bloggang.com mainmenu search






ธงชาติจีน




รากฐานและต้นกำเนิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนเกิดขึ้นมาจากความคิด ความเชื่อ และปรัชญาจีน ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อได้ แต่หากเราอาศัยพงศาวดารและนิยายปรัมปราจีนแล้ว

เราอาจจะกล่าวได้ว่าปรัชญาจีน มีกำเนิดและวิวัฒนาการมานับพันๆ ปี เช่นเดียวกับปรัชญาอินเดีย การเกิดขึ้นของปรัชญาจีนอาจอธิบายได้ดังนี้

ในยุคโบราณ ราว 557 ปี ก่อนพุทธศักราช เชื่อกันว่ากษัตริย์นามว่า ฟูซี เป็นผู้ให้กำเนิดปรัชญาจีน แนวความคิดของพระองค์มีรากฐานมาจากการผสมเส้นตรง

กล่าวคือ เส้นตรงเดี่ยว เรียกว่า หยาง เป็นตัวแทนแทนเพศชาย และเป็นสัญลักษณ์แทนความแข็งแกร่ง ส่วนเส้นตรงแยกเรียกว่า หยิน เป็นตัวแทนเพศหญิง และเป็นสัญลักษณ์แทนความอ่อนโยนแปรปรวน

หยางและหยินแม้จะมีลักษณะตรงกันข้ามกัน แต่ทั้งสองก็รวมกันเป็นสิ่งที่เรียกว่า เอกภาวะ ได้ หรือประสานกลมเกลียวกันโดยอาศัยความแตกต่างนั่นเอง

เส้นตรงทั้งสองนี้ในกาลต่อมา พระเจ้าเหวิน องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจ ได้ทรงนำมาจัดรวมกันได้ 8 กลุ่ม โดยมีกลุ่มละ 3 เส้น และเรียงกันเป็นรูปวงกลม เส้นตรงทั้งสามเส้นมี 8 กลุ่ม มีสัญลักษณ์แทนองค์ประกอบหรือธาตุหลักของจักรวาล 8 ประการ

คือ สวรรค์ ดิน ฟ้า น้ำ ลม ไฟ ภูเขา และหนองบึง

ในสมัยต่อมา เส้นตรง 3 เส้นทั้ง 8 กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเส้นตรง 3 เส้นเพิ่มเข้ามา จึงเป็นเส้นตรง 6 เส้น และจัดกลุ่มได้ถึง 64 กลุ่ม แต่ละกลุ่มอธิบายธรรมชาติ จักรวาลและวิถีชีวิตของมนุษย์ เรียกว่า ปา กว้า

เรื่องกำเนิดปรัชญาจีนนี้ พงศาวดารจีนกล่าวย้อนไปนับหมื่นๆ ปี ว่ามีคนเริ่มต้นสร้างสวรรค์ มีชื่อว่า โกสี แล้วก็มีพี่น้องอยู่ 3 กลุ่ม คือกษัตริย์ในสรวงสวรรค์ 12 องค์ กษัตริย์บนโลก 11 องค์ และกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์อีก 9 องค์

ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเป็นตัวแทน สวรรค์ โลก และมนุษย์ เชื่อกันว่ากษัตริย์เหล่านี้เป็นวีรบุรุษของความอัจฉริยะด้านต่างๆ เช่น

ยูเชา เป็นกษัตริย์ที่สร้างบ้านเรือเป็นองค์แรก
ซุยหยิน ทรงเป็นวีรบุรุษด้านสร้างรถไฟเป็นต้น

ปรัชญาอีกอย่างที่มีอิทธิพลต่อการสร้างวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจีน คือ หยินหยาง ปรัชญานี้เป็นลัทธิเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา ที่ค้นหาและศึกษาความจริงเกี่ยวกับสากลจักรวาล และเชื่อว่าหยางหยิน เป็นต้นเค้า หรือต้นกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ

ทฤษฎีและวิวัฒนาการของหยางหยินนี้ นักปราชญ์จีนชื่อ ชาน อธิบายไว้ว่า เรื่องหยางหยินเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อจีนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ศาสตราจารย์ฟุงยู่หลาน กล่าวไว้ว่า หยางหยินมีพื้นฐานมาจากดาราศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ฟางจือ

นิกายนี้มีแนวโน้มไปทางวิทยาศาสตร์ โดยพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ในความหมายของพลังของธรรมชาติ ในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดนิกายนี้

นักปราชญ์ในสมัยนั้นมีแนวความคิดอยู่ 2 ทฤษฎี ซึ่งต่างก็พยายามอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทฤษฎีแรก คือ หยางหยิน ส่วนทฤษฎีที่สอง คือ ธาตุทั้ง 5 หรือ หวู ซิ่ง มีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือ the book of history โดยใช้ชื่อว่า หลักใหญ่

ทฤษฎีนี้กล่าวถึงธาตุทั้ง 9 แต่เน้นความสำคัญเฉพาะธาตุ 5 ชนิดเท่านั้น โดยอธิบายว่า

น้ำ มีธรรมชาติเปียกชื้นและไหลลงสู่ที่ต่ำ
ไฟ มีลักษณะเป็นเปลวพุ่งขึ้นสู่ที่สูง
ไม้ มีลักษณะโค้งงอหรือตั้งตรง
เหล็ก มีลักษณะที่อาจถูกหลอมและเปลี่ยนรูปร่างได้
ดิน ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว

หนังสือ อู่ ซิง ซวอ ซึ่งเป็นหนังสือโบราณ ได้กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 ไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากธาตุทั้ง 5 นี้ ธาตุทั้ง 5 จะเป็นส่วนประกอบของทุกสิ่งในโลกนี้

คนจีนใช้ความคิดนี้อธิบายสิ่งต่างๆ เช่น ฮวงจุ้ย ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ว่าเอาอะไรผสมอะไรแล้วเกิดเป็นอะไร ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนจึงถือกำเนิดขึ้นมา ดังจะอธิบายต่อไป

สำหรับทฤษฎีหยางหยินนั้น ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปรากฏการณ์ธรรมชาติ วึ่งปรากฏในตำรา กวานจื้อ ไว้ว่า หยางหยินเป็นหลักสำคัญของสวรรค์และแผ่นดิน

ฤดูทั้ง 4 เป็นวิถีแห่งหยางหยิน หากจะเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งล้วนสอดคล้องกับหลักหยางหยินทั้งสิ้น สิ่งต่างๆจะต้องประกอบขึ้นมาจากสิ่ง 2 สิ่ง ตามหลักหยางหยิน ประโยชน์ใช้สอยจึงจะเกิดขึ้น

ดังเช่นกุญแจ ตัวกุญแจมีรูสำหรับไข และมีรูปสำหรับเหล็กงอตัวอยู่ จะปิดลั่นกุญแจ ทั้งยังมีห่วงสำหรับคล้องสายยูกุญแจ จัดเป็นเพศหญิง คือ หยิน เรียกว่าแม่กุญแจ ส่วนลูกกุญแจเป็นเพศชาย เพราะมีรูปร่างแหลมไว้สอดเข้าไปในลูกกุญแจ หยางทำหน้าที่ไขให้หยินทำงานเปิดออก เป็นการเปิดเผยวิ่งที่ปิดบังไว้ออกมา

หรืออีกตัวอย่าง คือครก เพราะตัวครกนั้นเป็นตัวแม่ เป็นเพศหญิง เนื่องจากมีหลุมลึกลงไป ส่วนสากคือเพศชาย ครกมีลักษณะรองรับพลังจากสาก เพื่อที่จะโขลกหรือป่นสิ่งใดๆ หยินเป็นตัวรองรับหยาง พลังงานจึงถือกำเนิดขึ้น ลำพังสากอย่างเดียวจะไม่ก่อให้เกิดพลังงานขึ้นมาได้ เป็นต้น

เหลาจื้อยังกล่าวอีกว่า ความว่างเป็นเหตุให้เกิดความมี หรือความมีจะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องอา ศัยความว่าง แต่ถ้ากล่าวขั้นรวบยอดแล้ว ความว่างและความมีก็เป็นของสิ่งเดียวกัน ที่เรียกต่างกันนั้นก็เพราะอยู่ต่างลำดับกันเท่านั้น

ดุจร้อน หนาว หรือ อยู่ในตำแหน่งต่างกัน เช่น หัวกับก้อยอยู่บนเหรียญเดียวกัน ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเมื่อแยกออกจากกันแล้ว ก็จะประกอบด้วยสิ่ง 2 สิ่ง คือ สสารกับพลังงาน

แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว สสารกับพลังงานก็เป็นสิ่งอย่างเดียวกัน อนึ่ง ความว่างตามความเห็นของคนทั่วไปนั้นไม่สำคัญ และไม่มีประโยชน์อะไร

แต่เหลาจื้อกลับเห็นตรงกันข้าม เหลาจื้อคิดว่า ความว่างเปล่านั้นแหละสำคัญ คนเราจะได้ประโยชน์ก็เพราะมีความว่างนี่แหละ เหลาจื้อกล่าวว่า หากปั้นดินเหนียวเป็นภาชนะ ช่องว่างของดินเหนียวนั้นแหละทำให้ประโยชน์เกิดขึ้น

หากเราเจาะประตูและหน้าต่างทำเป็นห้อง ช่องว่างของประตูและหน้าต่างนั้นแหละเป็นตัวที่ทำให้ห้องมีประโยชน์

จากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานความคิดของชาวจีน อันจะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนในสมัยต่อมา


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์อาทิตยวาร สิริมานรมณีย์นะคะ
Create Date :02 มกราคม 2554 Last Update :2 มกราคม 2554 8:07:31 น. Counter : Pageviews. Comments :0