bloggang.com mainmenu search






เรือธงติ้งหยวนแห่งกองเรือเป่ยหยาง





ชนวนแห่งสงคราม

ในปี ค.ศ. 1893 คิม โอ คยุน นักปฏิวัติชาวเกาหลีที่นิยมญี่ปุ่นถูกลอบสังหารในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีการกล่าวหาว่า ผู้ลอบสังหารเป็นคนของหยวนซื่อไข่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลเกาหลีที่นิยมจีน

ศพของคิม โอ คยุน ถูกส่งกลับโดยเรือรบของจีน นัยว่าเป็นการเตือนพวกกบฏที่นิยมญี่ปุ่นไม่ให้เคลื่อนไหว ซึ่งตรงนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการญี่ปุ่น ที่มีความไม่ลงรอยอยู่กับทางการจีนอยู่แล้วเกี่ยวกับปัญหาเกาหลี

สถานการณ์ยิ่งร้อนแรงขึ้น เมื่อจักรพรรดิเกาหลีขอความช่วยเหลือให้จีนส่งทหารมาช่วยปราบกบฏตงฮัก ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งหนังสือไปแจ้งแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในการตัดสินใจส่งทหารไปดังกล่าว ตามข้อตกลงเทียนสิน

โดยส่งทหารจีน 2,800 นายไปเกาหลี ภายใต้การนำของหยวน ซี ไข ฝ่ายญี่ปุ่นถือว่า การกระทำของจีนครั้งนี้ เป็นการละเมิดข้อตกลงอย่างรุนแรง จึงตอบโต้จีนโดยการส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (กรมทหารโอชิมะ, - เป็นกรมผสม) จำนวน 8 พันนายไปยังเกาหลีเช่นกัน

ทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดพระราชวังและจับกุมพระเจ้าโกจง จักรพรรดิเกาหลี เปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพวกนิยมญี่ปุ่น ถึงตรงนี้ทหารจีนก็ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลชุดใหม่ และไม่มีประโยชน์ที่ทหารจีนจะอยู่ในเกาหลีต่อไป เพราะทหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่า


เหตุการณ์ในระหว่างสงคราม

การจมเรือเกาเชิง

เป็นการรบทางเรือที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรกนี้ โดยเป็นการปะทะกันระหว่าง กองเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นกับกองเรือเป่ยหยาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1894 นอกฝั่งเมืองท่าอาซาน ทั้งนี้เนื่องจากเมืองท่าแห่งนี้มีทหารจีนประจำการอยู่ 3 พันคน

ญี่ปุ่นมีแผนที่จะปิดล้อมเมืองท่าแห่งนี้ เพื่อไม่ให้กำลังทหารจีนหลบหนีได้ ทางด้านกองเรือเป่ยหยางก็มีความเห็นแตกต่างกัน ทางหนึ่งก็คิดว่า จะสนับสนุนการถอนทหารครั้งนี้ โดยจะพยายามลำเลียงทหารขึ้นเหนือไปยังเมืองเปียงยาง

อีกส่วนก็คิดว่า จะนำกองเรือไปทางใต้เพื่อปะทะกับกองเรือญี่ปุ่น ดังนั้นผู้บัญชาการกองเรือของจีนคือ ฟาง โป๋เชียน ผู้บังคับการเรือลาดตระเวน จื้อหย่วน จึงเลือกทางสายกลางคือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของกองเรือ ตามนโยบายของแม่ทัพคือ หลี่หงจาง และนโยบายของจักรพรรดิกวางสู ที่ต้องไม่เสียศักดิ์ศรี

ปูมเรือของฝ่ายญี่ปุ่นบันทึกการรบครั้งนี้ไว้ว่า เวลา 7.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1894 เรือลาดตระเวน โยะชิโนะ, นะนิวะ และอะกิตสึชิมะ กำลังลาดตระเวนในทะเลเหลือง นอกฝั่งอาซาน, ชุงเชินนัมโด

เกาหลี ได้เข้าสกัดกั้นเรือลาดตระเวน จื้อหย่วนของจีน และเรือปืน กวางอี่ ทั้งสองลำออกจากอาซานเพื่อพบกับเรือปืนของจีนอีกลำคือ เรือ เชาเจียง ที่กำลังคุ้มกันเรือลำเลียงไปยังอาซาน

เรือจีนทั้งสองลำมิได้ถอยกลับไป ตามที่เรือญี่ปุ่นยิงเตือนตามกฎการเดินเรือสากล และเมื่อเรือของญี่ปุ่นเปลี่ยนเข็มไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เรือจีนก็เปิดฉากยิง

ส่วนปูมเรือของฝ่ายจีนบันทึกว่า เรือลาดตระเวน จื้อหย่วน และเรือตอร์ปิโดกวางอี่ จอดเทียบท่าอยู่ที่อาซาน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ออกจากท่ามาในตอนเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม มุ่งหน้าไปยังจุดนัดพบกับเรือบรรทุกทหาร เกาเชิง และเรือเสบียง เชาเจียง ที่เดินทางมาจากเทียนจิน

เวลา 07.50 น. ใกล้เกาะพุงโด ซึ่งเป็นเกาะใกล้ช่องทางเดินเรือออกจากอ่าวอาซาน ในน่านน้ำเกาหลี เรือจีนทั้งสองลำถูกยิงจากเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นสามลำคือ อะกิตสึชิมะ, นะนิวะ และโยะชิโนะ เรือจีนยิงตอบโต้กลับไปเมื่อเวลา 07.52 น.

หลังจากทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันกว่าชั่วโมง, เรือ จื้อหย่วน สามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ แต่เรือ กวางอี่ วิ่งชนหินแล้วคลังกระสุนจึงเกิดการระเบิดขึ้น ในเวลาเดียวกัน เรือปืน เชาเจียง และเรือลำเลียง เกาเชิง ที่มีกัปตันเป็นพลเรือนอังกฤษและรับจ้างขนทหารจีน 1,200 คน พร้อมเสบียงเดินทางเข้ามาจุดนี้พอดี

เรือ เชาเจียง ถูกเรือรบญี่ปุ่นเข้ายึดอย่างรวดเร็ว และเรือ เกาเชิง ถูกสั่งให้นำเรือแล่นตามเรือลาดตระเวน นะนิวะ ไปยังกองเรือใหญ่ของญี่ปุ่น ทหารจีนที่อยู่บนเรือจึงยึดเรือและบังคับให้กัปตัน กัลเวอร์ที (Captain Galworthy) นำเรือกลับจีน

หลังเจรจาต่อรองกันอยู่นาน 4 ชั่วโมง ช่วงที่ทหารจีนกำลังเผลอ กัปตัน กัลเวอร์ที กับลูกเรือชาวอังกฤษก็กระโดดน้ำหนี และพยายามว่ายน้ำไปยังเรือลาดตระเวน นะนิวะ ท่ามกลางการยิงไล่หลังมาจากทหารจีนบนเรือ เกาเชิง

ลูกเรืออังกฤษส่วนใหญ่เสียชีวิต แต่กัปตัน กัลเวอร์ทีและลูกเรืออีกสองคนได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น เรือ นะนิวะ จึงเปิดฉากยิงเรือ เกาชิง จมไปพร้อมกับบรรดาทหารจีนที่อยู่บนเรือ มีจำนวนหนึ่งที่รอดมาได้และว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง (หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ที่ปรึกษาทางทหารชาวเยอรมัน พันโท ฟอน ฮันเนเค่น)

การรบครั้งนี้ ทหารจีนเสียชีวิตไปราว 1,100 คน ในจำนวนกว่า 800 คน เป็นทหารที่อยู่บนเรือลำเลียง เกาเชิง ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีผู้ใดเสียชีวิต การที่ญี่ปุ่นจมเรือ เกาเชิง ซึ่งยังเป็นของอังกฤษ ทำให้ญี่ปุ่นขัดแย้งทางการทูตกับอังกฤษ

แต่ศาลอังกฤษเห็นว่า การกระทำนั้นถูกต้องตามกฎหมายสากล ว่าด้วยการเป็นกบฏในเรือ การจมของเรือยังถูกมองว่าเป็นการกระทำที่รัฐบาลจีนที่ตั้งใจทำให้เกิดการปะทะ เพื่อพยายามประกาศสงครามกับญี่ปุ่น


การต่อสู้ในเกาหลี

หลังจากทหารญี่ปุ่นเข้าจัดการ ล้มล้างรัฐบาลเดิมของเกาหลีที่นิยมจีน แล้วสถาปนารัฐบาลชุดใหม่ที่นิยมญี่ปุ่น สิ่งที่ทำต่อมาคือ การขับไล่ทหารกองทัพเป่ยหยางของจีน ออกจากดินแดนเกาหลี

กำลังของญี่ปุ่นที่มาถึงชุดแรกจำนวน 8 พันนาย ภายใต้การบัญชาการของพลโท โอชิมะ โยชิมะสะ ก็เดินทัพมุ่งลงใต้จากกรุงโซล มายังเมืองอาซาน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของเกาหลี ที่ตอนนี้มีกำลังทหารจีน 3,500 นาย ประจำการอยู่ ส่วนกำลังหนุนที่มากับเรือ เกาเชิง ถูกเรือรบญี่ปุ่นจัดการไปเรียบร้อยแล้ว

กำลังทั้งสองฝ่ายมาพบกันที่นอกเมืองอาซาน ราวๆ 15.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม การปะทะเป็นไปตลอดคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทหารจีนซึ่งด้อยกว่าทั้งจำนวนทหาร และทักษะการรบยิ่งรบก็ยิ่งสูญเสีย จึงถอนตัวมุ่งหน้าไปที่เปียงยาง

การรบครั้งนี้ทหารจีนเสียชีวิตและบาดเจ็บราว 500 นาย ส่วนญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บไป 82 นาย หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ญี่ปุ่นได้นำทัพกลับโซล เป็นเหตุทำให้จีนประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1894

หลังจากนั้น ทหารจีนที่เหลือได้ถอยไปชุมนุมกำลังกันที่เปียงยาง ทำให้กำลังทหารจีนในสังกัดกองทัพเป่ยหยาง ณ วันที่ 4 สิงหาคม มีกำลังพลถึง 13,000 – 15,000 คน ทหารจีนได้ดัดแปลงที่มั่น โดยใช้กำแพงเมืองเก่าเตรียมรับการโจมตีของทหารญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ก่อนหน้านั้น ทหารญี่ปุ่น จำนวนราว 1 หมื่นนาย จากกองทัพที่ 1 ภายใต้การบัญชาการของจอมพล ยะมะงะตะ อะริโมะโตะ ขึ้นบกที่เชมุลโป (ปัจจุบันคือ อินชอน) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1894 หลังจากได้รับข่าวการรบที่โซงวานแล้ว จึงได้เคลื่อนทัพขึ้นเหนือมุ่งหน้าสู่เปียงยาง เพื่อสนธิกำลังอีกส่วน ที่จะเดินทางมาทางเรือและขึ้นบกที่ปูซานและวอนซาน

กำลังของญี่ปุ่นทั้งหมดเคลื่อนพลจากหลายเส้นทาง มาพบกันที่เปียงยางในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1894 แล้วเข้าตีแนวรับของทหารจีนที่ตั้งรับตามแนวกำแพงเมืองเก่า ทางด้านเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เช้า ทหารจีนต้านทานอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ถูกตีตลบหลัง

ต่อมาเกิดฝนตกอย่างหนัก การรุกของญี่ปุ่นหยุดลงชั่วคราว เพราะหากว่าจะบุกเข้าไปก็จะจมโคลน ดังนั้นเป็นโอกาสให้ทหารที่อยู่ในสนามรบได้พักรบชั่วคราว ฝนที่ตกหนักไปจนถึงค่ำช่วยให้ทหารจีนแอบถอนตัวออกจากเปียงยางได้สำเร็จ

กำลังทหารจีนถอนตัวไปถึงเมืองวีจู ริมฝั่งแม่น้ำยาลู ได้เมื่อตอน 20.00 น. การรบครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นรายงานว่าทหารจีนเสียชีวิตไปราว 2,000 คน บาดเจ็บอีก 4,000 คนซึ่งการสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะกำลังถอนตัว ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตไป 102 นาย, บาดเจ็บ 433 นาย และสูญหายไปอีก 33 นาย

เปียงยางตกอยู่ในความยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น ในเช้าวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1894


ความปราชัยของกองเรือเป่ยหยาง

การรบทางเรือครั้งนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชั่น ภายในกองทัพเรือเป่ยหยางของจีนแล้ว การขาดการฝึกและศึกษาให้ชำนาญไม่ว่าจะเป็นวิชาการปืนใหญ่และการเดินเรือ รวมถึงการฝึกในระดับกองเรือ เช่นการแปรกระบวนรบ

ยุทธนาวีครั้งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า ยุทธนาวีที่แม่น้ำยาลู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธนาวีที่ทะเลเหลือง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1894 เป็นการปะทะกันทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ สมรภูมิที่เกิดการปะทะกันนี้เกิดในทะเลเหลือง ใกล้ปากแม่น้ำยาลู

ตามรายงานต่างๆ ก่อนหน้า จะเห็นว่า จีนมีเรือรบที่หนือกว่า อย่างเช่นอาวุธหลักประจำเรือที่มีทั้งปืนขนาด 10 นิ้ว และ 8 นิ้ว แต่สิ่งที่ขาดการคำนึงถึงคือ พลปืนของเรือรบจีนยังไม่มีความพร้อมรบ ขาดการฝึก

และแม้จะอยู่ในสถานการณ์เตรียมพร้อม พลปืนของเรือรบจีนก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการยิง เนื่องจากการคอรัปชั่น อย่างเช่น ลูกปืนหลายลูกออกอาการช๊อท คือแทนที่จะยิงถึงเป้ากลายเป็นกระสุนตกก่อนถึงเป้าหมาย เพราะดินปืนและเชื้อปะทุเก่าเก็บบ้าง

นายทหารเรือจีนบางคนก็ไม่เข้าประจำตำแหน่งของตน ในเวลาทำการรบ ตามบันทึกกล่าวว่ามีเรือลำหนึ่งใช้ป้อมปืนเป็นที่เก็บของ รวมถึงยังมีการถอดชิ้นส่วนปืนที่เป็นโลหะไปขายในตลาดมืด

ซึ่งจุดนี้ทำให้สมรรถนะของกองเรือทั้งสองฝ่ายต่างกันอย่างมาก แม้ว่าทางจีนจะมีการจ้างนายทหารต่างชาติจำนวนมากมาเป็นที่ปรึกษา อย่างพันโท ฟอน ฮันเนเค่น ซึ่งรอดชีวิตจากเกาเชิงซึ่งถูกญี่ปุ่นยิงจมในพุงโด ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับแม่ทัพ ติง หรู่ชาง

และยังมีนายทหารต่างชาติอีกหลายนาย ที่เป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บางคนก็รับหน้าที่เป็นรองผู้บังคับการเรือเจิ้นหย่วน

กองเรือจีนเตรียมรบกับญี่ปุ่นโดยเปลี่ยนสีเรือจากเดิม ที่ตัวเรือสีขาว ปล่องสีเหลืองเข้ม เป็นสีเทาเข้ม และปล่องสีดำ ทำให้ยากที่จะมองเห็นในทะเล

จากบันทึกของแมคกิฟฟิน อดีตเรือโท แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่มาเป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บันทึกถึงเรือรบจีนไว้ว่า เชื้อปะทุหลายอันอายุถึง 13 ปี และยังใช้ไม่ได้ เกราะของเรือที่ปกติจะหุ้มตัวเรือแถวแนวน้ำก็ถูกถอดทิ้ง จนเรือจื้อหย่วนต้องถอนตัวจากการรบเพราะเหตุนี้



ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


วุธวารวรสวัสดิ์ โสมนัสสวัสดิ์สิริค่ะ
Create Date :27 ตุลาคม 2553 Last Update :27 ตุลาคม 2553 9:56:54 น. Counter : Pageviews. Comments :0