bloggang.com mainmenu search


โดย สุรัตน์ ปรีชาธรรม


"การใช้มุมมองใหม่ตีความประวัติศาสตร์ยุคปลายราชวงศ์ชิงอันเกี่ยวเนื่องกับการกบฏและปฏิวัติ อาจช่วยสร้างความเข้าใจในวิวัฒนาการประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ได้ชัดเจนมากขึ้น นั่นคือช่วงประวัติศาสตร์สำคัญ ที่ตำราฝรั่งมักเรียกขานกันว่า กบฏไท่ผิง (Taiping Rebellion)

“แต่ลักษณะสำคัญบางประการ ที่น่าจะทำให้ขบวนการทางการเมือง 'ไท่ผิง' เข้าข่าย ‘ปฏิวัติ’ มากกว่า โดยมองประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงในภาพรวมแล้วไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า

ความไม่สงบที่เกิดจากขบวนการไท่ผิงในช่วงกลางทศวรรษที่ 19 ที่กินเวลาราว 15 ปีนั้น ได้สั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของจักรวรรดิชิงในทุกๆด้านอย่างร้ายแรงที่สุด และก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิงในที่สุด”

เป็นคำกล่าวของอาจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างการนำเสนอการวิจัยหัวเรื่อง หง ซิ่วเฉวียน ต้นแบบนักปฏิวัติจีน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทั้งนี้การวิจัยฯนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการ “เหตุเกิดในราชวงศ์ชิง” ซึ่งได้จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของโครงการจีนศึกษา ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม




การสู้รบที่กองทัพราชสำนักชิง
สามารถยึดคืนซูโจวจากกบฏไท่ผิง



อาจารย์วาสนาเปิดการนำเสนอการวิจัยหัวเรื่อง หง ซิ่วเฉวียน ต้นแบบนักปฏิวัติจีนนี้ ด้วยการแสดงมุมมองต่อคำว่า ‘กบฏ’ และ ‘ปฏิวัติ’ ในทางรัฐศาสตร์ระบุความหมายของคำสองคำนี้ คือการก่อการต่อต้านรัฐในขั้นรุนแรง

หากทำไม่สำเร็จและถูกปราบปรามได้อย่างสิ้นเชิง ก็เรียก ‘กบฏ’ หากการก่อการฯสำเร็จ สามารถโค่นล้มผู้ปกครองและเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างการปกครองได้อย่างมีนัยสำคัญ ก็เรียก ‘ปฏิวัติ’

“การใช้ความสำเร็จ/ล้มเหลวเป็นบรรทัดฐานในการนิยามคำว่า ปฏิวัติ และกบฏนั้น ไม่เป็นการนิยามที่ขึ้นอยู่กับอัตตวิสัยมากเกินไปสักหน่อยหรือ? จากประวัติศาสตร์ การปฏิวัติหลายครั้งกลับไม่ได้ล้มล้างระบอบการปกครองเก่าไปอย่างสิ้นเชิง

บางครั้งยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเดิมสืบทอดอำนาจต่อไปในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย การปฏิวัติบางครั้งเพียงล้มล้างกลุ่มอำนาจเดิมโดยที่ระบอบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก เป็นต้น ขณะที่กลุ่มกบฏ แม้ถูกปราบปราบลงราบคาบในที่สุด

ทว่าการก่อการของพวกเขาที่กินเวลายาวนานกว่าที่รัฐบาลปราบลงได้ ได้บั่นทอนอำนาจการปกครองเดิม จนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองเดิม

“ เช่นนี้แล้ว เราจะหวนกลับไปเปลี่ยนชื่อกลุ่มกบฏที่ถูกปราบไปแล้ว ให้เป็นกลุ่มปฏิวัติได้หรือไม่ เนื่องจากพวกเขาได้ก่อเหตุอันนำมาซึ่งการล่มสลายของระบอบเดิม

หรือเราควรจะหวนกลับไปเปลี่ยนชื่อกลุ่มปฏิวัติที่ท้ายที่สุดแล้วกลับทำตัวเหมือนระบอบเดิมที่พวกเขาล้มล้างไปว่าเป็นกบฏ เพราะพวกเขาไม่ได้นำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบอบการปกครองอย่างมีนัยสำคัญใด”

ด้วยมุมมองดังกล่าว อาจารย์วาสนาจึงชี้ว่า กบฏไท่ผิงก็น่าจะเข้าข่ายปฏิวัติได้หากมองลึกถึงผลและอิทธิพลที่ทรงพลัง ที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิงในที่สุด และปิดฉากยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่สืบทอดมานับพันๆปี

ใจกลางสำคัญของขบวนการเมืองไท่ผิง คือ ผู้นำหง ซิ่วเฉวียน (1814-1864) ผู้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ต้นแบบนักปฏิวัติจีน’ ด้วยเขาไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแก่นักปฏิวัติรุ่นหลังอย่าง ซุน ยัตเซ็น (1866-1925) และเหมา เจ๋อตง(1893-1976) เท่านั้น

ยังเป็นตัวอย่างการคิดใหม่ทำใหม่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทลายระบอบการปกครองเดิมและสถาปนาระบอบใหม่ให้แก่ผู้ให้กำเนิดรัฐชาติจีนสมัยใหม่ทั้งสองท่านนี้อีกด้วย




ภาพวาดหง ซิ่วเฉวียน (1851-1864)
ผู้นำขบวนการไท่ผิง โค่นล้มราชวงศ์ชิง และวัฒนธรรมขงจื่อ



หง ซิ่วเฉวียนคือใคร?
หง ซิ่วเฉวียนเกิดในครอบครัวชาวนาที่ไม่ถึงกับยากจนในหมู่บ้านเล็กๆในมณฑลกว่างตง (หรือกวางตุ้ง) เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัวจีนแคะหรือฮากกา หงเป็นคนฉลาดหลักแหลม

จึงเป็นความหวังของครอบครัวในการสอบเข้ารับข้าราชการ หงสอบไล่ระดับท้องถิ่นได้เป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 20 จากนั้นก็เดินทางไปสอบเข้ารับราชการครั้งแรก

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้อาณาจักรชิงอันยิ่งใหญ่ก็เริ่มก้าวสู่วิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ จากปัญหาการค้าฝิ่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษก็ไม่มีทีท่าจะแยแสต่อคำทักท้วงใดๆของราชสำนักชิง

จนชาวจีนแทบทุกหย่อมหญ้าพากันหลงใหลสารเสพติด และจีนก็ต้องเสียดุลการค้ากับต่างชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของราชวงศ์ชิง เพียงไม่กี่ปีที่หง ซิ่วเฉวียนเดินทางไปกว่างโจวเพื่อสอบเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก สงครามฝิ่นก็ได้อุบัติขึ้น และราชวงศ์ชิงก็พ่ายแพ้ย่อยยับ ต้องเซ็นสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม

หงเข้าสู่สนามสอบในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่วิกฤต แต่เขาก็สอบไม่ผ่าน...เพียรพยายามสอบถึงสี่ครั้งแต่ก็สอบตกทั้งสี่ครั้ง เขาจึงได้แต่เดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างผิดหวัง และล้มป่วยทั้งทางกายและทางจิตยาวนานกว่าหนึ่งเดือน

ในช่วงเวลาแห่งความผิดหวังอย่างรุนแรงนั้น หงได้หันไปวิสัยทัศน์แปลกใหม่จากอนารยชนตะวันตกจากเอกสารคำสอนคริสตศาสนาฉบับแปลภาษาจีนที่ได้รับแจกจาก เหลียง อาฟาชาวกว่างตงเข้ารีดคนหนึ่งในระหว่างเดินทางไปสอบเข้ารับราชการครั้งสุดท้าย

จากเอกสารชุดเล็กๆ นี้ทำให้เขาเกิดความเกลียดชังและต่อต้านกรอบสังคม วัฒนธรรม และประเพณีแบบขงจื่อดั้งเดิมที่แวดล้อมตัวเขามาแต่เกิด และท้ายที่สุดก็ทำให้เขาประสบความผิดหวังอย่างรุนแรงจากความล้มเหลวในการสอบฯถึงสี่ครั้ง

ในช่วงที่ป่วยไข้จากความผิดหวัง หง ซิ่วเฉวียนละเมอเพ้อถึงตัวละครสำคัญในเอกสารที่เขาอ่าน และได้ใช้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา สร้างตำนานความฝันอันพิสดารที่บอกเล่าถึงการพบปะกับพระเจ้าและบุตรของพระเจ้าคือพระเยซู ตามความเชื่อของชาวคริสต์

และหงก็เชื่ออีกว่าเขาคือบุตรคนเล็กของพระเจ้า เป็นน้องชายของพระเยซู ขณะที่พระเยซูรับมอบหมายให้มาไถ่บาป ให้ชาวยิวด้วยการจบชีวิตบนไม้กางเขน หงก็ได้รับมอบหมายให้นำชาวจีนออกจากความหลงผิดในลัทธิบูชาบรรพบุรุษของขงจื่อ

เพื่อกลับมาบูชาพระเจ้าตามครรลองที่ถูกต้อง และหนทางเดียวที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จก็คือการทำลายล้างโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่อุปภัมถ์ค้ำชูวัฒนธรรมขงจื่ออยู่




รูปปั้นผู้นำ หง ซิ่วเฉวียน


กรุณาอ่านตอนที่ 2 ต่อ บล็อกบนนี้ค่ะ

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
คุณสุรัตน์ ปรีชาธรรม


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ
Create Date :29 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :29 กุมภาพันธ์ 2555 21:23:49 น. Counter : Pageviews. Comments :0