All Blog
“มนัญญา”สั่งเร่งกระจายลำไย
“มนัญญา” ห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือ สั่งเร่งกระจายผลผลิตโดยเร็ว สกจ. 3 จังหวัด“เชียงใหม่ ลำพูน น่าน” ขานรับขับเคลื่อนผ่านช่องทางการตลาดต่าง ๆ ล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดี ขณะผลผลิตเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฤดู 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่าตามข้อสั่งการของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งปีนี้ (2565 )มีผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 20% แบ่งเป็นลำไยในฤดู 812,818 ตัน และนอกฤดู 259,746 ตัน







 








 
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดงบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 95 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์หนุนเครือข่ายสหกรณ์ 7 จังหวัดภาคเหนือเปิดจุดรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด พร้อมจัดส่งคู่ค้าเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด ล่าสุดสถานการณ์ลำไยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี อีกทั้งเวลานี้ผลผลิตก็อยู่ในช่วงปลายฤดูในเกือบทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์รายงานผลการกระจายผลผลิตลำไยของสถาบันเกษตรกรต้นทาง 14 แห่งใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และน่าน ฤดูกาลผลิตปี 2565 ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.65) ระบุว่ามีปริมาณการกระจายลำไยทั้งหมด 2,431.75 ตัน แบ่งเป็นโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อ 451.53 ตัน เครือข่ายสหกรณ์ 447.14 ตัน และตลาดทั่วไทยในประเทศ 1,357.93 ตันและอื่น ๆ เช่น ค้าขายทางออนไลน์ ส่งออกผ่านตัวแทน 175.15 ตัน

นางสาวกมลวรรณ นุชัย สหกรณ์จังหวัดลำพูน ยอมรับว่า สถานการณ์ลำไยของจังหวัดลำพูนในขณะนี้ใกล้จะหมดแล้วเหลือในพื้นที่ประมาณ 20% ส่วนตลาดก็ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูจากนี้ไปก็จะเป็นลำไยนอกฤดู โดยลำไยลำพูนผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมทุกปี







 








 
“ปัญหาลำไยลำพูนจะไปชนกับจังหวัดอื่นที่ออกมาพร้อม ๆ กัน แต่โชคดีเรามีตลาดลูกค้าประจำรองรับอยู่แล้ว ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดโมเดิร์นเทรด ห้างแมคโคร โลตัส  และเครือข่ายสหกรณ์จากทั่วประเทศในการช่วยกระจายผลผลิต จึงไม่ค่อยเป็นปัญหา” สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าว

เช่นเดียวกับพื้นที่ จ.น่าน สถานการณ์ลำไยเข้าสู่ในช่วงปลายฤดูเช่นกัน นางสุภาพ ไทยน้อย สหกรณ์จังหวัดน่าน เผยว่าผลผลิตลำไยในพื้นที่ จ.น่านปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นตัน ส่วนใหญ่จะปลูกกันมากใน อ.เชียงกลาง และอ.ท่าวังผา ซึ่งขณะนี้ผลผลิตโดยรวมเริ่มวายแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เชียงกลางคาดว่าจะหมดในปลายเดือนสิงหาคม 2565 ส่วน อ.ท่าวังผา

ขณะนี้ผลผลิตยังกระจุก ทางสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด เร่งระบายโดยผ่านเครือข่ายสหกรณ์ปลายทาง อย่างเช่นวันนี้ (18 ส.ค.) มีวันนี้สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด คัดลำไยคุณภาพเพื่อส่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี และสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ส่วนอำเภออื่นเกือบไม่มีแล้วหรือมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น

“ช่วงที่ผ่านมาโชคไม่ดีน่านเจอฝนจากพายุมู่หลานพัดผ่านเข้ามา ส่งผลให้ผลผลิตส่วนที่เหลือร่วงแตกกระจายได้รับความเสียหายทำให้หมดเร็วกว่าที่คาดการณ์” สหกรณ์จังหวัดน่าน กล่าว







 








 
นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ลำไยโดยรวมของ จ.เชียงใหม่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 70% ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนตอนใต้ไล่ตั้งแต่ อ.ฮอด อ.จอมทอง อ.สันป่าตอง และอ.หางดง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อกับ จ.ลำพูน โดยขณะนี้ผลผลิตเกรด AA เก็บเกี่ยวหมดแล้วเหลือเพียงผลผลิตตกเกรด ซี่งมีจำนวนไม่มากนักโดยจะส่งให้กับโรงงานแปรรูปสหกรณ์ต่อไป

ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือเขต อ.แม่แตง อ.พร้าว อ.เชียงดาว และอ.ไชยปราการ ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดและราคารับซื้อลำไยเกรดAA ยังค่อนข้างดี สนนราคาอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับลำไยสดร่วง ส่วนลำไยสดช่ออยู่ที่ 20-24 บาทต่อกิโลกรัม  ลำไยโซนใต้ออกชนกับของลำพูนราคาจะลงเยอะ พอมาตรการรัฐเข้ามาก็ช่วยประคองสถานการณ์ไว้ได้ระยะหนึ่ง

ตอนนี้ผลผลิตโซนใต้หมดแล้วเริ่มไล่ขึ้นไปทางเหนือ อันที่จริงช่วงนี้ล้งจีนหยุดรับซื้อแล้ว แต่บังเอิญออเดอร์ที่เขารับมายังไม่พอ จึงต้องมารับซื้อทางโซนเหนือเพิ่ม ทำให้ราคาขยับขึ้นมาหน่อย ทั้งที่จริงช่วงกลางฤดูโซนเหนือราคาจะอยู่ที่ 13 - 14 บาท ต่อกิโลเท่านั้น อีกสองสัปดาห์ผลผลิตลำไยสายเหนือก็จะเริ่มเบาลง และจะหมดในราวเดือนกันยายน 2565 จากนั้นก็จะเข้าสู่การทำลำไยนอกฤดูต่อไป โดยขณะนี้เหลืออีกประมาณ 30% เท่านั้น จากผลผลิตทั้งหมด 296,666 ตันของ จ.เชียงใหม่








 






 



Create Date : 22 สิงหาคม 2565
Last Update : 22 สิงหาคม 2565 19:28:25 น.
Counter : 383 Pageviews.

0 comment
เปิดฉากประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค (APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งผลักดันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช

ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงนโยบายด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลสำเร็จการเสริมสร้างองค์ความรู้ของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในปี 2565 รับรองแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ HLPDAB







 







 
นางสาวมนัญญา เปิดเผยว่าการที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร (PPFS) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (ATCWG)

โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HLPDAB ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร

การประชุมได้มีการรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร นโยบายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการ HLPDAB ปี 2565 แลกเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มและความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology) มุมมองด้านกฎระเบียบของพันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนม

หารือแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน HLPDAB ให้สมาชิกเศรษฐกิจ HLPDAB เสนอแนะและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB ปี 2565-2567 สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบเอเปค สนับสนุนการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ พร้อมมุ่งมั่น  สู่เป้าหมาย Sustainable Development Goal 2030  โดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลักใน 5 เรื่อง คือ

1. ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ
2. การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
3. การนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร
4. การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
5. การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศไทย


นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง งานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพร อาทิ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูง การพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันสำปะหลัง เห็ด  ให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย






 







 
รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสีย อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย DOA together ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุล (Balance) การปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) และความร่วมมือ (Cooperation) ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Models อาทิ การวิจัยระบบการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

กรมวิชาการเกษตรพร้อมจะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับกรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมด้านการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในพืชชนิดต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ

อาทิ เทคโนโลยีด้านเครื่องหมายโมเลกุล เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม การพัฒนาใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดต้นทุน เช่น ชุดทดสอบแบบง่ายต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RNAi กำจัดศัตรูพืชและเอ็นไซม์จุลินทรีย์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สำหรับใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นในความพร้อมของกรมวิชาการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 50 ปี





 




 

 



Create Date : 20 สิงหาคม 2565
Last Update : 20 สิงหาคม 2565 17:37:23 น.
Counter : 226 Pageviews.

0 comment
เตือนภัย ! พืชตระกูลถั่วระวังหนอน-โรคโคนเน่าขาว
นายศรุต  สุทธิอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงนี้ถั่วเหลืองอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโตของลำต้น  ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการทำลายของหนอนกระทู้ผัก ซึ่งจะเข้าทำลายตั้งแต่ถั่วเหลืองเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ จนถึงระยะออกดอกและติดฝัก หนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะผิวใบด้านล่าง ทำให้เหลือแต่เส้นใบ เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง  





 






 
โดยหนอนจะกัดกินจากขอบใบเข้าไป  เมื่อพบการระบาดแนะนำให้พ่นเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง  หรือ พ่นสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ในระยะก่อนออกดอก

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังหนอนม้วนใบเข้าทำลายผลผลิตด้วย โดยหนอนม้วนใบที่ฟักออกจากไข่   ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชักใยบาง ๆ คลุมตัวไว้ แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจึงกระจายกันออกไปทั่วทั้งแปลง  สร้างใยยึดใบพืชจากขอบใบของใบเดียวเข้าหากันหรือยึดใบมากกว่า 2 ใบเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมดแล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป






 







 
หากพบการระบาดให้พ่นสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร   พ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ก่อนออกดอก

สำหรับถั่วลิสงซึ่งอยู่ในช่วงระยะออกดอกและติดฝัก  ให้เฝ้าระวัง โรคลำต้นเน่าหรือโคนเน่าขาว  โดยถั่วลิสงจะแสดงอาการเหี่ยวและยุบตัวเป็นหย่อม ๆ ในแปลงปลูก บริเวณโคนต้นเหนือดินพบแผลสีน้ำตาลและมีเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคสีขาวลักษณะหยาบ ต่อมาเส้นใยของเชื้อราจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำคล้ายเมล็ดผักกาด ต่อมาต้นจะแห้งและตาย โรคนี้พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วลิสง แต่มักพบระบาดในระยะถั่วลิสงติดฝักถึงเก็บเกี่ยว






 







 
การป้องกันกำจัดโรค ให้เกษตรกรเตรียมแปลงปลูกโดยไถพลิกดินตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน เนื่องจากเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน  ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน  ในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี  และจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง  ไม่ให้มีความชื้นสูงซึ่งเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุโรค  

หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ  หากพบต้นเป็นโรคให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณที่พบนำไปทำลายนอกแปลงปลูก  แล้วรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อป้องกันเชื้อสาเหตุโรคแพร่ไปยังต้นข้างเคียงด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์บอกซิน 75% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอส-เมทิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ อีไตรไดอะโซล 24% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร    

โดยรดสารทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง   หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตควรทำลายซากถั่วลิสงโดยการไถกลบให้ลึกเพื่อตัดวงจรของเชื้อสาเหตุโรค  รวมทั้งควรทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค  ส่วนในแปลงที่พบการระบาดของโรครุนแรงควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด เป็นต้น





 




 



Create Date : 20 สิงหาคม 2565
Last Update : 20 สิงหาคม 2565 16:27:09 น.
Counter : 341 Pageviews.

0 comment
ฟื้นฟูชายฝั่งบางขุนเทียน"เกษตรฯ"คืนปูสู่ธรรมชาติ กว่า 1.3 ล้านตัว
"เกษตรฯ"คืนปูสู่ธรรมชาติ กว่า 1.3 ล้านตัว ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบางขุนเทียน หวังสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรชาวประมง
   
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ “คืนปูสู่ธรรมชาติ” พร้อมกล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่ง เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้เห็นคุณค่าของทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ






 






 
รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวประมงให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดยกิจกรรมภายในงาน ได้มีการปล่อยพันธุ์ปูทะเล จำนวน 1.1 ล้านตัว และมอบพันธุ์ปูทะเลแก่ผู้แทนชุมชน จำนวน 2 แสนตัว ให้แก่ผู้แทนชุมชนจำนวน 12 ชุมชน รวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านตัว เพื่อให้ประชาชนนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ 





 






 
โดยพันธุ์ปูทะเลที่นำมาปล่อยในวันนี้ ประกอบด้วย ปูขาว ขนาด 1 เซนติเมตร จำนวน 360,000 ตัว ปูขาว ขนาด 10 เซนติเมตร จำนวน 50 ตัว และปูม้า ระยะ Zoea จำนวน 1,000,000 ตัว ซึ่งเป็นปูที่มีขนาดที่เหมาะสม และมีอัตราการรอดสูง พร้อมที่จะเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ นำไปสู่การคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่เขตบางขุนเทียนได้ต่อไป

"กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปล่อยปูในครั้งนี้ จะสามารถเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งสร้างรายได้ของพี่น้องชาวบางขุนเทียน เชื่อว่าจากการดูแลของทุกภาคส่วนที่ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ จะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติและสัตว์ทะเลได้ และเชื่อว่าอีก 6 - 8 เดือนข้างหน้า พันธุ์ปูที่นำมาปล่อยในวันนี้จะเป็นรายได้ต่อไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพี่น้องชาวบางขุนเทียนได้อีกทางหนึ่ง" นายเฉลิมชัย กล่าว






 
      





 
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง โดยสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่ง (คืนปูสู่ธรรมชาติ) ในเขตบางขุนเทียนมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำในธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

เขตบางขุนเทียนเป็นเพียงเขตเดียวในกรุงเทพมหานครที่มีความเหมาะสมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทยความยาวกว่า 5 กิโลเมตร มีลักษณะทางกายภาพเป็นป่าชายเลนที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน

จากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันทรัพยากรปูทะเลบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เกษตรกรและชาวประมงในเขตบางขุนเทียนกว่า 500 ราย ได้รับประโยชน์จากการจับผลผลิตปูทะเลจากธรรมชาติไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น  





 





 



Create Date : 18 สิงหาคม 2565
Last Update : 18 สิงหาคม 2565 19:59:39 น.
Counter : 445 Pageviews.

0 comment
เดินหน้าเกษตรออร์แกนิคดันไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน  ปาถกฐาพิเศษ เรื่อง “เกษตรอินทรีย์และเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.”ที่รร.อมารี ดอนเมือง ผ่านระบบออนไลน์


โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลภายใต้”ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564”







 




 



โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้3คณะทำงานได้แก่คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานและคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ ได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ 2566-2570 และร่างพรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ


รวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) ประการสำคัญคือการจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ19สิงหาคม2564 โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS)หรือเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชน






 








 
วันนี้ถือเป็นวันสำคัญที่สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.แห่งประเทศไทยได้เห็นชอบธรรมนูญของสภาฯ.และคณะกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการชุดแรกแทนคณะกรรมการบริหารชุดเฉพาะกิจด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลัก ๆ เช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พี จี เอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่น ๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส


รวมทั้งแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอส ของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ (2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ (3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ (4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน 






 







 
การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องให้้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทั้ง77จังหวัดและศูนย์ความเป็นเลิศ(AIC-Center of Excellence)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์


รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ (1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ (2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย


(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60 (4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนเพิ่มขึ้น สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ต้องเปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา




 




 

 



Create Date : 07 สิงหาคม 2565
Last Update : 7 สิงหาคม 2565 18:32:58 น.
Counter : 445 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments