovative Education ครอบคลุมเนื้อหา พิษวิทยา

การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. การฉีดพ่นสารเคมี หรือ five golden rules การดูแลสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางการขยายเครือข่ายการทำงานและส่งต่อความรู้ แล้วจึง 3) นำมาถ่ายทอดให้กลุ่มผู้นำทั้งเกษตรกร ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องใน 15 อำเภอของจังหวัดน่าน และ 4) ผู้นำเกษตรกรถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และแนวทางการปฏิบัติไปยังเกษตรกรในแต่ละครัวเรือนได้ต่อไป

หลักปฏิบัติการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. หรือ five golden rules เป็นองค์ความรู้จากบริษัท ซินเจนทาฯ ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรเกิดการจดจำและนำไปปฏิบัติได้ง่าย ประกอบด้วย 1) ชัวร์ อ่านและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ 2) ใช้ สารฯ ด้วยความระมัดระวังในทุกขั้นตอน  3) เช็ก ดูแลอุปกรณ์และเครื่องพ่นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 4) ชุด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่เหมาะสมและถูกต้อง 5) ชำระ ปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยดีอยู่เสมอ

นางสาวกุนณัทฐา ศรีม่วง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า “การดำเนินโครงการนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจหลักของสำนักงานฯ ที่ว่า เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างเป็นมาตรฐาน และสร้างสันติสุขในวงการแรงงาน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ประสานงานและติดตามการทำงานของกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิดร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดน่าน






 






 
ทั้งการนัดหมายแต่ละพื้นที่ล่วงหน้า จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ และติดตามผล เพื่อสังเกตผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต”

ด้าน ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ นายเสกสถิต ทารินทร์ กำนันตำบลม่วงตึ๊ด กล่าวสนับสนุนเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติถูกต้องแล้ว เมื่อได้รับฟังและการสาธิตจากอาจารย์ ทำให้ทราบว่า สิ่งที่ปฏิบัตินั้นยังไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอ

อาทิ การสวมรองเท้าบูทที่ถูกต้องต้องเมื่อจะพ่นสารเคมีคือต้องเอาเอาขากางเกงอยู่ด้านนอกรองเท้า หรือ การเลือกใช้หัวฉีดพ่นให้ถูกต้องกับสารเคมีแต่ละประเภทเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ อาจารย์ได้ถ่ายทอดทั้งความรู้ เทคนิค และเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ทุกคนจดจำและนำกลับไปดำเนินการต่อได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบัน ทุกตำบลใน 15 อำเภอของจังหวัดน่านได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว และมีการขยายผลสร้างเครือข่ายวิทยากรมืออาชีพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง”





 






 
โครงการนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้มีเครือข่าย อาสาสมัคร วิทยากร รวมเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ทำให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม

เป็นจุดเริ่มต้นให้ผลผลิตจากสวนหรือฟาร์มต่าง ๆ สู่จานอาหารผู้บริโภคมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกเรื่องมีความเสี่ยง การที่เราอยู่กับความเสี่ยง ย่อมต้องรู้ธรรมชาติและเท่าทันความเสี่ยงนั้น ดังนั้น การใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและใช้อย่างปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร นำไปสู่ความปลอดภัยทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจโครงการรักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม สามารถดาวโหลดและแชร์วิดิโอเพื่อถ่ายทอดความรู้ได้ที่ช่อง Youtube: Farm Safety การอบรมหลักปฏิบัติการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. หรือ five golden rules  บางส่วนของกลุ่มอาสาสมัคร เกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการรักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม การอบรมหลักปฏิบัติการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย




 





 

 



Create Date : 25 กันยายน 2564
Last Update : 25 กันยายน 2564 18:19:11 น.
Counter : 523 Pageviews.

0 comment
ปศุสัตว์คุมเข้มอหิวาต์หมูตรวจสอบสินค้าทุกด่านนำเข้า
"กรมปศุสัตว์"คุมเข้มโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งการด่านกักสัตว์ทุกแห่งตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้าจากจีนและประเทศกลุ่มเสี่ยง หวั่นเกิดปัญหาในประเทศ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากปัญหาการแพร่ระบาด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในต่างประเทศล่าสุดได้สั่งการให้กองสารวัตรและกักกันเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากจีนและประเทศในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้น






 







 
โดยส่วนใหญ่พบผู้เดินทางนำผลิตภัณฑ์จากสุกรติดมากับสัมภาระ (Hand carry) โดยย้ำให้ตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย โดยหากพบให้ยึดเพื่อทำลายทันที

สำหรับ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นโรคประจำถิ่นแถบทวีปแอฟริกา โดยเริ่มแพร่ระบาดไปที่ทวีปยุโรป จนมาถึงรัสเซียใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ต่อมาถึงประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 กรมปศุสัตว์ตรวจยึดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 – ปัจจุบัน รวมกว่า 6,482 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ด่านกักกันสัตว์สนามบิน 1,007 ตัวอย่าง และ ด่านกักกันสัตว์ชายแดน 5,475 ตัวอย่าง 






 





​​​​​​
กรมปศุสัตว์ยังเข้มงวดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายภายในประเทศได้แก่ 1) ตรวจสอบใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ 2) ตรวจสุขภาพสัตว์ 3) พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์และซากสัตว์ 4) บันทึกข้อมูลการตรวจสอบในระบบ e-Movement

พร้อมทั้งเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจห้องเย็น จับกุมโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ประสานหน่วยงานอื่นร่วมหาข่าว ลาดตระเวน เฝ้าระวัง ป้องกัน ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสัตว์-ซากสัตว์จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ยังได้ตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงสถานที่จำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สุกรที่วางจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ด้วย





 





 



Create Date : 25 กันยายน 2564
Last Update : 25 กันยายน 2564 17:09:32 น.
Counter : 592 Pageviews.

0 comment
เตรียมประกาศ 4 ร่างมาตรฐานด้านพืชตาม ASEAN GAP
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4 / 2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ปัจจุบันการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

ที่ประชุมวันนี้ได้เห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมตามที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอขอมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่  1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่รุ่น และ2. การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 2 คณะ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เกษตรอินทรีย์ : การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ 2.สตอรว์เบอร์รี 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร และ4.แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เพื่อดำเนินการประกาศ เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 4 เรื่อง คือ 1.เกษตรอินทรีย์  การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งได้มีการรวมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ. 9000 เล่ม 1 ถึงเล่ม 6 มาไว้เป็นมาตรฐานฉบับเดียว จากที่เคยประกาศแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า ได้แก่ พืชอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ ปลาสลิดอินทรีย์ อาหารสัตว์น้ำอินทรีย์

การเลี้ยงกุ้งทะเลระบบอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และผึ้งอินทรีย์ พร้อมขยายขอบข่ายให้ครอบคลุม อาหารสัตว์ ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์และแมลงที่บริโภคได้ โดยเพิ่มความชัดเจนในบ้างข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตพืช 





 






 
2.สตอรว์เบอร์รี ซึ่งการจัดทำมาตรฐานสตรอว์เบอร์รี เพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการค้าในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมทางการค้า

โดยมีข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยกับสตรอว์เบอร์รี ที่มีการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อ ใช้กับผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค แต่ไม่รวมสตรอว์เบอร์รีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80 พันธุ์พระราชทาน 88 พันธุ์ 329 พันธุ์อากิฮิเมะ (Akihime) พันธุ์แมฮยัง (Maehyang) และพันธุ์ลองเสตม (Long-stem)3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร 

4.แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร โดยทั้ง 2 ร่างนี้ มาตรฐานฯ นี้ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ พืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวในระดับฟาร์มเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของปฏิบัติงาน

พร้อมทั้งมีการปรับแก้ไขข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ASEAN GAP เช่น การไม่เก็บสารเคมีชนิดเหลวอยู่บนชั้นที่เหนือกว่าสารเคมีชนิดผง ให้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบหากวิธีเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ควัน ฝุ่น และเสียงรบกวน และปรับแก้ไขข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้เก็บตัวอย่างน้ำหรือดินเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อน เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค



 




 



Create Date : 22 กันยายน 2564
Last Update : 22 กันยายน 2564 16:33:48 น.
Counter : 579 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments