All Blog
ฟ้องอาญา-ระงับ ล้ง บริษัทผู้ส่งออกกระทำความผิดทุเรียนสวมสิทธิ์



นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย กรณีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรมศุลกากรจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากชายแดนที่ผ่านมาว่า ทันทีที่ได้รับรายงานได้สั่งการผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามข่าวการจับกุมทุเรียน และให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในจังหวัดศรีสะเกษ สืบหาข้อเท็จจริง  และวันที่ 27 มิถุนายน 2566


พร้อมกันนี้ได้ประชุมด่วนร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ พาณิชย์จังหวัด และผู้ประกอบการในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหัวหน้าด่านตรวจพืชทั่วประเทศ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน และกำชับมาตรการเข้มป้องกันการสวมสิทธิ์โดยเด็ดขาด





 





 

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ได้สั่งการให้ ผอ. กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และ ผอ.สำนักนิติการ  หาข้อสรุป เพื่อเตรียมดำเนินการกับผู้กระทำความผิด  และได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ลงพื้นที่ภาคใต้กับกรมการค้าภายใน ไปตรวจโรงคัดบรรจุ ตามมาตรฐาน มกษ. 9047 – 2560 มาตรฐานสินค้าเกษตร หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงฤดูการส่งออก

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  วันที่ 29 มิถุนายน 2566 มอบอำนาจให้หัวหน้าด่านตรวจพืชนครพนม ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานี ตำรวจภูธรเมือง นครพนม จ.นครพนม  ให้ดำเนินคดีบริษัทผู้ส่งออก ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับรองสุขอนามัยพืช (ส่งออกทุเรียน) ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 





 





 

พร้อมกับออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร “ระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร, ทะเบียน DU” (ระงับบริษัทผู้ส่งออกที่กระทำความผิด) ซึ่งเป็นการนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนไปใช้หรืออ้างถึงในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับการจดทะเบียนนั้นๆ ปฏิบัติไม่เป็นไปตาม ข้อ 9.3 ของประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปยังนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2563

 

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรออกคำสั่ง “ระงับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช, ทะเบียน DOA” (ระงับล้งที่กระทำความผิด) ซึ่งเป็นการนำการขึ้นทะเบียนไปใช้หรืออ้างอิงในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการหรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นๆ ปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 7.3 ของประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563





 





 

พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ ผอ.สคว กำชับให้ด่านตรวจพืชทุกด่าน ที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ให้ถูกต้อง หากตรวจสอบพบว่าผู้ส่งออก หรือ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีเจตนาแจ้งหรือให้ข้อมูลกับทางราชการในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก. 7) อันเป็นเท็จ ให้ทุกด่านตรวจพืช ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการรับรองการใช้ GAP เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ไว้แล้ว  





 





 

กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นคำขอตั้งงบประมาณโครงการพัฒนา application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียน ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อจัดทำการเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูล GAP กับระบบออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto)  ให้เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลการขายผลผลิต วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลนั้น ทำให้สามารถตัดยอดปริมาณผลผลิตเพื่อประกอบการของใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) กับด่านตรวจพืชได้แบบ real-time


โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ยืนยันข้อมูลผ่าน application ได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง application ดังกล่าว จะเป็นการตรวจสอบย้อนกลับ ระหว่างเกษตรกร โรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการ ทำให้สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน  โดยหวังว่าจะได้งบประมาณสนับสนุนให้กับโครงการดังกล่าว

 

“ขอย้ำให้เกษตรกรเก็บรักษาใบ GAP ไว้อย่างดี ใบรับรอง GAP ของท่านมีค่าอย่าให้ใครนำมาใช้สวมสิทธิ์ รวมถึงหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงาน (ล้ง, ใบ DOA) ของท่านไม่สามารถให้เช่าใช้แทนกันได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตามกรมวิชาการเกษตรสามารถระงับใช้หรือเพิกถอนใบ GAP/GMP หรือหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนล้งได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว




 







 

 




Create Date : 30 มิถุนายน 2566
Last Update : 30 มิถุนายน 2566 15:39:20 น.
Counter : 206 Pageviews.

0 comment
กรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดงาน “GI Fresh 2 You อัตลักษณ์ ปลอดภัย มั่นใจสินค้าเกษตร”
 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ภายใต้ชื่องาน “GI Fresh 2 You อัตลักษณ์ ปลอดภัย มั่นใจสินค้าเกษตร” เข้าถึงสินค้าสหกรณ์ที่มีคุณภาพ สด ใหม่ และปลอดภัย ที่มาจากพี่น้องเกษตรกรตัวจริงกว่า 50 บูธ กระตุ้นการจับจ่าย และสร้างรายได้ให้เกษตรกร พบกันที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ชั้น G ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2566 นี้


พร้อมเลือกชมผลิตภัณฑ์และสินค้าของสหกรณ์ที่นำมาจำหน่ายแบบลดราคา และโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซื้อสินค้าครบ 300 บาท รับคูปองส่วนลด 50 บาท จำกัด วันละ 100 ใบ และร่วมตอบแบบสอบถามภายในงาน ก็จะได้รับส่วนลดอีก 50 บาท จำกัดวันละ 100 คน เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ เชื่อมโยงธุรกิจ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พบปะติดต่อเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตที่มาร่วมกิจกรรมตลอดการจัดงานนี้ด้วยเช่นกัน





 





 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ “GI Fresh 2 You อัตลักษณ์ ปลอดภัย มั่นใจสินค้าเกษตร” จัดขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้า และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรผู้ผลิตให้เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการภาคเอกชน นักธุรกิจ ประชาชน และผู้บริโภคทั่วไป 

 

รวมถึงเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนกับเครือข่ายสหกรณ์ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ประชาชนและผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งการจำหน่ายสินค้าในครั้งนี้ จะเน้นจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีอัตลักษณ์จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรผู้ผลิตนำสินค้ามาจำหน่ายภายในงาน กว่า 50 ร้านค้า





 



 

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดงานนี้ขึ้นเพื่อที่จะเปิดตลาดสินค้าอัตลักษณ์สินค้าปลอดภัยของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่กรมฯ ได้เข้าไปส่งเสริมรวมทั้งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้ร่วมกันทำงานบูรณาการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าปลอดภัยและสินค้าอัตลักษณ์ เพื่อให้มีแหล่งจําหน่ายสินค้า มีการอบรมเรื่องการจัดขายออนไลน์ให้กับสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรจะทําให้สามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ได้


พวกพืชผักปลอดภัยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าจากภาคเหนือ เนื้อโคขุน เนื้อสุกรแปรรูป เนื้อปลา สินค้าประมงต่าง ๆ ผลไม้ มาจากหลากหลายพื้นที่ ลองกอง มังคุดร้อยปี ทุเรียนจากปราจีนบุรี ทุเรียนจากศรีสะเกษ เงาะ GI ของจังหวัดน่าน ลูกอาจจะไม่ใหญ่ แต่กรอบ ร่อน แห้ง จะแตกต่างจากที่อื่น 

 

นอกจากนี้แล้วยังมีผ้าที่ผลิตจากท้องถิ่นแต่ละจังหวัด เช่น สุรินทร์ แพร่ มุกดาหารที่ได้นํามาจําหน่าย ซึ่งจากที่ดูบรรยากาศตั้งแต่เปิดจำหน่ายสินค้าบางชนิดได้ขายหมดไปแล้ว และได้แจ้งให้แต่ละสหกรณ์นําสินค้ามาเติมทุกวัน ดังนั้น มั่นใจได้ว่าในงานจะมีสินค้ามาจําหน่ายตลอดทั้งงาน ในระยะเวลา 5 วันที่จัดงาน ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าจากท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทยมาชิมมาเลือกซื้อเลือกใช้ของที่ผลิตจากพี่น้องเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

     




 

 



 

ภายในงานมีสินค้าหลากหลายชนิดให้เลือกซื้ออีกมากมาย ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลา ทุ่งสัมฤทธิ์ ข้าวปะกาอำปึล ข้าวเจ้าเนียงกวง ข้าวผสม 5 สายพันธุ์จากจังหวัดสุรินทร์ ข้าวสายน้ำแร่แจ้ซ้อนจากจังหวัดลำปาง ข้าวไร่ดอกข่าจากพังงา รวมทั้งผักผลไม้จากภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ทุเรียนภูเขาไฟจากศรีสะเกษ ทุเรียนหมอนทองจากจังหวัดปราจีนบุรี  มังคุด 100 ปีของดีเมืองชุมพร กล้วยหอมทองจากจังหวัดเพชรบุรีมะพร้าวน้ำหอมจากจังหวัดราชบุรี ลำไยสด และผลิตภัณฑ์จากลำไย จากจังหวัดลำพูน 

 

เงาะทุ่งช้าง จากจังหวัดน่าน ลิ้นจี่จักรพรรดิ มะม่วงแฟนซี พริกหวาน 3 สี จากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด ผักสลัด ผักใบต่าง ๆ จากสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว จำกัด เนื้อโคขุนคุณภาพและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโค เช่น สันสะโพก เนื้อโคขุนย่างเสียบไม้ แหนมเนื้อ จากสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด จังหวัดนครปฐม สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร อาหารทะเลแปรรูปต่าง ๆ จากชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด 





 




 

นมโคคุณภาพและผลิตภัณฑ์จากนมโค จากสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ กาแฟอาราบิก้าจากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ไข่ไก่คุณภาพจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงไข่ไก่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด จังหวัดอ่างทอง ผลิตภัณฑ์ผ้าซึ่งเป็นอัตลักษณ์จากภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ผ้าซิ่นตีนแดงจากจังหวัดบุรีรัมย์ ผ้าหม้อฮ่อมจากแพร่ ผ้าย้อมครามจากสกลนคร ผ้าบาติกจากกระบี่ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ขนมหวานพื้นบ้าน (หม้อแกง ฝอยทอง) จากเพชรบุรี 

     

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 4 หน่วยงาน มาร่วมจัดบูธแสดงสินค้า ทั้งกรมปศุสัตว์ เป็นสินค้าหมูย่างเมืองตรัง สินค้านมพาสเจอร์ไรส์ออแกนิค โยเกิร์ต กรีกโยเกิร์ต (บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด) ซึ่งส่งเสริมการการเลี้ยงโคนม สู่การเลี้ยงแบบออร์แกนิค สร้างผลิตภัณฑ์สินค้าออร์แกนิค และการตื่นตัวเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน


กรมประมง (มาณิการ์ฟาร์มปูนา) เป็นสินค้าน้ำพริกปูนา หลนปูนา มันปูย่างที่ผลิตจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และผลิตภัณฑ์แปรรูปได้รับมาตรฐาน Fisherman Shop ของกรมประมง สินค้าทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโชกุน ลองกอง จากชุมพร (วิสาหกิจชุมชนเจริญผลพัฒนาชุมพร) จังหวัดชุมพร ของกรมส่งเสริมการเกษตร และผลิตผ้าฝ้าย (ร้อยไหมพันฝ้าย) จากกรมหม่อนไหมอีกด้วย



 





 




Create Date : 30 มิถุนายน 2566
Last Update : 30 มิถุนายน 2566 15:06:39 น.
Counter : 364 Pageviews.

0 comment
สศก.โชว์ 6 เดือนแรกแผนเศรษฐกิจฐานรากสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 1,900 ล้าน


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มาตั้งแต่ ปี 2563 โดยได้มีการติดตามการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น






 







 
การขับเคลื่อนงานดังกล่าว มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ 7 กระทรวง และ 1 หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงดิจิทัล   เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.)


สำหรับปีงบประมาณ 2566 มีการบูรณาการทั้ง 7 กระทรวง รวม 23 หน่วยงาน ภายใต้งบประมาณรวม 1,444 ล้านบาท พื้นที่ดำเนินการ 7,255 ตำบล รวม 14 โครงการ 3 แนวทางพัฒนา คือ แนวทางที่ 1 พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) ดำเนินการภายใต้ 7 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ไม่น้อยกว่า 20,000 ราย และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพไม่น้อยกว่า 110,000 ราย  


แนวทางที่ 2 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) ดำเนินการภายใต้ 4 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนาสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 600 กลุ่ม พัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 3,500 รายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 4,700 ผลิตภัณฑ์  และแนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด55 ช่องทาง และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 6







 




 
 

จากการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566) สศก. พบว่า  แนวทางที่ 1 สามารถพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) รวมทั้งสิ้น 65,282 ราย


จำแนกเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตโดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดทำและมอบหนังสืออนุญาต ส.ป.ก. 4-01 จัดที่ดินให้แก่เกษตรกร 14,288 ราย (ร้อยละ 71.44 ของเป้าหมาย) และการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ 50,994 ราย (ร้อยละ 46.36 ของเป้าหมาย) ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นต้น






 







แนวทางที่ 2 สามารถยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) โดยพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มการผลิต ด้วยการยกระดับกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่มีศักยภาพให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร  รวมจำนวน 572 กลุ่ม (ร้อยละ 95.33 ของเป้าหมาย) พัฒนาผู้ประกอบการ


โดยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และกลไกขับเคลื่อน OTOP รวม 1,500 ราย (ร้อยละ 42.86 ของเป้าหมาย) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาคุณภาพ ยกระดับสินค้า OTOP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ (ไส้อั่วสมุนไพร สเต็กเนื้อสตูล หมูฝอยสมุนไพร เป็นต้น) ของกรมปศุสัตว์ และการพัฒนาความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  รวม 164 ผลิตภัณฑ์






 






ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ครบเป็นไปตามแผนในช่วงไตรมาสที่ 4 และแนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) โดยดำเนินการพัฒนาช่องทางการตลาดได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย Online (Facebook line) Offline (หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์) และร้านขายของฝากห้างสรรพสินค้า (Siam Paragon Central World) 


นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ยังสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยจากข้อมูลพบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านตลาดนัดคนไทยยิ้มได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566) ยอดจำหน่ายสินค้า 1,279 ล้านบาท และจากการจัดงาน OTOP CiTY 2022 (ระหว่างวันที่ 17 – 25 ธันวาคม 2565)


ยอดจำหน่ายสินค้า 653 ล้านบาท ได้รวมทั้งสิ้นกว่า 1,932 ล้านบาท และยังคงมีแผนในการส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในไตรมาสที่ 3 และ 4 อย่างต่อเนื่อง







 







 
หากย้อนดูผลสำเร็จของขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 (ตุลาคม 2562 - มีนาคม 2566) สศก. พบว่า แนวทางที่ 1 พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) มีการดำเนินการช่วยเหลือแหล่งทุนและที่ดินทำกินไปแล้ว 603,218 ราย (เป้าหมาย 600,00 ราย) ส่งเสริมอาชีพ 784,598 ราย (เป้าหมาย 780,000 ราย)


แนวทางที่ 2 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) ดำเนินการพัฒนาสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน 4,909 กลุ่ม (เป้าหมาย 4,700 กลุ่ม) พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน 52,423 ราย (เป้าหมาย 52,300 ราย) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 15,301 ผลิตภัณฑ์ (เป้าหมาย 19,700 ผลิตภัณฑ์)


แนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) ดำเนินการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแล้ว 1,324 แห่ง (เป้าหมาย 1,212 แห่ง) โดยสามารถ สร้างมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้วถึง 782,998 ล้านบาท


สศก. มีแผนการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลของโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2566 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานฯ และจะนำเสนอผลการติดตามเป็นระยะต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ส่วนประเมินผลแผนพัฒนาการเกษตร ศูนย์ประเมินผล โทร. 0 2579 0507 หรือ E-mail: prog-eva@oae.go.th




 




 

 



Create Date : 28 มิถุนายน 2566
Last Update : 28 มิถุนายน 2566 15:03:26 น.
Counter : 338 Pageviews.

0 comment
"มนัญญา"Kick Off ขับเคลื่อนความเข้มแข็งสหกรณ์พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง



"กรมส่งเสริมสหกรณ์" จับมือ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการความร่วมมือพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มุ่งสู่ความเข้มแข็ง พร้อมก้าวทันสู่การเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนงานสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off ประกาศนโยบายขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 126 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสัญญาณยังหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วย





 







 

รมช.มนัญญา กล่าวว่า “สหกรณ์” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ได้ให้แนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ไว้ในแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ให้สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง


เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการคิด และวิธีในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไป ภายใต้ 5 การปรับตัวของสหกรณ์ ได้แก่ การจัดการและบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม การพัฒนาคนวัยทำงานรุ่นใหม่สู่ช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน การพัฒนาองค์กรสู่รูปแบบวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของการสหกรณ์

 

“กิจกรรมในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างรูปแบบในการทำงานส่งเสริม พัฒนา และตรวจสอบสหกรณ์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมให้มีความเข้มแข็ง และเน้นให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก การบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ความเข้มแข็งของสหกรณ์อย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับสหกรณ์ให้มีสมรรถนะสูง ส่งเสริมให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชน และจัดการการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว





 







 

สำหรับกิจกรรม Kick Off “ประกาศนโยบายขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มอบนโยบาย “ปรับแนวคิด บูรณาการงานสหกรณ์ สู่อนาคตการสหกรณ์ยั่งยืน” และร่วมเสวนา “พัฒนาสหกรณ์ สู่มิติความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนสหกรณ์ด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี” รวมทั้งการบรรยายเรื่อง แนวทางการนำเกณฑ์ประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปสู่การปฏิบัติร่วมกันตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) และการตอบประเด็นซักถาม ผ่านระบบ Zoom Meeting อีกด้วย

 

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาความยั่งยืนของสหกรณ์บนพื้นฐานของการสร้างคุณค่าความเป็นสหกรณ์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีในการพัฒนา มุ่งที่จะให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการรักษาสมดุลและสร้างคุณค่า ด้านมิติเศรษฐกิจ มิติสังคมและชุมชนให้ส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศไทย


สหกรณ์ต้องมีการพัฒนาตัวเองในทุกด้านปรับตัว ทั้งกระบวนการคิดและวิธีการในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัย และบริบทที่เปลี่ยนไปสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ การบริการสมาชิก เพื่อให้สหกรณ์มีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง





 








 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตร ในแผนแม่บทย่อย การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร โดยมีเป้าหมายคือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นใน 4 มิติความเข้มแข็ง


กรมฯ รับผิดชอบใน 2 มิติที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลในเชิงประจักษ์ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสามารถในการให้บริการสมาชิก ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้เข้าถึงทุกช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างคุณค่า การสหกรณ์ให้เข้มแข็งในระดับฐานราก

 

ในด้านมิติที่ 4 ประสิทธิภาพของการบริหารงาน มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะในการบริหารงานและธุรกิจของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งพิจารณาจากการดำเนินกิจการตามระเบียบ คำสั่งนายทะเบียน และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในองค์กร ทั้งในส่วนของการเกิดทุจริต และการเกิดข้อบกพร่องประเภทต่าง ๆ เช่น การดำเนินกิจการนอกกรอบวัตถุประสงค์ ข้อบกพร่อง ทางบัญชี ข้อบกพร่องทางการเงิน พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และข้อบกพร่องอื่น ๆ เป็นต้น



 






 




Create Date : 27 มิถุนายน 2566
Last Update : 27 มิถุนายน 2566 17:46:38 น.
Counter : 330 Pageviews.

0 comment
“ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” ผลผลิตสูงสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ประเทศ



กรมวิชาการเกษตรพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์“ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3”  ผลผลิตสูงสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศไทย 


สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 สร้างให้กับเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์แล้วกว่า 297 ล้านบาท ผลผลิตที่แปรรูปเป็นวุ้นเส้น คิดเป็นมูลค่า 432-648 ล้านบาท ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร








 






 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี “การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร ผ่านการขยายผลและสาธิตเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานชั้นพันธุ์ของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3


ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 โดยงานนี้ จัดขึ้นที่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ถั่วเขียว อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
 

ที่ผ่านมาถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 มีการนำไปใช้ประโยชน์ระหว่างปี 2562-2565 ปริมาณรวม 589 ตัน ผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ขอนแก่น หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ และด้านหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัย
 





 

 






โครงการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (พืชหลังนา) โครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน เป็นต้น  ที่ผ่านมา สามารถนำไปปลูกได้ในพื้นที่ 83,700 ไร่ ได้ผลผลิต 11,878 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์เป็นเงิน 297 ล้านบาท


เมื่อนำผลผลิตแปรรูปเป็นวุ้นเส้น จะได้ผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,600 ตัน (สัดส่วนเมล็ดถั่วเขียวต่อวุ้นเส้น เท่ากับ 10:3) คิดเป็นมูลค่า 432-648 ล้านบาท (ราคาวุ้นเส้น 120-180 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถั่วเขียว และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทย





 
 







ลักษณะเด่นของถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 นี้ คือให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 232 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 72 กรัมให้เปอร์เซ็นต์แป้ง 58.4 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน 24.1 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก


โดยให้น้ำหนักสดถั่วงอก 5,700 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด 1,000 กรัม คุณภาพของถั่วงอกมีรสชาติหวาน กรอบ และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น ลักษณะวุ้นเส้นมีสีขาวใส และเหนียวนุ่ม การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอ ใกล้เคียงกันได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ปี 2564 จากสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร






 






 

งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” มีผู้เข้าร่วมงานรวมจำนวน 100 คนประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ถั่วเขียวจังหวัดพิจิตร ผู้บริหารและนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนจากสหกรณ์การเกษตร ภาคเอกชน และผู้รวบรวมผลผลิตถั่วเขียว


ภายในงานมีการสาธิตการใช้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เทคโนโลยีการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวฤดูแล้งหลังนา การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างปมรากกับพืชตระกูลถั่ว และเจริญอยู่ภายในปมรากแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 %


ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการพัฒนารูปแบบปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว ซึ่งจะช่วยให้การยึดติดกับเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นและใช้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ติดรูจานหยอดของเครื่องปลูกทำให้ใช้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ระหว่างเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการแปรรูปถั่วเขียว




 




 



Create Date : 23 มิถุนายน 2566
Last Update : 23 มิถุนายน 2566 18:51:06 น.
Counter : 209 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments