All Blog
โชว์ผ้าไหมไทย"เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย"
ก.เกษตรฯ โชว์ผ้าไหมไทย"เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย" เมืองสกลนคร สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
   
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม "ประกวดเส้นไหม ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากหม่อน และส่งเสริมตลาดผ้าไหม ประจำปี 2565"  “เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 21 มิถุนายน 2565 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ริมฝั่งหนองหาร ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร






 







 
เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาและอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับประเทศไทย และส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมการสาวไหมแบบพื้นบ้านของไทย ให้เยาวชนและเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ดีงามแบบดั้งเดิม รวมทั้งเชิดชูบุคคลที่ผลิตผลงานคุณภาพด้านหม่อนไหม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการสืบสานพระราชปณิธาน และขยายผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งประเทศไทยมีการทำอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นเวลานาน มากกว่า 100 ปี






 















 
อาชีพหม่อนไหมมีจุดเด่นในการเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างอาชีพในถิ่นที่อยู่ ส่งผลให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว การที่ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดให้มีการประกวดและการแข่งขันผลผลิตหรือสินค้าด้านหม่อนไหม จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและเกิดการสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ส่งผลต่อการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยดึงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน
 
ภายในงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระดับประเทศ จำนวน 1 ราย มอบใบรับรองร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐาน จำนวน 4 ร้าน มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่เกษตรกรหม่อนไหม ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบด้านการทอผ้าไหม จำนวน 2 ราย ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 1 ราย ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 5 ราย (ปราชญ์หม่อนไหม)






 







 
ด้านการสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญหาอาชีพปลูกหม่อนไหม (ทายาทหม่อนไหมโรงเรียน) จำนวน 6 ราย มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ครอบคลุม 18 อำเภอ ประมาณ 1,301,747 ไร่ ให้แก่เกษตรกรจากอำเภอเต่างอย อำเภอภูพาน อำเภอเมือง อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก และอำเภอพรรณนานิคม พร้อมเยี่ยมชมงานและนิทรรศการภายในงาน

นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กิจกรรมภายในงาน กำหนดให้มีการจัดนิทรรศการ การประกวด และการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 29 ประเภท ประกอบด้วย 1) การแข่งขันสาวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 6 ประเภท รวม 54 ทีม 2) การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง 11 ประเภท รวม 291 ผืน 3) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเงิน 1 ประเภท รวม 57 ผืน 4) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน 9 ประเภท รวม 317 ผืน 5) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเขียว 1 ประเภท รวม 24 ผืน

6) การประกวดสิ่งประดิษฐ์จากผ้าไหม ประเภท กระเป๋าสตรี 1 ประเภท รวม 32 ใบ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลที่ 1 ทุกประเภท จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และจะถูกนำไปจัดแสดงในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี






 



 

 



Create Date : 16 มิถุนายน 2565
Last Update : 16 มิถุนายน 2565 16:33:23 น.
Counter : 283 Pageviews.

0 comment
เปิดตัวศูนย์กัญชาแจกวันแรก-กระจายสู่ประชาชนเดือนละ 1 – 2 แสนต้น
"มนัญญา"เดินสาย’ เปิดตัวศูนย์กัญชา กัญชง และกระท่อม เปิดลงทะเบียนแจกกัญชาล้านต้นสู่ครัวเรือนวันแรก พร้อมกระจายพันธุ์ดีสู่ประชาชนเดือนละ 1 – 2 แสนต้น 
       
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ One Stop Service กัญชา กัญชง และกระท่อม พร้อมเปิดตัวโครงการ “แจกกัญชา กัญชง ล้านต้น สู่ครัวเรือน” โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรณ พร้อมด้วย ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร เจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ ศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 







 







 
นางสาวมนัญญา เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้สร้างผลงานวิจัยและองค์ความรู้ทางวิชาการ และมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตสู่เกษตรกร สามารถช่วยยกระดับการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนช่วงแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะที่ดีตามความต้องการ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ตั้งแต่การรวบรวม ศึกษา พร้อมคัดเลือกและขยายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย หรือพันธุ์การค้าจากต่างประเทศ

มีโครงการทดสอบสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับพื้นที่ประเทศไทย และมีการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมพัฒนาพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศไทย และจะนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรม 
        
กรมวิชาการเกษตรยังมีภารกิจด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ภายใต้ พ.ร.บ.กักพืช พ.ร.บ.พันธุ์พืช และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อควบคุมกำกับดูแลการนำเข้า ส่งออก รวมถึงการขึ้นทะเบียนพันธุ์กัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงาน ตามภารกิจ และกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร






 






 
จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร (One Stop Service) เพื่อประสานงานและบริการข้อมูลในทุกด้าน และเตรียมความพร้อมการรับมือภายหลังจากการปลดล็อกกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติด เนื่องจากปัจจุบันพืชทั้ง 3 ชนิดได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

โดยหลังจากปลดล็อกออกจากรายชื่อยาเสพติด มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูก กฎระเบียบในการควบคุมกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า ส่งออก การขึ้นทะเบียนพันธุ์ หรือ การขายเมล็ดพันธุ์ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในการแนะนำและส่งเสริม 
      
“ต้นพันธุ์กัญชา กัญชงที่แจก จะมีคิวอาร์โค้ดข้อมูลพันธุ์และคู่มือการดูแล เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจปลูกอย่างไรให้เป็นพืชสมุนไพร และยารักษาโรคได้ โดยไม่อันตรายต่อตัวเองและผู้บริโภค เราต้องการให้ประชาชนที่ได้รับมีความรู้ความเข้าใจ และกระจายความรู้ต่อๆ กันไป เพราะขณะนี้ยอมรับว่ากัญชาเป็นกระแสที่ทุกคนให้ความสนใจ จึงขอฝากไปถึงผู้ปลูกขอให้มีเจตนารมย์ที่ดี ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น” รมช.มนัญญา กล่าว  
       
ศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จจะทำหน้าที่ประสานงานวิจัยและพัฒนา พืชชนิดกัญชง กัญชา และกระท่อม ของหน่วยงานภายนอกอื่นๆ พร้อมสนับสนุนและให้ข้อมูลด้านต่างๆ แบบครบวงจร แก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน ตลอดจนผู้สนใจ รวมถึงบริการข้อมูล และความรู้ วิธีการปลูก การดูแลรักษา การจัดการโรคและแมลง







 







 
รวมทั้งการนำเข้าและส่งออกแก่ ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยรวมข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวมาไว้ที่ ศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อมแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกรมวิชาการเกษตร รวมทั้ง มีบริการสายด่วนสำหรับสอบถามข้อมูล 1174 
          
จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พืชสกุลกัญชา ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และศึกษาวิจัยไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จึงนำไปสู่โครงการส่งเสริม สนับสนุน การปลูกกัญชา กัญชง 1 ล้านต้น ตามนโยบายรัฐบาล (โครงการ “แจกกัญชา กัญชง ล้านต้น สู่ครัวเรือน”) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนทางการแพทย์ และอุตสาหกรรม เพื่อให้เกษตรกร

ตลอดจนประชาชนผู้สนใจได้ใช้ต้นกล้าพันธุ์ดี มีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่อไป  เริ่มเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนรับกล้าพันธุ์กัญชาพันธุ์ดีวันที่ 16 มิถุนายนนี้เป็นวันแรก ครัวเรือนละ 2 ต้น ตามเป้าหมาย 1 ล้านต้นของรัฐบาลหรือประมาณ 500,000 ครัวเรือน

พันธุ์ที่แจกหลักๆ คือ พันธุ์อิสระ 01 พัฒนาพันธุ์โดยกรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดแจกได้เดือนละ 1 - 2 แสนต้น และผู้ลงทะเบียนจะได้รับต้นกัญชาหลังลงทะเบียนประมาณ 30 วัน สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อมแบบเบ็ดเสร็จ  หรือลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์






 








 



Create Date : 16 มิถุนายน 2565
Last Update : 16 มิถุนายน 2565 16:20:56 น.
Counter : 258 Pageviews.

0 comment
"กษ."จับมือสถาบันอาหารขับเคลื่อนสินค้าเกษตรดันส่งออก
“กระทรวงเกษตรฯ”จับมือสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนพัฒนา สินค้าเกษตร เพื่อผลักดันการส่งออก  สร้างความมั่นคงด้านอาหารและเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืนหลังประเมิน โลกกำลังเข้าสู่ภาวะความมั่นคงด้านอาหาร จากผลกระทบ รอบด้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะได้ร่วมประชุมหารือความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ สถาบันอาหาร โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร  นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นางสาวรพีพร สุทาธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ นายพงศ์ไท ไทโยธิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง 







 








 
นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในการทำโครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยพัฒนาต่อยอดโครงการโปรตีนทางเลือกใหม่(Alternative proteins)จากพืชและแมลงเช่นถั่วเขียว เห็ด สาหร่าย ผำ และแมลง  รวมทั้งโครงการส่งเสริมStart Up เกษตร และ SMEs เกษตรเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โครงการมหานครผลไม้และการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้  โครงการ Eastern Thailand Food Valley และ โครงการพัฒนาสินค้าประมงขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น และการพัฒนาสินค้าฮาลาลซึ่งมีตลาดกว่า2พันล้านคน 

โดยการหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถาบันอาหาร ครั้งนี้ถือเป็นการขยายความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าเกษตรอาหาร สู่เกษตรมูลค่าสูงที่เน้นการนำองค์ความรู้ และงานวิจัยในส่วนต่างๆที่มี มาใช้ในการแปรรูป การวิจัยตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรอาหารให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

จากการประเมิน สถานการณ์ขณะนี้พบว่าโลกกำลังเกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหารอันเนื่องมาจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 สงครามรัสเซีย-ยูเครนและความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกอาหารลำดับ 13 ของโลกจึงจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาภาคการผลิตผลผลิตทางการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เกษตรมูลค่าสูงหนึ่งในหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะต้องสร้างรายได้ให้กับประเทศและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการนำประเทศไทยในฐานะครัวโลกสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกตามมติของคณะรัฐมนตรีต่อไป






 






 



Create Date : 16 มิถุนายน 2565
Last Update : 16 มิถุนายน 2565 15:24:21 น.
Counter : 318 Pageviews.

0 comment
หวั่นซ้ำรอย"ปศุสัตว์"คุมเข้มป้องกันโรคลัมปี สกิน

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องด้วยเข้าสู่หน้าฝน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ และจากอิทธิพลของพายุลมมรสุมเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์แมลงพาหะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้และมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำเกิดอาการป่วยและในกรณีที่รุนแรง ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยพบครั้งแรกในปี 2564 ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 เกิดจากเชื้อไวรัสพบเฉพาะในโคกระบือ


 

   


 

เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือ มาอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง โดย เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัดโดยเร็ว ลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง

 

สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาดของโรค ตามมาตรการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบือโดยการเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด และมีระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ (E-Smart surveillance) เพื่อการรายงานการเกิดโรคในพื้นที่ โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีการรายงานการระบาดของโรคทุกวัน


 

 

  


 

ขณะเดียวกันยังมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวดตามแนวทางที่กรมปศุสัตว์กำหนด ตามแหล่งรวมสัตว์ตลาดนัดค้าสัตว์ และตามชายแดนการควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยให้เกษตรกรมีการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์และบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดจำนวนแมลงพาหะในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การกางมุ้ง ใช้ไฟไล่แมลง กับดักแมลง เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง

 

นอกจากนั้นยังมีการรักษาสัตว์ป่วย โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ จึงต้องจำเป็นที่จะต้องรักษาตามอาการ โดยหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้โคกระบือ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้


 

 

  


 

กรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินจากต่างประเทศ และนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกรมปศุสัตว์แล้วจำนวน 360,000 โด๊ส ได้อำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัคซีนจำนวน 572,000 โด๊ส ให้สมาคมผู้เลี้ยงโครวม 13 สมาคม ได้รับบริจาคจากบริษัทผู้นำเข้าอีกจำนวน 100,000 โด๊ส

 

ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด และเพื่อให้ภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่ดีได้ กรมปศุสัตว์จึงต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรสัตว์ เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ต่อไป และขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกินที่ทางกรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและชุมชนต่อไป




 







 




Create Date : 13 มิถุนายน 2565
Last Update : 13 มิถุนายน 2565 17:11:24 น.
Counter : 310 Pageviews.

0 comment
"อลงกรณ์”นำเจรจารัสเซียซื้อปุ๋ยราคามิตรภาพช่วยเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย และส่งผลให้ปุ๋ยราคาแพง ต่อเนื่องโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน  ตนได้หารือกับ นิโคไล เชอร์เยฟ ที่ปรึกษาสำนักงานผู้แทนการค้ารัสเซียประจำประเทศไทย วิตาลี คิสเซเรฟประธานหอการค้าไทย-รัสเซีย พร้อมด้วยนายยงยุทธ สาระสมบัติ นายกสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทย-รัสเซีย นายอาณัติชัย รัตตกุล คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯและคณะ




 





 

เกี่ยวกับการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียในราคามิตรภาพซึ่งจากการหารือรอบแรกผู้แทนการค้าโดยจากการการรือรัสเซียยืนยันว่ารัสเซียกับไทยมีความสัมพันธ์กันมากว่าร้อยปีจึงเห็นด้วยในหลักการที่จะขายปุ๋ยให้ไทยในราคาพิเศษโดยสถาบันเกษตรกรหรืออตก.และจำหน่ายสู่เกษตรกรโดยตรงซึ่งภาครัฐตกลงกันเรื่องราคามิตรภาพและมอบหมายเอกชนผู้ส่งออกนำเข้าของ2ประเทศไปเจรจากันและจะเชิญผู้แทนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตัวแทนสถาบันเกษตรกรสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และสมาคมผู้ค้าปุ๋ยร่วมหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยค่อไป






 






 





 

สำหรับการนำเข้าประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเกือบ100%  กว่า 5 ล้านตัน เป็นมูลค่ากว่า 73,430 ล้านบาทในปี2564 มากกว่าปี 2563ถึง 54.1%โดยรัสเซีย เป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยเคมี คิดเป็นมูลค่ามากที่สุดในโลกปีละกว่า 2 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 12.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งโลก โดยไทยนำเข้าจากรัสเซียเป็นมูลค่า 5,670 ล้านบาทในปี ที่แล้วคิดเป็นสัดส่วนราว 7.7% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด
 

จากการแพร่ระบาดของโควิด19 ราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นและเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งทำให้ปุ๋ยเคมีมีราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีกกระทบต่อต้นทุนของเกษตรโดยตรง ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงการต่างประเทศและหอการค้าไทยได้เจรจาขอซื้อปุ๋ยเคมีราคามิตรภาพจากซาอุดีอาระเบียจนสามารถตกลงในหลักการและขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจานำเข้าส่งออกของภาคเอกชนของ2ประเทศ







 







 

 



Create Date : 12 มิถุนายน 2565
Last Update : 12 มิถุนายน 2565 17:16:12 น.
Counter : 255 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments