All Blog
"ประพัฒน์"หนุนอนุทินปลดล็อคกัญชา 100%
"ประพัฒน์" หนุนอนุทิน ปลดล็อคกัญชา 100% เพื่อให้ประชาชนได้ปลูก จะสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าว่าจากกรณีที่นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปิดงานคิกออฟ กัญชาริมฝั่งโขง นำร่องนครพนมโมเดล ในการปลดล็อคกัญชา 100 % ว่า "ต้องขอขอบคุณท่านอนุทินที่ได้พยายามปลดล็อคทั้งในส่วนของต้น ราก ดอก ใบ ของกัญชา ให้เอามาขายได้ ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง 






 






 
สิ่งที่ประชาชนและที่เกษตรกรอยากได้เพิ่มเติม คือขั้นตอนการขออนุญาตที่ง่าย เพื่อให้ ซึ่งอาจถ่ายโอนท้องถิ่นในบางระดับ และปลดล็อคในทุกๆ เรื่อง เพื่อให้ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ตามวิถีชีวิตของท้องถิ่น รวมไปถึง เพื่อให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออก ทั้งกัญชาและกัญชง กระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีกฎระเบียบรองรับไว้ และเร่งส่งเสริมให้ วิจัยสายพันธุ์ของเราเอง อนุญาตให้เรื่องท่องเที่ยวโดยแบ่งเป็นโซนนิ่ง ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวได้ จะสามารถสั่งสร้างเศรษฐกิจได้อย่างยิ่งใหญ่

เมื่อถามถึงปัญหา ที่ยังติดขัดในเรื่องของการแก้กฎระเบียบดังกล่าว นายประพัฒน์ ให้ความเห็นว่า  ปัญหาที่ยิ่งใหญ่คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความเข้าใจ ไม่เชื่อถือว่ากัญชาเป็นยารักษาโรคได้ คิดว่าเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น และการขอปลูก ยังไม่เป็นแบบ One Stop Service เกษตรกรที่จะปลูกจะต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนและต้องติดต่อกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

ดังนั้นจึงต้องให้กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับในเรื่องของยาสูบที่มอบหมายให้กับกระทรวงการคลังกระทรวง อ้อย ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแล ซึ่งกัญชากัญชงจะต้องให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเท่านั้น จึงจะทำให้ง่ายขึ้น




 







 
 



Create Date : 13 ธันวาคม 2564
Last Update : 13 ธันวาคม 2564 18:36:56 น.
Counter : 460 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"เตือนเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก หลังจีนพบผู้เสียชีวิตจากหวัดนก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของจีนออกแถลงการณ์ว่า พบผู้หญิง อายุ 54 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองจื้อกง ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6

โดยผู้ป่วยได้มีอาการในวันที่ 17 พ.ย. มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายก่อนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน






 






 
พบว่ามีการระบาดมากถึง 4,578 จุด เป็นผู้ป่วยที่พบสายพันธุ์ H5N6 จำนวน 61 ราย และในประเทศจีน ส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลเสฉวน นอกจากนั้นกระจายอยู่ในเทศบาลนครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลอานฮุย และมณฑลหูหนาน 

ทั้งในส่วนประเทศไทยกรมปศุสัตว์ ยังคงมาตรการชะลอการนำเข้า นำออก หรือผ่านราชอาณาจักร สำหรับประเทศที่พบการรายงานการเกิดไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อมาสู่ประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์







 





 
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศทำให้สัตว์ปีกปรับตัวได้ยาก อาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศเข้มงวด ในการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ สั่งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกราย และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกทุกวัน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในส่วนการป้องกันที่ดีถือเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งในคนและสัตว์จากการที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วประเทศจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด 





 





 
การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวด  เรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการต้องสงสัยเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ

อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดและขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด  

หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข    ประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 



 



 



Create Date : 13 ธันวาคม 2564
Last Update : 13 ธันวาคม 2564 16:43:31 น.
Counter : 615 Pageviews.

0 comment
เปิดรับบุตรหลานสหกรณ์ฝึกงานฟาร์มญี่ปุ่น
กรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดรับสมัครบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ไปฝึกงานจริงในฟาร์มเกษตรประเทศญี่ปุ่น ระยะเวลา 11 เดือน เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาจากการปฏิบัติงานจริง ทั้งการบริหารจัดการฟาร์มและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หวังเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญที่ได้รับจากการฝึกงานกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นมาปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของตนให้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เข้ามาพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็ง

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการคัดเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็นบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่าน  การคัดเลือกในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 136 คน

 




 






 
จากการติดตามผลภายหลังจากที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นพบว่า เยาวชนเกษตรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพด้านการเกษตร ส่วนหนึ่งพัฒนาตนเองจนเป็นผู้นำเกษตรกรในชุมชน              และท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ดี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการเดินทางไปฝึกงาน   ในฟาร์มเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้กับการทำการเกษตรของตนเอง และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของตนเองได้อย่างมีคุณภาพด้วย  
 
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับสมัครเยาวชนเกษตรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์หรือบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 9 ธ.ค. 2564





 






 
โดยเยาวชนเกษตรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดหรือที่สหกรณ์การเกษตรต้นสังกัด เมื่อเยาวชนเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะด้านการเกษตรและฝึกภาษาญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2565 ณ ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตรอาเซียน จังหวัดกาญจนบุรี

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไปฝึกงานกับเกษตรกรญี่ปุ่นเป็นเวลา 11 เดือน  ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 – มี.ค. 2566 ซึ่งผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีอายุระหว่าง 21 – 27 ปี จบการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และสหกรณ์การเกษตรต้นสังกัดจะต้องยอมรับและพร้อมสนับสนุนให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกลับมาทำอาชีพการเกษตร เมื่อสำเร็จจากการฝึกงานและเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว






 






 
การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Farmers มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย  ซึ่งผู้แทนเยาวชนเกษตรไทยที่จะเดินทางไปฝึกงานกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนา และยกระดับภาคการเกษตรไทยในอนาคต

จึงขอให้ตัวแทนเยาวชนเกษตรไทยตั้งใจเรียนรู้ อดทน มีวินัย นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฝึกงานจากประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการเดินทางไปฝึกงานครั้งนี้ ให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ภายในชุมชนของตนเองด้วย






 






 
โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์หวังว่าตัวแทนเยาวชนเกษตรไทยจะสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรในหมู่บ้าน ตำบล ชุมชน และภูมิลำเนาของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนเกษตรให้เข้ามาเป็นผู้นำในการพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งต่อไป

โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาการแลกเปลี่ยนทางการเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Exchange Council: JAEC)เยาวชนเกษตรไทยจะได้เดินทางไปฝึกงานการทำเกษตรในสาขาต่าง ๆ

ทั้งนี้ดังนี้ ข้าว ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ และเรือนเพาะชำไม้ผล ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น และฟาร์มปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 11 เดือน ซึ่งจะเป็นการ   สร้างโอกาสแก่เยาวชนเกษตรของไทยได้เรียนรู้เทคนิคการทำฟาร์ม ทักษะการจัดการ ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตรในประเทศญี่ปุ่น


รวมทั้งเรียนรู้บทบาทสังคมชนบทในญี่ปุ่น โดยผ่านการใช้ชีวิต การทำงาน และเรียนรู้ร่วมกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น  และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเกษตรกรไทยและญี่ปุ่น และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณี ระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย




 




 



Create Date : 06 ธันวาคม 2564
Last Update : 6 ธันวาคม 2564 18:51:35 น.
Counter : 488 Pageviews.

0 comment
"กรมปศุสัตว์"เตือนเฝ้าสังเกตพฤติกรรมสัตว์สงสัยติดโควิดต้องแจ้งทันที
"กรมปศุสัตว์"เตือนประชาชนผู้เลี้ยงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมสัตว์อย่างใกล้ชิด สงสัยติดโควิดต้องแจ้งทันทีหลังมีข่าว ฮิปโปในสวนสัตว์เบลเยียมที่ติดโควิด-19 ครั้งแรกของโลก แล้ว

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีการเสนอข่าวออนไลน์ล่าสุด วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ว่าได้กักตัว 2 ฮิปโปในสวนสัตว์เบลเยียมที่ติดโควิด-19 ครั้งแรกของโลก โดยเร่งสอบสวนหาที่มาของเชื้อว่ามาจากไหน






 






 
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นายฟรานซิส แวร์คัมเมน สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ แอนท์เวิร์บในเบลเยียม เผยว่า ฮิปโปโปเตมัส 2 ตัว คือ อิมานิ อายุ 14 ปี และ เฮอร์มีน อายุ 41 ปี พบผลบวกจากการตรวจหาเชื้อ COVID-19 จึงได้ทำการแยกฮิปโปโปเตมัส ทั้ง 2 ตัว ไว้เพื่อเป็นการป้องกัน ซึ่งฮิปโปโปเตมัสทั้งสองตัวไม่ได้แสดงอาการป่วยมากมายแต่อย่างใด เพียงแค่มีอาการน้ำมูกไหลออกมามากเท่านั้น

โดยเจ้าหน้าที่ของทางสวนสัตว์ได้เร่งสอบสวนโรคเพิ่มเติม ถึงสาเหตุและที่มาของการติดเชื้อว่ามาจากที่ใด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ทั้งหมดไม่มีผู้ใดพบผลบวกจากการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และกรณีนี้เป็นรายงานการติดเชื้อในสัตว์สปีชีส์นี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้ามีรายงานการติดเชื้อจำกัดเฉพาะในสัตว์ตระกูลลิงใหญ่ และตระกูลแมวเท่านั้น






 






 
โคโรน่าไวรัสหรือ COVID-19 เป็นเชื้อไวรัสตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง บางชนิดทำให้เกิดโรคคล้ายหวัดในคน บางชนิดทำให้เกิดการเจ็บป่วยในสัตว์ เช่น วัว ควาย อูฐ และค้างคาว นอกจากนี้บางชนิด เช่น โคโรนาไวรัสที่พบในสุนัขและแมว สามารถพบการแพร่ระบาดในสัตว์เท่านั้นและไม่แพร่ระบาดไปยังคน

ณ ตอนนี้ สัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัข แมวใหญ่ในสวนสัตว์หรือเขตรักษาพันธุ์ กอริลล่าในสวนสัตว์ มิงค์ในฟาร์ม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สามารถติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลทั้งหมดว่ามีสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อได้อีกไหม ในขณะนี้มีรายงานสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสทั่วโลก สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 





 






 
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) มีการแถลงเกี่ยวกับการเฝ้าระวังกวางหางขาวสำหรับ SARS-CoV-2 กล่าวว่าการวิจัยทางวิทยาศาตร์เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงความชุกภายในประชากรกวางหางขาวในอเมริกาเหนือ และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบไวรัสในระดับประชากรในสัตว์ป่า

โดยกวางเหล่านี้ไม่แสดงอาการทางคลีนิคของการติดเชื้อ และการค้นพบดังกล่าวอาจทำให้สันนิษฐานได้ว่ากวางหางขาวนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งรังโรคของ SARS-CoV-2 หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติ่มและประเมินถึงผลกระทบอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดที่แสดงถึงการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 แต่การแพร่กระจายเชื้อจากมนุษย์เข้าไปสู่ประชากรกวางหางขาวนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง






 






 
จึงควรมีการสร้างความตระหนักให้กับนักล่าและผู้ที่อาศัยหรือทำงานกับสัตว์ป่า เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นกับสัตว์ป่าและหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะหรือวัตถุของมนุษย์ไว้ในพื้นที่ป่าที่สัตว์ป่าสามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 ในประชากรกวางหางขาว แต่ไวรัสก็ไม่ปรากฏว่ามีการกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความร่วมมือกับ OIE ในการรายงานเหตุการณ์การติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในประเทศ

โดยประเทศไทยได้ทำการรายงานการติดเชื้อว่ามีการติดเชื้อในสุนัขและแมว โดยทุกเคสที่รายงานนั้นพบการติดเชื้อจากเจ้าของติดเชื้อ COVID-19 ทั้งสิ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงการการเฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในสัตว์เลี้ยงที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีการแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หรือสัตว์เลี้ยงที่มาจากต่างประเทศพร้อมกับเจ้าของ โดยการตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังดังกล่าว ทำการตรวจหาเชื้อโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน จากผลการตรวจวิเคราะห์ทุกตัวอย่างให้ผลเป็นลบ






 





 

จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเริ่มเข้าสู่อากาศหนาวแล้ว สัตว์อาจมีภูมิคุ้มกันลดลงได้ กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ และหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ

หากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบลในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพริเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ทันที 





 





 



Create Date : 06 ธันวาคม 2564
Last Update : 6 ธันวาคม 2564 17:52:34 น.
Counter : 527 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"ยืนยันไทยปลอดโรคอหิวาต์หมู-ไข้หวัดนก
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานการระบาดของโรคในสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ อันได้แก่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พบทั่วโลกและมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย

ทั้งนี้ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสปป.ลาว โรคไข้หวัดนก (HPAI) พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
 
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ระดับภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ รวมถึงโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ที่มีแมลงเป็นพาหะ และล่าสุดคือโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ที่ก่อโรคในโค-กระบือ ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในประเทศไทยต้นปี 64





 







 
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์และการบริการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดเข้มงวดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรซึ่งไม่พบการระบาดในประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าอย่างต่อเนื่อง เข้มงวดการเคลื่อนย้ายและตรวจโรค สร้างด่านพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อร่วมกับภาคเอกชน
 
นอกจากนี้ในปี 2563-2564 ได้จ่ายค่าชดใช้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่สุกรที่ถูกทำลายแล้ว จำนวน 3,239 ราย สุกร 112,768 ตัว โดยล่าสุด 23 มีนาคม 2564 ถึง 15 ตุลาคม 2564 อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายให้เกษตรกรอีก 4,924 ราย จำนวนสุกร 159,167 ตัว

สำหรับโรคไข้หวัดนก ได้มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์เชิงรุกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง การควบคุมป้องกัน การเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด กรณีที่ผิดปกติเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่จะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งประเทศไทยได้ปลอดจากโรคไข้หวัดนกมากกว่า 10 กว่าปีแล้ว








 







 
ส่วนโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย พบครั้งแรกในปี 2563 นั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ลดการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และกำหนดแผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) โดยเร็ว

ล่าสุดไม่พบการระบาดของโรค AHS แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยจะขอคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ได้ภายในปี 2566 นี้ และโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยปี 2564 ได้มีมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค ทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น จนล่าสุดสามารถควบคุมการเกิดโรคให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัด

นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรแล้ว 8 จังหวัด วงเงินกว่า 8.52 ล้านบาท และจะเร่งตรวจสอบเอกสารและทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้เสียหายในแต่ละจังหวัดให้ทันภายในช่วยเทศกาลปีใหม่นี้







 







 
จากการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ยึดหลัก “รู้เร็ว สงบโรคได้เร็ว” ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคไข้หวัดนก สามารถควบคุมการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ไม่พบรายงานมาปีกว่าแล้ว และยังคุมการเกิดโรคลัมปี สกินในโค-กระบือให้ในอยู่ในวงพื้นที่จำกัดได้ และเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างยั่งยืน

อยากขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้สามารถป้องกันโรคได้ เช่น การฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม การกำจัดซาก การป้องกันสัตว์พาหะต่างๆ การห้ามนำเศษอาหารมาเลี้ยงสัตว์ และการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ตลอดเวลา




 







 



Create Date : 30 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2564 20:38:28 น.
Counter : 629 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments