bloggang.com mainmenu search





นางพานจินเหลียนกับซีเหมินชิ่ง




บุปผาในกุณฑีทอง (จีน: 金瓶梅; พินอิน: Jīn Píng Méi จินผิงเหมย ;อังกฤษ: The Plum in the Golden Vase) เป็นวรรณกรรมจีนที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง อ้างตามฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงในช่วงรัชสมัยของของจักรพรรดิเสินจง ศักราชว่านลี่ ปีติงซื่อ (ปีที่ 45 ของรัชกาล)

ผู้รจนานิยายเรื่องนี้ใช้นามปากกาว่า หลานหลิงเซี่ยวเซี่ยวเซิง (จีน: 兰陵笑笑生) เดิมนับว่าเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ร่วมกับนวนิยายอีกสามเรื่องคือ สามก๊ก ซ้องกั๋ง และไซอิ๋ว เรียกรวมกันว่า "สี่วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่" (四大奇書,四大奇书)

แต่ต่อมาเรื่อง บุปผาในกุณฑีทอง ถูกต่อต้าน เนื่องจากในเรื่องมีการพรรณนาถึงบทสังวาสจำนวนมาก จนถูกเรียกว่าเป็นหนังสือโลกีย์ จึงมีการจัดให้ ความฝันในหอแดง นิยายอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนแทนที่

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบุปผาในกุณฑีทอง หรือ จินผิงเหมย จะเป็นนิยายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกียะ และบางยุคก็ถือเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ก็แต่งด้วยสำนวนภาษาที่มีความงดงามละเมียดละไม

นิยายเรื่องนี้ได้ทำลายขนบในการเขียนนิยาย อิงพงศาวดารและนิยายเกี่ยวกับผีสางเทวดาลง โดยใช้ลีลาการเขียนด้วยสำนวนง่ายๆ กะทัดรัด และมีชีวิตชีวา มีการบรรยายชีวิตตัวละครและตัวประกอบ โดยใช้ชีวิตประจำวันของซีเหมินชิ่ง และคนในครอบครัวเป็นศูนย์กลาง

กล่าวถึงชีวิตของซีเหมินชิ่งที่รุ่งเรืองและตกอับ ทำอย่างไรให้ร่ำรวยขึ้นมา และทำอย่างไรให้ตัวตกอับ ถือเป็นการบรรยายถึงสภาพสังคมในช่วงราชวงศ์หมิง ซึ่งแสดงถึงทัศนคติและมุมมอง ของประชาชนทั่วไปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อีกด้วย


ที่มาของชื่อเรื่อง

เรื่องจินผิงเหมยนี้ มักถูกเข้าใจว่าชื่อเรื่องมีความหมายว่า ดอกบ๊วยในแจกันทอง เนื่องจากนำคำว่า จิน (金-ทอง), ผิง (瓶-แจกัน) และคำว่าเหมย (梅-ดอกบ๊วย) มารวมกันทำให้มีความหมายดังกล่าว แต่แท้ที่จริงแล้วชื่อเรื่องจินผิงเหมย นำมาจากชื่อของตัวละครหญิงที่สำคัญ 3 คนในเรื่อง คือ พานจินเหลียน (潘金蓮), หลี่ผิงเอ๋อร์ (李瓶兒) และผังชุนเหมย (龐春梅)

ในหนังสือบันทึกหยิวจวีซื่อลู่ ของเหยวียนจงต้าว ที่แต่งขึ้นในช่วงราชวงศ์หมิง ได้กล่าวไว้ว่า "...เหตุที่เรียกว่า 'จิน 金' คือ 'จินเหลียน 金蓮' นั่นเอง ที่เรียกว่า 'ผิง 瓶' นั่นก็คือ 'ผิงเอ๋อร์ 瓶兒' และ 'เหมย 梅' ก็คือ 'ชุนเหมย 春梅' นั่นเอง..."

นอกจากนี้ ตงอู๋น่งจูเค่อ ได้กล่าวไว้ในคำนำของจินผิงเหมยว่า "...แม้ว่าเรื่องนี้จะมีชื่อผู้หญิงจำนวนมาก แต่ใช้เฉพาะชื่อของ 'พานจินเหลียน 潘金蓮' 'หลี่ผิงเอ๋อร์ 李瓶兒' และ 'ชุนเหมย 春梅' มาตั้งชื่อเท่านั้น..."


ประวัติบุปผาในกุณฑีทอง หรือ จินผิงเหมย

เป็นวรรณกรรมจีนที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง อ้างตามฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิง ในช่วงรัชสมัยของของจักรพรรดิเสินจง ศักราชว่านลี่ ปีติงซื่อ (ปีที่ 45 ของรัชกาล)โดยพิมพ์จาก จินผิงเหมยฉือฮว่า ซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่ง

ได้กล่าวถึงผู้ประพันธ์นิยายเรื่องจินผิงเหมยนั้น เป็นคนในช่วงราชวงศ์หมิง ใช้นามปากกาว่า หลานหลิงเซี่ยวเซี่ยวเซิง (จีน: 兰陵笑笑生) แต่ไม่สามารถยืนยันชื่อและแซ่ ของเจ้าของนามปากกานี้ได้

เนื่องจากจินผิงเหมยฉบับดังกล่าว มีสำนวนภาษาหลู่หนาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นทางตอนใต้ของมณฑลซานตงจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ยาก ดังนั้นในรัชสมัยของจักรพรรดิฉงเจิน ได้มีปัญญาชนชาวเมืองหางโจว ที่ไม่สามารถยืนยันแซ่ได้

ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้อ่านทางตอนใต้ การปรับปรุงดังกล่าวนั้น ไม่เพียงแต่ตัดสำนวนภาษาพื้นบ้าน กับบทบรรยายออกไปเท่านั้น แต่ยังได้แก้ไขปรับปรุงเนื้อหา และรายละเอียดต่างๆ จำนวนมาก จนเป็นที่มาของจินผิงเหมยฉบับฉงเจิน

นับแต่นั้นมา จินผิงเหมยฉบับที่แพร่หลายเรียกว่า "จินผิงเหมยฉบับจริง" "จินผิงเหมยฉบับเก่าแก่" รวมไปถึงจินผิงเหมยที่ขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ล้วนมาจากฉบับเดียวกันทั้งสิ้น

แม้ว่าจะมีการแก้ไขอย่างดี แต่ก็มีหลายแห่งที่แก้ไขด้วยความเข้าใจผิด หรือแก้ผิดอยู่ โดยคนทั่วไปส่วนใหญ่ มักจะได้อ่านจินผิงเหมยฉบับฉงเจิน แต่ไม่เคยได้อ่านจินผิงเหมยฉบับดั้งเดิมเลย

จึงทำให้ไม่ทราบความแตกต่างของทั้งสองฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีภาษาท้องถิ่นที่มีความหมายไม่แน่ชัด ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน


เรื่องย่อ

เป็นเรื่องราวของของซีเหมินชิ่งกับนางพานจินเหลียน ซึ่งเป็นตัวละครของนิยายเรื่องซ้องกั๋ง มาเป็นตัวละครหลักในการประพันธ์ โดยกำหนดให้ซีเหมินชิ่ง เป็นตัวเอกของเรื่อง

เดิมซีเหมินชิ่งเป็นเศรษฐีที่ครอบครัวตกอับที่เมืองชิงเหอ แต่ในนิยายเรื่องนี้ซีเหมินชิ่งได้ร่ำรวยขึ้นมาอีกครั้ง ในบ้านมีภรรยาหลวง 1 คน และภรรยาน้อยอีก 3 คน เมื่อซีเหมินชิ่งได้มีความสัมพันธ์กับนางพานจิน เหลียน ซีเหมินชิ่งก็ได้แต่งงานกับเศรษฐินีม่ายชื่อเมิ่งอวี้โหลว

หลังจากที่ซีเหมินชิ่งได้แต่งพานจินเหลียนเข้ามาแล้ว ซึเหมินชิ่งก็แอบไปมีความสัมพันธ์ลับกับนางหลี่ผิงเอ๋อร์ ภรรยาของพี่ชายร่วมสาบาน ชื่อฮวาจื่อซวี จนเมื่อฮาจื่อซวีเสียชีวิตไป ซีเหมินชิ่งก็ได้แต่งงานกับนางหลี่ผิงเอ๋อร์เข้ามาเป็นอนุภรรยาคนที่ 6

ซีเหมินชิ่งได้ทรัพย์สินเงินทองจากเมิ้งอวี้โหลว กับหลี่ผิงเอ๋อร์เป็นจำนวนมาก ทำให้ซีเหมินชิ่งสามารถติดสินบนกับบรรดาขุนนาง คบค้าสมาคมกับชนชั้นสูง เพื่อที่ตนจะได้เป็นขุนนางบ้าง จนไม่ว่าจะเป็นราชองครักษ์ ขันที ขุนนางท้องถิ่น ก็ต้องลดตัวลงมาคบหาสมาคมกับซีเหมินชิ่ง

ด้วยเหตุนี้อำนาจของซีเหมินชิ่ง รวมทั้งกิจการการค้าก็รุ่งเรืองขึ้นทุกวัน นอกจากร้านขายยาสมุนไพร ก็ยังเปิดโรงรับจำนำ ร้านขายผ้าต่วน ผ้าแพร ร้านไหมพรม ทั้งยังมีเรือสินค้านำเกลือมาจากเมืองหยางโจวเข้ามาขาย

เฉพาะหลงจู๊ของแต่ละกิจการ ก็มีมากกว่า 10 คน เมื่อมีทรัพย์มากก็มีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหัวเมืองชายทะเลอย่าง เมืองหางโจว, หูโจว, ซงเจียง และหนานจิง

ทั้งๆ ที่เขาก็มีอนุภรรยาเป็นจำนวนมาก แต่เขาก็ไปมีความสัมพันธ์กับชุนเหมย สาวใช้ของพานจินเหลียน และยังไปแอบมีความสัมพันธ์กับสตรีคนอื่นทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพื่อบรรลุโลกิยสุขโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและศีลธรรม และไม่สนว่าจะได้มาด้วยวิธีใด

ทำให้ครอบครัวผู้อื่นบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนล้มตาย จนท้ายที่สุดร่างกายของเขาก็ทรุดโทรมลง และเขาก็เสียชีวิตลงขณะร่วมสังวาสกับนางพานจินเหลียน


การตีพิมพ์

เมื่อแรกเริ่มจินผิงเหมย จะเป็นรูปแบบที่เขียนด้วยมือ จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1610 จึงได้มีการพิมพ์แกะไม้โบราณเป็นฉบับแรก และในสมัยสาธารณรัฐจีน (民國-หมินกวั๋ว) ปีที่ 20 พบว่า มีการพิมพ์จินผิงเหมย จำนวน 100 ตอน

โดยสมาคมจัดพิมพ์นิยายโบราณที่สูญหายแห่งเมืองเป่ย์ผิง (ปัจจุบันคือ กรุงปักกิ่ง) และฉบับของสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชนเป็นผู้เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1933 และในปี ค.ศ. 1956 ตามลำดับ

หนังสือเรื่องจินผิงเหมยจึงเป็นหนังสือที่หายาก ต่อมาภายหลังเมื่อได้รับการยกย่องด้านวรรณศิลป์มากขึ้น กว่าการขนานนามว่าเป็นหนังสือต้องห้าม จึงได้มีการจัดพิมพ์อย่างแพร่หลาย

เช่น ฉบับการจัดพิมพ์จินผิงเหมยที่กรุงไทเป, ฉบับฮ่องกงโดยสำนักพิมพ์เซียงกั่งม่อไฮ่เหวินฮว่า, ฉบับจีนโดยสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชน โดยมีจำนวน 100 ตอนเช่นเดียวกัน

ในประเทศไทยได้มีการตีพิมพ์เรื่องจินผิงเหมยด้วยเช่นกัน โดยเป็นผลงานการแปลของโชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา ยาขอบ สาเหตุที่เขาแปลจินผิงเหมยเป็นภาษาไทยนั้น

เนื่องจากเขาได้รับหนังสือเรื่องจินผิงเหมยฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Chin P'ing Mei ของเบอร์นาร์ด เมียลล์ (Bernard Miall) (ซึ่งแปลจากภาษาเยอรมันที่ ฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn) ได้แปลมาจากภาษาจีน) จากเพื่อนผู้หนึ่งมาอ่าน ขณะที่ตนเจ็บป่วยซึ่งแพทย์ก็ได้สั่งห้ามเขียนหนังสือ

แต่ยาขอบได้ประทับใจนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังใจความตอนหนึ่งความว่า "...หนังสือเล่มนั้นดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะอาศัยความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษา และความละมุนละไมตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น-เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน-บัดนี้ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!"

ด้วยเหตุนี้เองยาขอบจึงได้แปลจนจบ และมอบให้สำนักพิมพ์วรรธนะพิบูลย์พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2498 ก่อนหน้าที่ยาขอบจะเสียชีวิตได้ไม่นาน

อย่างไรก็ตามบุปผาในกุณฑีทองของยาขอบ หากเปรียบเทียบกับจินผิงเหมยฉบับภาษาจีน ก็จะพบว่ายาขอบแปลเรื่องจินผิงเหมยตั้งแต่บทที่ 1 ขึ้นไปจนถึงบทที่ 26 เท่านั้น จากทั้งหมด 100 ตอน หรือเพียง 1 ใน 4 ของต้นฉบับภาษาจีน

นอกจากนี้ยาขอบยังได้แบ่งตอนใหม่เป็น 45 ตอนและไม่ตรงตอนเดิมของฉบับภาษาจีน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ตรงกับฉบับภาษาจีน แต่อาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เนื่องจากการแปลของยาขอบแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ ที่แปลมาจากภาษาเยอรมันและภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง

การแปลจึงเป็นการแปลเอาความ และมีลักษณะเอาของเก่ามาเล่าใหม่แต่บุปผาในกุณฑีทองของยาขอบ มีความพิเศษด้วยการหาคำประพันธ์ในวรรณคดีไทย ที่มีเนื้อหาคล้องจองกันมาแทรกกับคำแปลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ของยาขอบว่ามีความรู้ในวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี

ยาขอบได้ถ่ายชื่อตัวละครในเรื่อง ซึ่งรับชื่อมาจากอักษรโรมันจึงมีความคลาดเคลื่อนบ้าง นอกจากนี้ยังได้แปลงชื่อจากสำเนียงกลางให้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เนื่องจากสำเนียงดังกล่าวถือเป็นสำเนียงที่คุ้นหูของคนไทยในสมัยนั้น หรือทำชื่อให้เป็นชื่อไทยเช่น นางบัวคำ นางขลุ่ยหยก และนางดวงแข จึงทำให้ชื่อตัวละครคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับภาษาจีน เช่น

ซี เหมินชิ่ง (จีน: 西門慶) ฉบับยาขอบใช้ว่า ไซหมึ่งเข่ง บ้างเรียก ตั้วกัวยิ้ง

พาน จินเหลียน (จีน: 潘金蓮) ฉบับของยาขอบเรียกว่า พัวกิมเน้ย บ้างเรียก นางบัวคำ

หลี่ ผิงเอ๋อร์ (จีน: 李瓶兒) ฉบับของยาขอบเรียกว่า นางลีปัง หรือ ฮวยลีปัง

นอกจากฉบับของยาขอบแล้ว ในระยะเวลาใกล้เคียงกันก็มีผู้แปลเรื่องจินผิงเหมยเป็นภาษาไทยอีกคนหนึ่งคือ เนียม กูรมะโรหิต ภรรยาของสด กูรมะโรหิต โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ดอกเหมยในแจกันทอง ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แสนสุข แต่แปลและพิมพ์ไม่จบ


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์จันทรวาร สิริมานรมเยศนะคะ
Create Date :21 กุมภาพันธ์ 2554 Last Update :21 กุมภาพันธ์ 2554 10:27:48 น. Counter : Pageviews. Comments :0