bloggang.com mainmenu search






ในละครโทรทัศน์ยอดนิยม เปาบุ้นจิ้นมักอัญเชิญกระบี่อาญาสิทธิ์
ออกปราบคนพาลอภิบาลคนดี





อาญาสิทธิ์ หรือ อาชญาสิทธิ์ (absolute power) หมายความว่า อำนาจเด็ดขาด คือ สิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงคราม หรือที่ข้าราชการชั้นสูงได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินให้กระทำการบางอย่างเป็นต้น

โดยมีสิ่งสำคัญคือพระแสงดาบเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า "พระแสงอาญาสิทธิ์" หรือ "พระแสงอาชญาสิทธิ์" ซึ่งบางทีก็เรียก "พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์" หรือ "กระบี่อาญาสิทธิ์" เฉย ๆ ก็มี


ประเทศไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัดในอดีต จะได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ซึ่ง "พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์" เป็นสัญลักษณ์ให้มีอาญาสิทธิ์บังคับบัญชาการผู้คน ทั้งที่เป็นประชาชน กับทั้งข้าราชการและพนักงานของรัฐ ทุกกรมกองทั้งทหารและพลเรือน บรรดาซึ่งอยู่ในสังกัดจังหวัดตนได้

พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์นั้น นอกจากจะพระราชทานให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ยังพระราชทานให้แก่แม่ทัพนายกอง ให้มีอำนาจบัญชาการทัพเสมอพระองค์ด้วย

แต่ในประเทศไทยยังไม่ปรากฏว่า มีการพระราชทานให้ข้าราชการประเภทอื่นนอกจากที่กล่าว ดังเช่นประเทศจีนที่จะพระราชทานให้แก่ขุนนางอย่างผู้พิพากษา ตุลาการ ผู้ตรวจราชการ เช่น เปาบุ้นจิ้นมีกระบี่อาญาสิทธิ์

สำหรับประเทศไทยในอดีตนั้น พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ เมื่อพระราชทานแก่ผู้ใดก็เท่ากับได้พระราชทานอำนาจแห่งพระองค์ให้แก่ผู้นั้น ในอันที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดยพระราชอำนาจนั้น

เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปยังที่ ๆ บุคคลนั้นอยู่ จึงต้องถวายพระราชอำนาจคืนพระองค์ตามโบราณราชประเพณี ต่อเมื่อพระองค์เสด็จกลับก็จะได้พระราชทานพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ ให้ผู้นั้นรักษาไว้ตามเดิม

ปรกติแล้วพระแสงนี้จะตกทอดแก่ทายาทของผู้ได้รับคนแรกต่อ ๆ กันไป ไม่ต้องส่งคืน เว้นแต่มีการเรียกคืนหรือเหตุอย่างอื่นแล้วแต่กรณี

ส่วนปัจจุบัน แม้ล้มเลิกระบอบการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ประเพณีเกี่ยวกับพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ดังกล่าวก็ยังยึดถืออยู่ แต่เป็นเชิงพิธีการเท่านั้น

และพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ประจำแต่ละจังหวัดของไทย ปัจจุบันมักเรียก "พระแสงราชศาสตราประจำจังหวัด"


ประเทศจีน

กระบี่อาญาสิทธิ์ (จีน: 尚方寶劍 หรือ 勢劍; พินอิน: shàngfāngbǎojiàn หรือ shìjiàn, ช้างฟางเป่าเจี้ยน หรือ ชื้อเจี้ยน; แปล: "กระบี่แห่งจักรพรรดิ" หรือ "กระบี่แห่งอำนาจ") หมายถึง กระบี่ของสมเด็จพระจักรพรรดิ หรือจักรพรรดินีแห่งจีน ในสมัยที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่

เป็นสัญลักษณ์ของอาญาสิทธิ์ คือ สิทธิที่จะลงอาญาแก่ผู้ใดก็ได้ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งบำเหน็จความชอบอีกด้วย

ในอุปรากรจีนหรือวรรณกรรมจีน กระบี่อาญาสิทธิ์ มักปรากฏว่าพระราชทานให้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแทนพระองค์ รัฐมนตรี แม่ทัพนายกอง หรือตุลาการ ผู้ถือกระบี่อาญาสิทธิ์ย่อมมี "อาญาสิทธิ์" ดังกล่าวเสมอ

สมเด็จพระจักรพรรดิ สามารถประหารชีวิตผู้กระทำผิดได้ทันทีแล้วจึงค่อยกราบบังคมทูลถวายรายงาน ที่รู้จักกันในไทยมากที่สุดเห็นจะเป็นกระบี่อาญาสิทธิ์ของเปาบุ้นจิ้น (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng, เปาเจิ่ง)

ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิพระราชทาน ให้เปาบุ้นจิ้นสามารถประหารผู้ใดก็ได้ นับแต่สามัญชนจนถึงเจ้าโดยไม่ต้องได้รับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ

แต่หลังจากประหารแล้ว ให้จัดทำรายงานกราบบังคมทูลทราบพระกรุณาด้วย เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ้วโจ้ว)

ในทางประวัติศาสตร์ กระบี่อาญาสิทธิ์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฉิน และยังมีบันทึกว่าสมเด็จพระจักรพรรดิพระราชทานให้แก่ข้าราชการสำคัญหลายคน

เช่น ในสมัยราชวงศ์หมิง พลเอกหยวนช้งฮ้วน (จีน: 袁崇煥; พินอิน: Yuán Chónghuàn) ใช้กระบี่อาญาสิทธิ์สั่งประหารพลเอกเหมาเหวินหลง (จีน: 毛文龍; พินอิน: Máowénlóng) นายทัพผู้มากความสามารถ

เป็นเหตุให้ราชวงศ์ถึงแก่กาลพินาศโดยเร็ว ทำให้ในราชวงศ์ต่อมา (ราชวงศ์ชิง) ไม่มีการพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์แก่ผู้ใดอีก


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


วุธวารสิริวิวัฒน์ มานมนัสสวัสดิ์วัฒนานะคะ

Create Date :27 ตุลาคม 2553 Last Update :27 ตุลาคม 2553 14:38:24 น. Counter : Pageviews. Comments :0