Group Blog All Blog
|
รัฐ-เอกชนMOUยกระดับกาแฟไทย ดันรายได้เกษตรกรโตอย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 36 หน่วยงาน เดินหน้าขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่ากาแฟไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มุ่งยกระดับการผลิตกาแฟคุณภาพ เสริมความเชื่อมั่นด้านตลาด และสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั่วประเทศ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังจากการเป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ว่า กาแฟ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปัจจุบันกาแฟไทยกำลังเผชิญหน้ากับทั้งโอกาสมหาศาลและความท้าทายที่ซับซ้อนในการก้าวสู่ความยั่งยืนด้านอาหาร การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ![]() รวมถึงแนวโน้มการเติบโตโดยเฉพาะกลุ่มกาแฟสดและกาแฟพิเศษ สะท้อนถึงรสนิยมของผู้บริโภคที่ซับซ้อนและต้องการประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ แต่ยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน รวมถึงกาแฟไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น การผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพ ความผันผวนของราคา ต้นทุนการผลิตที่สูง ปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ และการขาดแคลนแรงงาน ![]() นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า การลงนามในครั้งนี้มีหน่วยงานร่วมมือจำนวนมาก เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร (เจ้าภาพ) กรมวิชาการเกษตร ส.ป.ก. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สวทช. และอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงภาคเอกชนรายใหญ่ เช่น CP ALL เนสท์เล่(ไทย) กาแฟพันธุ์ไทย เป็นต้น ![]() ความร่วมมือครั้งนี้มีสาระสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการวิจัยและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาระบบการตลาดที่เป็นธรรม การรับซื้อผลผลิตในราคายุติธรรม ลดการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ "นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการกาแฟไทย เราไม่ได้มองแค่ผลผลิต แต่กำลังสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะในพื้นที่สูง จะสามารถเข้าถึงโอกาส เข้าถึงตลาด และเป็นเจ้าของอนาคตของตนเองได้จริง" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว ![]() พร้อมส่งเสริมการวิจัย เทคโนโลยี ตลาดที่โปร่งใส และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมีกิจกรรมสำคัญที่จะขับเคลื่อน เช่น การวิจัยและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ ศึกษาและจัดทำฐานข้อมูล DNA Fingerprinting เพื่อสนับสนุนการอนุกรมวิธานพันธุ์กาแฟไทยอย่างเป็นระบบ ช่วยระบุอัตลักษณ์ของพันธุ์กาแฟแต่ละชนิด เสริมความมั่นคงของทรัพยากรพันธุกรรมพื้นถิ่น และสร้างโอกาสการแข่งขันในระดับสากล รวมถึงวิจัยและพัฒนาระบบควบคุม กำจัดโรคและแมลงศัตรูกาแฟ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกาแฟคุณภาพแก่เกษตรกร ส่งเสริมระบบ e-learning และส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Peer Learning ![]() โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่และยุวเกษตรกร แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ ระหว่างกัน เช่น การจัดเวิร์กชอปในชุมชน ฟาร์มต้นแบบ หรือกลุ่มเครือข่ายความรู้ เพื่อยกระดับทักษะและสร้างแรงบันดาลใจจากผู้ปฏิบัติจริง การส่งเสริมตลาดที่เป็นธรรม ระบบรับซื้อโปร่งใส และมี Traceability พัฒนา EUDR Mapping และพัฒนาระบบ Digital Trace Platform ที่ตรวจสอบได้แบบ real-time การสร้างโอกาสแข่งขันที่เท่าเทียม สอดคล้องมาตรฐานสากล เช่น EUDR เชื่อมโยงผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศผ่าน platform กลาง การรวมกลไกระดับนโยบาย-ชุมชน-พื้นที่ Contract Farming และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จัดทำสัญญาเกษตรพันธสัญญาอย่างเป็นธรรม ตรวจสอบได้ บูรณาการแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน ![]() ทั้งนี้เช่น ลดการเผาในที่โล่ง เพื่อลดมลพิษและรักษาคุณภาพดิน การใช้ Biochar นำวัสดุชีวมวลไปผ่านกระบวนการเผาอย่างไม่สมบูรณ์เพื่อใช้ปรับปรุงดิน เพิ่มคาร์บอนในระบบ รวมถึงการปลูกพืชร่วม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงปลูก ช่วยควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ และเพิ่มรายได้ทางเลือกแก่เกษตรกร ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกาแฟยั่งยืนในชุมชน และการพัฒนาเยาวชน และการประกวดกาแฟ บ่มเพาะยุวเกษตรกร และเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีทักษะเชิงลึก ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดัน “กาแฟไทย” ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรม และมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างแท้จริง ![]() "เพาะดี กินดี"เครือข่ายอาหารปลอดภัย
ซินเจนทา ผนึกกำลังกับพันธมิตรสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัย เนื่องในวันความปลอดภัยอาหารโลก 2025ผ่านโครงการ ‘เพาะดี กินดี’ “ซินเจนทา” ขานรับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ ‘เพาะดี กินดี’ ผ่านกิจกรรม “Grow Well, Eat Well: กระบวนการผลิตที่ดี และการบริโภคที่ปลอดภัย มีคุณภาพ สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรักษ์ไทย และภาคีเครือข่าย โดยได้รับเกียรติจาก นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นประธานพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาระบบอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ จากต้นทางของกระบวนการผลิตสู่ปลายทางของผู้บริโภค และฉลองวันความปลอดภัยอาหารโลก (World Food Safety Day 2025) ที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรมวันนิมมาน โซนวันศาลา จังหวัดเชียงใหม่ ![]() โดยผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ไม่เพียงรองรับผู้บริโภคในท้องถิ่น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ด้านอาหารปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสของการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัยและการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจมากจากผู้บริโภคทั่วโลก ผู้คนหันมาเลือกอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ใส่ใจที่มาของวัตถุดิบ และสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่คำนึงถึงอาหารปลอดภัย และระบบนิเวศ ซึ่งแนวโน้มนี้ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิต โดยการพัฒนาและเสริมศักยภาพเกษตรรายย่อยให้สามารถผลิตพืชอาหารที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับระบบอาหารของไทยให้มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน” ![]() นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากมายในภาคเกษตรและอาหาร ทั้งนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ความท้าทายจากสภาพอากาศ และความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารไม่เพียงแค่อร่อยหรือสดใหม่ แต่ต้องปลอดภัยและโปร่งใสในทุกขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารตั้งแต่แปลงเกษตรถึงมือผู้บริโภค และเรายังได้สนับสนุนการสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในชุมชนของตนเอง วันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะร่วมกันส่งต่อแนวคิดดีๆ และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อร่วมกันสร้างจานอาหารที่ไม่เพียงอร่อยและปลอดภัย แต่ยังสะท้อนความใส่ใจต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร. พรชัย ศรีประไพ คณะกรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า มูลนิธิรักษ์ไทยมีบทบาทสำคัญในการทำงานเชิงพื้นที่เคียงข้างเกษตรกรรายย่อยมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารปลอดภัย ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบอาหารในประเทศ ระบบอาหารปลอดภัยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ก็ต่อเมื่อมีผู้ผลิตที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคที่มีความตระหนัก ร่วมสร้างวงจรความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างกัน ![]() ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ บูธแนะนำโครงการ “เพาะดี กินดี” และองค์กรภาคี บูธจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยจากชุมชนและวิสาหกิจท้องถิ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและฐานทรัพยากรชีวภาพ เช่น ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ผลิตภัณฑ์หวายจากเกษตรกรผู้ปลูกหวาย การดริปกาแฟสดจากเกษตรกรในพื้นที่ การจัดกิจกรรมเวิร์กชอปเมนูอาหารปลอดภัย เช่น ซูชิข้าวดอย สลัดโรล กาแฟดริป พร้อมบรรยายพิเศษจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ ในหัวข้อ “GAP ไม่ใช่แค่ใบรับรอง…แต่คือโอกาสของเกษตรกรรายย่อย” และการสัมภาษณ์พิเศษ เกษตรกรตัวเล็ก ผู้ผลิตพืชอาหารปลอดภัย สู่อนาคตที่ยั่งยืน คน ดิน น้ำป่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ “วันความปลอดภัยอาหารโลก” (World Food Safety Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี โดยมุ่งหวังให้ทุกคน “รู้คิด ตระหนัก ปฏิบัติ” เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอาหารไม่ปลอดภัย เชื่อว่าการพัฒนาระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงลำพัง หากปราศจากพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายเกษตรกร และภาคเอกชนที่มุ่งมั่นเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ![]() กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง เมื่อเราผนึกกำลังกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และตลาดที่เป็นธรรม พร้อมทั้งส่งมอบทางเลือกที่ปลอดภัยและมีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค ขอขอบคุณทุกความร่วมมือที่ทำให้โครงการ ‘เพาะดี กินดี’ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าแรงสนับสนุนนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย และครอบคลุมสำหรับทุกคนในสังคมไทย ![]() ส่งมอบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านโรคใบด่าง
"กรมส่งเสริมการเกษตร"จับมือภาคีเครือข่ายเร่งส่งมอบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี”ที่มีความต้านทาน โรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดความเสียหายจากการระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปี 2567 ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนา มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์นำพันธุ์มันสำปะหลังต้านโรคใบด่าง ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1, อิทธิ 2 และอิทธิ 3 มาขยายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีเร่งรัด X20 และ X80 ซึ่งให้ผลผลิตมากกว่าวิธีเดิมถึง 20-80 เท่า มีเป้าหมายการผลิต จำนวน 240,000 ต้นพันธุ์ บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้น และสามารถส่งมอบสำเร็จแล้วกว่า 180,000 ลำ และคาดว่าจะทยอยส่งมอบครบตามเป้าหมาย 240,000 ลำ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 ![]() โดยส่งมอบให้เกษตรกร 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. กลุ่มแปลงศึกษาทดสอบ จำนวน 45 ไร่ ใช้ปลูกตามวิธีปกติ ก่อนขยายผลต่อด้วยเทคโนโลยีข้อสั้น ในปีถัดไป 2. กลุ่มแปลงใหญ่ ดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกษตรกรร่วมโครงการจำนวน 1,200 ราย โดยจัดอบรมและส่งเสริมการปลูกพันธุ์ต้านโรคใบด่างในรูปแบบ “ธนาคารแปลงพันธุ์” 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาญจนบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุทัยธานี 3. กลุ่มเครือข่ายกองขยายพันธุ์พืช โดยการสร้างเครือข่ายพืชพันธุ์ดีชุมชน ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด และกำแพงเพชร ![]() ทั้งนี้ พันธุ์ที่ต้านทานโรคใบด่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการศึกษา ทดสอบ ภายใต้สภาพแวดล้อมควบคุม ได้ผลดังนี้ - พันธุ์อิทธิ 1: ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.2 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้ง 25.3% ต้านโรคใบด่างได้ถึง 96.4% - พันธุ์อิทธิ 2: ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.5 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้ง 19.8% ไม่พบโรคใบด่างเลย (ต้านทาน 100%) - พันธุ์อิทธิ 3: ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2.9 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้ง 20.7% ต้านโรคได้ 95.1% ![]() อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับปี 2569 มีเป้าหมายจะขยายผลเพิ่มอีก 3,700 ไร่ คาดว่าจะสามารถผลิตท่อนพันธุ์ได้ถึง 29.6 ล้านท่อน โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิมูลนิธิสถาบันพัฒนา มันสำปะหลังฯ โดยใช้เทคโนโลยีข้อสั้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็ว และพร้อมกระจายผ่านเครือข่ายศูนย์พันธุ์พืชชุมชน ![]() เน้นย้ำว่า “การใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ได้รับการรับรองและเชื่อถือได้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการ ลดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง” เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการนำเข้าท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่ผ่าน การรับรอง และควรตรวจสอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายในอนาคต ![]() ชาอินทรีย์สร้างรายได้นับล้าน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง ผลิตและแปรรูป ‘ชาอินทรีย์’ คุณภาพของดี จ.เชียงราย สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กลุ่มปีละ 1.6 ล้านบาท นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่าจังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งผลิตชาที่สำคัญของประเทศ ด้วยลักษณะภูมิประเทศ สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตชาคุณภาพ ส่งผลให้ “ชาเชียงราย” เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ![]() ปัจจุบันกระแสความนิยมการดื่มชาและกระแสการรักสุขภาพ โดยเฉพาะชาอินทรีย์ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผลผลิตชาอินทรีย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand จากการลงพื้นที่ของ สศท.1 เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่โดยสัมภาษณ์นายสุนันต์ทา แซ่บู้ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง และนายคมสันต์ สุยะใหญ่ ผู้จัดการด้านการแปรรูปและการขาย บอกเล่าว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง เป็นกลุ่มผลิตชาอินทรีย์และแปรรูปครบวงจร ได้รับมาตรฐานโรงงาน HACCP และมาตรฐาน อย. ที่แสดงให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์มีคุณภาพ ปลอดภัยตรงตามมาตรฐานการผลิต กลุ่มเริ่มดำเนินการผลิตชาอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2539 – ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกชาอินทรีย์ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จำนวน 330 ไร่ เกษตรกรสมาชิก จำนวน 55 ราย ![]() เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกชาอู่หลง เบอร์ 12 หรือ ชาจีน และชาอู่หลง เบอร์ 17ซึ่งชาเป็นไม้ยืนต้นมีอายุ 30 - 40 ปี ด้านสถานการณ์การผลิตปี 2567 เกษตรกรเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ของทุกปี ได้ผลผลิตชาอินทรีย์สด น้ำหนักรวม 10,000 กิโลกรัม/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 30.30 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาชาอินทรีย์สดที่เกษตรกรขายได้ เกรดคละ 55 บาท/กิโลกรัม โดยกลุ่มเป็นผู้รับซื้อจากสมาชิกที่ผลิตชาอินทรีย์เท่านั้น ด้านกระบวนการแปรรูป กลุ่มจะนำชาอินทรีย์สด น้ำหนักรวม 10,000 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งหลังจากการแปรรูปชาอินทรีย์จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2,000 กิโลกรัม โดยการแปรรูปแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ทั้งนี้ได้แก่ 1) ชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก (Non-fermented tea) คือ ชาเขียวอบแห้ง ได้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 50 ของการแปรรูป ราคา 1,000 บาท/กิโลกรัม 2) ชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน (Semi-fermented tea) ได้แก่ ชาอินทรีย์อู่หลง เบอร์ 12 ได้ผลผลิต 400 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 20 ของการแปรรูป ราคา 1,500 บาท/กิโลกรัม ![]() ชาอินทรีย์ก้านอ่อนอู่หลง เบอร์ 17 ได้ผลผลิต 300 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 15 ของการแปรรูป ราคา 2,000 บาท/กิโลกรัม และชาตังติ่งอู่หลง ได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 5 ของการแปรรูป ราคา 2,500 บาท/กิโลกรัม 3) ชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ (Completely-fermented tea) คือ ชาแดงอู่หลง ได้ผลผลิต 200 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 10 ของการแปรรูป ราคา 1,600 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่ม 1,600,000 บาท คิดเป็นกำไร 640,000 บาท ด้านสถานการณ์ตลาดชาแปรรูปอินทรีย์ พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 จำหน่ายตลาดภายในประเทศ อาทิ ร้านคาเฟ่ ตลาดออนไลน์และออกบูธงานต่าง ๆ ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 30 ส่งออกตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส และเยอรมัน นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ![]() โดยประยุกต์ใช้วัตถุดิบอินทรีย์ที่มีกลิ่นหอมเพื่อให้สินค้าชาอินทรีย์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ อาทิ ชาหอมหมื่นลี้ ชามะลิ ชาข้าวกล้องผสมอู่หลง ชาสมุนไพรเจียวกู้หลาน ชาอู่หลงวาโคฉะ ชาอู่หลงมัทฉะ และชาอู่หลงโฮจิฉะ นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง ยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชาอินทรีย์และมุ่งมั่นจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงขั้นตอนการผลิตและการแปรรูปสินค้าชาอินทรีย์คุณภาพสูง โดยถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มจากรุ่นสู่รุ่น ในแต่ละปีจะมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วไป เข้ามาเยี่ยมชมมากกว่า 500 ราย/ปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสในพัฒนา ![]() รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและขยายแนวคิดการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ควบคู่กับการรักษาสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นายคมสันต์ สุยะใหญ่ ผู้จัดการด้านการแปรรูปและการขาย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนชาดอยตุง 08 2628 8982 หรือ สศท.1 โทร. 053 121 318-9 หรืออีเมล์ zone1@oae.go.th ![]() แปรรูปจากมันจาวมะพร้าว สู่การผลิตเชิงพาณิชย์
กรมวิชาการเกษตร ลุยถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าว สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าบุกตลาดพรีเมียมภายใต้แบรนด์สินค้าชุมชน นางสาวศุภมาศ กลิ่นขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เกษตร กองวิจัยพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ และหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดฝึกอบรมการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอำเภอหนองบัวระเหว และผู้สนใจ ในจังหวัดชัยภูมิ ![]() โดยได้รับเกียรติจาก นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีการอบรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป โครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ พร้อมผลักดันสินค้าแปรรูปให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับพรีเมียมภายใต้ตราสินค้าชุมชน มันจาวมะพร้าวเป็นพืชที่อุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินซี และมีกรดโฟลิกสูงมาก รวมทั้งยังเป็นพืชที่ไม่มีกลูเตน มีปริมาณแป้งต้านทานการย่อยสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ![]() กองวิจัยพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวฯ จึงได้นำมันจาวมะพร้าวหัวที่ตกเกรด หัวที่มีขนาดใหญ่มาก และหัวที่เสียหายจากการเก็บเกี่ยวจะขายในราคาที่ต่ำ มาแปรรูปเป็นแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าวพร้อมใช้ และนำแป้งที่ได้ไปพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว โดยสามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนแป้งสาลีได้ เช่น คุกกี้เนย เค้กชิฟฟ่อนใบเตย บราวนี่ โดนัทจิ๋ว ตูเล่ ชีสเค้กหน้าไหม้ อาหารเสริมสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้มันจาวมะพร้าว และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางเลือกหนึ่ง ่่่ ![]() นางสาวศุภมาศ กล่าวว่า จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าวสามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจและแข่งขันในตลาดได้ โดยจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน พัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า OTOP ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายผลเทคโนโลยี กวป.จึงจัดการฝึกอบรมโดยดำเนินงานภายใต้ โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป โดยในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 60 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันจาวมะพร้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยการฝึกอบรมจะมีการสาธิตและฝึกปฏิบัติการผลิตแป้งฟลาวจากมันจาวมะพร้าว ผลิตผลิตภัณฑ์เส้นจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว และผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่จากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว ![]() โครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และเป็นการต่อยอดผลผลิตเกษตรสู่สินค้ามูลค่าสูงในอนาคตอีกด้วย ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โทรศัพท์ 0 2940 7322 ![]() |
สมาชิกหมายเลข 3402302
![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
Friends Blog Link |