All Blog
แนะส่งทุเรียนไปจีนให้เหมาะกับฤดูกาล-ความต้องการตลาด

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษารูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2565 ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรของประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษารูปแบบและเส้นทางการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีน พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของเส้นทางในแต่ละรูปแบบ




 








 
โดยการศึกษาได้คัดเลือกจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศ เป็นพื้นที่เป้าหมายของการศึกษา รวมทั้งลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ใน 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่  ผู้ประกอบธุรกิจโรงคัดบรรจุที่รวบรวมผลผลิตและส่งออกทุเรียนสดไปจีน  ผู้ให้บริการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีนทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ และ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรประจำด่านตรวจพืชและด่านศุลกากรที่เกี่ยวข้อง


จากข้อมูลในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) พบว่า รูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่นิยมใช้การขนส่งทางน้ำ เปลี่ยนเป็นการขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ล้งใช้การขนส่งทางน้ำเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90.87 รองลงมาได้แก่ การขนส่งทางถนน ร้อยละ 9.11 และทางอากาศ ร้อยละ 0.02 ต่อมาปี 2562 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีน


ส่งผลให้ล้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางน้ำไปเป็นทางถนนมากขึ้น และในปี 2564 ล้งใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.63 รองลงมาเป็นการขนส่งทางน้ำร้อยละ 29.23 และทางอากาศ ร้อยละ 0.14  







 






 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขนส่งทุเรียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางน้ำเป็นทางถนน คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่ง - ขนถ่ายล่าช้า ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ได้คุณภาพ และอัตราค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การขนส่งทางถนน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขนส่งไปยังจุดกระจายสินค้าในจีนโดยไม่ต้องมีการขนถ่าย อีกทั้งยังมีความคล่องตัวสูงในการปรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการขนส่งเมื่อด่านนำเข้าของจีนปิดกะทันหัน


ทั้งนี้ อัตราค่าขนส่งระหว่างทางน้ำและทางถนน พบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การขนส่งทางน้ำมีข้อเสีย คือ ไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าทางถนนได้ ขณะที่การขนส่งทางอากาศ ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด แต่อัตราค่าขนส่งสูงรวมทั้งยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้ จำเป็นต้องใช้การขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) เช่นเดียวกับการขนส่งทางน้ำ





 






 

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงรายละเอียดค่าขนส่งแต่ละประเภท โดยการขนส่งทางน้ำ จากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้และชิงต่าวของจีน มีอัตราค่าขนส่งต่ำสุดอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ การขนส่งทางถนน โดยรถบรรทุก อัตราค่าขนส่ง อยู่ที่ 14 - 22 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ใช้ หากใช้เส้นทาง R3A จากด่านศุลกากรเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว)


ด่านโม่ฮาน (จีน) ไปมณฑลยูนนาน อัตราเริ่มต้นอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม และหากใช้เส้นทาง R12 จากด่านศุลกากรจังหวัดนครพนม ผ่านด่านน้ำพราว (สปป.ลาว) ผ่านด่านจาลอ (เวียดนาม)  ผ่านด่านโหย่วอี้กวน (จีน) ไปมณฑลหนานหนิง อัตราอยู่ที่ 22 บาท/กิโลกรัม ส่วนการขนส่งทางอากาศ มีอัตราค่าขนส่งสูงที่สุด อยู่ที่ 65 บาท/กิโลกรัม






 






 

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารต้นทุนค่าขนส่งคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ล้งควรเลือกใช้รูปแบบการขนส่งให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตตามฤดูกาลผลิตและความต้องการบริโภคของตลาดจีน โดยช่วงต้นฤดู ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ทุเรียนสดถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถขายทุเรียนสดได้ในราคาที่สูง


การขนส่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการบริโภคโดยไม่สนใจราคา สำหรับช่วงกลางฤดู ผลผลิตทุเรียนสดออกสู่ตลาดมาก ล้งต้องการส่งออกในปริมาณมาก ควรเลือกการขนส่งทางถนนควบคู่กับการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดความแออัดของการจราจรหน้าด่าน ทำให้ขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดจีนในเมืองต่าง ๆ ได้หลากหลาย และมีต้นทุนค่าขนส่งโดยรวมถูกลง และช่วงปลายฤดู ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดลดลง







 








 
ประกอบกับความต้องการบริโภคและราคาทุเรียนในตลาดจีนลดลง ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางน้ำเพื่อบริหารต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำที่สุด สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 1751 ในวันและเวลาราชการ








 



 



Create Date : 19 ตุลาคม 2565
Last Update : 19 ตุลาคม 2565 16:37:24 น.
Counter : 224 Pageviews.

0 comment
แนะวิธีฟื้นฟูไม้ผล/ไม้ยืนต้นหลังประสบอุทกภัย


นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  การเกิดอุทกภัยใหญ่แต่ละครั้ง จะส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากทั้งนาข้าว พืชไร่และพืชสวน โดยเฉพาะในส่วนของไม้ผล/ไม้ยืนต้นถ้าถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นตายได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผล/ไม้ยืนต้นด้วย เช่น ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จะทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานกว่ามะละกอ กล้วย ทุเรียน มะม่วง ส้ม มะนาว


อย่างไรก็ตาม ถ้าระยะเวลาการท่วมขังไม่นาน ระดับน้ำที่ท่วมขังไม่สูงถึงระดับใบพืช และน้ำที่ท่วมขังมีการไหลไม่อยู่นิ่งและรากพืชไม่เน่า  ต้นไม้จะมีชีวิตรอดได้  แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างถูกวิธีหลังน้ำลด 






 






 
ไม้ผล/ไม้ยืนต้น เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขังจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ดังนี้  ระบบรากขาดออกซิเจน ทำให้รากไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุต่างๆไปเลี้ยงลำต้นที่อยู่เหนือดิน อาการใบเหลือง จะพบในวันต่อมา ซึ่งมักเกิดกับใบแก่ที่อยู่ทางส่วนโคนของกิ่ง ส่วนอาการซีดเหลืองมักพบในต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังต่อเนื่อง อาจแสดงอาการทั่วทั้งต้น และอาจพบอาการใบลู่หรือห้อยลงด้วย อาการทิ้งใบ ดอก และผล เมื่อพืชอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขังจะเกิดความเครียด ทำให้พืชสร้างเอทิลีนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ต้นพืชทิ้งดอก และผล


โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและรุนแรงจนหมดหรือเกือบหมดต้น และ อาการตอบสนองอื่น ๆ ทางสรีรวิทยาของพืช เช่นการปิดของปากใบเพื่อลดการคายน้ำ ส่งผลให้การสร้างอาหารและส่งเลี้ยงรากลดลงร่วมกับรากขาดออกซิเจนในดินทำให้รากพืชเน่า






 





 

กรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำการฟื้นฟูไม้ผล/ไม้ยืนต้น หลังประสบอุทกภัย  โดยเบื้องต้นเกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาให้พืชเกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วยโดยขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช


ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม และอาจตายได้ และเร่งระบายน้ำออกจากแปลงและบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำ หรือใช้เครื่องช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด รวมทั้งในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะพาเอาดินหรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น หลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้วควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช






 







 
นอกจากนี้ ควรมีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ทำการ ปลิดผล ออกบ้าง เพื่อลดการใช้อาหารในต้นพืช การพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรพ่นปุ๋ยทางใบหรือปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอสูตร 20-20-20 หรือ  21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก พ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนจนเป็นใบเพสลาด  ที่สำคัญ ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ภายหลังน้ำท่วมมักจะพบปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า  เพราะรากต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ  


ดังนั้นเมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดินบ้าง เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น  ในพืชที่มีปัญหาของโรครากเน่าและโคนเน่า หลังน้ำลดและดินแห้งควรมีการปรับปรุงสภาพของดิน โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์


กรณีที่พบต้นที่แสดงอาการโรครากเน่าโคนเน่า ตรวจสอบแผลที่โคนต้น และตรวจดูว่ารากเน่าถอดปลอกหรือไม่  กรณีเกิดแผลที่โคนต้น ให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยเมตาแลกซิล  หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถสอบถามขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ งานไม้ผล  สถาบันวิจัยพืชสวน  โทรศัพท์ 0-2940-5484 ต่อ 124





 






 

 



Create Date : 19 ตุลาคม 2565
Last Update : 19 ตุลาคม 2565 15:07:45 น.
Counter : 462 Pageviews.

0 comment
"กรมวิชาการเกษตร"ติวเข้มนายด่านตรวจพืชรับมือส่งทุเรียนใต้ไปจีน

"กรมวิชาการเกษตร"เรียกประชุมนายด่านตรวจพืช วางแผนรับมือส่งออกทุเรียนใต้ไปจีน  งัด 5 กฎเหล็กคุมเข้มส่งออก  ย้ำต้องปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีน   เดินหน้ารักษาประโยชน์ของชาติและป้องกันการสวมสิทธิ์  หากพบล้งตุกติกไม่โปร่งใส  สั่งยกเลิกใบ GMP พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย


นายระพีภัทร์   จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ได้มีการเรียกประชุมผ่านระบบซูมนายด่านตรวจพืชและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งออกทุเรียน โดยมีนายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมประชุมด้วย   เพื่อเป็นการกระชับการทำงานของนายด่านตรวจพืชและเจ้าหน้าที่ของกรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทุเรียนไปจีนและไปต่างประเทศทั้งระบบให้เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพตามแนวปฏิบัติที่กรมกำหนด และให้เป็นไปตามพิธีสารไทย-จีน อย่างเคร่งครัด






 





 
กรณีที่พบว่าโรงคัดบรรจุใดดำเนินการส่งออกทุเรียนผิดเงื่อนไข ข้อกำหนด และไม่โปร่งใส กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกการรับรองแปลงการผลิตที่ดีหรือแปลง(GAP)และยกเลิกการรับรองโรงคัดบรรจุหรือล้ง(GMP) ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้และจะดำเนินคดีการตามกฎหมาย เพื่อรักษาชื่อเสียงและตลาดของทุเรียนไทย

ขณะนี้กำลังเข้าอยู่ในช่วงฤดูการส่งออกทุเรียนของภาคใต้ไปต่างประเทศ โดยมีจีนเป็นคู่ค้าหลัก ฉะนั้นการรักษาตลาดเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องย้ำให้ทุกฝ่ายดำเนินการเด็ดขาด ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   และนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรโดยตรงได้เน้นย้ำและให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตรมาตลอดให้ทำงานเต็มที่เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติและป้องกันการสวมสิทธิ์  

ดังนั้นกรณีพบว่าล้งใดตุกติกไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด ทางกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ รวมถึงเกษตรกรและล้งที่ปฏิบัติดี ซึ่งขณะนี้มีล้งในภาคใต้ที่ผ่านการรับรองของจีนเปิดรับซื้อและบรรจุสินค้าอยู่ประมาณ 40 ล้ง






 





 

แนวปฏิบัติตามข้อสั่งการของกรมวิชาการเกษตร สำหรับการส่งออกทุเรียนกำหนดกำหนดไว้ดังนี้


       1. สวนทุเรียนและ/หรือสวนผลไม้ต้องได้รับขึ้นทะเบียน (GAP) และโรงคัดบรรจุหรือล้ง (GMP) จากทั้งฝ่ายไทยและศุลกากรจีน  และศุลกากรจีนได้ประกาศรับรองเลขทะเบียนพร้อมแล้ว


       2. สำหรับการตรวจสอบทุเรียนส่งออกในโรงคัดบรรจุ เพื่อรับรองสุขอนามัยพืช เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามข้อสั่งการ “คู่มือปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชในการส่งออกทุเรียนไปจีน” อย่างเคร่งครัด หากตรวจพบต้องสงสัย ไม่โปร่งใส่แหล่งที่มาของทุเรียน จะตรวจสอบย้อนกลับ และปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ


       3. หากตรวจพบหรือต้องสงสัยว่า ผู้ประกอบการส่งเอกสารแนบหรือหลักฐานอันเป็นเท็จ ให้ดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อผู้ประกอบการ ที่แจ้งข้อความเท็จต่อทางราชการ ในการยื่นขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืช (พก.๗) เพื่อส่งออกทุเรียนไปจีน เฉพาะรายที่สงสัยว่ากระทำผิด นั้นทันที


       4. ชะลอการคัดบรรจุเพื่อส่งออกชั่วคราว ตามพิธีสารไทย-จีน ภายใต้ข้อตกลงการส่งออกผลไม้สด


       5. ทุกล้งที่ส่งออกไปยังจีนต้องมีมาตรการ COVID PLUS ตามมาตรการ ZERO COVID ที่ประเทศจีนกำหนด พร้อมกับการปฏิบัติตามระเบียบ หรือประกาศที่จังหวัดในพื้นที่นั้นๆ กำหนดเป็นมาตรการเฉพาะ เพื่อไม่ให้จีนตรวจพบโควิดและมีการปิดด่านนำเข้า ทำให้กระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยทั้งระบบ





 




 



Create Date : 11 ตุลาคม 2565
Last Update : 11 ตุลาคม 2565 15:53:10 น.
Counter : 386 Pageviews.

1 comment
"กรมวิชาการเกษตร"เดินหน้างานวิจัยตั้งเป้าต่อยอดเศรษฐกิจสู่โมเดล BCG


นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่าทิศทางด้านการวิจัยปี 2566  กรมได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)  วงเงิน316,934,000 บาท ซึ่งจะมีการลงนามในคำรับรองเร็วๆนี้   


ทั้งนี้การเสนอขอสนับสนุนงบวิจัยในปี 66 จะเน้นเรื่องความสอดคล้องนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  การวิจัยขยายผลต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับตลาด  และความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศ ภายใต้นโยบายแห่งรัฐและระดับโลกคือการมุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG Model







 







 
กรมให้ความสำคัญกับการวิจัยใน 6 ด้านคือ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model   2.การวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชรองรับตลาดใหม่ 3.งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตพืชที่เหมาะสม 4.งานวิจัยเพื่อพัฒนาสนับสนุนการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่กรมรับผิดชอบ 


5.งานวิจัยเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ เช่นภัยแล้ง ความมั่นคงด้านอาหาร  การพัฒนาอาหารที่สอดคล้องกับเทรนความต้องการบริโภคของโลก อาหารแพลนต์เบสต์หรืออาหารโปรตีนจากพืช  การเกษตรที่ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และที่สำคัญคือการป้องกันการระบาดของโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ร่วมถึงโรคอุบัติใหม่







 



















 

ปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบของการบริโภคของประชาชนเริ่มเปลี่ยน เน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่เป็นยา    การบริโภคพืชที่ให้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์  หรืออาหารที่ส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นทั้งอาหารและพลังงานให้มีผลผลิตต่อไร่สูงและต้านทานโรคแมลง  เช่น ถั่วเหลือง หรือข้าวโพด ปาล์มน้ำมันจึงสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นคือไทยนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบจำนวนมากเมื่อเกิดสงครามหรือเหตุที่ไม่สามารถคุมได้ ต้องนำเข้าราคาสูงจึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง  


ดังนั้นกรมให้น้ำหนักทั้งการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจเดิมและพืชเศรษฐกิจใหม่เช่นกัญชง กัญชา กระท่อม  ที่สามารถเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามูลค่าสูงได้ จึงขอให้สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรทั้ง 8  เขตได้ช่วยกันพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชให้ไปในทิศทางดังกล่าว   ร่วมถึงการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตของเกษตรกร  


ที่ผ่านมางานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในปี2564 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 14 รางวัล อาทิ ประเภทงานวิจัยพื้นฐานการค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ใหม่เพื่อร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีไซยาไนด์ต่ำต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง  ประเภทพัฒนางานวิจัย  การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่า - กลูโคซิเดส จากหอมแดงและการขยายผลเชิงพาณิชย์   และการวิจัยการศึกษาฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนเพื่อยึดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ 






 

 
 



Create Date : 05 ตุลาคม 2565
Last Update : 5 ตุลาคม 2565 18:32:31 น.
Counter : 501 Pageviews.

1 comment
"กรมวิชาการเกษตร"จับมือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพัฒนาโครงการที่เกี่ยว



กรมวิชาการเกษตร ลงนาม MOU ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการดำเนินการตรวจรับรองประเมินโครงการ รับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรและป่าไม้ ดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด  และประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร

       
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร  กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและดำเนินการประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร







 







 
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุม 314 กรมวิชาการเกษตร

       
การทำ MOU หรือ ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว BCG (Bio-Circular-Green Economy) ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก







 






 

รวมไปถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่การพัฒนา ระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดระเบียบวิธีในการประเมินโครงการในการที่จะเข้าร่วมประเมินคาร์บอนเครดิต และพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกันได้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM (Clean Development Mechanism)  การใช้คาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ตอนนี้เป็นประเด็นสำคัญ ในการส่งออกสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป






 






 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในการปรับตัว ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการพัฒนา งานวิจัย กระบวนการการเก็บข้อมูล วิธีการในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตปริ้นท์   โดยกรมวิชาการเกษตรจะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนทำแผนความร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ


กรมวิชาการเกษตร มีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถเป็นผู้รับรองการตรวจประเมินโครงการ และรับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตด้านการเกษตร รวมถึงพัฒนาและนำพื้นที่ปลูกพืชที่มีครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศของกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ เพื่อเป็น “คาร์บอนเครดิต” ของหน่วยงาน ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการในพืชนำร่องกลุ่มไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุมพืชอื่นๆ ในระยะถัดไป รวมทั้งจะขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายภาคการเกษตรที่มีศักยภาพต่อไป  






 




 



Create Date : 03 ตุลาคม 2565
Last Update : 3 ตุลาคม 2565 15:42:54 น.
Counter : 329 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments