bloggang.com mainmenu search

 

 

ซากฟอสซิล "ซูเปอร์หนู" (Super-rat) ที่มีชีวิตในยุคไดโนเสาร์ ราว 160 ล้านปีก่อน ถูกขุดค้นพบในจีน (ภาพ - เอเอฟพี)        เอเอฟพี - จีนขุดพบซากฟอสซิลบรรพบุรุษหนูที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยสันนิษฐานเป็น “ซูเปอร์หนู” สายพันธุ์พิเศษ ที่มีความกระฉับกระเฉง ปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว
       
       รายงานข่าว (15 ส.ค.) กล่าวว่า คณะนักวิจัยด้านธรณีวิทยาจากจีนและสหรัฐฯ เผยผลการตรวจสอบซากฟอสซิลหนูยุคโบราณใน “เถียวจี้ซาน” แหล่งฟอสซิลยุคไดโนเสาร์ทางภาคตะวันออกของแดนมังกร โดยนักวิจัยฯ ระบุว่า มันน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตระดับ “ซูเปอร์หนู” อาศัยอยู่ในยุคไดโนเสาร์ ราว 160 ล้านปีก่อน ซึ่งมันมีความสามารถในการปีนป่ายต้นไม้ ขุดรูลึก และกินทุกอย่างที่ขวางหน้า
       
       ตามรายงานในนิตรสารด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า “ซูเปอร์หนู” (Super-rat) สายพันธุ์นี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rogosodon Eurasiaticus เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม น้ำหนัก 65-80 กรัม มีข้อเท้ายืดหยุ่นที่ไว้ใช้สำหรับการปีนป่ายต้นไม้ และมีฟันอันแหลมคมที่สามารถกัดแทะทั้งเนื้อสัตว์และพืชได้
       
       “ความสามารถของพวกมันนำไปสู่วิวัฒนาการและความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนต้นไม้และกินพืชเป็นหลักในช่วงเวลาต่อมา” ทีมนักวิจัยฯ กล่าว

ภาพจำลอง "ซูเปอร์หนู" ที่มีข้อเท้ายืดหยุ่นพิเศษไว้ใช้ปีนป่ายต้นไม้ ขุดรูลึก และมีฟันอันแหลมคมที่พร้อมกัดกินทุกอย่างที่ขวางหน้า แหล่งที่มา: มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา (ภาพ - เว็ปไซต์)

 

       นายหยวน ฉงสี่ นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาแห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า คุณสมบัติทางกายภาพเหล่านี้ ช่วยให้เจ้าซูเปอร์หนูยุคโบราณชนิดนี้ กลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ชีวิตได้ค่อนข้างยาวนานในช่วงเวลานั้น
       
       “บางกลุ่มสามารถกระโดด บางกลุ่มสามารถกัดแทะ และบางกลุ่มสามารถปีนป่ายบนต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกมันจะใช้ชีวิตอยู่ตามพื้นดิน” นายลัว เจ๋อซี หนึ่งในผู้ร่วมทำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว
       
       “กลุ่มที่ปีนป่ายตามต้นไม้และกระโดดไปมาได้ มีส่วนกระดูกข้อเท้าที่น่าสนใจมาก เพราะข้อกระดูกเหล่านั้นสามารถหมุนกลับได้อย่างอิสระ”
       
       ชื่อของเจ้าซูเปอร์หนูยุคดึกดำบรรพ์ชนิดนี้มีที่มาจากภาษาละติน โดย “rugosus” หมายถึง รอยย่น “odon” หมายถึง ผิวฟันกรามอันขรุขระ และ “eurasiaticus” หมายถึง อาณาเขตอยู่อาศัยที่กว้างขวางของพวกมัน
       
       ทั้งนี้ นายลัว เผยว่า ซากฟอสซิลที่ขุดค้นพบในจีนนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับชิ้นที่พบในประเทศโปรตุเกส ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าพวกมันน่าจะมีสายพันธุ์ใกล้ชิดกัน และมีการกระจายตัวอาศัยอยู่ทั่วแผ่นทวีปยูเรเซียในอดีต

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :22 สิงหาคม 2556 Last Update :22 สิงหาคม 2556 11:39:01 น. Counter : 1738 Pageviews. Comments :0