bloggang.com mainmenu search






ภาพวาดตั๋งโต๊ะ สมัยราชวงศ์ชิง




ตั้งโต๊ะ หรือต่งจัว (จีนตัวเต็ม: 董卓; จีนตัวย่อ: 董卓; พินอิน: Dǒng Zhuō) เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง ซึ่งคาดว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน ตามบันทึกที่มีนั้น ทำให้ทราบว่า ตั๋งโต๊ะ เป็นผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งซึ่งนำความหายนะมาสู่จีน


ประวัติ

มีรูปร่างอ้วนใหญ่ ใจคอละโมบโลภมาก เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าหันหลังให้แก่ความดี เป็นบุตรชายของข้าหลวงเมืองหลงซี (隴西) แต่เกิดที่เมืองหลินเถา (臨洮) ตั๋งโต๊ะเกิดเมื่อ ค.ศ. 139 เริ่มมีบทบาทและเป็นที่รู้จักของชาวจีนในรัชสมัยของฮ่องเต้หองจูเปียน (弘農王)

เพราะหลังจากจักรพรรดิเลนเต้ (漢靈帝) เสด็จสวรรคตลงในค.ศ. 189 เจ้าชายหองจูเปียน ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษาได้ขึ้นครองราชย์แทน นายพลโฮจิ๋น (何進) ได้ส่งสารไปยังหัวเมืองต่างๆให้มาช่วยตนปราบเหล่าขันทีในวัง

เพราะเหล่าขันทีนั้นพยายามจะล้มหองจูเปียน และตั้งหองจูเหียบ พระอนุชาต่างมารดา ของฮ่องเต้หองจูเปียนขึ้นเป็นกษัตริย์ จึงต้องการล้มล้างขันทีเสียก่อน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

เมื่อตั๋งโต๊ะมาถึงราชธานีลกเอี๋ยง (洛陽) ก็พบว่าความวุ่นวายนั้นถูกสะสางไปแล้ว และองค์หองจูเปียนและหองจูเหียบปลอดภัย ก็ฉวยโอกาสทำเหมือนเป็นฝีมือของตนที่ทำให้องค์ฮ่องเต้ปลอดภัย ราชินีจึงให้เข้ามาทำงานในเมืองหลวง

ในปีนั้น ตั๋งโต๊ะตัดสินใจทำการใหญ่เพื่อเสริมบารมีให้ตนเอง โดยการชักชวนลิโป้ (呂布) นักรบผู้เก่งกาจมาร่วมงาน และทำการเปลี่ยนตัวฮ่องเต้ โดยใช้วิธีขอความเห็นของเหล่าขุนนางในสภา โดยใช้คำพูดอ่อนหวาน แต่กริยาแกมขู่บังคับ

และนำลิโป้มายืนหน้าเขม็งอยู่ใกล้ๆ เพื่อเป็นการขู่ทางอ้อม สภาจึงต้องจำยอม ในปี ค.ศ. 189ตั๋งโต๊ะจึงอัญเชิญ (ปลด) ฮ่องเต้หองจูเปียนและราชินีโฮ มารดาของเปียนลงจากบัลลังก์

และแต่งตั้งหองจูเหียบ ขึ้นเป็น "พระเจ้าเหี้ยนเต้ (漢獻帝)" ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ส่วนฮ่องเต้หองจูเปียนและราชินีโฮ พระมารดานั้น ตั๋งโต๊ะได้สั่งให้คุมขังในตำหนักร้าง (และได้ส่งคนไปสังหารทั้งคู่ใน ค.ศ. 190)

และใน ค.ศ. 189 ตั๋งโต๊ะพบศึกหนักกับทัพของกวนอู ทางด้านลิยู ที่ปรึกษาของตั๋งโต๊ะ บอกว่า ถ้าตอนนี้เรามีเตียงฮัน (長安) เป็นราชธานี เราจะสามารถตั้งรับศึกกับกวนอูได้ดีกว่านี้ ตั๋งโต๊ะจึงสั่งให้ทหารของตนไปฆ่าเศรษฐีในเมืองและริบทรัพย์สินมาทั้งหมด และเผาลกเอี๋ยงให้ราบ

แล็ซสร้างเตียงฮันเป็นราชธานีใหม่ โดยนำเงินที่ปล้นเศรษฐีมาเป็นทุน ตั๋งโต๊ะได้สร้างความวิบัติให้จีนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง วันหนึ่ง ตั๋งโต๊ะได้มีเรื่องบาดหมางกับลิโป้ ต่อมา ก็คืนดีกัน แต่ไม่นานก็บาดหมางกันในเรื่องเดิมถึงขนาดอาฆาตเคียดแค้นกัน

ด้วยเวรกรรมที่ทำไว้ ตั๋งโต๊ะจึงหลงกลวังหลวงจนถูกลิโป้ฆ่าตาย ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 192 หลังจากตายไปแล้ว ศพของตั๋งโต๊ะถูกตั้งทิ้งไว้กลางทางแยกให้แร้งกามาจิกกิน ผู้คนต่างพากันสาปแช่ง เตะต่อยและถ่มน้ำลายใส่

ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ลิฉุยและกุยกี ลูกน้องคนสนิทของตั๋งโต๊ะสามารถยึดอำนาจคืนได้ ได้นำศพของตั๋งโต๊ะไปประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องทางศาสนา ทว่าเมื่อจะบรรจุกระดูกเข้าหลุม ฟ้าได้ผ่าลงมาทำให้เถ้ากระดูกกระจัดกระจายไป ไม่สามารถตามหาครบได้

ในประวัติศาสตร์จีนจึงบันทึกไว้ว่า ฟ้าดินไม่ต้องการให้มีกระดูกของตั๋งโต๊ะฝังอยู่ให้เป็นมลทินเปรอะเปื้อน นับว่าเป็นบุคคลที่ถูกสาปแช่งทั้งยังมีชีวิตและไร้ชีวิตไปแล้วอย่างแท้จริง ซึ่งยาขอบ นักประพันธ์ชาวไทยได้ให้ฉายาตั๋งโต๊ะว่าเป็น "ผู้ถูกสาปแช่งทั้ง 10 ทิศ"

ทางด้านครอบครัว ไม่มีบันทึกกล่าวไว้ชัดเจน แต่ตามวรรณคดีสามก๊ก คาดว่าตั๋งโต๊ะ ได้แต่งงานกับเตียวเสี้ยน (貂蟬) สาวงามผู้มีอายุน้อยกว่าตนถึง 30 ปี แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ยืนยันได้ นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นที่เกี่ยวกับนางเตียวเสี้ยน เช่น เตียวเสี้ยนเป็นหญิงรับใช้ของตั๋งโต๊ะ แต่เป็นภรรยาของลิโป้ และอีกหลากหลายข้อสันนิษฐาน


ครอบครัว

ภรรยา ตั๋งโต๊ะมีภรรยาหลายคน แต่เท่าที่ปรากฏนามได้แก่นางเตียวเสี้ยน
บุตรบุญธรรม ลิโป้
บุตร ในสามก๊กไม่ได้บันทึกว่าตั๋งโต๊ะมีบุตรชายหรือไม่ แต่ทราบว่ามีบุตรสาว 3 คนขึ้นไป
ลุกเขย
ลิยู นอกจากจะเป็นยลูกเขยแล้วยังเป็นกุนซือด้วย
เยียวหู หรือ งิวฮู


ความสัมพันธ์

ลิโป้

ในสมัยที่ลิโป้ยังเป็นองครักษ์ของเต๊งหงวน ตั๋งโต๊ะก็ชื่นชมในฝีมือรบของลิโป้ อยากจะได้มาเป็นขุนพลของตน ถึงขนาดยอมสละม้าเซ็กเธาว์และทรัพย์สมบัติอีกจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อใจลิโป้ ลิโป้จึงได้ทรยศต่อเต๊งหงวนและสมัครเข้าป็นพรรคพวกของตั๋งโต๊ะ

ตั๋งโต๊ะจึงตั้งให้เป็นองครักษ์ประจำตัว และรับลิโป้เป็นบุตรบุญธรรม ลิโป้อยู่ข้างกายตั๋งโต๊ะแทบจะตลอดเวลา เพื่อคุ้มครองป้องกันให้ตั๋งโต๊ะ เมื่อมีคนคิดปองร้ายตั๋งโต๊ะ ลิโป้ก็จะจับตัวคนที่คิดร้ายไปประหาร

แต่ต่อมา ลิโป้กลับผิดใจกับตั๋งโต๊ะเพราะนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้ลืมบุญคุณที่ตั๋งโต๊ะเคยมีให้ตน และสังหารตั๋งโต๊ะในเวลาต่อมา


ลิยู

ลิยูเป็นบุตรเขยของตั๋งโต๊ะ และเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของตั๋งโต๊ะ ตั้งแต่ยังเป็นเจ้าเมืองซีหลง เป็นผู้แนะนำให้ตั๋งโต๊ะปลดพระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ออก แล้วตั้งพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ลิยูติดตามรับใช้ให้คำปรึกษาด้วยความซื่อสัตย์ ตั๋งโต๊ะก็ยอมรับข้อคิดเห็นของลิยูด้วยความที่เป็นที่ปรึกษาคนสนิท

แต่ต่อมาตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้ด้วยเรื่องของนางเตียวเสี้ยน ลิยูแนะนำให้ตัดปัญหาด้วยการยกนางเตียวเสี้ยนให้กับลิโป้ ตั๋งโต๊ะโกรธมากที่ลิยูแนะนำมาดังนี้ แล้วเตือนว่าถ้าพูดเรื่องนี้อีกจะประหาร


รายชื่อบุคคลที่ถูกสังหารโดยตั๋งโต๊ะ

เงาฮู ตั้งใจจะลอบสังหารตั๋งโต๊ะ แต่พลาดไป ตั๋งโตะจึงสั่งให้นำตัวไปประหาร

เจียวปี คัดค้านตั๋งโต๊ะไม่ให้ย้ายเมืองหลวงจากลกเอี๋ยงไปเตียงฮัน ตั๋งโต๊ะไม่พอใจจึงสั่งประหาร

เหงาเค่ง คัดค้านตั๋งโต๊ะไม่ให้ย้ายเมืองหลวง ตั๋งโต๊ะไม่พอใจจึงสั่งประหารพร้อมกับเจียวปี

เตียวอุ๋น ตั๋งโต๊ะประหารเตียวอุ๋นเพื่อสร้างภาพให้ขุนนางทั้งหลายเกรงกลัวตน


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สวัสดิ์สิริธีววาร มานอวลบุษปคันธาทิพย์นะคะ
Create Date :02 ธันวาคม 2553 Last Update :2 ธันวาคม 2553 0:00:05 น. Counter : Pageviews. Comments :0