bloggang.com mainmenu search



เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์/ไชน่า เดลี่ - ถ้าพูดถึงเรื่องอาหารการกินแล้ว สุภาพชนในดินแดนอาทิตย์อัสดงค์มักให้เกียรติและพิถีพิถันกับมารยาทบนโต๊ะอาหารเป็นพิเศษ ขณะที่วัฒนธรรมคนจีน ซึ่งมักรับประทานแบบง่าย ๆ เพียงมีถ้วยชามและตะเกียบ และเป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว

หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ค้นพบว่า วัฒนธรรมการกินของชาวจีน ไม่ผิดแผกไปจากยุคแรกเท่าใดนัก ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมจีน อาจเริ่มย้อนรอยวัฒนธรรมผ่านถ้วยชาม กับตะเกียบ เพื่อให้เห็นวิถีประจำวันและแนวคิดแบบ “จีน” ได้เป็นอย่างดี

“ถ้วยชาม” สะท้อนอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปี

ประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่บรรพกาล ตั้งแต่ก่อนยุคนีโอลีธิค (ยุคสุดท้ายของยุคหิน) คนจีนก็รู้จักใช้ถ้วยชามใส่อาหารแล้ว





ชามมรกตเขียว เรียบง่ายทว่างดงามและทรงคุณค่า
(ภาพไชน่าเดลี่)




ถ้วยชามจีนมีความสำคัญจวบจนยุคปัจจุบัน แต่เดิมในยุคนีโอลีธิค ถ้วยชามทำมาจากดินเหนียว ต่อมาเพิ่มกรรมวิธีทำเป็นเครื่องปั้นดินเผา หากเทียบกับปัจจุบัน รูปทรงถ้วยชามไม่แตกต่างจากยุคโบราณมากนัก ทำให้รู้ว่าหลายปีผ่านพ้น สิ่งที่พัฒนาขึ้นมีเพียงวัสดุ เทคนิคและวิธีการแต่งแต้มสีสันเท่านั้น

สำหรับถ้วยชามโบราณ ส่วนบนจะกว้างและค่อย ๆ แคบลงจนถึงก้นชาม ซึ่งยากที่จะตั้งอยู่ได้บนพื้นเรียบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ชามสมัยโบราณจะวางในหลุมที่ขุดขึ้นบนพื้นดิน โดยชามรุ่นแรกสุดเป็นดินเผา ใช้ความร้อนเพียง 600-700 องศาเซลเซียส

จากข้อค้นพบของนักโบราณคดีและบันทึกทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า ถ้วยชามเครื่องเคลือบปรากฎขึ้นมาภายหลังตรงกับราชวงซัง (770-476 ก่อนค.ศ.) และยุครัฐศึก (475-221 ก่อนค.ศ.) ซึ่งถือเป็นยุคกำเนิดเครื่องเคลือบเซลาดอน ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อแกร่ง เคลือบด้วยน้ำเคลือบที่ทำจากเถ้าถ่านจากไม้และหินฟันม้า ซึ่งมีส่วนผสมของแร่เหล็ก นำมาเผาในอุณหภูมิสูงถึง 1,250 องศาเซลเซียส

กระทั่งราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนค.ศ. - ค.ศ.220) ถ้วยชามเริ่มมีประโยชน์หลากหลาย นอกจากใส่ข้าวใส่น้ำแกง ก็ออกแบบเป็นจาน ถ้วยชา หรือถ้วยเหล้า นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในพิธีบวงสรวง

จากสังคมดั้งเดิมจนเข้าสู่ราชวงศ์จิ๋น (221-207 ปีก่อนค.ศ.) ประชาชนทั่วไปใช้ติ่งดินเผา (เครื่องปั้นดินเผารูปกระถาง 3 ขา) ไว้ประกอบอาหาร และติ่งสำริดไว้ประกอบพิธีบวงสรวง เมื่อราชวงศ์ฮั่น ภาชนะเหล่านี้ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น

เพื่อให้สามารถใส่เลือดหรือร่างของสัตว์ที่ใช้เซ่นสังเวยได้ จนปัจจุบันขุดค้นพบเครื่องเคลือบสีน้ำเงิน-ขาวที่ใหญ่สุด ซึ่งก็ใช้ในพิธีพลีกรรมนี่เอง





ภาพวาดหญิงงามตกแต่งอยู่บนชาม
เลียนแบบอากัปกิริยาสตรีสมัยราชวงศ์ถัง
(ภาพเชน่าเดลี่)



ถ้วยชามเกือบทุกใบที่ค้นพบ เป็นเครื่องเคลือบจากเมืองเต๋อฮวา ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ศูนย์กลางเครื่องเคลือบ” สมัยโบราณ ถ้วยชามยุคแรกที่วางอยู่ในพิพิธภัณฑ์เต๋อฮวาเป็นแห่งเดียวที่ตกทอดจากราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ขณะนั้นชามเคลือบสีขาวเป็นที่นิยมสุด

ต่อมาเริ่มมีสีน้ำเงินแต่งแต้มเพิ่มลวดลาย กระทั่งในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) กรรมวิธีการผลิตก้าวสู่ขั้นสูงสุด สามารถผลิตได้หลากสีสันตามต้องการ

ก่อนหน้านั้น ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ชามทั้งหมดประยุกต์แบบมาจากลายดอกไม้ ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากเตาเผาเมืองฉังซาของสมัยราชวงศ์ถัง วิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ จนสมัยราชวงศ์หมิง ชามส่วนใหญ่จะใช้ในงานเลี้ยง

โดยตัวชามมีพื้นสีขาว และวาดสีน้ำเงินตัดเข้ม อย่างไรก็ตาม ถ้วยชามสมัยราชวงศ์ชิงพัฒนาก้าวหน้ากว่าในทุกด้าน ทั้งทักษะ ฝืไม้ลายมือ รูปทรงแตกต่างใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

การเคลือบและรูปแบบสวยงามกว่า ทำให้ผู้คนประทับใจอย่างมากเมื่อได้ยลเครื่องเคลือบ 3 สี 5 สี และถ้วยชามเคลือบสุดวิเศษขององค์จักรพรรดิ





ชามเคลือบจีนชนิดผิวเลื่อม รูปทรงธรรมดา
(ภาพไชน่าเดลี่)




ถ้วยชาม ทำมาจากวัสดุหลากหลาย เช่น ไม้ หยก แก้ว โลหะ ฯ การเก็บสะสมชามโบราณเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมของเก่า กอปรกับทุกวันชีวิตส่วนมากของชาวจีนต้องพึ่งพาชามเหล่านี้กินข้าว

ชาวจีนมักจะมีสำนวนชามทองหรือชามเหล็ก ไว้แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ที่หมายถึงความมั่งคั่งและความมั่นคง

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมการดื่มเหล้าจะขาดถ้วยชามไม่ได้ ปัจจุบันการดื่มเหล้าจากถ้วยชามยังคงเหลืออยู่ในแถบมองโกเลียใน ทิเบต และชนบทภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน





จีนหลงใหลการใช้ตะเดียบไม้ไผ่ เคลือบสีแดง-ดำ
(ภาพไชน่าเดลี่)



“ตะเกียบ” ภูมิปัญญาทรงคุณค่าของชาวจีน

ตะเกียบ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีบทบาทหลักในวัฒธรรมอาหารของชาวจีนเชื่อกันว่ามีมาแต่ยุคโบราณ แสดงให้เห็นถึงอาธารยธรรมจีนที่มีมายาวนาน ตะเกียบเป็นอุปกรณ์การกินดั้งเดิมของชาวจีน และมีใช้กว้างขวางในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันและเวียดนาม


หลี่จี้ (礼记) ตำราขงจื่อที่ว่าด้วยรีต ธรรมเนียมปฏิบัติของมนุษย์ เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ยังกล่าวถึงตะเกียบไว้ว่า “คนจีนเริ่มใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือในการกินไม่ว่าจะกินเองหรือรับแขก”

จึงมั่นใจได้ว่าชาวจีนใช้ตะเกียบมาแต่ยุคบรรพกาล โดยแรกเริ่มเดิมทีใช้กิ่งไม้เพื่อเสียบอาหารย่างไฟ และจากหลักฐานการขุดค้นพบ ดูเหมือนว่าคนโบราณประกอบอาหารในหม้อใบใหญ่ ที่สามารถเก็บความร้อนได้ดี

เวลากินก็จะหักกิ่งไม้จากต้นไม้มาหยิบจับอาหารแทนมือ ทั้งนี้หลักฐานเบื้องต้นของการใช้ตะเกียบที่ทำจากสำริด ถูกขุดค้นในหลุมศพสมัยราชวงศ์ซังประมาณ 1200 ปีก่อน ค.ศ. บริเวณเมืองอานหยัง มณฑลเหอหนาน





ตะเกียบฝังหยกสมัยรางวงศ์ชิง
(ภาพไชน่า เดลี่)



เนื่องจากอาหารชิ้นไม่ใหญ่มากจนไม่ต้องใช้มีดบนโต๊ะอาหาร ตะเกียบจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์หลัก กอปรกับความเชื่อแบบขงจื่อ หรือผู้ถือมังสวิรัติจะแนะนำไม่ให้ใช้มีดบนโต๊ะอาหาร เนื่องจากมีดเป็นอุปกรณ์การฆ่าฟัน ชำแหละ หรือทำให้ฉีกขาด แตกแยก ไม่เป็นมงคล

การใช้ตะเกียบสามารถเติมเต็มทุกอากัปของการกิน หากเทียบกับโต๊ะอาหารตะวันตกที่ใช้ มีดแล้ว วัฒนธรรมจีนดูจะมีกลิ่นอายของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่แตกแยกมากกว่า

ตะเกียบจีนยาวตรงประมาณ 9-10 นิ้ว ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ เพราะราคาไม่สูง ใช้ได้อย่างรวดเร็วเพียงเหลาไม้ไผ่ ทั้งยังใช้ง่าย ทนร้อน และไม่มีกลิ่นหรือรสชาติเจือปนอาหาร

คำภาษาจีนเรียกตะเกียบว่า ไคว่จื่อ (筷子) ซึ่งคำว่า ไคว่ พ้องกับความหมายของ ไคว่ (快) ที่แปลว่าเร็ว สำหรับคำจีนโบราณเรียกตะเกียบว่า จู้ (箸) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า จู้ (住) ซึ่งหมายถึงหยุด ซึ่งเป็นคำไม่ดี

คนโบราณจึงห้ามนำตะเกียบลงเรือ เพราะเกรงเรือจะหยุดแล่น ต่อมาจึงใช้คำว่า ไคว่ แทน จู้ ที่แปลว่าหยุด ทำให้ตะเกียบของจีนเรียก “ไคว่จื่อ” มาจนทุกวันนี้






สำหรับชาวตะวันตกผู้คุ้นเคยกับการใช้มีดและส้อม หรือชาวต่างชาติก็ดี หากมาลองใช้ตะเกียบให้คุ้นเคยนับว่าไม่ง่าย แต่ถ้าหากชำนาญแล้วละก็ช่างง่ายดายและสะดวก และยังถือว่าได้สัมผัสวัฒนธรรมโบราณอันเก่าแก่ของชาติจีนอีกด้วย


ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์


อาทิตยวารสวัสดิ์วัฒนาค่ะ
Create Date :12 มิถุนายน 2554 Last Update :13 มิถุนายน 2554 13:18:12 น. Counter : Pageviews. Comments :0