All Blog
เตรียมฟื้นฟูยกระดับสะพานปลาสู่ตลาดโลก

 

 

‘อนุชา’เตรียมฟื้นฟูยกระดับสะพานปลา พลิกฟื้นใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดมูลค่าสูงสุดมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก


 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานขององค์การสะพานปลา (อสป.) โดยมีนายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลากร องค์การสะพานปลา ให้การต้อนรับ และหัวหน้าสำนักงานในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ ณ สะพานปลากรุงเทพ องค์การสะพานปลา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ว่า ภายใต้นโยบายด้านการประมงของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่มีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม

 

เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเล ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรของประเทศไทยและประชากรโลก


เป้าหมายเพื่อให้พี่น้องชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการด้านการประมง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และการทำการประมง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ส่งเสริมการผลิตและการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ






 






 

 

ถือเป็นการเสริมสร้างยกระดับการพัฒนาประมงไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยองค์การสะพานปลา หรือ อสป. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อจัดระเบียบกิจการแพปลา และมีพระราชบัญญัติเพื่อควบคุมการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ มีบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

นายอนุชา กล่าวว่า เป้าหมายเชิงรุกของ อสป. คือ “โครงการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและสัตว์น้ำแปรรูป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประมงมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ต่ออาชีพประมงและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้ง โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน (อัตลักษณ์พื้นถิ่น) ยกระดับชาวประมงพื้นบ้าน ฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ


เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการบริหารจัดการฐานทรัพยากรทางเกษตรและระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการขยายตลาดการบริโภคสินค้าเกษตรและการผลิตอาหารปลอดภัย พัฒนาการเกษตรคุณภาพให้มีมูลค่าสูง สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางการเงิน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง






 






 

 

อสป. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านประมงของประเทศไทยและมีส่วนเกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวประมงเนื่องจากเป็นตลาดกลางซื้อขายและขนถ่ายสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา อสป. ประสบกับวิกฤติปัญหาทั้งเศรษฐกิจชะลอจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ต้องปรับโครงสร้างการทำงานหลังจากที่ขาดทุนมาหลายปี ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม อสป. ที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติทำกำไรกลับคืนมาได้

 

เชื่อมั่นว่า อสป. มีศักยภาพ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก ทั้งนี้ การทำงานจะต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล หลังจากนี้ จะลงพื้นที่สำรวจว่าสามารถขยาย ฟื้นฟูสะพานปลาให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร


เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็งยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด เพื่อยกระดับตลาดสินค้าสัตว์น้ำจากชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีมาตรฐานสากล ทั้งคุณภาพและราคา ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน





 

                   




 

นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการประมง อสป. ได้มีการขยายบทบาทการดำเนินงาน ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การประมง และให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันประมง ชุมชนประมง เพื่อส่งเสริมฐานะและสวัสดิการของชาวประมง เป็นต้น การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพประมง ได้แก่ โครงการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือชาวประมง (น้ำมันม่วง)

 

โครงการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปให้กับกระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) และปัจจุบันยังคงดำเนินงานโครงการจัดซื้อสินค้าสัตว์น้ำส่งสำนักพระราชวัง สวนจิตรลดา และการจัดให้มีจุดตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการใช้สารปนเปื้อนต่าง ๆ ในสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำที่สด สะอาด รวมถึงการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปจำหน่ายในตลาดโลกให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

 

ข้อมูลจาก อสป. รายงานสถิติปริมาณสัตว์น้ำ ปี 2565 มีมูลค่า 10,082 ล้านบาท ปริมาณ 210,082 ตัน กำไร 24% ค่าใช้จ่าย 220 ล้านบาท รายได้ 244 ล้านบาท สถิติปริมาณสัตว์น้ำปี 2566 มีมูลค่า 7,876 ล้านบาท ปริมาณ 182,500 ตัน กำไร 43.11% ค่าใช้จ่าย 209.17 ล้านบาท รายได้ 252.28 ล้านบาท





 







 

สำหรับแผนงานโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2567 ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงให้ถูกสุขอนามัยได้รับมาตรฐานสากล 1) โครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคบ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารสำนักงานสะพานปลากรุงเทพ


2) โครงการซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างศักยภาพการจัดหารายไดและขยายช่องทางในธุรกิจ 1) โครงการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาพื้นที่สะพานปลากรุงเทพ 2) โครงการตลาดเช้าจำหน่ายสัตว์น้ำท่าเทียบเรือประมงปัตตานี

 

ระยะที่ 2 3) โครงการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการขององค์การสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต 4) โครงการศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าสัตว์น้ำด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ 5) แผนการหารายได้ของสำนักงานบริหารการตลาดและกิจกรรมสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับชาวประมงและผู้ประกอบการให้มีความมั่นคงทางอาชีพประมง 1) โครงการสำรวจความพึงพอใจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า 2) โครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน





 







 

3) โครงการ FMO : BCG (กำจัดขยะ แหอวน พลาสติก และกล่องโฟม เพิ่มคุณค่าให้ทะเล สร้างมูลค่าแก่ชาวประมง) 4) โครงการสินเชื่อเครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงและซ่อมแซมเรือประมง 5) โครงการตลาดประมงคุณธรรม สร้างคุณค่าที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ 4 การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสู่องค์กรที่ทันสมัย


1) โครงการพัฒนาระบบบริการทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ 1. โครงการจำหน่ายน้ำมันราคาถูกสำหรับชาวประมง เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมง 2. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงปัตตานีเป็นศูนย์อาหารทะเลฮาลาล

 

อสป. จัดตั้งภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เพื่อจัดระเบียบการประกอบกิจการค้าสัตว์น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร และได้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงตามชายฝั่งทะเลภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงการจัดให้มีตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำหรือสะพานปลา ศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่สำคัญ ปัจจุบัน อสป. เปิดให้บริการสะพานปลารวม 4 แห่ง และท่าเทียบเรือประมงอีก 14 แห่ง รวม 18 แห่ง

 

ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน มีวิสัยทัศน์ “องค์การสะพานปลา เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการแหล่งขนถ่ายและซื้อขายสัตว์น้ำที่ถูกสุขอนามัย และได้มาตรฐานสากล เพื่อความมั่นคงทางอาชีพประมง” สำหรับผลงานโดดเด่น สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงของ อสป. ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานสุขอนามัยของตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ จากกรมประมง ทั้ง 14 แห่ง อีกทั้ง อสป. ปลาได้รับผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปี 2566 เป็นอันดับ 1 ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 97.24 คะแนน


 





 




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2566 18:23:11 น.
Counter : 107 Pageviews.

0 comment
กยท.ร่วมฉก."พญานาคราช"ปราบปรามลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย


กยท. ร่วมทีมเฉพาะกิจพญานาคราช ลงพื้นที่ จ.ระนอง หารือแนวทางปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายสนองรับนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ 
         

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า ทีม ฉก. พญานาคราชที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมปฏิบัติการและสนับสนุนเจ้าหน้าที่สารวัตรปศุสัตว์ สารวัตรประมง และสารวัตรเกษตรในการเร่งรัดตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรแบบผิดกฎหมาย ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนอง






 






 
นำโดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามประเด็นปัญหาการลักลอบนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืช (ยางพารา) ที่ผิดกฎหมายจังหวัดระนอง โดยได้เข้าพบ นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง





 






 
เพื่อหารือข้อราชการและแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ป้องกันผลกระทบที่เกษตรกรอาจจะได้รับ ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการ และคณะ ได้นำทีม ฉก. พญานาคราช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งร่วมตรวจสอบการขนส่งและเคลื่อนย้ายยาง พร้อมตรวจสอบใบอนุญาตค้ายาง ณ จุดตรวจศิลาสลัก จ.ป.ร. ซึ่งเป็นจุดบูรณาการร่วมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ กับหน่วยงานด้านความมั่นคง (ฉก.ร .25) ใน อ.กระบุรี จ.ระนอง
       

นายสุขทัศน์ กล่าวว่า ภายในเดือนธันวาคม นี้ กยท. กรมวิชาการเกษตร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง จะอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางพารา ชี้แจงการขอใบอนุญาตค้ายาง และการรายงานปริมาณยางคงเหลือของผู้ค้ายางพารา ผ่านระบบ Application (จัดทำโดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง) เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรและผู้ค้ายางในจังหวัด






 






 
ถือเป็นจังหวัดนำร่องก่อนขยายผลทั่วประเทศ และจะร่วมกันจัดประชุมชี้แจง รับฟังความเห็นเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ค้ายางและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเดินหน้าแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ กยท. จะเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ใน จ.ระนอง ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม นี้
         

“กยท. พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจังในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย และผลักดันนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นสำคัญ” นายสุขทัศน์ กล่าวเน้นย้ำ





 




 

 



Create Date : 29 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2566 16:03:52 น.
Counter : 232 Pageviews.

0 comment
"ธรรมนัส"เดินหน้ามาตรการพักหนี้เกษตรกร

"ธรรมนัส" ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มอบนโยบายขับเคลื่อนงานสำคัญของรัฐบาลเตรียมเดินหน้ามาตรการพักหนี้เกษตรกร

       
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรวิสัย (สาขานกเหาะ) ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด รับฟังปัญหา ความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้นำสหกรณ์ พบปะสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำ พี่น้องเกษตรกรต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค





 
       




 

รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังลงพื้นที่ว่า วันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด (สาขานกเหาะ) เพื่อให้กำลังใจและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่บริหารจัดการสหกรณ์เกิดกำไรถึง 33 ล้านบาท และสามารถจัดสรรเป็นกำไรให้กับสมาชิก 27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ถือเป็นสหกรณ์ตัวอย่างที่ดี  มาตรการที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือเกษตรกร และพี่น้องชาวนาทั่วประเทศ คือ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67


โดยสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดยได้รับการสนับสนุนเงินชะลอขายข้าว จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์แก่พี่น้องชาวนาอย่างมาก


จะเห็นได้ว่าราคาข้าวที่ได้ในเวลานี้ ตันละ 13,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 13 บาท อีกทั้งสหกรณ์คืนให้พี่น้อง เกษตรกร 200 บาท/ตัน เท่ากับเกษตรกรขายข้าวในสถานที่แห่งนี้ได้ 13,200 บาท นอกจากนี้ ยังได้เร่งส่งออกข้าวสู่ประเทศเพื่อนบ้านให้เยอะที่สุด และหามาตรการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งพัฒนาคุณภาพข้าว หาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้พี่น้องเกษตรกรด้วย” รมว.ธรรมนัส กล่าว
       

รมว.ธรรมนัส ได้แจ้งข่าวดีเกษตรกรเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 28 พ.ย. 66 นี้ รัฐบาลจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำแผนพักหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์


โดยใช้มาตรการเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงเตรียมงบประมาณสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เพื่อลดรายจ่ายค่าพลังงานและส่งเสริมสหกรณ์ให้มีรายได้ช่วยพี่น้องเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น
       





 





 
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 นั้น สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ สหกรณ์สามารถดึงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิสดสูงขึ้นจากราคาตลาด และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกได้อย่างต่อเนื่อง


 
ปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 317 แห่ง ใน 49 จังหวัด ปริมาณรวบรวมข้าวเปลือก 958,654 ตัน มูลค่า 10,319 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร ผ่านสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างวินัยทางการเงินแก่สมาชิก และสมาชิกสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้นนั้น


กรมฯ จะใช้มาตรการและแนวทางการดำเนินงานเดียวกันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจะออกหลักเกณฑ์หรือวิธีการดำเนินงาน พร้อมแจ้งให้พี่น้องเกษตรกรทราบอีกครั้งหนึ่ง
       

สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2520 ปัจจุบันมีสมาชิก 9,055 ราย โดยธุรกิจที่ช่วยเหลือสมาชิกได้มากที่สุด คือ ธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกและแปรรูปในโรงสีข้าวสหกรณ์


สหกรณ์มีอุปกรณ์การตลาดครบวงจร ในทุก ๆ ปีสหกรณ์จะได้เงินกู้ต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลผ่าน ธ.ก.ส. เช่น โครงการชะลอข้าวเปลือกในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งมีวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อสถาบัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งมีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท
        

สหกรณ์มีการบริหารจัดการข้าวหอมเปลือกหอมมะลิสด โดยเข้าโรงอบเพื่อแปรรูป สหกรณ์มีโรงอบความชื้นข้าวเปลือก 2 โรง กำลังการผลิต 500 ตัน/วัน/โรง มีกำลังการผลิตรวม 1,000 ตัน/วัน โรงสี 2 โรง กำลังการผลิต 120 ตัน/วัน โรงปรับปรุงคุณภาพ กำลังการผลิต 120 ตัน/วัน และมีสถานที่จัดเก็บข้าวเปลือก 3 จุด รวม 84,600 ตัน เป็นไซโลเป่าเย็นข้าวเปลือก ขนาด 13,000 ตัน โกดังเก็บข้าวเปลือกเป่าลมเย็น 4 โกดัง ขนาดรวม 59,000 ตัน และฉางเก็บข้าวเปลือกปกติ โรงสี ขนาดบรรจุ 8,100 ตัน




 
         



 

สำหรับปีการผลิต 2566/67 สหกรณ์การเกษตรวิสัย จำกัด และสหกรณ์เครือข่ายอีก 4 สหกรณ์ได้เริ่มรับซื้อข้าวเปลือกสดเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.66 ในราคาเริ่มต้นกิโลกรัมละ 11.90 บาท จนถึงปัจจุบันสหกรณ์รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 13.00 บาท และมีผลการรวบรวมรวมทั้งสิ้น 31,293 ราย 95,839 ตัน รวมเป็นเงิน 1,099 ล้านบาท


ประกอบด้วย 1.) สหกรณ์การเกษตรวิสัย จำกัด เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 66 - 24 พ.ย.66 จำนวน 18,614 ราย 71,456 ตัน คิดเป็นเงิน 822 ล้านบาท 2.) สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสาม จำกัด เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 9 - 24 พ.ย.66 จำนวน 2,961 ราย 10,730 ตัน คิดเป็นเงิน 123 ล้านบาท 3.) สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 15 - 24 พ.ย. 66 จำนวน 2,332 ราย 5,132 ตัน คิดเป็นเงิน 59 ล้านบาท


4.) สหกรณการเกษตรพนมไพร จำกัด เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 10 - 24 พ.ย. 66 จำนวน 6,224 ราย 6,005 ตัน คิดเป็นเงิน 66 ล้านบาท และ 5.) สหกรณ์เพื่อการเกษตรรักถิ่นเกิด จำกัด เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 10 - 24 พ.ย. 66 จำนวน 1,162 ราย 2,516 ตัน คิดเป็นเงิน 28 ล้านบาท




 




 



Create Date : 28 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2566 16:09:36 น.
Counter : 287 Pageviews.

0 comment
สศก.เผยผลศึกษา“ฟางข้าว”สร้างมูลค่าเพิ่ม


สศท. 7 เผยผลศึกษาการบริหารจัดการ “ฟางข้าว” ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

           
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าวปี 2566 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี


โดยมีปริมาณฟางข้าว รวม 2.48 ล้านตัน ซึ่งฟางข้าวนับเป็นวัดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สำคัญและมีปริมาณมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ตามแนวทาง BCG Model (Bio Circular Green Economy) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน





 




 
         
สศท.7 ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการบริหารจัดการฟางข้าวและปัจจัยสภาพแวดล้อมเพื่อจัดทำกลยุทธ์ในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าว ในพื้นที่ 8 จังหวัด เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566 โดยเก็บข้อมูลจาก 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมของแต่ละจังหวัด และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว รวม 235 ราย และได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566



โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการฟางข้าวในระดับพื้นที่ รวมถึงเกษตรกร และตัวแทนจากกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีการบริหารจัดการฟางข้าวรวมถึงผู้รวบรวมฟางข้าว และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในพื้นที่ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น (Focus Group) และหาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าว


 


         




 
สำหรับการใช้ประโยชน์และการเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัด พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ้างอัดก้อน ฟางข้าวเพื่อจำหน่าย ร้อยละ 83.17 และเก็บฟางข้าวที่อัดก้อนไว้ใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 16.83 โดยเกษตรกรที่จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 278.19 บาท/ไร่/รอบการผลิต


กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ให้บริการอัดก้อนฟางข้าว และรับซื้อฟางข้าวอัดก้อนจากเกษตรกร เพื่อจำหน่ายต่อให้ผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้ประกอบการแปรรูปในพื้นที่ 8 จังหวัด ร้อยละ 61.01 จำหน่ายให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.83 และภาคใต้ ร้อยละ 5.16 ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว รับซื้อฟางอัดก้อนจากเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งในลักษณะเหมาไร่ ราคา 80 - 150 บาท/ไร่ หรือจ่ายให้เกษตรกร ตามจำนวนก้อนที่อัดได้ ราคาก้อนละ 5 - 12 บาท/ก้อน


โดยจำหน่ายไปยังผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง หรือผ่านผู้รวบรวมด้วยกันต่อไป และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางอัดก้อนไปเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้ร่วมกับพืชอาหารสัตว์ หรืออาหาร TMR สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ โคเนื้อและกระบือเฉลี่ย 9.95 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 36) และโคนมเฉลี่ย 31.91 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 78) , นำไปเป็นวัสดุคลุมดินทดแทนพลาสติกสำหรับคลุมแปลงปลูกพืชผัก หรือไม้ผล สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,299.55 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 51)





 




 

นำไปเป็นอาหารปลาในรูปแบบคอนโดอาหารปลาหรือแซนวิชอาหารปลา เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง หรือแพงก์ตอน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารปลาสำเร็จรูปได้เฉลี่ย 834.96 บาท/บ่อ/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 58) , นำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในนาข้าวและแปลงผักทดแทนปุ๋ยเคมี สามารถ ลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 482.28 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 70) และหากนำฟางอัดก้อนไปแปรรูปเป็นถุงกระดาษใส่ของ กระถางต้นไม้ย่อยสลายได้ แผงไข่ ปอกสวมแก้ว ที่รองแก้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ย 632.44 บาท/ก้อน   

         
ด้านแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัด เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการฟางข้าว ใช้พื้นที่รวมกันในการเก็บรวบรวมและจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในเรื่องราคา อีกทั้ง ควรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น





 




 

นอกจากนี้ควรพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปฟางข้าวให้มีความหลากหลายและได้คุณภาพตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเกษตรกรต้นแบบผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวพร้อมสร้างมาตรการจูงใจ และขยายผลสู่เกษตรกรที่สนใจ อีกทั้ง จัดทำฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตฟางข้าว กับผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง

         
ผลการสำรวจและผลการระดมความคิดเห็นดังกล่าว สศท.7 ได้นำข้อมูลไปประกอบการวิเคราะห์ และจัดทำงานวิจัย เรื่องการจัดการโซ่อุปทาน และแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกรณีศึกษาฟางข้าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยและประเมิน สศก. เพื่อขอความเห็นชอบ และจะเผยแพร่งานวิจัยฉบับสมบูรณ์ทาง //www.oae.go.th และ //www.zone7.oae.go.th ในช่วงปี 2567 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และผู้ประกอบการ


รวมถึงผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และวางแผนการบริหารจัดการฟางข้าวต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกของงานวิจัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร 0 5640 5005 หรืออีเมล zone7@oae.go.th





 




 



Create Date : 28 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2566 15:33:51 น.
Counter : 243 Pageviews.

0 comment
ชูศจช. ขยายผลกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ปี 67



นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายสร้างกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร หรือ Farmer Field School : FFS ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการผสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ที่จะส่งเสริมและสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ




 






จนเกิดโรงเรียนเกษตรกรชั้นนำที่มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นวิทยากรพี่เลี้ยง และสามารถเป็นแบบอย่างการดำเนินการตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 79 แห่ง 77 จังหวัด พร้อมพัฒนาเป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบพืชเศรษฐกิจสำคัญ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก ทุเรียน อะโวคาโด มันสำปะหลัง มะพร้าว และดาวเรือง โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร


เตรียมขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนเกษตรกร พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้เป็นวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Master Trainer : MT) อย่างต่อเนื่อง และขยายผลพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรระดับพื้นที่ (Facilitator)


รวมถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ DOAE e-Learning ประกอบกับเตรียมผลักดันศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ใน 882 อำเภอทั่วประเทศ ให้สามารถยกระดับการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรได้


โดยเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ในหัวข้อที่มาจากความต้องการของเกษตรกร เน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และก้าวทันการใช้นวัตกรรมด้านการอารักขาพืชใหม่ ๆ จนเกิดความเข้าใจสภาพปัญหาที่ตนเผชิญอย่างแท้จริง สามารถวิเคราะห์ชนิดของศัตรูพืชในพื้นที่ที่ตนเพาะปลูกพืชได้ และรู้วิธีการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม


เนื่องจาก ศจช. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเกษตรกรในชุมชนเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้พี่น้องเกษตรกรในแต่ละพื้นที่สามารถวิเคราะห์และตระหนักรู้ถึงปัญหาในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนหรือชุมชน และขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีทิศทางและตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง





 






นอกจากนี้ ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการประกวด ศจช. ดีเด่น ทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ แก่เกษตรกรในการร่วมแรงร่วมใจป้องกันและแก้ไจปัญหาศัตรูพืช จนสามารถยกย่องให้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่าย ศจช. กับ แปลงใหญ่


โดยเตรียมพร้อมจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อน ศจช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ในทุกจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการบูรณาการด้านการเกษตรในพื้นที่ สร้างช่องทางการเชื่อมโยงให้เกิดการเกื้อกูลระหว่างกัน และสร้างประโยชน์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร รวมถึงร่วมกันกำหนดแผนการผลิตพืช การผลิตขยายและใช้ชีวภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่องทางการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายสู่ตลาด


รวมทั้งพร้อมที่จะขยายผลกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรไปสู่พืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นเพิ่มเติมจากพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิดตามที่กล่าวมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะมุ่งให้เกษตรกรใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ครอบคลุมพื้นที่ 882 อำเภอ ภายในปี 2570 ต่อไป



 




 



Create Date : 21 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2566 18:35:19 น.
Counter : 215 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments