All Blog
"เกษตรฯ"เพิ่มตรวจสอบย้อนกลับไก่งวง-นกกระทา
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบาย “เกษตรไทย มาตรฐานโลก” กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ดันผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลก เพิ่มมูลค่าการส่งออก และยกระดับเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและรายได้เพิ่มขึ้น

ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบและควบคุมการผลิต ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ โรงแปรรูป และสถานที่จำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเนื้อสัตว์กรณีโรคสัตว์ระบาด มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนการผลิต

สามารถใช้ข้อมูลจากการตรวจสอบย้อนกลับในการเรียกคืนสินค้าหรือแจ้งเตือนภัยตามระบบแจ้งเตือนภัยและอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าที่มีข้อกำหนดในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับสินค้านำเข้าอีกด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ร่างกฎกระทรวง การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 โดยล่าสุดได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564ซึ่งกฎกระทรวง การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลของเนื้อสัตว์ตลอดกระบวนการผลิตและการเรียกคืนเนื้อสัตว์ และเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย มีสาระสำคัญ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานท้องถิ่น พนักงานตรวจโรคสัตว์ และผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ มีการจัดเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1. ใบแจ้งและตอบรับการแจ้งฆ่าสัตว์ 2. รายงานการตรวจโรคสัตว์ก่อนและหลังการฆ่าสัตว์ และ 3. รายงานรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ให้เก็บข้อมูลทั้งหมดไว้อย่างน้อย 1 ปี





 






 
โดยถ้าไม่เก็บมีกำหนดโทษพักใช้หรือเพิกถอนเฉพาะโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้ครอบคลุมชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ และเพื่อความปลอดภัยอาหารของผู้บริโภคยิ่งขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบัน มีผู้บริโภคไก่งวงและนกกระทาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีมาตรการตรวจสอบ ควบคุมหรือป้องกันมิให้โรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ติดต่อมาสู่คน

รวมถึงตรวจสอบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ดังกล่าว ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย จึงกำหนดให้ ไก่งวงและนกกระทา เป็น “สัตว์” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559

จึงได้ร่างกฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ.2564 กำหนดให้ ไก่งวงและนกกระทา เป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์

โดยการฆ่าไก่งวงและนกกระทาต้องทำในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาต ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศฯ ซึ่งผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ที่ประกอบกิจการฆ่าสัตว์

สำหรับนกกระทาและไก่งวงต้องปฎิบัติตามหากไม่ทำตามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจําหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559โดยจากเรื่องดังกล่าวจะช่วยควบคุมให้สินค้ามีความปลอดภัยอาหารและถูกสุขอนามัย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออก สร้างรายได้ให้เกษตรกรและประเทศได้ต่อไป




 




 



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2564 16:48:19 น.
Counter : 588 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"ดันกัญชา-กัญชง-พืชกระท่อมทำอาหารสัตว์ ส่งออก
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่ากระแสกัญชา กัญชง และกระท่อมกำลังมาแรง ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรของไทยมายาวนาน มีผู้สนใจและมีงานวิจัยทยอยออกมามากมาย ล่าสุดได้มีการปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทางการค้า การแพทย์ และการศึกษาวิจัย 

กรมปศุสัตว์ เห็นความสำคัญของการนำไปใช้อย่างถูกกฎหมาย จึงได้เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับอาหารสัตว์เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา กัญชงและกระท่อม โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษารวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ในการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับให้ใช้ได้ในอาหารสัตว์





 





 
จากงานวิจัยพบว่ากัญชงเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงมากและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการนำมาแปรรูป สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังจากที่บีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว มีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

โดยกากสกัดเมล็ดกัญชงมีโปรตีนรวม 29.15% ให้พลังงาน 4,785.24 แคลอรีต่อกรัม มีกรดไขมันที่โดดเด่นอย่างโอเมก้า 3 และ 6 ปริมาณ 8.25 กรัมต่อกากเมล็ดกัญชง 100 กรัม รวมถึงกรดอะมิโนอีก 17 ชนิด ที่โดดเด่นคือ Glutamic acid, Leucine, Lysine และ Methionine

ปัจจุบันกัญชา กัญชง พืชกระท่อม เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจในการนําส่วนประกอบในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ในสัตว์ปศุสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เช่น สุกร ไก่ และโค โดยเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสัตว์เพื่อใช้บริโภค





 





 
ทั้งนี้เช่น เนื้อ นม และไข่ เป็นต้น จะต้องคํานึงถึงประโยชน์ในด้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ที่จะนําไปใช้ ความปลอดภัยต่อสุขภาพสัตว์รวมถึงประเด็นของสารตกค้างที่อาจเกิดขึ้นที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและข้อคํานึงของประเทศคู่ค้าในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ด้วย

ในกรณีของอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตค่อนข้างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 7-10 ต่อปี 

หากผลการทดลองหรือวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชา กัญชงและกระท่อม มาเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง มีความปลอดภัยและมีสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง กรมปศุสัตว์จะส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนให้มีการผลิตและส่งออกทุกรูปแบบ เพื่อให้ธุรกิจด้านอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตและเป็นผู้นำในตลาดโลกอย่างยั่งยืน





 




 
โดยการนำส่วนประกอบของกัญชา กัญชงและกระท่อม มาผลิตเป็นอาหารสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่  (1) พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 (2) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 (3) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และ (4) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562

รวมทั้งประเด็นการขึ้นทะเบียนของผลิตภัณฑ์ในอาหารสัตว์มีข้อพิจารณาที่มีความเฉพาะ ทั้งในด้านประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ประเภทต่างๆ รวมถึงข้อคำนึงด้านความปลอดภัยต่อสัตว์และผู้บริโภคที่บริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์ ซึ่งต้องมีข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงและกระท่อม จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกัญชา กัญชงและกระท่อม หารือในรายละเอียดในการกำกับดูแลต่อไป

จากการศึกษาแนวโน้มทางการตลาดนับเป็นโอกาสและแนวโน้มที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อตอบรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ซึ่งถ้ามีข้อมูลพิสูจน์และหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนจะสามารถต่อยอดให้ด้านเศรษฐกิจ ในการส่งออกอาหารสัตว์ที่ผสมและผลิตจากสมุนไพรไทย เพิ่มศักยภาพและความแตกต่างในการเข้าแข่งขันสู่ตลาดอาหารสัตว์โลกรายแรก (First Mover) สร้างอัตลักษณ์ของประเทศ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรต่อไปในอนาคตด้วย




 




 



Create Date : 01 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2564 17:11:33 น.
Counter : 706 Pageviews.

0 comment
เล็ง ! ฟื้นส่งออกเกลือทะเล-ประเพณี”แรกนาเกลือ"
"อลงกรณ์"เล็งฟื้นส่งออกเกลือทะเลไทย ประสานฑูตเกษตรฑูตพาณิชย์เปิดตลาดจีน ดึงสภาอุตสาหกรรมจับคู่สหกรณ์นาเกลือกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มยอดขายในประเทศ มอบบอร์ดเกลือฟื้นฟูประเพณี”แรกนาเกลือ”สร้างคุณค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ที่ประชุมได้พิจารณาการพัฒนาเกลือทะเลไทย ในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564 วงเงิน 12,570,300 บาท

เพื่อระบายเกลือทะเลค้างสต็อกปี 2562/63 ปริมาณ 48,817.20 ตัน ในแหล่งผลิตสำคัญ ในอัตราตันละไม่เกิน 250 บาท ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม  การพิจารณาอนุมัติหลักเกณ์วิธีปฏิบัติให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน





 





 
โดยให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ที่เริ่มบังคับใช้ 1 กันยายน 2564  การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปี 2566 -2570

พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานโครงการ และงบประมาณ บรรจุลงในแผนปฏิบัติงานและรายงานจากคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล (Ad Hoc) ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกลือทะเลไทย ในปี 2565 ในระยะเร่งด่วน

นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้ประธานช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเกลือที่ประสบปัญหาหนี้สินโดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 





 






 
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ แผนการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยและตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคี เกษตรกร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง 

คณะกรรมการการพัฒนาเกลือทะเลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการผลิตเกลือและการพัฒนากระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการผลิต ขยายสู่อุตสาหกรรมอาหาร คณะกรรมการฯ พร้อมลงพื้นที่ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
 
 
โดยจะนำวาระเกลือทะเลเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)ในการประชุมครั้งหน้าเพื่อจับคู่ธุรกิจระหว่างสหกรณ์เกลือกับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและโรงงานต่างๆและมอบหมายคณะทำงานเฉพาะกิจจัดประชุมกับผู้ค้าเกลือเพื่อร่วมมือกันในการสร้างระบบการค้าและราคาที่เป็นธรรม




 






 
การประชุมครั้งนี้ตนได้มอบหมายสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรในต่างประเทศร่วมกับทูตพาณิชย์ช่วยกันเปิดตลาดเกลือเพื่อฟื้นฟูการส่งออกเกลือทะเลไทยที่เคยทำมาหลายร้อยปีพร้อมทั้งสั่งการให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย

รักษาฟื้นฟูพิธีการทำขวัญนาเกลือ และการจัดงานพิธีแรกนาเกลือซึ่งเป็นประเพณีในอดีตแต่ได้สูญหายไปนับเป็นวัฒนธรรมนาเกลือและชาวนาเกลือเช่นเดียวกับพิธีแรกนาขวัญอันเป็นวัฒนธรรมชาวนาและนาข้าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ

สำหรับสถาบันเกลือ(Salt Academy)กำลังเร่งการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำการผลิต การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาดโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันอาหารรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์เกลือทะเลไทย
 




 






 



Create Date : 31 ตุลาคม 2564
Last Update : 31 ตุลาคม 2564 17:10:43 น.
Counter : 553 Pageviews.

0 comment
"สภาเกษตรกร"หนุนเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติสนับสนุนและเห็นด้วย  เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาทุกคนได้รับผลกระทบหมดต่างกันว่ามาก น้อย การเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง

ที่สำคัญคือเกษตรกรที่ผลิตผลผลิตจะได้ค้าขายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ได้บ้าง ขายได้มากขึ้นบ้าง ราคาก็น่าจะกระเตื้องขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้ามาบริโภคสินค้าเกษตร  
 
ที่ผ่านมา ณ ตอนสถานการณ์ยากลำบากจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 จนต้องประกาศปิดประเทศ หลายฝ่ายมองว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบน้อยสุด  แต่แท้จริงแล้วเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นผลกระทบที่ตามมาคือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง





 






 
การค้าขายก็ยากขึ้น ระบบโลจิสติกส์เป็นอุปสรรคมาก หนี้สินยังคงอยู่พร้อมดอกเบี้ยถึงแม้จะพักชำระหนี้แต่รายได้น้อยถึงน้อยมากก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะฉะนั้นจึงสนับสนุนและเห็นด้วยในการประกาศเปิดประเทศ  

อยากให้รัฐบาลเปิดประเทศนะ เห็นด้วยอยู่ แต่ว่ามาตรการในการป้องกันตัวเองที่เข้มข้นก็ควรดำเนินการต่อไป แล้วก็ขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศว่า อันดับแรกเรื่องมาตรการปกป้องตัวเองขอให้ดำเนินการให้เข้มข้นต่อไป เช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน  การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ยังจำเป็นและให้ทำเป็นประจำอยู่ตลอด  

รวมทั้งการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญคือการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็นไม่ควรเข้า  ขอให้ดูแลตัวเองเป็นหลัก  เพราะถ้าติดเชื้อแล้วจะไม่ใช่เฉพาะตัวเราที่เป็นปัญหาเท่านั้น ครอบครัวก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทันที  การค้าขายก็ต้องหยุดชะงักลง ทุกคนจะเดือดร้อนกันหมดทั้งครอบครัว เพราะฉะนั้นป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด หากใครยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ให้เร่งไปฉีดซะ  ด้วยความห่วงใยครับ




 



Create Date : 29 ตุลาคม 2564
Last Update : 29 ตุลาคม 2564 18:22:06 น.
Counter : 452 Pageviews.

0 comment
ดันปศุสัตว์ Sandbox เชียงราย
"ประภัตร"ดันปศุสัตว์ Sandbox เชียงราย หนุนผลิตสินค้าปศุสัตว์คุณภาพเพื่อการส่งออกตามความต้องการของตลาด สร้างอาชีพ ก่อรายได้ อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรภาคเหนือ

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนจังหวัดและแนวทางการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นายประภัตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเปิด"เขตพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าปศุสัตว์"หรือ ปศุสัตว์ Sandbox เชียงราย เบื้องต้นมอบให้นายภาษเดช หงษ์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการดำเนินการจัดทำแผน เริ่มดำเนินทันที ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564






 






 
โดยจะกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ให้เป็นศูนย์กลางของจังหวัดเชียงราย และแห่งแรกของภาคเหนือ ซึ่งจะรวมปศุสัตว์ทุกประเภท อาทิ วัว เเพะ เเกะ ไก่ ฯ มาไว้ในพื้นที่ Sand box และกำหนดมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพได้  

นอกจากนี้จะมีการอบรมเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ค้าให้มีการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้ามาบริหารจัดการ และสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ และงบประมาณ รวมถึงองค์ความรู้ในส่วนงานของตนเองที่รับผิดชอบให้กับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ค้า  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ด้วย 

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่ได้ประกาศเป็น Sandbox ทุกหน่วยงานเข้าใจภารกิจหน้าที่ของตนเองในการสนับสนุน เป็นรูปธรรม และพร้อมดำเนินการต่อเนื่องทันที และนอกจากปศุสัตว์ Sandbox แล้ว ยังเน้นการส่งเสริมสินค้าการเกษตรทุกภาคส่วน ทั้งภาคประมง และพืช





 






 
โดยหน่วยงานกระทรวงเกษตรจะลงทุนในส่วนของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้กับเกษตรกร และหาตลาดในการรับซื้อผลผลิตให้  เมื่อจำหน่ายได้ค่อยมาหักต้นทุนคืน และเกษตรกรรับส่วนของผลกำไรไป โดยมอบให้ประมงจังหวัด ร่วมกับองค์การสะพานปลา และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เริ่มดำเนินการร่วมกันในการกระจายสินค้าประมงในภาคเหนือและส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย

การดำเนินการครั้งนี้ เป็นอีกนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้คิดโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาส่งเสริมให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม

โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอาชีพเกษตรกร เน้นการใช้สินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในโครงการ "สานฝันสร้างอาชีพ" ปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ประกอบอาชีพการเกษตร เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อ สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา 6 เดือน





 






 
ธกส.ได้รับการอนุมัติวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยจะปล่อยกู้เป็นรายบุคคล หนี้เสียสามารถกู้ได้ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถใช้บุคคลค้ำประกันได้ โดยจะปล่อยกู้รายละ 100,000 บาท / 1 ปี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้เตรียมสร้างศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่อำเภอเเม่ลาว จังหวัดเชียงราย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ได้ปริมาณผลผลิตเยอะ คุณภาพดี ตรงตามความต้องการของตลาด ให้กับเกษตรกรภาคเหนือ และกรมการข้าวจะรับคืนเมล็ดพันธุ์จากชาวนา และเอาเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้ชาวนาไปใช้เพาะปลูกแทน

โดยให้ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งชาวนาสามารถนำเมล็ดพันธุ์มาแลกได้ทุกศูนย์ข้าว ของกรมการข้าว ทั่วประเทศ และพันธุ์ข้าวของประเทศไทยจะแบ่งเป็น 5 ประเภท 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าวขาว 4.ข้าวเหนียว 5.ข้าวสี  ซึ่งกรมการข้าวจะมุ่งเน้นการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้านอกประเทศได้ และตรงตามความต้องการของตลาดโลกด้วย


 

 



 



Create Date : 29 ตุลาคม 2564
Last Update : 29 ตุลาคม 2564 17:49:26 น.
Counter : 531 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments