bloggang.com mainmenu search



ไชน่าเดลี - ผู้ปกครองหลายคนส่งลูกหลานไปเรียนศิลปะตะวันตก บ้างก็เรียนดนตรี บ้างก็เรียนภาษา ฯลฯ วันนี้มุมจีนขอเสนอวัฒนธรรมจีนสมัยโบราณ ที่นักเรียนจีนจะต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง นั่นคือ

แก่นแห่งศิลป์และหลักการใช้ชีวิตหกประการ ภาษาจีนเรียกว่า “ลิ่วอี้” (六艺) อันได้แก่ รีต ดนตรี การยิงธนู ขับรถม้า คัดลายมือ และการคำนวณ






(ภาพไชน่าเดลี่)



ประการแรก คนจีนโบราณดำเนินชีวิตตามหลักการของขงจื่อ คือปฏิบัติตาม “รีต” (หลี่ 礼) โดยเชื่อว่าทุกคนต้องทำหน้าที่ของตน กษัตริย์ทำหน้าที่กษัตริย์ บิดาทำหน้าที่บิดา มารดาทำหน้าที่มารดา บุตรทำหน้าที่บุตร นักเรียนก็ควรตั้งใจเรียน

หากทุกคนทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ประเทศชาติก็จะสงบสุขก้าวหน้า ไร้ซึ่งสงครามและความแตกแยก ดังนั้นเมื่อมนุษย์รู้ว่าตนอยู่ในสถานะอะไรก็จะรู้จักวางตนให้เหมาะสม

เช่น ผู้เป็นบุตรกตัญญูต่อบิดามารดา พลทหารรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ฯ สิ่งเหล่านี้จึงนำมาซึ่งแบบแผนการปฏิบัติในราชสำนัก และเกิดเป็นมารยาททั่วไป อาทิ ระเบียบการเข้าเฝ้า พิธีบวงสรวงฟ้าดิน เป็นต้น





(ภาพไชน่าเดลี่)



นอกจากนั้นแล้ว เพื่อให้จิตใจเข้าถึงความละเอียดอ่อน คนจีนจะศึกษาดนตรีกวีกานท์ (เย่ว์ 乐) ครั้งหนึ่งขงจื่อเคยกล่าวไว้ว่า “การศึกษา ควรจะเริ่มจากบทกวี สอนระเบียบแบบแผน และจบด้วยบทกวี”

จากคำกล่าว จึงอนุมานได้ว่า มนุษย์จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เลย หากไม่เรียนรู้บทกวีและดนตรี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเมื่อการสอบจอหงวนของจีน บัณฑิตจะต้องเรียนรู้และท่องจำบทกวีจำนวนมาก





(ภาพไชน่าเดลี่)



ศิลปะที่สำคัญอีกประการคือ การเป็นสารถีบังคับรถม้า (อี้ว์ 御) ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาดี ศิลปะชนิดนี้อาศัยทั้งความเฉลียวฉลาดและร่างกายที่ทรงพลัง





(ภาพไชน่าเดลี่)




สำหรับสองศิลปะสุดท้ายอันได้แก่การคัดลายมือ การประพันธ์ (ซู 书) และการคิดคำนวณ (ซู่ 数) มีผลช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้เรียน การคัดลายมือทำให้นักเรียนลดความก้าวร้าวและขัดเกลาจิตใจที่หยาบกระด้าง ขณะที่คณิตศาสตร์ช่วยให้สมองรวดเร็วคล่องแคล่ว


ใครที่ชำนาญศิลปะจีนทั้งหกนี้ ถือว่าเป็นผู้เลิศของประเทศจีนในสมัยโบราณอย่างแท้จริง โดยศิลปะทั้งหก มีรากฐานจากปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก ซึ่งได้วางระเบียบการพัฒนาทั้งจิตใจ การศึกษา วิชาการ พละศึกษา มารยาททางสังคม อย่างครบถ้วนและแยบคาย


 

ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ

Create Date :03 มิถุนายน 2554 Last Update :23 กรกฎาคม 2557 21:47:17 น. Counter : Pageviews. Comments :0