Konnichiwa Nihon no densha (2) ตอนนี้ และตอนต่อๆ ไป ผมจะวนเวียนอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์รถไฟโอมิยะ ซึ่งถือว่าเป็นขุมทรัพย์ทางรถไฟอันมหาศาลสำหรับผมล่ะ หากเป็นกล้องใช้ฟิล์มผมคงตุนเอาไว้เป็นโหล แต่นี่ เป็นเมมโมรีการ์ด ขนาดความจุเต็มพิกัด 16 GB ดังนั้น จึงกดภาพเต็มที่ไม่มียั้ง และโชคดีมากๆ ที่ว่า ผมถ่ายภาพลักษณะนี้จนถึงวันกลับยังไม่เต็มความจุ ทั้งๆ ที่สำรองไว้เผื่อเหนียวไว้อีกสองสามอันทีเดียว แถมแบตเตอรี่ recharge อีก 2 ชุด เรียกว่าป้องกันไว้ทุกจุด งานสนามไกลบ้านแบบนี้พลาดได้อย่างไร ? ![]() ตามทางเดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นอาคารสองชั้น ดัดแปลงจากอาคารใช้งานของ JNR เมื่อสมัยก่อน จนกลายเป็นอาคารสุดสวย แฝงด้วยความขึงขังอยู่ในที ![]() เดินชมความงามภายนอกอาคาร ตามเขาไปเรื่อยๆ ครับ ![]() ร่องรอยของอาคารใช้งานเก่า จะเห็นถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการด้วย ![]() มาถึงบริเวณจัดวางล้อขับของรถจักรไอน้ำที่มีขนาดใหญ่โต ถ้าถอดมาวางเดี่ยวโดด ไม่เหมือนตอนที่ติดตั้งกับตัวรถจักรเลย ![]() รุ่นรถจักรที่ผมเข้าใจว่าใช้งานกับล้อขับที่มีขนาดใหญ่โตนี้ เป็นรถจักรสร้างจากบริษัทในเยอรมนี ![]() เปรียบเทียบกับล้อขับขนาดย่อมกว่าครับ ![]() แผ่นอธิบายโดยย่อถึงล้อรถไฟประเภทต่างๆ เรียกว่า ให้ความรู้ตั้งแต่ยังไม่เข้าไปในพิพิธภํณฑ์เลยล่ะ อ่านจากภาษาอังกฤษเพียงน้อยนิดว่า เป็นล้อเหล็กหลอม ![]() ล้อเหล็กดัดครับ ![]() ล้อเหล็กหล่อ ถ้าเป็นนักศึกษาด้านนี้ หรือชาว ครฟ. คงจะอธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแคว ![]() ล้อไม้ คาดว่าคงใช้ในช่วงต้นๆ ของกิจการรถไฟ หรือเป็นล้อเกวียนขนสินค้าในยุคโน้น ![]() ล้อเหล็กแผ่นรีดเย็น ![]() เข้าใจว่าเป็นการจัดวางล้อประเภทต่างๆ ให้ชมครับ ![]() แคร่โบกี้สมัยใหม่ก็มี ยกมาให้เห็นของจริงกันเลย ![]() แบบว่า อ่านคำอธิบายภาษาญี่ปุ่นไม่เข้าใจ ขอเกาหัวแกรกๆ ไว้ก่อน ลองใช้วุ้นแปลภาษาของอากู๋ บอกว่าเป็นกำหนดการโชว์ของทางพิพิธภัณฑ์ ![]() ผ่านช่วงหนึ่ง ทาง JR ได้ตัดเอาส่วนหน้าของหัวรถจักรไอน้ำที่ปลดประจำการแล้ว มาตั้งเป็นนายแบบกันเลย ดูจากเสาอาณัติสัญญาณ ทำให้ทราบว่า ได้รับอิทธิพลจากรถไฟเครือจักรภพอังกฤษ เช่นเดียวกับในบ้านเรา ได้รับอิทธิพลจากรถไฟของจักรวรรดิเยอรมัน ![]() รอให้ครอบครัวก่อนหน้านั้นถ่ายภาพให้เสร็จก่อน ค่อยถึงตาเราบ้าง ![]() ชาวคณะเลยเอื้อเฟื้อถ่ายภาพตอบแทน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ หลังจากที่ อ.วิรัตน์ ได้นำชาวคณะมาปล่อยไว้ที่หน้าห้องจำหน่ายตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จัดแจงซื้อตั๋วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปล่อยให้ผมกับคุณณพเดินชมและบันทึกภาพตามอัธยาศัย โดยนัดพบกันอีกครั้งหนึ่งที่หน้าทางเข้าอาคารในเวลาปิดทำการ ซึ่งจะมีการกระจายเสียงให้ผู้เข้าชมได้ทราบล่วงหน้า เป็นเวลา 30 นาที อ.วิรัตน์ บอกว่า เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จนแทบหลับตาเดินได้ จึงขอตัวไปทำธุระเรื่องจองตั๋วของ JR Rail Pass ให้เรียบร้อยก่อน ถึงเข้ามารับตามกำหนดนัด คราวนี้ สองคนก็ย่างเท้าก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ แยกย้ายกันบันทึกภาพตามสไตล์ "สองคนยลตามช่อง..." ล่ะครับ ![]() พอก้าวเท้าเข้าข้างใน ก็อึ้ง ทึ่ง กับรถไฟหลากชนิดที่เคยใช้งานสมัย JNR และร้อยละ 99 ล้วนแต่ผลิตจากโรงงานในประเทศญี่ปุ่น ตัวยืนที่รู้จักกันมากที่สุด คือรถจักรไอน้ำรุ่น D 51 ซึ่งมีญาติรุ่น มิกาโด ใช้งานอยู่ใน รฟท. และมีการตัดเฉพาะภายใน cab ห้องขับให้ผู้สนใจมาขับเล่นประกอบกับการฉายภาพจากจอ simulator โดยมีเจ้าหน้าที่อยู่แนะนำ ควบคุมพร้อมสรรพ มีค่าใช้จ่ายทดลองขับด้วยนะ ให้เวลาคนละ 3 นาที และมีระบบเขย่าให้เหมือนสภาพวิ่งจริงด้วย ![]() คันนี้เป็นรถจักรไอน้ำสั่งนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสมัยกิจการรถไฟของญี่ปุ่นอยู่ในระยะเริ่มต้น ![]() คันซ้ายภาพนี้น่าสนใจครับ เป็นรถโดยสารสั่งนำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อใช้งานรถไฟที่เกาะฮอกไกโด สมัยก่อน ส่วนคันขวาภาพ มีการผ่าเครื่องแสดงให้เห็นระบบการทำงานของระบบไอน้ำภายในตัวรถจักรด้วย ในบ้านเราก็เคยมี เพื่อให้นักเรียนของโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟได้ศึกษา แต่หมดความจำเป็น เนื่องจากมีการยกเลิกใช้รถจักรไอน้ำ เลยถูกย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เจษฎาเทคนิค มิวเซียม นครชัยศรี และปิดเปลือกหุ้มเรียบร้อยแล้ว ![]() มีป้ายคำบรรยายสั้นๆ วางประกอบด้วย เสียดายที่ผมอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ได้เพียงแต่เดาเท่านั้น ![]() มีรถจักรไอน้ำรุ่น C 57 อยู่คันหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบประวัติความเป็นมาครับ เห็นตากล้องสมัครเล่นชาวญี่ปุ่นรายนี้ ทำให้นึกอิจฉาบ้านเขาเป็นกำลัง ที่สามารถซื้อหากล้อง และอุปกรณ์บันทึกภาพประดาได้ในราคาถูก ข้อนี้ ได้มาจากเดินเป็นเพื่อนช่วยลุ้น อ.วิรัตน์ หาซื้อกล้องคู่มือที่ร้าน big camera ย่านเอกิฮาบาร่า ในค่ำวันต่อมา ![]() รถจักรไอน้ำหน้าตาแปลกๆ ก็มีครับ คันนี้คงใช้งานไต่เขาที่สูงชัน เพราะมีล้อฟันเฟืองเพิ่มแรงขับอยู่ตรงกลางด้วย ![]() มาด้านรถจักรไฟฟ้าบ้างดีกว่า ส่วนใหญ่สมัยแรก มักจะใช้ในทางบนภูเขา ![]() รถจักรที่สร้างเองตอนแรก ผมว่ายังไม่สวยงามอะไรนัก แถมผมดันไปถ่ายรูปด้านท้ายอีกด้วย แต่โดยปกติแล้ว มักจะพ่วงพหุ (พ่วงคู่) ![]() รุ่นหลังๆ คงทำขบวนรถโดยสาร เลยมีลักษณะ (ท่าทางจะ) ลู่ลมแบบนี้ตามสไตล์ญี่ปุ่น ทราบข้อมูลว่า เป็นรถจักรไฟฟ้าสร้างในญี่ปุ่น และใช้งานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ![]() จากรถไฟจำลองที่ให้ผู้ชม (มักจะเป็นเด็ก) กดปุ่มเล่นเพื่อสังเกตการทำงานนั้น จะแสดงให้เห็นเครื่องจักร และอุปกรณ์ภายในแบบนี้ครับ ![]() จะอิจฉาเด็กญี่ปุ่นก็ตรงนี้แหละ เหอ.... เหอ.... ![]() มองไปมา อ้าว...หลักฐานระบุไว้ตรงนี้เอง เป็นรถจักรไฟฟ้ารุ่น ED 40 ใช้งานอยู่เส้นทางภูเขาทางด้านใต้ของญี่ปุ่น แถบเมืองนาโกยา ![]() ใบกำกับสรรพคุณตั้งอยู่ใกล้ๆ เช่นกัน เสียดายที่ผมอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเช่นเคย และขอพักตอนไว้ตรงนี้ก่อนครับ |
บทความทั้งหมด
|