bloggang.com mainmenu search






ดินแดนราชวงศ์หมิงภายใต้จักรพรรดิหย่งเล่อ





ราชวงศ์หมิง เป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศจีน ระหว่าง พ.ศ. 1911 (ค.ศ. 1368) ถึง พ.ศ. 2187 (ค.ศ. 1644) เป็นเวลารวม 276 ปี โดยปกครองต่อจากราชวงศ์หยวนหรือพวกมองโกล และพ่ายแพ้ให้กับราชวงศ์ชิงของพวกแมนจูในภายหลัง

ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองในด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ในยุคนี้มีการสำรวจทางทะเลอย่างกว้างขวาง ราชวงศ์หมิงในตอนต้น (1368 - 1464) ถือเป็นอาณาจักรที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น


ยุคต้นราชวงศ์หมิงถึงยุคปลาย

เมื่อปี พ.ศ. 1911 จู หยวนจาง หรือจักรพรรดิหงหวู่ องค์ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ครองราชย์ที่เมืองนานกิง และได้สถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น 31 ปีแห่งการครองอำนาจ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้เสริมสร้างระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐเผด็จการแบบศักดินา ให้เข้มแข็งขึ้นอย่างสุดความสามารถ

จักรพรรดิหมิงไท่จู่ประหารขุนนางผู้มีคุณูปการ ฆ่าผู้คนที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนพระองค์ เพิ่มอำนาจของจักรพรรดิให้มากขึ้น ปราบปรามอิทธิพลที่ต่อต้านพระองค์ หลังจากจักรพรรดิหมิงไท่จู่สวรรคตแล้ว จักรพรรดิจูเอี้ยนเหวิน ซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองราชย์

ต่อมาไม่นาน จูตี้ ผู้เป็นปิตุลาของจักรพรรดิเอี้ยนเหวินได้ลุกขึ้นต่อสู้และโค่นอำนาจรัฐของจักรพรรดิเอี้ยนเหวินลง จูตี้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิง เฉิงจู่ หรือจักรพรรดิหย่งเล่อ ในปี พ.ศ. 1964 (ค.ศ. 1421) จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองนานกิงไปยังกรุงปักกิ่ง

แม้รัฐบาลของราชวงศ์หมิงจะเสริมระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐให้มากขึ้นก็ตาม แต่มีจักรพรรดิหลายองค์ไม่ทรงพระปรีชาหรือไม่ก็ทรงพระเยาว์ ไม่สนพระทัยการบริหารประเทศ อำนาจจึงตกอยู่ในมือของเสนาบดีและขันที

พวกเขาทุจริตคดโกงและขู่เข็ญรีดเอาเงิน ทำร้ายขุนนางที่ซื่อสัตย์ กิจการบริหารบ้านเมืองเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ความขัดแย้งในสังคมรุนแรง ช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิงจึงเกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ของชาวนาหลายครั้งหลายหน แต่ถูกปราบปรามลงได้ในสมัยราชวงศ์หมิง

เคยมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชื่อ จางจวีเจิ้ง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งกันทางสังคม และกอบกู้การปกครองของราชวงศ์หมิง ด้วยวิธีดำเนินการปฏิรูป เขาปรับปรุงระบบขุนนาง พัฒนาการเกษตร ซ่อมแซมแม่น้ำและคูคลอง

และได้รวมภาษีอากรและการกะเกณฑ์บังคับต่างๆ เป็นหนึ่งเดียวได้ ช่วยลดภาระของประชาชนลงไปได้บ้างระดับหนึ่งในสมัยหมิง การเกษตรพัฒนามากขึ้นกว่ายุคก่อน การทอผ้าไหมและการผลิตเครื่องเคลือบดินเผามีความก้าวหน้ารุ่งเรือง การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือเป็นต้นก็มีการพัฒนาอย่างมาก

การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง เจิ้งเหอซึ่งชาวไทยเรียกกันว่าซำปอกง ได้นำกองเรือจีนไปเยือนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาทั้งหมดกว่า 30 ประเทศถึง 7 ครั้งตามลำดับ

แต่หลังช่วงกลางราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา จีนถูกการรุกรานจากหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้นช่วงปลายราชวงศ์หมิง สภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวงศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของรัฐบาลก็นับวันมากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่างๆ ของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคน พยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิพิเศษ ของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย

เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จึงถูกเรียกกันว่าเป็น ”พรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมวุ่นวายมากยิ่งขึ้น การต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น

ในปี พ.ศ. 2170 (ค.ศ. 1627) มณฑลส่านซีเกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่น รวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย

ปี พ.ศ. 2187 (ค.ศ. 1644) กองทหารชาวนา นำโดยหลี่จื้อเฉิง บุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย ของราชวงศ์หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์


การเดินทางของเจิ้งเหอและต้นเค้าของการล่าอาณานิคมภาคพื้นทะเลในสมัยราชวงศ์หมิง

การเดินทางของเจิ้งเหอมีจุดประสงค์ที่จะผูกมิตร กับอาณาจักรต่างๆโดยจักรพรดิหย่งเล่อทรงส่งเจิ้งเหอ เป็นแม่ทัพเรือราชวงศ์หมิงนำกองเรือขนาดยักษ์ไปตามหาจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน

ซึ่งการเดินทางเจิ้งเหอก็ต้องใช้กำลังทหารปราบปรามบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือราชวงศ์หมิงนั้น มีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าทุกชนชาติ เจิ้งเหอได้สั่งให้มีปฏิบัติการทางทหารดังต่อไปนี้

การโจมตีท่าเรือเก่า สถานผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยในสุมาตรา เมื่อ ค.ศ. 1407
เหตุอันรุนแรงในชวา เมื่อ ค.ศ. 1407
การกดดันข่มขู่พม่าใน ค.ศ. 1409
การโจมตีศรีลังกาใน ค.ศ. 1411
โจมตีและจับกุม ซู-กาน-ลา (Su-Gan-La) แห่งสมุทรา ค.ศ. 1415
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่อยุธยา


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์วุธวาร ปรีดิ์มานรมณีย์นะคะ
Create Date :27 ตุลาคม 2553 Last Update :27 ตุลาคม 2553 7:32:57 น. Counter : Pageviews. Comments :0