bloggang.com mainmenu search





"ประวัติศาสตร์จีน"




ยุคห้าราชวงศ์ สิบอาณาจักร

ตอนปลายราชวงศ์ถังมีการก่อกบฎประชาชนตามชายแดน ขันทีครองอำนาจบริหารบ้านเมืองอย่างเหิมเกริม มีการแย่งชิงอำนาจกัน แม่ทัพจูเวิน (จูเฉวียนจง) สังหารขันทีทรงอำนาจในราชสำนัก แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ราชวงศ์ถังสิ้นสุด

บรรดาหัวเมืองต่างๆ มีการแบ่งอำนาจกันเป็นห้าราชวงศ์ สิบอาณาจักร คือ ราชวงศ์เหลียง ถัง จิ้น ฮั่น และโจว โดยปกครองแถบลุ่มน้ำฮวงโหติดต่อกันมาตามลำดับ

ส่วนเขตลุ่มแน่น้ำแยงซีเกียงกับดินแดนทางใต้ลงไป เกิดเป็นรัฐอิสระอีก 10 รัฐ รวมเรียกว่า สิบอาณาจักร การแบ่งแยกอำนาจปกครองยุคนี้ขาดเสถียรภาพ ชีวิตของประชาชนเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น

ต่อมา ค.ศ. 960 เจ้าควงอิ้น ผู้บัญชาการทหารองครักษ์ ชิงอำนาจจากราชวงศ์โจวตั้งตนสถาปนาราชวงศ์ซ่งหรือซ้องเป็น พระเจ้าซ่งไท่จู่ แล้วปราบปรามรวมอาณาจักรเรื่อยมา จนกระทั่งพระเจ้าซ่งไท่จง ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ปิดฉากสภาพการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดลงสำเร็จ โดยใช้เวลาเกือบ 20 ปี


อาณาจักรเหลียว

เผ่าชีตานเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชนเผ่าชีตานรวมตัวเป็นอาณาจักรขึ้น ใช้ระบบการปกครองแบบชาวฮั่นและประดิษฐ์อักษรใช้เอง

ต่อมาได้ครอบครองเขตปกครองเยียนและอวิ๋น 16 ท้องที่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรเหลียว มีการพัฒนาบ้านเมืองและกองทหารเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ ถือเป็นศัตรูสำคัญของอาณาจักรซ่งหรือซ้องเหนือในเวลาต่อไป


อาณาจักรซีเซี่ย

ซีเซี่ย เป็นชนรุ่นหลังของเผ่าเชียงซึ่งรวบรวมตัวกัน เป็นอาณาจักรซีเซี่ย รัชสมัยพระเจ้าซ่องเหรินจง ซีเซี่ยมีอาณาเขตตั้งอยู่ทางตะวันตกของอาณาจักรซ้องหรือซ่ง นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ซีเซี่ย (เซี่ยตะวันตก)

หลังจากตั้งอาณาจักรได้แล้ว ผู้นำชนเผ่ามีแนวคิดขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง จึงทำศึกกับแผ่นดินซ้องหรือซ่งหลายครั้ง ทหารซ้องมักพ่ายแพ้เป็นประจำ ทำให้ยึดดินแดนจีนได้มาก

ด้วยการทำศึกเป็นประจำส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างกัน เสบียงอาหารจากแผ่นดินซ้องขาดชะงักบ่อยครั้ง สร้างความลำบากแก่ชาวซีเซี่ยและกองทหารอ่อนกำลังลง จึงเริ่มมีการเจรจาทางไมตรีกับราชสำนักซ้อง

โดยซีเซี่ยยอมเป็นข้าราชบริพารของราชวงศ์ซ้อง ฝ่ายรัฐบาลซ้องส่งเงิน ผ้าไหม และใบชา ให้ซีเซี่ยเป็นของไมตรีทุกปี อันถือเป็นภาระหนักของแผ่นดินซ้องท่ามกลางความไม่มั่นคงของจีน


อาณาจักรจิน

อาณาจักรจินสร้างขึ้นโดยชนเผ่าหนี่ว์เจิน (บรรพบุรุษของชาวแมนจู) มีหวันเหยียน อากู๋ต่า หรือชื่อที่รู้จักกันว่า ‘จินไท่จู่’ ผู้ครองอาณาจักรคนแรก เริ่มแรกสร้างเมืองหลวงอยู่ที่ฮุ่ยหนิง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอไป๋เฉิง ทางตอนใต้ของเมืองอาเฉิง ในมณฑลเฮยหลงเจียง)

ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองเยียนจิง (ชื่อเดิมของปักกิ่ง) และย้ายเมืองหลวงอีกครั้งมาที่ เปี้ยนจิง (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนัน)

นานมาแล้วบรรพบุรุษของชนเผ่าหนี่ว์เจิน อาศัยอยู่อาณาบริเวณเทือกเขาฉางไป๋ซัน และลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง เรื่องราวของชนเผ่าหนี่ว์เจินยังไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์ จนกระทั่งในสมัยห้าราชวงศ์ที่กล่าวว่า เป็นชนเผ่าที่อยู่ในการปกครองของชนเผ่าชี่ตัน แห่งอาณาจักรเหลียว

เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1114 อากู๋ต่า หัวหน้าเผ่าหนี่ว์เจิน นำกำลังเข้าต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากพวกชี่ตัน ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ที่ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำลาหลินเหอ เขตชายแดนมณฑลเฮยหลงเจียงติดกับจี๋หลิน

หลังชัยชนะเหนือพวกชี่ตันสามารถล้มราชวงศ์เหลียวได้ แล้วอากู๋ต่าก็รวบรวมชนเผ่าหนี่ว์เจินที่แยกเป็นกลุ่มๆ ทั้งหลายเข้าเป็นปึกแผ่นและสร้างอาณาจักรจิน (แปลว่า ทอง) ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในปีถัดมา แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์นามว่า ‘ไท่จู่’ ตั้งแต่นั้น อาณาจักรจินของชนเผ่าหนี่ว์เจินก็เจริญเติบโตเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความยิ่งใหญ่

อาณาจักรจินที่เข้มแข็งโดยการปกครองของกษัตริย์ ไท่จู่อากู๋ต่าเริ่มแผ่อำนาจและขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรต่างๆโดยเข้ารุกรานเมืองสำคัญๆของอาณาจักรเหลียวที่ขณะนั้นกำลังอ่อนแอ ได้แก่

ตงจิง (ปัจจุบันคือเหลียวหยังในมณฑลเหลียวหนิง)
ซ่างจิง (อยู่ในมองโกเลียใน)
จงจิง (เมืองในมองโกเลียใน)
ซีจิง (ต้าถงในมณฑลซันซี)
หนันจิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง)

เมื่อเมืองทั้ง 5 แตก ราชวงศ์เหลียวก็ถึงกาลอวสาน หลังจากนั้นอาณาจักรจินที่กล้าแข็งได้ค่อยๆ รุกรานต่อไปยังอาณาจักรซ่งเหนือ จนในที่สุดกองทัพแห่งอาณาจักรจินก็ล้มล้างอาณาจักรซ่งเหนือได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1127 ต่อมาก็ยังมีการรบพุ่งกับกองทัพแห่งอาณาจักรซ่งใต้อยู่หลายครั้ง แต่กำลังและอำนาจของทั้งสองฝ่ายก็ยังสูสีกัน

ในขณะที่อาณาจักรจินและซ่งใต้มีอิทธิพลเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ได้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพ ด้านหนึ่งอาณาจักรจินก็ยึดซีเซี่ยมาเป็นรัฐสำคัญใต้การปกครองของตน อย่างไรก็ตาม การก่อตัวขึ้นของกองทัพมองโกลอดีตศัตรูเก่าก็เริ่มเป็นภัยคุกคามของอาณาจักรจินในเวลาต่อมา

มีผู้วิเคราะห์ว่า อาณาจักรจินที่ตั้งอยู่ในวงล้อมของอาณาจักรมองโกลทางเหนือ ซีเซี่ยทางตะวันตก และซ่งใต้ทางตอนใต้ หนทางที่น่าจะเป็นคือ อาณาจักรจินจำต้องดำเนินยุทธศาสตร์ เป็นมิตรกับซีเซี่ยและซ่งใต้เพื่อต่อต้านมองโกล

กล่าวคือ การมีมิตรที่แน่นแฟ้น เช่นซ่งใต้ ทำให้เป็นหลักประกันความปลอดภัยจากดินแดนทางใต้ และการเป็นพันธมิตรกับซีเซี่ยก็เท่ากับช่วยสกัดกั้นการเดินทัพลงใต้ของพวกมองโกล เช่นนี้แล้วอาณาจักรจินก็ไม่จำเป็นต้องพะวงต่อศึกด้านอื่น สามารถมุ่งความสนใจไปที่การเผชิญหน้ากับพวกมองโกลฝ่ายเดียว

แต่ทว่า อาณาจักรจินผู้มั่งคั่งและโอหังกลับโดดเดี่ยวตัวเอง ละทิ้งซีเซี่ย และมาทำศึกกับอาณาจักรซ่งใต้พร้อมๆ กับงัดข้อกับพวกมองโกลในเวลาเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างศัตรู 3 ด้านอย่างช่วยไม่ได้

ภายหลังเมื่อมองโกลบุกเข้าตีเมืองซีเซี่ย ซีเซี่ยได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาณาจักรจินแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ซีเซี่ยจึงจำต้องยอมศิโรราบให้กับพวกมองโกล เมื่อทั้ง 2 อาณาจักรรวมกำลังกันเข้าก็เดินทางมาบุกอาณาจักรจิน นั่นก็ทำให้ผู้ครองอาณาจักรจินถูกต้อนจนมุม

เพื่อผ่องถ่ายความวุ่นวายจากการถูกโจมตีจากทางตะวันตกและภาคเหนือ อาณาจักรจินได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เปี้ยนจิง และพยายามที่จะเอาชนะศึกทางใต้เพื่อชดเชยการสูญเสียจากศึกทางเหนือ ในการนี้ทำให้อาณาจักรจินได้เปิดช่องให้กับพวกมองโกลเข้าพิชิตชายแดนทางเหนือ และเริ่มโจมตีอาณาจักร ซ่งใต้

ผลสำเร็จแทบไม่ได้ให้อะไรเลยการโอบล้อมจากทัพมองโกล และซ่งใต้ต่อมาค่อยๆ ทำให้อาณาจักรจินเสื่อมอำนาจลงและปราชัยให้กับข้าศึกในที่สุด อาณาจักรทองปกครองโดยพระมหากษัตริย์ 9 พระองค์ รุ่งเรืองมาได้ 120 ปีก็เสื่อมอำนาจ

ในช่วงเวลาแห่งความชีวิตชีวาอาณาจักรแห่งนี้เป็นที่อาศัยของประชากร 44.7 ล้านคน มีอาณาเขตกว้างใหญ่แผ่ขยายจากเทือกเขาซิงอัน ทางตอนเหนือจรดแม่น้ำหวยเหอทางตอนใต้ และกินดินแดนจากแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกไปจรดส่านซีทางภาคตะวันตก

กล่าวในแง่ระบบการเมือง การปกครอง การทหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจของอาณาจักรจินนั้น มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันในช่วงต้นและปลายสมัย ในยุคที่เป็นการอยู่รวมกันแบบชนเผ่า อำนาจบริหารเป็นการร่วมกันปกครองโดยหัวหน้าเผ่าแต่ละเผ่ากับหัวหน้าสูงสุด

แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นมาแล้ว หัวหน้าเผ่าและหัวหน้าสูงสุดถูกแทนที่โดยคณะผู้บริหารระดับสูง 4 คนและภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน ที่จะกุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองภายใต้กษัตริย์

หลังจากที่อาณาจักรจินเอาชัยเหนือสงครามน้อยใหญ่ ในการโจมตีเมืองในอาณาจักรเหลียวและเมืองชายแดนของอาณาจักรซ่งสำเร็จกษัตริย์แห่งอาณาจักรจินได้ซึมซับเอาระบบการทหารจากอาณาจักรเหล่านั้น รวบรวมเข้ามาพัฒนาเป็นระบบของตน

ตั้งแต่กษัตริย์จินซีจง และกษัตริย์จินไห่หลิง ที่เริ่มเสนอให้มีการปฏิรูประบบการบริหารปกครองในอาณาจักรจินขึ้น เรื่อยมาจนถึงในสมัยของกษัตริย์จินซื่อจง ระบบการปกครองของอาณาจักรจินก็พัฒนาปรับเปลี่ยนจนสมบูรณ์เป็นระบบเฉพาะตัว

ทั้งนี้มีศูนย์กลางการปกครองคล้ายรัฐบาลกลาง ที่ควบคุมดูแลการเมืองการปกครองในอาณาจักร ถัดลงมาเป็นหน่วยงานฝ่ายต่างๆ 6 ฝ่ายได้แก่

ฝ่ายประวัติศาสตร์
ฝ่ายงานประชาชน
ฝ่ายพิธีการ
ฝ่ายทหาร
ฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายแรงงาน

นอกจากนี้หน่วยปกครองในท้องถิ่นยังแบ่งย่อยลงไปเป็น 4 ลำดับขั้น

ด้านระบบการทหารมีรากฐานมาจากระบบที่ใช้ในชนเผ่าหนี่ว์เจิน และมีการผสมผสานกับระบบของชนเผ่าชี่ตัน ป๋อไห่ เผ่าซี และชาวฮั่น ซึ่งมีระบบในองค์กรแบบง่ายๆ เน้นหนักไปที่กองทหารม้า ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาอาวุธไปด้วย

กองทัพแห่งอาณาจักรจินประกอบด้วยทหารหลากหลายเชื้อชาติ มีทั้งที่เป็นทหารรับจ้างและทหารเกณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งกินตำแหน่งสูงสุด ระบบนี้ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในราชวงศ์ต่อๆ มาด้วย

ด้านการเกษตร การหัตถกรรมและการค้ามีความรุ่งเรืองอย่างมาก ในแต่ละท้องที่ ให้ดอกผลและมีส่วนส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าด้านสังคมและเศรษฐกิจในระดับแตกต่างๆ กัน

ด้านวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างของชาวหนี่ว์เจิน จะได้รับการสืบทอดต่อมาพร้อมๆ กับความรุ่งเรืองของอาณาจักรจิน ทว่า เมื่ออาณาจักรฮั่นยิ่งใหญ่ขึ้นมาแทน อาณาจักรจินถูกรวมเป็นปึกแผ่นกับอาณาจักรฮั่นในเวลาต่อมา วัฒนธรรมต่างๆ ก็ถูกกลืนหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมฮั่นไปในที่สุด

อาณาจักรจินล่มสลายในปี ค.ศ. 1234 ในปีที่ 2 แห่งรัชกาลเทียนซิง โดยการรุกรานของกองทัพพันธมิตรแห่งอาณาจักรมองโกลและซ่งใต้


อ้างอิง

เรียบเรียงจาก บทความของศาสตราจารย์ หานจื้อหยวน แห่งสถาบันวิจัยและศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ในสังกัดบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน ขอบคุณค่ะ


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์วุธวาร สิริมานปรีดิ์เกษมค่ะ

Create Date :27 ตุลาคม 2553 Last Update :27 ตุลาคม 2553 7:12:38 น. Counter : Pageviews. Comments :0