bloggang.com mainmenu search





ยุคต้น -สถาปนาชนเผ่า

ในบรรดาชนเผ่าทั้ง 5 ผู้ที่เริ่มตั้งตนเป็นอิสระก่อนได้แก่หลี่เท่อ(李特)จากชนเผ่าตี(氐)หลังจากจิ้นอู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตกสิ้นชีพลง บรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างพากันแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวาย

ปี ค.ศ. 298 เกิดทุพภิกขภัยแห้งแล้งหนัก ชาวบ้านที่อดอยากจากแถบมณฑลกันซู่และส่านซี ต่างพากันหลบหนีลงใต้ จนถึงเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มตระกูลหลี่ได้กลายเป็นผู้นำของกลุ่มอพยพนี้

ขณะที่ขุนนางท้องถิ่นพยายามบีบให้ขบวนผู้อพยพกลับไปทางเหนือ แต่เนื่องจากทางตอนเหนือเกิดจลาจลแปดอ๋องขึ้น อีกทั้งกลุ่มอพยพได้เห็นแล้วว่าเสฉวนอุดมสมบูรณ์กว่ามาก

ดังนั้น หลี่เท่อจึงนำกลุ่มคนลุกฮือขึ้นก่อการและบุกเข้ายึดเมืองเฉิงตูไว้ได้ในปีค.ศ. 303 สถาปนาแคว้นเฉิงฮั่น(成汉)จากนั้นขยับขยายอำนาจสู่เมืองรอบข้าง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาแว่นแคว้นต่าง ๆของห้าชนเผ่า





หลังจากตระกูลหลี่ลุกฮือขึ้นก่อการได้ครึ่งปี หลิวหยวน (刘渊) ที่มาจากกลุ่มตระกูลชั้นสูงของชนเผ่าซงหนู (匈奴) ซึ่งเคยเป็นข้าราชสำนักของจิ้นตะวันตกนั้น หลังจากจิ้นอู่ตี้สวรรคต เกิดจลาจลแปดอ๋อง หลิวหยวนก็รวบรวมกำลังคน ก่อตั้งแคว้นฮั่น (汉) ขึ้นในปี 304 สถาปนานครหลวงที่เมืองผิงหยาง (平阳) (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซันซี)

หลังจากหลิวหยวนสิ้น บุตรชายหลิวชง (刘聪) สืบทอดตำแหน่งต่อมาใน ปี 311 และ 316 หลิวชงยกทัพบุกเมืองลั่วหยางและฉางอันตามลำดับ โค่นราชบัลลังก์จิ้นตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของแผ่นดินในขณะนั้นลง ย้ายนครหลวงไปที่เมืองลั่วหยาง รวบอำนาจทางตอนเหนือกว่าครึ่งไว้ในกำมือ

ฝ่ายราชสำนักจิ้นถอยร่นลงมาทางใต้ สถาปนาจิ้นตะวันออก (317-420) ตั้งนครหลวงขึ้นใหม่ ที่เมืองเจี้ยนคัง (เมืองหนันจิง) โดยมีพื้นที่การปกครองเพียงเขตตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในปัจจุบัน

ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ มีราษฎรจากภาคกลางจำนวนมากพากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังภาคตะวันตก (มณฑลกันซู่และซินเกียงในปัจจุบัน) ซึ่งดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้การอารักขาของตระกูลจางที่คุมกองกำลังที่เคยอยู่ภายใต้จิ้นตะวันตกอยู่เดิม และต่อมาได้สถาปนาเป็นแคว้นเฉียนเหลียง (前凉)

หลิวหยวนเดิมมีขุนพลคู่ใจสองคน คนหนึ่งคือ สือเล่อ (石勒) จากชนเผ่าเจี๋ย (羯) และหลิวเย่า (刘曜) ซึ่งเป็นหลานชายของหลิวหยวน หลังจากหลิวชงบุตรชายหลิวหยวนสิ้นชีวิตลง หลิวเย่าก็ช่วงชิงบัลลังก์และเปลี่ยนชื่อแคว้นจากฮั่น (汉) เป็นแคว้นเจ้า (赵)

หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่าฮั่นเจ้า (汉赵) ส่วนสือเล่อก็สถาปนาแคว้นสือเจ้า (石赵) ในพื้นที่บริเวณมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบัน แคว้นเจ้าทั้งสองประดุจน้ำกับไฟ ต่างเข้าห้ำหั่นเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน จวบจนปี 328 กองทัพของสือเจ้าบุกเข้าเมืองลั่วหยาง สังหารหลิวเย่า แคว้นฮั่นเจ้าจึงจบสิ้นลง

สือเล่อยอมรับชาวฮั่นเข้ารับราชการ จัดระเบียบกฎหมาย ตั้งโรงเรียน นำระบบการเก็บภาษีอากรจากราชวงศ์จิ้นตะวันตกมาใช้ ทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวฮั่น ถือเป็นอัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากแห่งยุค น่าเสียดายที่อายุสั้น หลังจากสือเล่อเสียชีวิตลง สือหู่ (石虎) ผู้เป็นหลานชายเข้าสืบทอดตำแหน่ง

เปิดฉากฆ่าฟันลูกหลานของสือเล่อ สุดท้ายไม่พ้นกรรมสนอง ลูกหลานล้วนเป็นเผ่าพันธุ์อกตัญญู หลังจากสือหู่ตายไป แคว้นสือเจ้าวุ่นวายหนัก สือหมิ่น (石闵) ชาวฮั่นที่สือหู่ให้การเลี้ยงดู หันกลับมาใช้แซ่ฮั่นของตนตามเดิม เรียกว่า หรั่นหมิ่น (冉闵)

เข้าล้มล้างแคว้นสือเจ้า สถาปนาแคว้นหรั่นวุ่ย (冉魏) ในปี 350 ภายใต้คำสั่งของหรั่นหมิ่น ชาวฮั่นที่ถูกกดขี่มานานลุกฮือขึ้นกวาดล้างชนเผ่าเจี๋ย*ที่อยู่ภายในเมืองจนเกือบหมดสิ้น

*ชนเผ่าเจี๋ย (羯) เดิมทีมีภูมิลำเนาอยู่ทางซีอี้ว์หรือภาคตะวันตกของจีน มีความแตกต่างจากชนเผ่าอื่น ๆในบรรดาห้าชนเผ่า เนื่องจากชนเผ่าซงหนู (匈奴) ตี (氐) เชียง (羌) เซียนเปย (鲜卑) ล้วนเป็นชาวผิวเหลือง แต่ชาวเจี๋ยกลับมีจมูกโด่งเป็นสัน เบ้าตาลึกคม หนวดเครารกครึ้ม ดังนั้นจึงง่ายต่อการแยกแยะ

นอกจากตระกูลหลี่ที่ก่อตั้งแคว้นเฉิงฮั่นแล้ว แว่นแคว้นที่ก่อตั้งโดยชนเผ่าตีอีกแคว้นหนึ่งก็คือแคว้นเฉียนฉิน (前秦) (350-394) ที่ยิ่งใหญ่จนสามารถครองแผ่นดิน ทางภาคเหนือของจีนเกือบทั้งหมดไว้ได้ชั่วระยะหนึ่ง

แคว้นเฉียนฉินนำโดยผูหง (蒲洪) ซึ่งแต่เดิมเข้าร่วมกับหลิวเย่าจากแคว้นฮั่นเจ้า ต่อมา ปี ค.ศ. 328 แคว้นฮั่นเจ้าถูกแคว้นสือเจ้ากวาดล้าง ผูหงก็เข้าสวามิภักดิ์กับแคว้นสือเจ้า ซึ่งได้สั่งอพยพชนเผ่าตีและเชียงกว่าแสนครอบครัวเข้าสู่ส่วนกลางการปกครองของตน

จากนั้นมา ชนเผ่าตีก็ได้กลายเป็นขุมกำลังทางทหาร ที่สำคัญของแคว้นสือเจ้า

ยุคปลายของแคว้นสือเจ้า บ้านเมืองยุ่งเหยิง ผูหงจึงเปลี่ยนมาใช้แซ่ฝู (苻) เมื่อฝูหงสิ้นชีพไป ฝูเจียน (苻坚) ที่เป็นบุตรชายนำทัพบุกยึดนครฉางอันคืนจากจิ้นตะวันออก* และสถาปนาแคว้นเฉียนฉินในปี 351


ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์


สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ
Create Date :01 มีนาคม 2555 Last Update :1 มีนาคม 2555 18:56:09 น. Counter : Pageviews. Comments :0