All Blog
ต่อยอดงานวิจัยสู่โครงการพระราชดำริสร้างรายได้กว่า 2 ล้านบาท/ปี

"กรมวิชาการเกษตร"ขับเคลื่อนต่อยอดผลงานวิจัยสู่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในโครงการกว่า 2 ล้านบาท/ปี


นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2525






 






เพื่อศึกษาทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่าง ๆ สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเอง และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้เป็นศูนย์ให้บริการในด้านเทคนิคและวิชาการครบวงจร เพื่อให้ราษฎรเข้ามาเรียนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง”


ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม มี 6 กิจกรรมเด่น ได้แก่ เพาะเห็ด ศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน พืชสวน พืชไร่ ยางพารา และกิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการสาธิต ทดสอบ ฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกร และขยายผลการดำเนินงานสู่เกษตรกรในพื้นที่

    
กิจกรรมเพาะเห็ด พัฒนาการผลิตเชื้อเห็ดเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดพื้นเมืองที่สำคัญ ได้แก่เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดขอนขาว โดยใช้เชื้อพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และเห็ดที่คัดเลือกสายพันธุ์จากเทือกเขาภูพาน ได้แก่ เห็ดบด ซึ่งเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมบริโภคในพื้นที่ โดยมีราคาเฉลี่ย 150-200 บาทต่อกิโลกรัม


ส่งผลทำให้เกิดกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 5 กลุ่ม มีสมาชิกทั้งสิ้น 85 คน ได้แก่  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธุรกิจเกษตรครบวงจร (IAC) บ้านนาขาม  กลุ่มเพาะเห็ดบ้านโนนสมบูรณ์ กลุ่มเพาะเห็ดบ้านตากแดด กลุ่มเพาะเห็ดบ้านโพนก้างปลา และ กลุ่มเพาะเห็ดบ้านนานกเค้า สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้ 153,000 ก้อนต่อปี มูลค่ามากกกว่าปีละ 1,530,000 บาท มีเกษตรกรนำไปเปิดดอกเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2,544,000 บาทต่อปี






 
       





 
กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน  เน้นให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงให้คนที่ต้องการทำอาชีพเกษตรกรรม ลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และเสริมรายได้ การใช้ปุ๋ย PGPR 2 ในข้าว ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังนำแหนแดงไปเลี้ยง เป็ด ห่าน สุกร และจิ้งหรีด ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ลงได้

       
กิจกรรมพืชสวน สาธิตการผลิตไม้ผลพันธุ์ดี ได้แก่ ลิ้นจี่นครพนม 1 ลองกอง มังคุด เงาะ ฝรั่ง มะนาว แก้วมังกร ยกระดับการผลิตไม้ผล โดยการขอรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP พืช ชนิดพืชที่ผ่านการรีบรองแล้ว ได้แก่  ลิ้นจี่ ลองกอง มังคุด และ เงาะ  นำไม้ผลแปรรูป ได้แก่ มะขามเปรี้ยว มะขามป้อม กล้วย เสาวรส  

นอกจากนี้ยังมีแปลงสาธิตการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ปทุมมา แพงพวย ดาวเรืองเพื่อการตัดดอก มีการขยายพันธุ์พืชสวนพันธุ์ดี กว่า 5,400 ต้น ประกอบด้วย ลิ้นจี่ 500 ต้น ลำไย 200 ต้น มะม่วง 200 ต้น กล้วย 200 หน่อ เสาวรส 300 ต้น มะละกอ 1,000 ต้น และต้นกล้าผักต่างๆ 3,000 ต้น และผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักพระราชทาน ได้แก่ พริก มะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะเพรา แมงลัก เพื่อสำรองกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน

       
กิจกรรมพืชไร่ สาธิตการผลิตพืชไร่พันธุ์ดี บนพื้นที่ลาดเอียง แปลงตัวอย่างใช้หญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การผลิตพืชไร่อินทรีย์เพื่อการแปรรูป การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ การปลูกพืชไร่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ได้แก่  ข้าวโพดเทียนพันธุ์สุโขทัย 1 ข้าวโพดพื้นเมืองพันธุ์ตักหงาย  ข้าวฟ่าง งา ถั่วพุ่มดำ ถั่วลิสง มันเทศ ปอโมโรเฮยะ กระเจี๊ยบ อ้อยคั้นน้ำ ทานตะวัน เป็นต้น ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่พระราชทาน และกระจายพืชไร่พันธุ์ดีแก่เกษตรกร ได้แก่ ข้าวโพดเทียน และถั่วพุ่ม เพื่อสำรองภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน






 





 
     
กิจกรรมยางพารา ส่วนแปลงแสดงพันธุ์ยางและเทคโนโลยีการปลูกสร้างสวนยาง  7 สายพันธุ์ พื้นที่ 15 ไร่ โดยปลูกในปี 2543 ปี 2564 มีผลผลิตยางแผ่นชั้น 3 รวม 1,915 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีการเพาะเห็ด และเลี้ยงปลาดุกในสวนยาง มีแปลงสาธิตการปลูกแซม และพืชร่วมกับยางพารา เช่น กระชายขาว พริกไทย ดีปลี กาแฟ เหลียง สละสายพันธุ์อินโด และคอนแคน ซึ่งคอนแคนเป็นพืชท้องถิ่นในเขตเทือกเขาภูพาน ใช้ดอกและยอดเป็นอาหาร ผลผลิตมีมูลค่าสูง

       
กิจกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า ผลผลิตทางการเกษตร เป็นกิจกรรมที่สาธิต การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร ที่มีในพื้นที่ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ การผลิตน้ำตาลแดงจากอ้อย การแปรรูปเห็ด การแปรรูปกล้วย การแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง มะขาม กระท้อน เป็นต้น

       
ในการนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ยังได้ให้คำแนะนำ สนับสนุน แนวทางในการทดสอบพืชทางเลือกใหม่ มูลค่าสูงไปทดสอบการปรับตัวในพื้นที่โครงการ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และสนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์  เพื่อลดเลิก การใช้สารเคมีในโครงการให้มากขึ้น

      
กรมวิชาการเกษตรจะสนองตอบพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษา ต่อยอด เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้เป็นศูนย์ให้บริการในด้านเทคนิคและวิชาการครบวงจร เพื่อให้ราษฎรเข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่อไป




 





 

 



Create Date : 18 มกราคม 2566
Last Update : 18 มกราคม 2566 18:33:35 น.
Counter : 399 Pageviews.

0 comment
จัดการแปลงปลูกผักอย่างไรให้ได้ผลผลิตคุณภาพ


นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชในการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูก และผู้บริโภค




 





 

โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เช่น การใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ รวมถึงการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกวิธี


ทั้งนี้ การปลูกพืชผักสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ดูแลรักษาง่าย และใช้น้ำน้อย แต่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้จักวิธีจัดการแปลงผักของตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณผลผลิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเกษตรกรต้องมีวางแผนการผลิตให้ดี และให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา





 






โดยสามารถปฏิบัติตามง่ายๆ ดังนี้ 1) การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพพื้นที่ และความต้องการของตลาด ควรใช้เมล็ดพันธุ์ดี จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและตรงตามพันธุ์ 2) พื้นที่ปลูกควรมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ระวังอย่าให้พืชขาดน้ำ และอย่าให้น้ำมากเกินไปจนแฉะ จะทำให้พืชเน่าตายได้ ควรให้น้ำในช่วงเช้าหรือเย็น และไม่ควรให้น้ำตอนแดดจัด


3) สภาพพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากแหล่งที่มีสารปนเปื้อนและโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในผลผลิต และควรมีวัสดุคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้นในแปลงปลูก 4) เกษตรกรควรป้องกันการเกิดโรคจากเชื้อราโดยการโชยน้ำ ชำระล้างใบในช่วงเช้า และการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันโรคเน่าในพืชผักได้






 






 
5) หมั่นดูแลและสังเกตการเจริญเติบโตของพืชผักที่ปลูก หากพบศัตรูพืชเข้าทำลายให้รีบกำจัดก่อนที่จะเกิดความเสียหายมาก หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ ควรใช้ในปริมาณที่กำหนดตามคำแนะนำ และเกษตรกรควรหยุดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดก่อนการเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค


เกษตรกรควรหมั่นสำรวจดูแลพืชสวนไร่นาของตนเองอยู่เสมอไม่ว่าในฤดูกาลใด เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูก และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลดน้อยลงได้ และควรกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน





 





 



Create Date : 11 มกราคม 2566
Last Update : 11 มกราคม 2566 17:32:29 น.
Counter : 367 Pageviews.

0 comment
"มนัญญาสั่งตรวจสอบคราบสารสีฟ้าในต้นหอม


นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบกรณีมีการเผยแพร่คลิปเตือนภัยให้ระวังอันตรายต้นหอมมีผงสีฟ้าอยู่บนต้นโดยเมื่อเอามือลูบแล้วมีสีฟ้าก็ติดตามมือมาด้วย โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวและรายงานให้ทราบโดยเร็วเพื่อคลายข้อกังวลของผู้บริโภค





 






อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันที่ 10 มกราคม 2566 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี ลงพื้นที่ตลาดสี่มุมเมืองไปตรวจสอบแผงค้าดังกล่าวทราบว่าเป็นแผงค้าที่รับสินค้าเกษตรมาจากหลากหลายจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างต้นหอมส่งตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่อง GC-MS และเครื่อง Atomic Absorption Spectrometer (AAS)


มีผลการตรวจที่แม่นยำของกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท เพื่อยืนยันชนิดสารและปริมาณสารตกค้างว่าเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรทั้ง 2 แห่งภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วันนี้






 






เบื้องต้นคาดว่าสารเคมีที่เกษตรกรนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ในต้นหอมคือแมนโคเซบ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คือ การพ่นผสมในถัง 200 ลิตร ใช้ปั๊มพ่น ที่ละ 3 ร่อง 6 หัวฉีด และเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวหลังการฉีดพ่นสารไปแล้ว15 วัน ก่อนนำไปจำหน่ายต้องล้างคราบของสารแมนโคเซบออกให้หมด


รวมถึงผู้บริโภคก็ต้องล้างออกอีกครั้งก่อนนำไปรับประทาน ซึ่งหากเกษตรกรใช้สารแมนโคเซบตามคำแนะนำฉลากข้างบรรจุภัณฑ์และปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำดังกล่าวผลผลิตจะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค







 






 

ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาคให้ความรู้และสร้างความเข้าใจการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่เกษตรกร


หากเกษตรกรปฏิบัติตามจะไม่เกิดปัญหาสารคกค้างในผลผลิตตามนโยบายของ นางสาวมนัญญาไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยทั้งมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์พร้อมกันนี้จะประสานให้กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรร่วมกันให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย





 


 



Create Date : 11 มกราคม 2566
Last Update : 11 มกราคม 2566 15:09:03 น.
Counter : 376 Pageviews.

0 comment
"เกษตร"เดินหน้า 83 โครงการรับมือระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง

เกษตรญมอบของขวัญปีใหม่ ภาคเหนือ-อีสาน เดินหน้า 83 โครงการ ปี 2566 รับมือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง 


นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง  เป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 4/2565 พร้อมกล่าวว่าที่ผ่านมานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง


โดยทำงานบูรณาการในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคอีสาน ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานรัฐในจังหวัด ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC) ประจำจังหวัด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานโครงการตามแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยืน จำนวนทั้งสิ้น 83 โครงการ งบประมาณ 13,082,440 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 
          





 







 
ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางปฏิบัติในการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในพื้นที่แม่น้ำโขง (อวนลากทับตลิ่ง) จากประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดขนาดช่องตาอวนก้นถุงเครื่องมืออวนลากที่ให้ใช้ทำการประมง พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2558 ถึงเครื่องมือประมงอวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดต่ำกว่า 4 ซม. และเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ไม่สามารถทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยทั่วไปได้


โดยมีข้อยกเว้นที่กรมประมงสามารถอนุญาตให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำการประมงเพื่อการศึกษาวิจัยได้ การสร้างทางผ่านปลาในกรณีที่มีการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้น ทางเข้า-ออก ของสัตว์น้ำ ระหว่างแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา กรมประมง ได้มีข้อเสนอว่า ในทุกโครงการก่อสร้างเกี่ยวกับการสิ่งกีดขวางทางน้ำใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีการศึกษาและก่อสร้างทางผ่านปลาทุกโครงการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ


ในส่วนฝายเดิมหรือฝายเก่าที่เกิดขึ้นแล้ว ให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการศึกษาหรือออกแบบโดยอาศัยข้อมูลต่าง ๆ และความร่วมมือจากกรมประมง เพื่อให้ทางผ่านปลาที่จะเกิดขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด 


การสร้างทางผ่านปลาในกรณีที่มีการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้นทางเข้า-ออกของสัตว์น้ำ ระหว่างแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมประมงได้รับงบประมาณจากกรมชลประทาน จำนวน 500,000 บาท เพื่อศึกษารูปแบบทางผ่านปลา โครงการประตูระบายน้ำบ้านวังชัน จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้ทำการศึกษาชนิดพันธุ์ปลา ปริมาณปลาที่พบ และข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำปราจีนบุรี


กรมประมง จะจัดทำรายงานเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจออกแบบทางผ่านปลาที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ  รวมทั้งแนวทางการเพาะพันธุ์ปลาบึก เพื่อปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ






 






 

วิธีการที่จะให้ผลดีที่สุดและมีผลกระทบต่อพันธุกรรมของประชากรธรรมชาติไม่มาก คือ การดำเนินการในลักษณะระบบเพาะพันธุ์เคลื่อนที่ (Mobile - Hatchery ) เป็นการนำพ่อแม่ปลาที่มีความพร้อมในการเพาะพันธุ์ที่จับจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูการอพยพขึ้นมาวางไข่ของปลาชนิดต่าง ๆ มาเพาะพันธุ์และปล่อยลูกปลาที่ได้กลับสู่แม่น้ำโขงโดยไม่มีการอนุบาลจนเจริญเติบโต 


นอกจากนี้ยังมีการหารือในด้านความแปรปรวนทางพันธุกรรมจากการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกลับไปปลูกในธรรมชาติ จะทำให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุกรรม หากมีการนำต้นพันธุ์ที่กรมประมงผลิตได้จากห้องปฏิบัติการไปปลูกคืนถิ่นเดิม จะไม่เป็นการก่อให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุกรรมแต่อย่างใด


โดยกรมประมง ได้ดำเนินการตามแผนการนำต้นพันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขงที่กรมประมงผลิตได้จากห้องปฏิบัติการนำไปปลูกคืนถิ่น ในพื้นที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และบริเวณหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย  
   

ขณะเดียวกัน ยังได้รับทราบ ถึงรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนทบทวนแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570


โดยวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง สถานการณ์ปัจจุบัน และความต้องการจากผู้มีส่วนได้เสีย จัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มพื้นที่ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงเป็นลำดับแรก






 






 

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำสรุปแผนงานและโครงการภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 (ฉบับทบทวน) เรียบร้อยแล้ว และนำเสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลงนามหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาบรรจุไว้ในคำของบประมาณประจำปีต่อไป และรายงานผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรม ด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวนโครงการ 23 โครงการ จำนวนงบประมาณ 9,204,796 บาท 
         

โดยคณะกรรมการฯ มีมติให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานโครงการสัมมนาสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ แม่น้ำโขง ภายในโครงการผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับองค์ความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ


การรวมกลุ่มกันผลิต อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ดูงานร่วมกัน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม จังหวัดนครพนม ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566


นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมกระทรวงเกษตรฯ และกรมประมง สำหรับการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ และการทำงานร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นทำงานจริงจังเกินคาดหมายตลอดปี 2565 ที่ผ่านมาด้วย





 




 


 



Create Date : 29 ธันวาคม 2565
Last Update : 29 ธันวาคม 2565 16:59:39 น.
Counter : 268 Pageviews.

0 comment
"กรมประมง"เผยญี่ปุ่นไฟเขียวออกใบรับรองจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่ม


"กรมประมง"สร้างความเชื่อมั่น ทบวงประมงญี่ปุ่นให้อำนาจเต็มออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่ม เพื่อความคล่องตัวในการส่งออกสินค้าประมง 
         


นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุดจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการทำประมง และกำหนดให้แสดงเอกสารการจับสัตว์น้ำ (Catch Documentation Scheme; CDS) สำหรับสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น 5 กลุ่ม ได้แก่ หมึกกล้วย หมึกกระดอง ปลาซันมะ ปลาแมคเคอเรล และปลาซาร์ดีน จะต้องแสดงเอกสารยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำว่าไม่ได้มาจากการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) 






 






 
จากกรณีดังกล่าวกรมประมงได้มีการเตรียมความพร้อมการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงสินค้าส่งออก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรับทราบขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทบวงประมงญี่ปุ่นโดยการจัดทำเอกสาร Flag State Notification เพื่อยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีการบูรณาการระดับชาติเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)


รวมถึงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การบังคับใช้กรอบกฎหมายใหม่ การจัดการกองเรือประมงและทรัพยากรประมง การควบคุมการทำประมงภายใต้การจำกัดการออกใบอนุญาตทำการประมง โดยพิจารณาจากผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) การพัฒนาและเสริมสร้างระบบการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance System: MCS) การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ และพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (E-traceability)





 





 

เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำทั้งจากภายในประเทศและที่นำเข้าให้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมง IUU การบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเคร่งครัด การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อร่วมต่อต้านการทำประมง IUU ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น 


อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดทำเอกสาร Flag State Notification ที่เสนอโดยกรมประมง ซึ่งจะเป็นการยืนยันแก่ประเทศญี่ปุ่นว่าประเทศไทยมีการดำเนินการควบคุมบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าประมงของประเทศญี่ปุ่น


โดยการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสินค้าประมงประเภทที่ 2 และเอกสารอื่น ๆ ตามข้อกำหนด ซึ่งประเทศไทย ผ่านการประเมินและได้รับการประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของทบวงประมงญี่ปุ่น ให้กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเต็มในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 5 กลุ่มเพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565





 





 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงดังกล่าวไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จากสถิติการส่งออกในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกหมึกกล้วย จำนวน 3,540.30 ตัน มูลค่า 1,455.77 ล้านบาท หมึกกระดอง จำนวน 2,420.21 ตัน มูลค่า 804.80 ล้านบาท ปลาซันมะ จำนวน 873.26 ตัน มูลค่า 209.08 ล้านบาท ปลาแมคเคอเรล จำนวน 7,263.73 ตัน มูลค่า 1,104.89 ล้านบาท และปลาซาร์ดีน จำนวน 2,035.95 ตัน มูลค่า 315.45 ล้านบาท รวมสินค้าส่งออกทั้ง 5 ประเภทเป็นปริมาณ 16,133.44 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3,889.99 ล้านบาท


ช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว จะประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การส่งออกสินค้าประมง 5 กลุ่มนี้มีความราบรื่น และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง และความมั่นคงทางอาหาร กรมประมงได้มีการจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และให้การตรวจสอบได้ 100%


โดยกระบวนการดังกล่าวยังได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมทั้งได้หารือกับภาคเอกชนในการเตรียมการเป็นอย่างดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย




 




 



Create Date : 26 ธันวาคม 2565
Last Update : 26 ธันวาคม 2565 17:11:13 น.
Counter : 271 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments