Konnichiwa Nihon no densha (3)
ตอนนี้ก็ว่าไปตามลำดับ ตั้งแต่กิจการรถไฟของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุครถจักรไอน้ำ

กระโจนข้ามมายังยุคไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง (ชิน กังเซ็น)

และแตกตัวเป็นกลุ่มบริษัท JR ต่างๆ เพราะรัฐบาลสนับสนุนกิจการและแบกรับภาระหนี้สินสาธารณะต่างๆ ให้ไม่ไหว

...................................

Cr. ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากคุณ AKB-SKE แห่ง pantip.com มาเป็นอย่างยิ่ง ณ โอกาสนี้



ขอย้อนกลับมาอีกสักนิด ที่รถจักรและรถพ่วงประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟญี่ปุ่น โดยเป็นชุดรถโดยสารบริการระหว่างกรุงโตเกียว (สถานีชิมบาสิ) - โยโกฮามา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2415 โดยรถจักรและรถพ่วง มาจากประเทศอังกฤษ

เส้นทางรถไฟสายนี้ มีระยะทางยาว 29 กม ใช้เวลาเดินทาง 35 นาที

แต่อีกไม่กี่ปีต่อมา ราวปี พ.ศ.2423 - 2433 ชาวญี่ปุ่น ได้เข้ามาทำงานแทนชาวอังกฤษทั้งหมดในกิจการรถไฟ



ภาพวาดบนกระดาษเยื่อไม้ไผ่ แสดงถึงบรรยากาศเปิดการเดินรถในสมัยนั้น



สถานีโยโกฮามา จากภาพถ่ายในสมัยก่อน



ปัจจุบันได้แก่สถานีซากุระกิโช เมืองโยโกฮามา ซึ่งแทบจะเป็นเมืองเดียวกับมหานครโตเกียวไปแล้ว



ในเวลาต่อมา กิจการรถไฟญี่ปุ่นได้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นต่อรถโดยสารขึ้นใช้เอง



และสร้างรถจักรเองในที่สุด เมื่อปี พ.ศ.2436 แต่ชิ้นส่วนสำคัญๆ ยังนำเข้าจากอังกฤษ



งานนี้ เห็นที่จะวนเวียนหน้าบอร์ด เล่าความเป็นมาของกิจการรถไฟญี่ปุ่นกันสักหน่อยล่ะ



ในเขตคันไซ ทางรถไฟ สาย โกเบ - โอซาก้า ได้เปิดให้บริการ ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2417 ได้ขยายไป เมืองเกียวโต ในปี พ.ศ.2419 และ เมืองโอตสุ ในปี พ.ศ.2423

เส้นทางนี้ได้รวม เอาอุโมงค์ "โอซากายามา" ความยาว 646 เมตร ซึ่งถือเป็นอุโมงค์รถไฟแห่งแรกของญี่ปุ่นด้วย



แต่ปัญหาอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ก็คือ เรืองการเงิน

รัฐบาลญี่ปุ่นเอง มีปัญหาต้องใช้จ่ายเงินในการพัฒนาประเทศหลายด้าน จึงไม่สามารถสนันสนุนงบประมาณในการสร้างทางรถไฟได้ จึงมีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาสร้างทางและให้บริการด้านรถไฟ

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2424 บริษัท Nippon Railway เป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่ได้สัมปทานทางรถไฟ โดยสร้างทางรถไฟ จากสถานี อุเอโนะ ไปยัง จังหวัด อาโอโมริ ทางภาคเหนือ ของประเทศ โดยได้เปิดบริการในปี พ.ศ.2434

ปี พ.ศ.2425 ทางรถไฟสาย ฮอกไกโด ได้เปิดให้บริการ

ปี พ.ศ.2431 ทางรถไฟของบริษัท อิโยเรลเวย์ เปิดให้บริการ ในเกาะ ชิโกกุ

ปี พ.ศ.2432 บริษัท กิวชู เรลเวย์ ได้เปิดให้บริการที่เกาะ Kyūshū

ปี พ.ศ.2432 ทางรถไฟสาย โทไคโด (โตเกียว - โกเบ) แล้วเสร็จ



ในยุคปี 2433 กิจการรถไฟญี่ปุ่น ก็ได้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนาย Masaru Inoue ประธานคณะกรรมการกิจการรถไฟ ได้ประกาศข้อกฎหมายก่อสร้างทางรถไฟ (Railway Construction Act) มีใจความสำคัญ 2 ข้อ

ข้อกฏหมาย เพื่อที่จะรับประกันในการหาทุน สำหรับสร้างทางรถไฟสายหลัก และ การก่อตั้งหน่วยงานแห่งชาติ เพื่อมาดูแลการรถไฟ โดยเฉพาะ

ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2435

หลังจาก Railway Construction Act ได้รับการรับรองแล้ว ทางรถไฟญี่ปุ่นก็เจริญเติบโตอย่างมาก

สิ้นเดือน มีนาคม พ.ศ.2449 ญี่ปุ่นมีทางรถไฟ 7,626 กม เป็นของรัฐบาล 2,413 กม ของเอกชน 5,213 กม

และมีเอกชนที่ให้บริการรถไฟ 37 บริษัท



โรงงานผลิต หัวรถจักร และชิ้นส่วนรถไฟในญี่ปุ่น ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2449 ซึ่งกิจการรถไฟญี่ปุ่นได้เจริญเติบโตเป็นอย่างมาก และอุตสาหกรรมหนักต่างๆ กำลังขยายตัว

และทางกองทัพได้เห็นความสำคัญของรถไฟ จากสงครามกับรัสเซียในแมนจูเรีย

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีแผนที่จะซื้อกิจการรถไฟมาจากเอกชน

17 บริษัท ถูกรัฐบาลซื้อไปในช่วงปี พ.ศ.2449 - 2450

ภายในเวลาไม่กี่ปี รัฐบาลญี่ปุ่นได้ควบรวมทางรถไฟสายหลักต่างๆ มาเป็นของตัวเอง เหลือเพียงสายท้องถิ่นที่ยังดำเนินงานโดยเอกชน

โดยส่วนแบ่งของเส้นทางรถไฟ 90% อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล



ปี พ.ศ.2455 ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการนำเข้ารถไฟจากต่างปรเทศ หันมาใช้ของที่ผลิตในประเทศ

Class 9600 เป็นหัวรถจักรไอน้ำแบบแรกที่ถูกผลิตแบบ mass production เริ่มเข้าประจำการในญี่ปุ่น



ปี พ.ศ.2463 กรุงโตเกียวมีประชากร 4.1 ล้านคน ความต้องการระบบขนส่งภายในเมืองใหญ่ มีมากขึ้นเรื่อยๆ

รถรางไฟฟ้า ในเขตโตเกียว ถูกดำเนินการโดยเอกชนหลายบริษัท เช่น Keisei , Keihin , Tobu เป็นต้น

ปี พ.ศ.2473 ระบบรางในกรุงโตเกียว มีความยาวรวม 210 กม ให้บริการผู้โดยสารวันล่ะ 1.3 ล้านคน



ปี พ.ศ.2460 ระบบรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ โดยเลียนแบบมาจาก ลอนดอน ปารีส และ นิวยอร์ค

บริษัท Tokyo Underground Railway Company ได้รับการจัดตั้ง

เส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรก ความยาว 2.2 กม ได้เปิดให้บริการ ในปี พ.ศ.2470 และขยายเป็น 8 กม ในปี พ.ศ.2477 เชื่อมระหว่างสถานีอาซากุสะ กับ ชิมบาชิ



ปี พ.ศ.2479 อุโมงค์ใต้ทะเล "คุนมง" เชื่อมระหว่าง เกาะฮอนชู กับ คิวชู ได้เริ่มก่อสร้าง และเสร็จในปี พ.ศ.2485

ตัวอุโมงค์มีความยาว 3,600 เมตร และเกือบถูกทำลายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ตอนที่ชาวคณะนั่งรถไฟด่วน ชิงกังเซน จากเมืองชิโมโนเซกิ เกาะฮอนชู ไปยังเมืองคิตะกิวชิว เกาะกิวชู ขบวนรถได้ข้ามสะพานแทนการลอดอุโมงค์



ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรถไฟ และสถานี สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก การขาดแคลนวัสดุและเชื้อเพลิง ทำให้เส้นทางที่รอดจากการถูกทิ้งระเบิด อยู่ในสภาพทรุดโทรม

ภาพสถานีโตเกียวภายหลังถูกทิ้งระเบิดทำลาย



กิจการรถไฟญี่ปุ่นต้องดำเนินไปอย่างยากลำบากเป็นเวลาหลายปี กว่าจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ



การรถไฟญี่ปุ่น ถูกแปรรูปจากหน่วยงานของรัฐไปเป็นรัฐวิสาหกิจ Japanese National Railways (Nihon Kokuyū Tetsudō)

หัวรถจักรไอน้ำ เริ่มถูกทดแทนด้วยรถไฟฟ้า โดยระบบรถไฟในญี่ปุ่น จะมีแบบ Electric multiple unit กับ Diesel multiple unit กับ Diesel multiple unit



JR รุ่น 101 รถไฟฟ้าแบบแรกที่ถูกนำมาใช้ทดแทนรถจักรไอน้ำ ในปี พ.ศ.2500



ปี พ.ศ.2507 รถไฟด่วน Shinkansen Serie 0 เริ่มให้บริการ สาย นิว โทไคโด ระหว่างสถานีโตเกียว - ชินโอซาก้า ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง มาจากการกู้เงินจาก the International Bank for Reconstruction and Development (World Bank)

ภายหลัง ความต้องการใช้รถไฟความเร็วสูงมีมาก และเป็นต้นแบบในการใช้งานรถไฟความเร็วสูงให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย



หลังปี พ.ศ.2513 เป้นต้นมา อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นได้เติบโตเป็นอย่างมาก

คนญี่ปุ่นเริ่มหันไปใช้รถยนต์ในการเดินทาง และขนสินค้ากันมากขึ้น ทำให้ JNR เริ่มประสบปัญหาขาดทุน

ปลายทศวรรษ ที่ 2510 ยอดขาดทุนสะสม ของ JNR อยู่ที่ 1 ล้านล้านเยน

และเพิ่มเป็น 25 ล้านล้านเยน ในปี พ.ศ.2530

รัฐบาลญี่ปุ่น ไม่อาจอุ้มกิจการได้อีกต่อไป จึงมีการแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2530 โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มบริษัท JR Group ซึ่งประกอบด้วยบริษัทย่อยหลายบริษัท ได้แก่

Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) รับผิดชอบเขต ฮอกไกโด

East Japan Railway Company (JR East) รับผิดชอบเขต คันโต โตโฮคุ โคชินเอตสึ

Central Japan Railway Company (JR Central) รับผิดชอบเขต โตไก

West Japan Railway Company (JR West) รับผิดชอบเขต คันไซ และ ชูโกกุ

Shikoku Railway Company (JR Shikoku) รับผิดชอบเขต ชิโกุ

Kyushu Railway Company (JR Kyūshū) รับผิดชอบเขต คิวชู

Japan Freight Railway Company (JR Freight) รับผิดชอบการขนสินค้าทั่วประเทศ

Railway Technical Research Institute (RTRI) ฝ่ายวิจัย

Railway Information Systems (JR System) ฝ่ายข้อมูล

ปัจจุบัน JR Group มีกำไรมากมาย สามารถเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ



ออกจากบอร์ดแสดงความเป็นมาของกิจการรถไฟญี่ปุ่น ก็เจอหัวรถจักรไอน้ำซึ่งมีตราดอกเบญจมาศและธงประดับแบบนี้อีกด้วย

แสดงว่าเคยทำขบวนรถพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ รัชสมัยโชวา



วนเวียนมาท้ายรถโดยสาร blue train ที่เคยพ่วงในริ้วขบวนรถด่วน asakaze ระหว่างสถานีโตเกียว - ฮากาตะ (ฟุกุโอกะ) ซึ่งยกเลิกไปเพราะความนิยมของรถไฟความเร็วสูง ซินกังเซ็น มีมากกว่า

ลองเข้าไปชมบรรยากาศสักหน่อยเป็นไร ?



หลายท่านที่เคยใช้บริการของตู้ blue train คงจะทราบดีของบรรยากาศภายในตู้นะครับ

ซึ่งแตกต่างจากตู้นอนของการรถไฟฯ โดยเป็นที่นอนตามขวาง มิใช่ตามยาวทั้งสองด้านอย่างที่เคยชิน



ด้านท้ายตู้ เป็นบานกระจกกันลมหนาวท้ายขบวน แถมยืนชมวิวได้ถนัดถนี่ด้วยสิ



มีโมเดลของตู้รถไฟแบบนี้อยู่ภายในด้วยนะ



เราเข้าไปดูใกล้ๆ รถด่วนความเร็วสูงในสมัยก่อน นะครับ

อันเป็นต้นแบบของชิน กังเซ็น ในปัจจุบัน ซึ่งเก็บข้อมูลด้านต่างๆ มาวิเคราะห์ วิจัย อย่างละเอียด จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม



จำได้ว่า สมัยเด็ก รูปของขบวนรถด่วนเหล่านี้ เคยมาพิมพ์ในด้ามมีดเหลาดินสอ ภาพยนต์โฆษณาสินค้าต่างๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทันสมัยของญี่ปุ่น

รวมทั้งเป็นรถไฟจำลองประกอบฉากให้ก๊อตซิลลาหิ้วมาเตะเล่นในหนังใหญ่ด้วย

กลัวแทบตาย



มองไปยังห้องขับ แต่เขาทำกระจกกั้นให้มองเพียงห่างๆ เท่านั้น



ขอนั่งรำลึกถึงสมัยเด็กกันหน่อย ยังใหม่เช้งเหมือนเพิ่งออกจากโรงงานงั้นแหละ

อ้อ... ยังเป็นรถไฟที่ใช้กับเส้นทางขนาด 1.067 เมตร มาตรฐานดั้งเดิมของญี่ปุ่น



มีแผนที่แสดงให้เห็นเส้นทางที่รถด่วนนี้ให้บริการด้วย



ทางภาคเหนือด้วยครับ



มองจากภายนอกตัวรถ



จากป้ายบรรยาย ทำให้ทราบว่าเป็น รถด่วนไฟฟ้ารุ่น KUHA 181 วิ่งบริการระหว่างสถานีโตเกียว - โอซากา - โกเบ ในปี พ.ศ.2501 ด้วยความเร็วสูงสุด 110 กม./ชม. ทำให้รถไฟความเร็วสูง เป็นรถไฟหลักของ JNR ตั้งแต่นั้น

ข้อมูลจากวุ้นแปลงภาษา ของ อากู๋



มามองดูรถไฟฟ้าชานเมืองกันบ้าง

เผลอถ่ายภาพด้านท้ายของรถไฟแบบนี้ เดี๋ยวจะนำภาพด้านที่ถูกต้องมาลงครับ



เป็นรถไฟฟ้ารุ่น kurmoha 455 มักใช้บริการส่งต่อผู้โดยสารจากสายใหญ่ไปยังสถานีย่อย หรือเส้นทางแยก

ค่าโดยสารถูก และเป็นที่นิยมกันมากของชาวญี่ปุ่น



ลักษณะการจัดที่นั่งในขบวนรถ



บริษัทผู้สร้าง จากแผ่น nameplate ที่ติดกับตัวรถ แต่วุ้นแปลภาษาอ่านไม่ออกครับ



โฉบไปใกล้ๆ ห้องขับรถจักรไอน้ำจำลอง ประกอบฉาก simulator นิดหน่อย

ยังไม่มีลูกค้าตัวน้อยมาอุดหนุนบริการแต่อย่างใด



ข้ามที่กั้นทางรถไฟซึ่งปิดเปิดเป็นจังหวะ อันเป็นการฝึกสอนผู้เข้าชมตัวน้อยไปในตัว

เห็นพ้องนะครับว่าไม้กั้น มีขนาดเล็กจริงๆ ไม่เหมือนในบ้านเรา



ขอขึ้นไปบนชั้นลอย ซึ่งมีรถไฟฟ้า รุ่น 101 ครึ่งคัน ตั้งอยู่บนนั้น

อุปกรณ์ห้องขับ และมาตรวัดต่างๆ ยังอยู่ครบ ปิ๊งเหมือนของใหม่เลย



ส่วนห้องโดยสารนั้น เบาะหุ้มกำมะหยี่ ยังสะอาด น่าลองนั่งเล่นสักหน่อย

ให้คุ้มค่ากับการเดินทางไกลข้ามซีกโลก ว่างั้นเถอะ



พลัน ! มีเสียงประกาศของโฆษกในห้องโถงใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น

สร้างความสนใจกับผู้เข้าชมบริเวณนั้น ตีวงเข้ามาห้อมล้อมใกล้ๆ



เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ เริ่มบรรยายถึงเรื่องราวของรถจักรไอน้ำคันนี้ และสาธิตถึงการทำงานของแท่นกลับรถจักรให้ชมด้วย

สร้างความสนใจกับบรรดาแฟนคลับรถไฟ บันทึกภาพกันไม่ขาดระยะ



ส่วนตัวผมเอง หันไปสนใจกับชิน กังเซ็น รุ่น 0 แถบสีเขียว ที่ค่อนข้างแปลกกว่าใคร

แถมมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ช่วงล่างของรถ มาตั้งโชว์ไว้ด้วย



สภาพตามที่เห็นล่ะครับ

น่าจะเป็นมอเตอร์ขับเคลื่อนและอุปกรณ์ปรับอากาศ เพื่อรับมือกับทุกสภาพอากาศ ให้ผู้โดยสารในรถอยู่สุขสบาย



ลองเข้าไปชมข้างในตัวรถ แถมถือโอกาสนั่งเป็นบุญก้นของตัวเองสักหน่อย



ยังมีชิน กังเซนอีกครึ่งคัน แสดงภายในห้องขับ จอดอยู่ใกล้ๆ

ขอขึ้นไปชมอีกสักนิด



เกิดมา ก็เข้าไปถึงห้องขับของชิน กังเซ็น นี่แหละ

ถึงแม้จะมีกระจกแผ่นหนากั้นไว้ให้ดูเพียงห่างๆ เท่านั้น



ใกล้ๆ กันนั้น มีโมเดลของชิน กังเซ็น ตั้งแสดงให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ด้วยครับ



แถมด้วยโมเดลการทำงานของระบบให้ผู้สนใจกดปุ่มชม

ว่ากันตั้งแต่ ที่มาของระบบไฟฟ้า ย่านแปลงไฟ การทำงานของรถไฟ และโรงซ่อมบำรุง ครบสรรพทุกขั้นตอน

เรียกว่า กดเพียงปุ่มเดียว รู้จักระบบการทำงานทั้งหมดเลยล่ะ แต่อยู่ภายใต้กระจกครอบแผ่นใหญ่นะครับ

ทำนองว่า ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ของจะเสีย นั่นแหละ



Create Date : 20 ตุลาคม 2562
Last Update : 18 ธันวาคม 2562 9:27:45 น.
Counter : 1186 Pageviews.

0 comments
วัดพุทไธศวรรย์ ดาวริมทะเล
(18 เม.ย. 2567 17:54:51 น.)
春和歌山市 : ทำไมต้องวากะยามะ mariabamboo
(15 เม.ย. 2567 11:06:33 น.)
หาอะไรดับร้อนกับน้องถั่วแดงที่ร้านเย็น เย็น หวานเย็น สาขาMRTท่าพระ นายแว่นขยันเที่ยว
(12 เม.ย. 2567 00:32:31 น.)
Mahar Shwe Thein Taw Pagoda, Royal Jasmine Hotel - Pyin Oo Lwin สายหมอกและก้อนเมฆ
(11 เม.ย. 2567 16:06:34 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด