All Blog
เตรียมเก็บน้ำผึ้งรสชาติดี คุณภาพสูง เหตุลำไยดกต้นปี 65
"กรมส่งเสริมการเกษตร"เผยเตรียมเก็บน้ำผึ้งรสชาติดี คุณภาพสูง เหตุลำไยดกต้นปี 65ชวนประชาชนอุดหนุนได้ที่ //www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตลำไยในภาพรวมของปีการผลิต 2565 นี้ จะมีผลผลิตมากกว่าปีที่แล้ว

มีต้นลำไยที่ให้ผลผลิตในฤดูและมีดอกบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 ประมาณ 1 ล้านไร่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และจังหวัดน่าน เนื่องจากในปีนี้มีสภาพอากาศหนาวเย็น จึงส่งผลให้ลำไยแทงช่อดอกออกมาเป็นจำนวนมาก และสามารถบานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีคือทำให้แหล่งอาหารผึ้งมีจำนวนมากขึ้น





 





 
นอกจากนี้ ผลผลิตน้ำผึ้งจะมีปริมาณมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศด้วย จากข้อมูลการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ทางภาคเหนือยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการบานของดอกลำไย แต่จะมีฝนบ้างในช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรจึงควรวางแผนการผลิตให้ดีว่าจะเลือกเก็บน้ำผึ้งต่อหรือสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง

เนื่องจากการสลัดน้ำผึ้งในช่วงที่มีฝนตกจะส่งผลต่อความชื้นและคุณภาพน้ำผึ้ง แต่หากปล่อยให้ผึ้งเก็บน้ำผึ้งต่อ ก็อาจเสี่ยงต่อปริมาณน้ำผึ้งลดลง เนื่องจากผึ้งออกหาอาหารไม่ได้ จึงกินน้ำผึ้งที่อยู่ภายในหลอดรวงแทน ประกอบกับช่วงที่ฝนตกเกษตรกรชาวสวนลำไยนิยมพ่นยาฆ่าเชื้อราที่ช่อดอกลำไย ซึ่งอาจส่งผลเป็นอันตรายต่อผึ้งได้ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถค้นหาข้อมูลการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ทาง https://weather.com





 











 
ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า ปี 2565 พื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกพืชหลังนาเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก เป็นต้น ส่งผลให้ผึ้งมีแหล่งเกสรจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำหวานจากดอกลำไย เกษตรกรสามารถแบ่งผึ้งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกต้องรวมรังผึ้งให้มีประชากรหนาแน่นเพื่อนำไปเก็บน้ำผึ้งในสวนลำไย

ส่วนรังที่ประชากรผึ้งยังไม่พร้อมให้วางไว้ที่แปลงปลูกข้าวโพด เพื่อให้ผึ้งได้รับอาหารจากเกสรข้าวโพดและสามารถเพิ่มประชากรให้แน่นรัง เตรียมพร้อมสำหรับนำไปเก็บน้ำผึ้งในรุ่นถัดไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องสำรวจพื้นที่ตั้งวางรังผึ้งให้ดี ไม่ตั้งวางรังในบริเวณที่ปลูกพืชผัก ซึ่งมีความเสี่ยงจากสารเคมีและเป็นอันตรายต่อผึ้งได้สำหรับโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง จากมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่าเกษตรกรจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพของผลผลิตเป็นสำคัญ

นายบัญชา นทีคีรีกาญจน์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพัฒนกิจฟาร์มผึ้ง กล่าวว่า น้ำผึ้งยังไปได้อีก ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก แต่เกษตรกรต้องคำนึงถึงการผลิตน้ำผึ้งให้ได้คุณภาพ
ก่อนที่จะนำผึ้งออกไปจากรังเพื่อเก็บน้ำผึ้ง จะต้องดูแลสุขภาพผึ้งให้แข็งแรง ประชากรผึ้งในรังต้องแน่น เตรียมพร้อมที่จะออกสนาม





 





 
นายยุทธพงษ์ เรืองศิริ บริษัทเชียงใหม่เฮลตี้ เห็นว่า เกษตรกรควรให้ความสำคัญในการขอรับรอง GAP ฟาร์มผึ้ง เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการส่งออกน้ำผึ้งไปต่างประเทศ และควรมีการวางแผนและตรวจสอบมาตรการ Covid-19 ในพื้นที่ที่จะเข้าไปเก็บน้ำผึ้งด้วย จากปีที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไม่สามารถเข้าพื้นที่เก็บน้ำผึ้งได้

ส่งผลให้ผลผลิตน้ำผึ้งน้อยกว่าปีก่อน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ผลกระทบน่าจะน้อยลง และทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมได้จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร หรือติดตาม Facebook : ศูนย์ผึ้ง เชียงใหม่ ซึ่งจะมีการ Live สด ข้อมูลสาระดีดีด้านแมลงเศรษฐกิจ ทุกวันอังคาร เวลา 10.00 น.

สำหรับประชาชนที่สนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งเพื่อบริโภค กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเชิญชวนอุดหนุนน้ำผึ้งคุณภาพจากเกษตรกรผู้ผลิตได้ทาง //www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com




 



 



Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2565 18:30:32 น.
Counter : 868 Pageviews.

0 comment
เศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาพื้นที่รกร้างค่ายนเรศวรสร้างรายได้ตชด.
โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาพื้นที่รกร้างค่ายนเรศวร สร้างรายได้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการฯ

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการ

โครงการดังกล่าว เป็นการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง





 





 
ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่แสดงการผลิตด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนกรมโยธาธิการและผังเมืองและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากการติดตามการดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งโครงการฯ เปิดรับสมัครข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่สนใจเข้าร่วม จำนวน 60 ราย ณ พื้นที่ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พบว่า หน่วยงานต่างๆ ร่วมพัฒนาพื้นที่ อาทิ กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าว กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี จัดทำแหล่งเรียนรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี จัดทำแปลงสาธิต/แปลงเรียนรู้ ด้านการเพาะเห็ด





 




 
 
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี จัดทำแปลงผักในโรงเรือนกางมุ้ง และพืชผัก ตลอดจนร่วมกันดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร ต่างๆ อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และการจัดทำบัญชีในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ  และสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล 1,000 ตัว พันธุ์ปลาตะเพียน 2,400 ตัว  ก้อนเชื้อเห็ด 6,000 ก้อน และพันธุ์พืชพันธุ์ผัก

การดำเนินโครงการฯ ได้จัดสรรพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ 15 ไร่ ของค่ายนเรศวร แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรประมาณ 8 ไร่ ที่เหลือประมาณ 7 ไร่ เป็นศูนย์กระจายสินค้า ร้านขายของ ร้านอาหาร โดยพื้นที่ทำการเกษตร 8 ไร่ แบ่งเป็น ด้านแหล่งน้ำ  เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล 1.4 ไร่ ด้านปศุสัตว์ จัดทำโรงเรือนเลี้ยงไก่สาวพันธุ์เล็กฮอร์นไว้บริโภคไข่ไก่ 1 ไร่ และด้านเพาะปลูก ปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ประมาณ 1 ไร่ ปลูกไม้ผล





 



 





 
อาทิ มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ ส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง เมล่อน และกล้วย ทำแปลงปลูกผักสวนครัว ผักสลัด มะนาว เห็ดนางฟ้าภูฐาน ผักกางมุ้ง ประมาณ 4.6 ไร่  โดยภาพรวมผลผลิตเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ แต่ยังคงประสบปัญหาด้านสภาพของดินที่ยังเป็นกรดอยู่บ้าง ผลผลิตที่ได้ มีการจำหน่ายและนำรายได้เข้ากองสวัสดิการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นและปันผลให้กับสมาชิกโครงการฯ  

ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่เข้าร่วม สามารถนำความรู้ด้านการเกษตร หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ต่อยอดในพื้นที่บ้านพักส่วนตัวได้ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนลง 3,797 บาทต่อปี จากการบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ อีกทั้งยังสามารถนำสินค้าเกษตรที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนไปจำหน่ายให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนด้วยกัน ทำให้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,157 บาทต่อปี





 






 
ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 95 ยังมีความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง การปรับปรุงบำรุงดิน การทำเกษตรแบบอินทรีย์ และการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ครอบครัว สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน และในอนาคตทางโครงการฯ มีแผนที่จะขยายผลโครงการไปยังเกษตรกรโดยรอบด้วยเช่นกัน

ในปีงบประมาณ 2565 โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จะขยายผลไปยังข้าราชการตำรวจในพื้นที่ค่ายนเรศวรเพิ่มเติม รวมทั้งขยายองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการส่งเสริมการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนปัจจัยการผลิต เพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน ด้านการผลิตและการแปรรูปผลผลิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่อง




 




 

 



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2565 17:08:59 น.
Counter : 649 Pageviews.

2 comment
"อุตรดิตถ์"ขับเคลื่อน BCG Model ผลิตถ่านไบโอชาร์ทุเรียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวโดยมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง”

ทั้งนี้คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สศท.2 ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาสังคม ผ่านกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์อย่างเป็นรูปธรรม






 






 
โดยส่งเสริมการผลิต ถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือ ถ่านชีวภาพ จากวัสดุเหลือใช้ภายในสวนทุเรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สนับสนุนให้มีการใช้เศษวัสดุทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถลดปริมาณขยะที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการผลิตทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2565 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 42,813 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 37,113 ไร่ ผลผลิตรวม 27,092 ตัน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลอำเภอท่าปลา และอำเภอเมือง โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 2 แปลง ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านด่านนาขาม และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล มีพื้นที่รวม 761 ไร่

จากการลงพื้นที่ของ สศท.2 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล และเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นับเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model อย่างเป็นรูปธรรม นำมาใช้ปฏิบัติจริงภายในสวนเมื่อประมาณกลางปี 2564





 





 
โดยนำวัสดุเหลือใช้จากสวนทุเรียนมาผลิตถ่านไบโอชาร์เพื่อนำกลับไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพดิน กักเก็บน้ำและอาหารในดิน และเป็นที่อยู่ให้กับจุลินทรีย์ภายในสวน ซึ่งผลสำเร็จในระยะต่อไปคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะจากเปลือกทุเรียน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิก 121 ราย พื้นที่รวม 393 ไร่ มี นายชยพล รังสฤษฎ์นิธิกุล เป็นประธานแปลงใหญ่ โดยในปี 2565 คาดว่าผลผลิตทุเรียนทั้งพันธุ์หมอนทอง และหลง-หลินลับแล มีผลผลิตประมาณ 800 ตัน (ร้อยละ 3 ของทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์) ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565





 





 
สำหรับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการนำวัสดุเหลือใช้จากสวนทุเรียนมาผลิตถ่านไบโอชาร์ ทางกลุ่มได้เข้ารับการอบรมการผลิตถ่านไบโอชาร์เปลือกทุเรียน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และสำนักงานพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตเตาสแตนเลสเพื่อเผาถ่านจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

อาทิ เปลือกทุเรียน ผลทุเรียนที่ร่วงหล่น และกิ่งใบ โดยนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาเผาที่ความร้อน 600 - 800 องศาเซลเซียส จะได้ถ่านเปลือกทุเรียนคุณภาพดี มีความพรุนสูง บำรุงฟื้นฟูและเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน ความเป็นรูพรุนของถ่านจะกักเก็บน้ำได้นาน และที่สำคัญสามารถลดขยะจากเปลือกทุเรียนที่มีปริมาณมาก โดยผลผลิตถ่านไบโอชาร์เปลือกทุเรียนที่ได้ส่วนใหญ่สมาชิกเกษตรกรจะนำมาใช้ในสวนของตนเอง ส่วนผลผลิตถ่านที่เหลือจะจำหน่ายให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปนำไปใส่บำรุงดินสำหรับเพาะกล้าไม้





 





 
การเผาถ่านชีวภาพเกษตรกรสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ ลองกอง มะขาม มะม่วงหิมพานต์ ฟางข้าว ซังข้าวโพด กิ่งไม้ ไม้ฉำฉา และไม้ยูคาลิปตัส มาใช้ในการผลิตได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะที่ทิ้งตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะเปลือกทุเรียนที่มีมากถึง 2 ใน 3 ของปริมาณทุเรียนทั้งหมด เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ได้อย่างยั่งยืน

กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล มีแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต โดยการพัฒนาสมาชิกกลุ่มที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลทุเรียนที่ผลิตโดยใช้ถ่านไบโอชาร์กับการผลิตแบบทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านเศรษฐกิจ

อาทิ ต้นทุนการผลิต ผลตอบแทน และผลผลิตต่อไร่ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบผลิตถ่านไบโอชาร์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้แก่บุคคลทั่วไป หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายชยพล รังสฤษฎ์นิธิกุล ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล โทร 08 9565 3885” ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้ 




 



 



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2565 15:57:47 น.
Counter : 588 Pageviews.

0 comment
"กษ."ชวนเกษตรกรสมัครประกันสังคม ม.40 สร้างหลักประกันอนาคต
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า  กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัวในอนาคต โดยผู้สมัครและส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์จะได้รับสิทธิประโยชน์จะแตกต่างกันไปตามจำนวนเงินที่สมัครใจจ่ายสมทบ

มี 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 30 วันต่อปี) กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน (ไม่เกิน 15 ปี) และเสียชีวิตรับค่าทำศพ 25,000 บาท





 





 
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 30 วันต่อปี) 

กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน (ไม่เกิน 15 ปี) เสียชีวิตรับค่าทำศพ 25,000 บาท และชราภาพรับบำเหน็จชราภาพ 50 บาทต่อเดือน และทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี





 





 
ทั้งนี้ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 90 วันต่อปี) กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน (ตลอดชีวิต) เสียชีวิตรับค่าทำศพ 50,000 บาท ชราภาพรับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน และรับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อเดือน (คราวละไม่เกิน 2 คน)

โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 นี้ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ตามปกติ เงินสมทบที่จ่ายสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 นี้ จะไม่ถูกตัดสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีกด้วย 





 





 
ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมเปิดให้ผู้สนใจสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ โดยต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) มีสัญชาติไทย 2) อายุ 15-65 ปี 3) ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ ค้าขาย หรือเกษตรกร เป็นต้น 4) ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39  5) ไม่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ 6) กรณีเป็นผู้พิการต้องสามารถรับรู้สิทธิได้ นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยขึ้นต้นด้วยเลข 0 , 6 , 7 สามารถสมัครได้ ยกเว้นขึ้นต้นด้วยเลข 00 

สำหรับการสมัครสามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม //www.sso.go.th โทรสายด่วนประกันสังคม 1506 หรือ เซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขา หรือ ธนาคาร ธกส. ทุกสาขา หรือ Big C ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และที่เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ

โดยมีช่องทางการชำระเงินสมทบที่สะดวกสบาย โดยสามารถหักจากบัญชีเงินฝากธนาคารหรือชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคารต่างๆ  หรือผ่านช่องทางอื่น เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส CenPay ห้างเทสโก้โลตัส ตู้บุญเติม ShopeePay และเคาน์เตอร์บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามและศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการรับสิทธิเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 และ เว็บไซต์ประกันสังคม //www.sso.go.th 




 



 



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2565 15:07:52 น.
Counter : 486 Pageviews.

0 comment
กรมส่งเสริมการเกษตรรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น พื้นที่ภาคตะวันออก และนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 ณ แปลงสาธิตศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่การเกษตร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรมาทำการเกษตรแบบปลอดการเผา โดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา เพื่อเร่งรัด จัดการ และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2547




 





 
ปัจจุบันได้กำหนดแนวทางสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาโดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรให้ได้ 294 เครือข่ายในพื้นที่ 60 จังหวัด พร้อมจัดอบรมหลักสูตรถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทางการเกษตรปลอดการเผา นำเสนอทางเลือกและสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา

เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างจิตสำนึกของเกษตรกรให้ยอมรับ การทำการเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา หรือส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ 

สำหรับกิจกรรมภายในงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ซึ่งจัดขึ้นที่แปลงสาธิตศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีกิจกรรมสร้างการรับรู้ และกิจกรรมเสนอทางเลือกลดการเผา ดังนี้ 




 




 

1) การบรรยายความรู้เรื่องการแก้ปัญหาและมาตรการป้องกันและผลกระทบจากการเผาต่อสุขภาพ และแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ได้แก่ การไถกลบทดแทนการเผา การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ

 2) กิจกรรมสาธิตการฉีดพ่นน้ำหมัก และการไถกลบตอซัง 

3) ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุการเกษตร น้ำหมักย่อยสลายตอซัง และการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร “การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า”  “การทำแซนวิชอาหารปลา” และการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร





 





 
4) การให้บริการตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจสารเคมีในเลือด และ 5) การจำหน่ายผลผลิตผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในท้องถิ่น

สำหรับปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เสื่อมโทรม ส่งผลต่อการผลิตพืชของเกษตรกร และยังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดก๊าซพิษ หมอกควันสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2564 จากการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2564




 





 
โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยลดลง คิดเป็นร้อยละ 51.71 คือปี 2564 จำนวน 12,705 จุด ปี 2563 จำนวน 26,310 จุด ซึ่งจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่การเกษตร ลดลงร้อยละ 47.17 คือปี 2564 จำนวน 3,320 จุด ปี 2563 จำนวน 6,285 จุด

ในขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก 9 จังหวัด ก็มีแนวโน้มจุด Hotspot ลดลงต่อเนื่อง คือพบ Hotspot  ปี 2563 จำนวน 1,471 จุด และปี 2564 จำนวน 1,057 จุด จากพื้นที่การเกษตรรวม จำนวน 10,506,992 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 2,224,707 ไร่ ยางพารา 2,042,592 ไร่ ไม้ผล 1,172,571 ไร่ มันสำปะหลัง 898,990 ไร่ และอื่น ๆ 1,145,936 ไร่  




 





 



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2565 18:03:20 น.
Counter : 456 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments