All Blog
หนุนเลี้ยง“ปลาพลวงชมพู”สร้างรายได้ เกษตรกรชายแดนใต้
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุดกรมประมงระดมทีมนักวิจัย กรมประมง จัดทำ“โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู” เพื่อพัฒนาการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สอดรับกับนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ชายแดนใต้ สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ต่อไป

ปลาพลวงชมพู (Tor douronensis) เป็นปลาน้ำจืดหายากประจำท้องถิ่นในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากมีรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 - 3,500 บาท

ทำให้ปลาชนิดนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่โตช้า ดูแลค่อนข้างยาก ซึ่งจากการศึกษาของกรมประมงพบว่าปลาชนิดนี้โดยธรรมชาติสามารถวางไข่ได้ปีละ 1 ครั้ง และได้ไข่เพียง 500 ฟองต่อแม่ ที่สำคัญการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูโดยวิธีผสมเทียมในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่รวบรวมจากธรรมชาติ






 






 
เนื่องจากปลาพลวงชมพูรุ่นลูกที่นำมาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ได้เพราะไม่มีความสมบูรณ์เพศ อีกทั้งขั้นตอนการฟักไข่แบบเดิมในบ่อซีเมนต์ยังประสบกับปัญหาการติดเชื้อราทำให้ไข่มีอัตราฟักเป็นตัวต่ำ  จึงจำเป็นต้องเร่งศึกษาเพื่อพัฒนาการวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ล่าสุดกรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ร่วมกับ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู” เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลูกปลาพลวงชมพู

โดยมีเป้าหมายให้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูรุ่นลูกมีความสมบูรณ์เพศจนนำมาใช้เพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียมได้ และสามารถผลิตไข่พร้อมลูกพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีอัตราการรอดสูง เพียงพอสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปต่อยอดเลี้ยงในเชิงพาณิชย์






 






 
อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ให้สัตว์น้ำชนิดนี้คงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยมีแผนการดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2564 – 2566 ) อีกทั้งในปี 2564 ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ด้วย
  
นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูให้มีความสมบูรณ์เพศ โดยการใช้สารเสริมในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์และเพิ่มคุณภาพของไข่ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อีกทั้งได้มีการพัฒนาระบบฟักไข่ปลาพลวงชมพูแบบราง โดยใช้ระบบน้ำไหลผ่านแบบหมุนเวียนที่มีระบบการควบคุมอุณหภูมิของน้ำแบบอัตโนมัติ มีการฆ่าเชื้อในน้ำโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลท




 






 
ตลอดจนพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูในโรงเพาะฟักอัจฉริยะแบบปิด ที่มีระบบทำความเย็นแบบ Evaporative Cooling System และใช้ระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating water system) ที่มีระบบการควบคุมคุณภาพของน้ำแบบอัตโนมัติทั้งในช่วงระยะเวลาเลี้ยงและระยะเวลาก่อนการผสมพันธุ์เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์เพศของพ่อแม่พันธุ์ จนกระทั่งสามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้ในที่สุด

สำหรับผลการทดลองเบื้องต้นของการให้พ่อแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูรุ่นลูกที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในปี 2556  (รุ่น P0) กินสารเสริมที่มีรงควัตถุแคโรทีนอยด์ และเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำแบบอัตโนมัติ

พบว่าสามารถกระตุ้นให้พ่อแม่พันธุ์รุ่นลูก (รุ่น P0)  มีความสมบูรณ์เพศมากขึ้น พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์วางไข่และการใช้ทดลองเพาะพันธุ์ โดยจากผลการทดลองเพาะพันธุ์ในช่วงเดือน  มกราคม – มีนาคม 2564





 






 
ที่ผ่านมาสามารถคัดเลือกแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่มีไข่สมบูรณ์ได้จำนวน  45 ตัว นำมาเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูโดยวิธีผสมเทียม จำนวน 8 ครั้ง จนประสบความสำเร็จสามารถรีดไข่ผสมเทียมได้ จำนวน  21 ตัว  คิดเป็นร้อยละ 47 ได้ลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูทั้งหมด จำนวน 12,043 ตัว 

มีแนวโน้มที่ดี เมื่อพบว่า ในเดือนมิถุนายน – กันยายน สามารถทำการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู ได้อีก 3 ครั้ง โดยสามารถคัดเลือกแม่พันธุ์ปลาพลวงชมพูที่มีไข่สมบูรณ์ได้จำนวน  14 ตัว นำมาเพาะพันธุ์ และประสบความสำเร็จในการรีดไข่ผสมเทียมจำนวน  8 ตัว  คิดเป็นร้อยละ 57 ได้ลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูทั้งหมด จำนวน  4,366  ตัว

จากผลสำเร็จของกรมประมงในครั้งนี้นับว่า จะเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ตลอดจนการพัฒนาระบบเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบฟักไข่ปลาพลวงชมพูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้ได้ปริมาณมากอย่างต่อเนื่องและ ขยายผลไปสู่เกษตรกรให้เลี้ยงในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคตต่อไป



 



 



Create Date : 28 ตุลาคม 2564
Last Update : 28 ตุลาคม 2564 16:20:02 น.
Counter : 741 Pageviews.

0 comment
"สศก."โชว์ผลติดตาม Smart Farmer เกษตรกรพัฒนาศักยภาพ-อาชีพมั่นคง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ปี 2564 โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อมไหมและสำนักงานงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมดำเนินการในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องและยกระดับเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer

สำหรับการพัฒนาเกษตรกรให้ยกระดับเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องในปี 2564 โดยการบูรณาการทั้ง 5 หน่วยงาน สามารถพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer Model ได้รวมทั้งสิ้น 29,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 102.29 ของเป้าหมาย 28,707 ราย





 







 
ผลการพัฒนาเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม พบว่า มีการพัฒนาเกษตรกรกลุ่ม Developing Smart Farmer จำนวน 20,375 ราย หรือร้อยละ 98.62 ของเป้าหมาย 20,660 ราย พัฒนากลุ่ม Existing Smart Farmer จำนวน 454 ราย คิดเป็นร้อยละ 151.33 ของเป้าหมาย 300 ราย

พัฒนาเกษตรกรกลุ่ม Smart Farmer Model จำนวน 863 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.68 ของเป้าหมาย 902 ราย พัฒนาเกษตรกรทั่วไปสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 4,447 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.37 ของเป้าหมาย 4,475 ราย และพัฒนา Young Smart Farmer 3,196 ราย คิดเป็นร้อยละ 134.85 ของเป้าหมาย 2,370 ราย





 





 
ผลการติดตามเกษตรกร ร้อยละ 52.68 ได้นำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง สามารถลดรายจ่ายในการผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์/สารชีวภัณฑ์ทดแทนปุ๋ยเคมี และผลิตอาหารปลาใช้เอง โดยรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีในการทำนาลดลงเฉลี่ย 584 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยเคมีผลิตพืชผักลดลงเฉลี่ย 1,660 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยเคมีผลิตไม้ผลลดลงเฉลี่ย 227 บาท/ไร่ ค่าสารชีวภัณฑ์ในการทำนาลดลงเฉลี่ย 250 บาท/ไร่ และค่าอาหารปลาลดลงเฉลี่ย 850 บาท/เดือน

ด้านรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 62.62 มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น รายได้จากการจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษแปรรูปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17,560 บาท/ปี รายได้จากจำหน่ายผลผลิตด้านประมงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9,500 บาท/ปี รายได้จากการจำหน่ายพืชผักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 36,806 บาท/ปี และรายได้จากการจำหน่ายไม้ผลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45,000 บาท/ปี





 





 
ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับประโยชน์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีรายได้ดีขึ้น รายจ่ายลดลง รวมไปถึงด้านสังคม ซึ่งได้รับการพัฒนา และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม  สร้างเครือข่าย นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาการจัดอบรมประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 หน่วยงานระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการจัดอบรมให้กับเกษตรกรได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ควรมีการจัดอบรมหลักสูตรที่สามารถต่อยอดให้เกษตรกร โดยเฉพาะหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มูลค่าการผลิต หลักสูตรเกี่ยวกับการตลาด

หน่วยงานในพื้นที่อาจพิจารณาจัดอบรมในช่วงที่เกษตรกรว่างจากการผลิต เพื่อจะได้มีเวลาอย่างเต็มที่ และจัดทำแผนสำรองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การใช้สื่อการสอนแบบออนไลน์  ที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้




 


 

 



Create Date : 25 ตุลาคม 2564
Last Update : 25 ตุลาคม 2564 17:05:20 น.
Counter : 700 Pageviews.

0 comment
"เฉลิมชัย"สั่งเฝ้าระวังพายุลูกใหม่
"เฉลิมชัย" สั่งเฝ้าระวังพายุลูกใหม่ กำชับหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร เร่งสำรวจพื้นที่เสียหายทันทีหลังน้ำลด
 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยว่า จากผลกระทบของพายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่ ประกอบกับกำลังจะมีพายุโซนร้อนกำลังแรงคมปาซุพัดเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรม ดำเนินการเฝ้าระวังเกิดอุทกภัย โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลพืชแก่เกษตรกร พื้นที่ประสบอุทกภัย ให้เร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่





 






 
หากสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ให้เร่งสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายทันที และดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ ด้านพืช ชดเชยครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ โดยแบ่งอัตราเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท





 






 
จากการานงานล่าสุดของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าผลการสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว จำนวน 5,291,726 ไร่ ใน 45 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย

อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว

โดยแบ่งเป็น ข้าว จำนวน 3,585,259 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1,667,388 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 39,079 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 453,822 ราย และขณะนี้ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินรวมแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิจิตร ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ และสุพรรณบุรี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งดำเนินการตามระเบียบฯ โดยเร็วต่อไป






 






 
ส่วนผลการดำเนินงานสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ปัจจุบันดำเนินการจ่ายเงินชดเชยเสร็จสิ้นแล้ว 1 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ และดำเนินการบันทึกข้อมูลความเสียหายแล้ว 17 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ชัยนาท ลพบุรี และสุพรรณบุรี ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งรัดลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย

การดำเนินการเยียวยาในเบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จากโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร

ได้ดำเนินการแจกเมล็ดพันธุ์ดีแล้วจำนวน 30,000 ซอง รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลรักษาและการจัดการความชื้นในฤดูฝน การจัดการพื้นที่ และการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก การฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วย






 




 
 



Create Date : 15 ตุลาคม 2564
Last Update : 15 ตุลาคม 2564 15:04:04 น.
Counter : 638 Pageviews.

0 comment
"มนัญญา"ลุยกาฬสินธุ์เตรียมแผนรับมือมวลน้ำยันไม่ซ้ำรอย 54
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับมวลน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ ไหลลงมาตามลำน้ำ ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดอื่นๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงไทนาน9 กรมวิชาการเกษตร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และรับฟังปัญหา และให้กำลังใจชาวบ้านในตำบลลำชี ณ วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์



 
 
 
         





 
โดยนางสาวมนัญญา เปิดเผยว่า จากการรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักใน จ.ชัยภูมิ และเกิดอุทกภัยขึ้น โดย จ.ชัยภูมิเป็นต้นน้ำของแม่น้ำชี ทำให้มวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำชี และไหลลงมาที่ จ.ขอนแก่น จนน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ของขอนแก่น ซึ่งขณะนี้มวลน้ำได้ไหลต่อเนื่องลงมาถึงอำเภอกันทรวิชัย จ.มหาสารคามแล้ว คาดการณ์ว่ามวลน้ำจะไหลลงมาสู่พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในอีก 2-3 วันนี้ 





 






 
อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องเกษตรกร ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำปีจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนบริหารจัดการน้ำที่ดี และมีพื้นที่รับน้ำแก้มลิง

ตลอดจนมาตรการเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท






 






 
ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมวลน้ำดังกล่าว โดยมีพนังกั้นน้ำลำชี ความยาวประมาณ 53 กม. ไว้ป้องกันน้ำท่วมได้ และได้ทำการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่บางส่วนที่อยู่นอกเขตพนัง เช่น บ้านท่าแห่ บ้านโนนชัย ต.ฆ้องชัย และบ้านด่านใต้ บ้านเหล่าอ้อย ต.ร่องคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มตำ่ น้ำอาจล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบางส่วน ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังอำเภอที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน และขนย้ายสิ่งของเก็บขึ้นที่สูงไว้เป็นระยะอย่างต่อเนื่องแล้ว





 





 



Create Date : 09 ตุลาคม 2564
Last Update : 9 ตุลาคม 2564 17:56:51 น.
Counter : 440 Pageviews.

0 comment
ก้าวสู่ปีที่ 19 มกอช.เดินหน้าขับยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร
"มกอช."ก้าวสู่ปีที่ 19 เดินหน้าขับยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต  หนุนเลือกซื้อสินค้าเกษตรและอาหารที่มีเครื่องหมาย Q-ออร์แกนิค ไทยแลนด์ สร้างความมั่นใจผู้บริโภค บริโภคอาหารปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 
 
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยกำหนด ตรวจสอบ รับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพ สินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจงานให้เป็นไปตามแผนแม่บท  ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านเกษตรปลอดภัย และการพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ซึ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร  ตลอดห่วงโซ่การผลิต  ด้านเกษตรปลอดภัย

ในปีที่ผ่านมา มกอช. มีผลการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร จำนวน 15 เรื่อง ทำให้ปัจจุบันมีมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร            ที่ประกาศใช้แล้ว รวม 376 เรื่อง การตรวจประเมินเพื่ออนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน : หน่วยรับรอง 24 ราย หน่วยตรวจ 5 ราย และห้องปฏิบัติการ 104 ราย การติดตาม/กำกับดูแลการบังคับใช้มาตรฐานบังคับที่มีผล บังคับใช้แล้ว 7 เรื่อง : ออกใบอนุญาตผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก 1,677 ฉบับ






 






 
ส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไปใช้ : ขยายการเรียนรู้ด้านมาตรฐานในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 41 แห่ง ถ่ายทอดความรู้ในการผลิตตามมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกร 8 แห่ง การสร้าง/พัฒนาบุคลากรด้านการตรวจประเมินรองรับการถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้า และขยายผล  การใช้งานระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Trace โดยมีผู้สมัครใช้งานเพิ่มขึ้น รวม 2,117 ราย

รวมถึงการเข้าร่วมประชุม/เจรจาเพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ การประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ครั้งที่ 43 Codex Alimentarius Commission และการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ในสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาระบบการตรวจสอบและการรับรองสินค้านำเข้าและส่งออก (CCFICS) สาขาสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ในอาหาร (CCSCH) สาขาสารปนเปื้อนในอาหาร (CCCF) เป็นต้น

การประชุม ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement (TF AFSRF) การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) การประชุมคณะกรรมาธิการมาตรการสุขอนามัยพืช ภายใต้อนุสัญญา IPPC ที่ให้การรับรองร่างมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสุขอนามัยพืช (ISPMs) รวม 11 เรื่อง เป็นต้น


การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร : ตรวจรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้ามาตรฐาน Q Restaurant มากกว่า 2,858 ร้าน, Q Market 1,129 แผง,Q Modern trade 757 แห่ง และตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com ที่มีสินค้ากว่า 710 ประเภท 



 




 
นอกจากนี้ มกอช. ยังมีโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร ตามมาตรฐาน GAP การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการส่งเสริมมาตรฐาน และการยกระดับมาตรฐาน แหล่งแปรรูปตามมาตรฐาน GMP 

ด้านการพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็น หนึ่งในภารกิจงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่  การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GAP การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการส่งเสริมมาตรฐาน และการยกระดับมาตรฐานแหล่งแปรรูปตามมาตรฐาน GMP 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ มกอช. คือ การลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค และตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในห้วงการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาเซียน-จีนครั้งที่ 7


โดย มกอช. ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรหารือกับฝ่ายจีน ส่งผลให้มีด่านนำเข้าและส่งออก สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น จำนวน 16 ด่าน ซึ่งนับเป็นผลงานความสำเร็จระดับประเทศ 
ทั้งนี้ ในปี 2564 นี้ มกอช. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 “สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ระดับดีเด่น” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหาราชการ (กพร.)












 
ผลงานการทำงานร่วมกับภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำมาตรฐานบังคับ ทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก นำไปสู่การจัดทำมาตรฐาน เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) ส่งผลให้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP เพิ่มสูงขึ้น และสามารถส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็ง ไปยังตลาดโลกได้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,400 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จในการบริหารราชการของ มกอช. อย่างเป็นรูปธรรม 

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ผู้บริโภคอาจจะมีความกังวลในเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพียงต้องเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีเครื่องหมายรับรอง เช่น เครื่องหมาย Q เครื่องหมายออร์แกนิค ไทยแลนด์ จากร้าน ที่ผ่านการตรวจสอบควบคุมจากหน่วยงานของรัฐ

รวมทั้งซื้อสินค้าเกษตรหรืออาหารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ หรือหากไปนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร ให้สังเกตป้าย Q Restaurant ซึ่งช่วยสร้าง ความมั่นใจว่า ร้านอาหารนั้นใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย นอกจากนี้ การซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

มกอช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า  DGTFARM.COM ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานมาจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานได้อย่างสะดวก เหมือนไปเดินเลือกซื้อสินค้าเองที่ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต และสามารถมั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัยอีกด้วย





 




 



Create Date : 09 ตุลาคม 2564
Last Update : 9 ตุลาคม 2564 16:25:08 น.
Counter : 610 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments