All Blog
เผยความก้าวหน้าเฝ้าระวังผลกระทบด้านพืชจากเหตุสถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุด



นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง ตำบลนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จากเหตุทำนบดินบริเวณจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราทรุดตัว




 





 
ทำให้มีน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าไปปะปนกับน้ำจืดในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจความเสียหายด้านพืชโดยเร่งด่วนนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการติดตามสถานการณ์ และสำรวจความเสียหาย ด้านพืชจากสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2567)




 





 

ทั้งนี้ดังนี้คือ 1) สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้านพืช ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย คลองขวางตัดคลองบางใหญ่ หมู่ที่ 15 ตำบลนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา คลองบางสาย วัดบางสาย หมู่ที่ 3 ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว คลองจระเข้น้อย หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะไร่ คลองแสนภูดาษ หมู่ที่ 3 ตำบลแสนภูดาษ คลองแขวงกลั่น หมู่ที่ 3 ตำบลเทพราช คลองประเวศ หมู่ที่ 1-2 ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ และพื้นที่หมู่ที่ 9-10 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง


พร้อมให้คำแนะนำ 8 แนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรเมื่อมีน้ำเค็มปนเปื้อนแหล่งน้ำด้านพืช และการสังเกตดูค่าความเค็มของน้ำ 4 ระดับ ในการนำมาใช้กับพืช เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาซึ่งเป็นพืชหลักของพื้นที่ ทั้งนี้ได้แจ้งแผนการผลักดันน้ำเค็มให้เกษตรได้รับทราบ พร้อมแจกสารเร่ง พด.6 เพื่อให้เกษตรกรใช้ในการปรับปรุงสภาพน้ำด้วย 





 




 

2) สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ จำนวน 4 ทีม เพื่อดำเนินการสำรวจความเสียหายทางด้านพืช ผลกระทบทางด้านการเกษตร จำนวน 4 หมู่บ้าน 4 ตำบล ได้แก่ หมู่ 3 ตำบลคลองนิยมยาตรา หมู่ 4 ตำบลบ้านระกาศ หมู่ 3 ตำบลเปร็งและหมู่ 9 ตำบลบางพลีน้อย มีจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 81 ราย จากการสำรวจประเมินอาการของพืช พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทางด้านพืช จำนวน 11 ราย ชนิดพืช ได้แก่ ไม้ผล และพืชผัก


โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม เน้นย้ำเกษตรกรให้ชะลอการสูบน้ำขึ้นมาใช้แม้ว่าสถานการณ์บางจุดจะคลี่คลายแล้วก็ตามโดยให้รอฟังประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  พร้อมทั้งแจกสารเร่ง พด.6 เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับสภาพน้ำ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ และสื่อสารสร้างการรับรู้กับเกษตรกรผ่านสื่อบุคคล ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครเกษตร และผ่านสื่อเอกสารคำแนะนำ/ใบปลิว ของกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง 





 





รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และสำรวจความเสียหาย ด้านพืชตามแผนที่ได้กำหนดอย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้ดำเนินการจัดทำชุดข้อมูลค่าความเค็มของน้ำเป็นรายวัน พร้อมชุดองค์ความรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี ดำเนินการสื่อสารกับเกษตรกรในพื้นที่และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรณีหากเกิดผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครัวเรือนต่อไป


ทั้งนี้ จากการติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน กรมส่งเสริมการเกษตรมีความมั่นใจว่า งานที่ได้รับมอบหมายจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ครบถ้วน สมบูรณ์ และเสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่กำหนดแน่นอน



 

 



Create Date : 24 เมษายน 2567
Last Update : 24 เมษายน 2567 17:07:50 น.
Counter : 27 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
ชงเสนองบ 68 รวม 4.37 แสนล้านมุ่งเป้าเกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า


เกษตรฯ ชงเสนองบ ปี 68  รวม 4.37 แสนล้านบาทมุ่งเป้า เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี

           

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสิ้น 437,340 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณของส่วนราชการ จำนวน 422,471 ล้านบาท งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6,907 ล้านบาท และกองทุนจำนวน 7,962 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถจำแนกประเภทของงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการเกษตร 26 ประเด็นจาก 142 ประเด็น รวมจำนวน 411,514 ล้านบาท



           





นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวในรายละเอียดว่าจากงบประมาณ ทั้งสิ้น 437,340 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดกรอบงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการเกษตร 26 ประเด็นจาก 142 ประเด็น รวมจำนวน 411,514 ล้านบาท (ไม่รวมรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 25,826 ล้านบาท) ดังนี้


1. นโยบายระยะสั้น (Short term) จำนวน 81,607 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การหาตลาดให้สินค้าเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมง การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ PM2.5 การวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินนโยบาย Carbon Neutrality และการปราบหมูเถื่อน/ปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย

           
2. นโยบายระยะสั้น - กลาง (Short-to-medium term) จำนวน 1,420 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการแปลงเกษตร ด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming)





 




 
         
3. นโยบายระยะกลาง (Medium term) จำนวน 26,527 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องการเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพืชให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำ พันธุ์ปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้บริการทางการเกษตร การจัดทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางการเกษตร และการส่งเสริมและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำ

         
4. นโยบายระยะกลาง-ยาว (Medium-to-long term) จำนวน 301,960 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคการเกษตรการดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน และการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร

           
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 437,340 ล้านบาทนั้น นอกจากนโยบายสำคัญต่างๆ ข้างต้นแล้ว ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายรัฐบาล และขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี (2567-2570) ซึ่งดำเนินการภายใต้ภารกิจ 9 ประเด็น กำหนดวงเงิน 357,276 ล้านบาท





 




 

ทั้งนี้ได้แก่ 1) การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร  2) การจัดทำข้อมูลเกษตรกร/แปลงเกษตรกรในระบบดิจิทัล 3) การส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 4) การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร 5) การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 6) การส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง 7) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  8) การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อม และ 9) การทำงานและการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือ

         
ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงเกษตรฯ วงเงินรวมจำนวน 120,699 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ประมาณเดือน เมษายน 2567 ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงบประมาณ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป


สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนแผนงานและงบประมาณ กองนโยบาย  และแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2940 7253 หรือ 0 2940 6983 ในวันและเวลาราชการ





 



 



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2567 16:06:51 น.
Counter : 217 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
เร่งขับเคลื่อนโครงการ “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”


"กรมส่งเสริมการเกษตร"เร่งขับเคลื่อนโครงการ “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”เดินหน้าพัฒนายกระดับ 83 กลุ่มนำร่องด้านพืช ยึดหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

 


นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง โดยได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ในระดับพื้นที่ (ตำบล) อย่างแท้จริง ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain)





 





ตลอดจนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ การบริหารงาน และการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับพื้นที่ถึงระดับส่วนกลางในการขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืน


กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ จึงได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตร มูลค่าสูง จำนวน 83 กลุ่ม ที่มีศักยภาพ ประกอบไปด้วยสินค้า 16 ชนิดพืช จาก 82 ตำบล 77 อำเภอ 40 จังหวัด นำร่องดำเนินการพัฒนายกระดับและต่อยอดในปี 2567 โดยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก ที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มกันจำหน่าย และมีตลาดในต่างประเทศ จำนวน 82 กลุ่ม


โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ขยายตลาดและขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลไกการรวบรวม การคัดบรรจุ การขนส่งเพื่อการส่งออก อำนวยความสะดวกการตรวจรับรองมาตรฐาน มาตรการทางภาษี การขนส่งสินค้าข้ามแดน และอื่น ๆ และจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ที่มีการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีตลาดภายในประเทศมีการจำหน่ายเป็นผลผลิตโดยตรงหรือมีการแปรรูป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจะส่งออกสูง จำนวน 1 กลุ่ม





 





โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น ส่งเสริมการผลิตอาหาร Future Food และ Function Food บูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อนำงานวิจัย สู่การถ่ายทอด และส่งเสริมการตลาดภายในประเทศทั้งออนไลน์ และออฟไลน์


อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”  มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570) มีเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการสามารถสร้างสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์


รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตำบล เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 สามารถลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นได้





 





โดยจะเร่งขับเคลื่อนตามข้อสั่งการของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 134 – 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการจัดทำแผนในเชิงรุก และโครงการดังกล่าวสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายใน 3 เดือน


ทั้งนี้ ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทยจะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยมีนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร


เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีผลตอบแทนต่ำ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวขึ้น



 



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2567 15:24:54 น.
Counter : 177 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
"มะม่วง"เริ่มติดผลเล็กแนะหมั่นสำรวจสวนป้องกันศัตรูผลผลิต



นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามปกติมะม่วงจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดให้ผู้บริโภคได้รับประทานกันในช่วงฤดูร้อนหรือประมาณเดือนเมษายน แต่ก่อนที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และอร่อยถูกปากเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น เกษตรกรจะต้องคอยดูแลตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ออกดอก ติดผล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชไม่ให้มาทำลายผลผลิตได้


โดยประเทศไทยสามารถเพาะปลูกมะม่วงได้ทุกภูมิภาคซึ่งจะให้ผลผลิตแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับช่วงข้ามปีคือ ระหว่างเดือนธันวาคม – มกราคม เป็นช่วงที่มะม่วงออกดอกและทยอยติดผลเล็กแล้ว เริ่มจากสวนมะม่วงใน


พื้นที่ภาคกลาง ตามด้วยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจึงควรเริ่มสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับโรคและแมลงศัตรูมะม่วง โดยเฉพาะโรคจุดดำ หรือโรคแอนแทรคโนส ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่ทำให้ผลมะม่วงเสียหาย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและรายได้จากผลผลิต





 






โรคแอนแทรคโนส เป็นเชื้อราสาเหตุโรคที่สามารถเข้าทำลายพืชได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยมีลักษณะอาการของโรค ที่เกษตรกรจะต้องหมั่นสังเกต คือ ใบอ่อนพบจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาลดำ หากอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกันทั้งผืนใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยว เสียรูปทรง ยอดอ่อนเหี่ยวและดำ


ส่วนใบแก่พบแผลรูปร่างค่อนข้างเหลี่ยม หากอาการรุนแรงแผลจะทะลุเป็นรู ช่อดอกพบจุดหรือขีดสีน้ำตาลแดงเล็ก ๆ บนก้านช่อดอก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น หากมีความชื้นสูงจะพบเมือกสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราอยู่ที่บริเวณแผล ทำให้ช่อดอกเหี่ยวแห้ง ดอกหลุดร่วงก่อนติดผล ผลอ่อนพบจุดแผลสีน้ำตาลดำ


ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมผลที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำและหลุดร่วงก่อนกำหนด ในบางครั้งเชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายแบบแฝงในผลอ่อน โดยไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการของโรคเมื่อผลสุก และอาการรุนแรงมากขึ้นตามความสุกของผล ผลแก่ หรือผลสุกหลังเก็บเกี่ยวพบ


จุดแผลสีดำเล็ก ๆ ต่อมาแผลขยายลุกลามและยุบตัวลง ถ้ามีหลายแผลขยายมาติดกัน ขนาดของแผลจะกว้างขึ้นและยุบตัวเป็นแอ่งบุ๋ม ทำให้เน่าทั้งผล บางครั้งอาจพบเมือกสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่ที่บริเวณแผลด้วย


การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว สปอร์ของเชื้อรามีการแพร่ระบาคโดยทางลมและฝน โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่ชื้นสลับกับอุณหภูมิสูงและมีความแห้งแล้ง แปลงเพาะกล้าที่แน่นทึบ มีความชื้นสูงในระยะแตกยอดอ่อน แทงช่อดอกและติดผลอ่อนทำให้เป็นโรคได้ง่าย


สปอร์ของเชื้อราจากใบที่เป็นโรคจะไหลไปตามหยดน้ำลงสู่ขั้วผลแล้วกระจายไปทั่วผลทำให้ขั้วผลและกันผลเน่า โดยเชื้อราสามารถพักตัวในผลและทำให้ผลเน่าระยะหลังเก็บเกี่ยว จึงกล่าวได้ว่าโรคแอนแทรคโนสจัดเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของมะม่วงในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น





 






รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการควบคุมและป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงแบบผสมผสาน เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่มและควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบมะม่วงเริ่มมีอาการของโรค ควรตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค สำหรับแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ ในช่วงที่มะม่วงแตกใบอ่อน


เริ่มแทงช่อดอก และหลังติดผลอ่อน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 - 10 วัน และควรหลีกเลี่ยงการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ในช่วงดอกบาน


เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการผสมเกสรของพืช หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค และเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป




 




 



Create Date : 19 ธันวาคม 2566
Last Update : 19 ธันวาคม 2566 15:48:55 น.
Counter : 240 Pageviews.

0 comment
"ธรรมนัส"หารือความร่วมมือนอร์เวย์ พร้อมผลักดันสินค้าเกษตรไทย


ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ นาย ทอร์ โอ แซนด์วิค (H.E. Mr. Tore O. Sandvik) รัฐมนตรีช่วยว่าการ (ด้านการค้าและอุตสาหกรรม) กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการประมง ราชอาณาจักรนอร์เวย์ นางอัสตริด เอมีเลีย เฮลเล (H.E. Mrs. Astrid Emilie Helle) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Norway-Asia Business Summit 2023




 




 

โดยมี นายบุญสิงห์ วริทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวธนาพร จีนจะโปะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (112)


สำหรับการหารือในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงความชื่นชมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านประมงของนอร์เวย์ รวมทั้งมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงจากนอร์เวย์ อย่างปลาแซลมอนเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งฝ่ายไทยมีความสนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การเลี้ยงปลาทะเลในกระชัง และการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน ปลาสเตอร์เจียน และปลาเทราต์





 





 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหวังว่าการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) จะบรรลุข้อตกลงการเจรจาได้โดยเร็ว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและขยายโอกาสทางการตลาดระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้แนะนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนเพื่อส่งออกในอนาคตต่อไป




 




 

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายนอร์เวย์ร่วมประชาสัมพันธ์และเข้าร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก “Udon Thani International Horticultural Expo 2026” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ถึง 14 มีนาคม 2570 ภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต Diversity of Life: Connecting People, Water, and Plants for Sustainable Living” ซึ่งงานมหกรรมนี้จะเป็นเสมือนแพลตฟอร์มนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาการเกษตรพืชสวนและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของชุมชน


นอร์เวย์เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 65 ของไทย สำหรับการส่งออกในปี 2566 ( ม.ค. - ก.ย.) ไทยส่งออกไปนอร์เวย์เพิ่มขึ้นจาก 1,069 ล้านบาท เป็น 1,238 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 170 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.89 สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 81.00 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปนอร์เวย์ ได้แก่ ข้าว ซอสและของปรุงรส ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง เส้นพาสต้า ปลากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ (เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม) ฝรั่ง/มะม่วง/มังคุด สดหรือแห้ง พืชผักสดหรือแช่เย็น (เช่น ข้าวโพดหวาน กระเจี๊ยบเขียว) และพืชผัก/ผลไม้ปรุงแต่ง




 




 



Create Date : 29 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2566 18:44:46 น.
Counter : 174 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments