bloggang.com mainmenu search



กบฏโพกผ้าเหลือง (Yellow Turban Rebellion; จีนตัวเต็ม: 黃巾之亂; จีนตัวย่อ: 黄巾之乱; พินอิน: Huáng Jīn Zhī Luàn) เป็นกลุ่มผู้ก่อการกบฏประมาณ 360,000 คนใน ค.ศ. 184–205 ในจักรวรรดิจีน

มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มล้างราชวงศ์ฮั่น เหตุที่เรียกว่ากบฏโพกผ้าเหลืองนั้น เพราะกลุ่มผู้ก่อการกบฏเหล่านี้ต่างโพกผ้าเหลืองเป็นสัญลักษณ์ทุกคน เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับสมาคมผู้ที่นับถือลัทธิเต๋าแบบไท่ผิง (太平道) และเป็นประวัติศาสตร์จุดหนึ่งที่สำคัญในลัทธิเต๋า

ในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก มีการปรากฏของเหตุการณ์กบฏโพกผ้าเหลืองในเรื่อง เรียกว่า โจรโพกผ้าเหลือง ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นโดยเตียวก๊ก


สาเหตุ

สาเหตุหลักของการเกิดกบฏโพกผ้าเหลืองเนื่องจากวิกฤติการณ์เกษตรกร ซึ่งภาวะข้าวยากหมากแพงทำให้ชาวนาและอดีตทหาร ต้องอพยพจากทางเหนือเพื่อมาหางานทำทางใต้ ที่ซึ่งผู้มีฐานะเอาเปรียบค่าแรงกรรมกรและเกิดการครอบครองสะสมที่ดิน

สถานการณ์น้ำท่วมจากแม่น้ำฮวงโหในพื้นที่ลุ่มต่ำ และซ้ำเติมด้วยการเก็บภาษีในอัตราสูง เพื่อการสร้างป้อมปราการและกำแพงป้องกันข้าศึกตามแนวเส้นทางสายไหม

จากสถานการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวนาและอดีตทหารทั้งมีและไร้แหล่งทำมาหากิน รวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธ (ประมาณ ค.ศ. 170) ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านการเอาเปรียบของผู้ที่มีฐานะ

ในขณะนั้น ราชวงศ์ฮั่นเริ่มเสื่อมอำนาจลงจากภายใน แม้อิทธิพลของการครอบครองที่ดินยังคงเป็นปัญหาอยู่อย่างยาวนาน (ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิซินเกาจู่)

แต่สิ่งที่นำไปสู่การก่อกบฏโพกผ้าเหลืองคือ ขันทีในพระราชวังที่มักฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อให้ตนเองร่ำรวยขึ้น โดยเฉพาะขันทีที่ใกล้ชิดกับองค์จักรพรรดิในขณะนั้นคือพระเจ้าเลนเต้

กลุ่มของขันทีที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม 10 คนในชื่อ สิบขันที ซึ่งองค์จักรพรรดิทรงนับถือหนึ่งในนั้น (เตียวเหยียง) ว่าเป็น "พระชนกบุญธรรม"

ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองโดยจักรพรรดิจึงถูกมองว่าเป็นการปกครองที่เสื่อมทรามและไร้ความสามารถ การเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและสถานการณ์น้ำท่วม กลายเป็นตัวชี้วัดว่า จักรพรรดิได้หมดสิ้นความเป็นสมมติเทพจากสวรรค์แล้ว


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ศุกรวาร ปรีดิ์มานรมเยศนะคะ


Create Date :12 พฤศจิกายน 2553 Last Update :12 พฤศจิกายน 2553 14:29:10 น. Counter : Pageviews. Comments :0