สะบายดี...จำปาสัก (ตอนที่ 2) ![]() เช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นนอนแล้วออกมาสูดอากาศข้างนอกระเบียง อากาศเย็นสดชื่นจริงๆ เลยทราบว่าเสียงก๊อกน้ำที่ดังทั้งคืนนั้น มาจากฝนที่ตกรับคณะทัวร์ทั้งคืน มิใช่เจ้าที่เจ้าทางมาหยอกเอินแต่ประการใด ![]() ถือว่าโชคดีครับ เพราะตามปกติ อากาศช่วงกลางฤดูร้อนที่ปากเซนั้น น้องเหลือง ไกด์ลาวบอกว่า ทำให้เป็นเมืองที่ร้อนที่สุดของลาวเชียวล่ะ ![]() ตัวเมืองปากเซเหมือนอยู่ในห้วงหลับไหลรับอรุณ แค่ความเป็นจริงนั้น ชาวบ้านชาวเมืองเขาตื่นไปตลาดสดซื้อหาข้าวของกันตั้งแต่เช้ามืดแล้วล่ะครับ ![]() ก่อนรับประทานมื้อเช้านั้น เลยถือกล้องลงมาวนเวียนเก็บภาพด้านล่างโรงแรมสักหน่อย ![]() พอรำลึกถึงบรรยากาศสมัยเจ้าของวังยังครอบครองอยู่นะครับ ![]() เป็นข้อที่น่าชมเชยครับ ที่โรงแรมได้จัดหาเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงมาใช้งาน ทำให้กลมกลืนกับสภาพบรรยากาศสถานที่ได้สนิทใจ ![]() เช้าวันนี้ น้องเหลืองได้มาเพิ่มความรู้ด้านเงินตราของลาว โดยทางการลาวได้จัดแบ่งเงินตราออกเป็น 50,000 กีบ (อ่านว่าห้าสิบพันกีบ) 20,000 กีบ (อ่านว่าซาวพันกีบ) 10,000 กีบ (อ่านว่าสิบพันกีบ) 5,000 กีบ 2,000 กีบ และ 1,000 กีบ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนบัตรไทยกับเงินกีบของลาว โดยประมาณ 250 กีบต่อ 1 บาท หรือถ้าคิดแบบร้านตลาดจะเป็น 2500 กีบต่อ 10 บาท หรือ 5000 กีบต่อ 20 บาท 1 กีบมีมูลค่าเท่ากับ 100 อัด (อัฐ) แต่ไม่มีธนบัตรมูลค่า"อัด" ออกใช้ และที่สำคัญ ลาวไม่มีเงินเหรียญเลย เวลานักท่องเที่ยวให้เงินเหรียญห้าบาท สิบบาท แก่เด็กน้อยลาว ปรากฎว่าเด็กส่ายหน้า บอกว่าใช้ไม่เป็น ต้องรับเหรียญคืนแล้วให้ใบละ 20 แทน ที่เล่ามานั้น อย่าได้ตกใจ เพราะในลาวนั้น เงินบาทเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางตามเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ตลอดเวลาที่อยู่ในลาว ผมเพิ่งได้เงินทอนเป็นกีบคืนมาเป็นที่ระลึกเพียงใบเดียว มูลค่า 10,000 กีบ ทำเอาแม่ค้าที่ตลาดดาวเฮืองโล่งใจแทบแย่ ไม่เช่นนั้นต้องเหนื่อย วิ่งไปแลกเงินบาทจากเพื่อนแม่ค้าด้วยกันมาทอนผมอีก นอกเรื่องไปนาน วันนี้เราจะเดินทางไปยังดินแดนใต้สุดของลาว เที่ยวสี่พันดอน ชมน้ำตกหลี่ผี และคอนพะเพ็ง ![]() ออกจากโรงแรม รถบ่ายหน้าไปทางใต้ เห็นกลุ่มเยาวชน กำลังแบ่งกันฝึกอะไรสักอย่าง พอดีน้องเหลืองเหลือบไปเห็นเข้าเช่นกัน เลยอธิบายว่า เป็นการฝึกวิชาทหารของนักศึกษาวิทยาลัยครูปากเซ ช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ เช่นเดียวกับการเรียน รด.ของเรา โดยใช้เวลาฝึกวิชาทหารเพื่อรับใช้ชาติเป็นเวลา 3 เดือน ที่อธิบายได้นั้น เพราะเจ้าตัวเคยเข้ารับการฝึกวิชาทหารเช่นเดียวกัน แถมได้รับคำชมเชยยิงเป้าแม่น โดยเข้าเป้าทั้งสามนัด ครบจำนวนกระสุนที่แจกให้ยิงพอดี ![]() ทางเข้าวิทยาลัยครูปากเซครับ ![]() พอถึงแยกหลักแปด (ก.ม.8) หากตรงไปจะเป็นเส้นทางหลวงไปแขวงอัตปือ แขวงสาละวัน และแขวงเซกอง แต่ทางหลวงสายที่ 13 จะแยกลงใต้ ซึ่งผ่านสถานีรถโดยสารหลักแปด โดยบรรดารถโดยสารจากจำปาสัก หรือกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่จะไปยังแขวงต่างๆ ทางภาคใต้ของลาว จะมาจอดรับผู้โดยสารกันที่นี่ รวมถึงรถสองแถวที่ไปยังเมืองต่างๆ ของแขวงจำปาสักด้วย ![]() ร้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร ถึงแม้ว่าพี่น้องชาวลาวยังมีกำลังซื้ออยู่น้อยราย แต่เขากล้าลงทุนค้าขายเพื่ออนาคต ![]() ผ่านหน้าค่ายกองทัพแห่งชาติลาว ผมคิดว่าน่าจะเป็นค่ายใหญ่ เพราะมีพื้นที่กว้างขวางทีเดียว ![]() ส่งท้ายบริเวณค่าย ก่อนค่อยๆ ลับไปจากสายตา ![]() รถอีแต๊กสัญชาติลาว พร้อมเจ้าของ จอดอยู่ริมเส้นทาง จากมาตรฐานที่เคยจัดเอาไว้ ผมว่าท่าทางเจ้าของรถพอมีฐานะครับนี่ ![]() ทางด้านขวามือถัดจากแม่น้ำโขง มองเห็นเมฆหลังฝน ลอยเคลียคลอกับทิวเขาสูงแบบนี้ ลืมเรื่องการงานที่บ้านเราไปชั่วขณะ ![]() สถานบันฟื้นฟู และรักษาผู้ติดยาเสพติดแขวงจำปาสัก เช่นเดียวกับสถาบันธัญญรักษ์ในบ้านเรา ทราบข้อมูลจากน้องเหลือง ไกด์ลาวว่า สร้างโดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากประเทศไทยนี่เอง ![]() หมู่ทหารที่ออกไปดำนาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกลมเกลียว กับพี่น้องชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ![]() ที่ทำการปกครองเมืองปะทุมพอน (เทียบเท่ากับอำเภอ) แขวงจำปาสัก หากท่านใดถามว่าเมืองใดที่อยู่ใต้สุดของลาว คำตอบก็คือ เมืองดอนโขง แขวงจำปาสัก ครับ ![]() ครั้นแล้ว ผู้จัดทัวร์ได้บอกกับคณะว่า จะแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งนี้ และเปิดโอกาสให้ลูกทัวร์ลงไปใช้บริการห้องน้ำโดยไม่ต้องชำระค่าบริการแต่ประการใด ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า การท่องเที่ยวใน สปป.ลาวนั้น ยังขาดความสะดวกด้านห้องน้ำ สำหรับลูกทัวร์ที่เป็นผู้หญิง จึงเป็นข้อพึงระวัง จัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางทุกครั้งด้วยครับ ![]() ขณะที่เติมน้ำมันกาซวน (ดีเซล) อยู่นั้น ได้มีรถทัวร์ของลาวที่คันย่อมกว่า นำนักท่องเที่ยวฝรั่งมาแวะเข้าห้องน้ำที่ปั๊มนี้เหมือนกัน แถมออกเดินทางไปก่อนด้วยสิ ![]() สำหรับข้าวของสำเร็จรูปในร้านมินิมาทที่นี่ แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากร้านมินิมาร์ทในบ้านเราครับ ลูกทัวร์กลุ่มนี้ จึงหันมาสนใจกับ "ซิ้นฟานดาด" ที่แม่ค้านำมาจำหน่ายในราคาพื้นบ้านมากกว่า (ชิ้น = ชิ้นเนื้อ , ฟาน = เก้ง , ดาด = ตากแห้ง) เรื่อง "ดาดซิ้น" น้องเหลือง ได้เก็บมาตั้งปริศนาในรถว่า สถานที่ "ดาดซิ้น" ที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น เป็นอะไร ? กว่าจะได้คำเฉลยก็ค่อนบ่าย คือ "อ่างดาวเทียม" นั่นแล... ![]() ![]() ![]() มองดูระยะทางตามหลักกิโลดูแล้ว ดอนโขงยังอยู่ห่างออกไปประมาณ 60 หลัก คงนั่งกันนานอยู่ไม่น้อย หากขับตามความเร็วที่กำหนดในลาว แต่สำหรับผม เดินทางไปเรื่อยๆ แถมมองสองข้างทางแบบไม่เร่งร้อนอย่างนี้ คือว่าคุ้มค่าครับ ![]() หลังจากเติมน้ำมันเรียบร้อยแล้ว รถทัวร์ได้บ่ายหน้าล่องใต้ต่อไป และน้องเหลือได้กล่าวปูพื้นถึงเส้นทางรถไฟซึ่งเชื่อมระหว่างดอนเดด(ดอนเดช) และดอนคอน สมัยฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม ได้สร้างขึ้นด้วย สมัยนั้น ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสได้ลงเรือจากเมืองไซ่ง่อนลัดเลาะทวนกระแสน้ำมาตามลำน้ำโขง ผ่านพนมเปญ มายังลาว แล้วขบวนเรือมาหยุดที่หมู่เกาะสี่พันดอน โดยมี คอนพะเพง และ หลี่ผี ซึ่งเสมือนปราการหลังบ้านของลาวขวางอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำเรือแล่นผ่านได้ จึงได้มีการ "ม้าง" เรือแล้วใช้แรงงานลำเลียงข้ามดอนคอนมาประกอบใหม่ที่ดอนเดด(ดอนเดช) จึงสามารถแล่นเรือได้ตลอดลำน้ำโขงขึ้นไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง คำว่า "ม้าง" ทำให้ผมนึกถึงคำพูดสมัยป้ออุ๊ยผมทางเหนือ แปลว่า "ถ่างออก" หรือ "ถอดรื้อ" ขึ้นมาทันใด คำว่า สี่พันดอน เป็นคำเรียกจำนวน ดอน (เกาะ) บนแม่น้ำโขง ซึ่งมีมากที่สุดตรงที่แห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยาพื้นโลกทรุดลงทั้งผืน ทำให้แม่น้ำโขงทั้งสาย กลายสภาพเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ แต่ทางด้านเหนือน้ำ กลับเป็นผืนน้ำที่กว้างใหญ่ราบเรียบ เช่นที่ปากเซ ไม่แห้งเหือดดังเช่นบริเวณอื่น ![]() เมื่อการค้าขายและการล่องไม้ซุงตามลำน้ำโขงมีมากขึ้น ปัญหาใหญ่ของหมู่เกาะสี่พันดอน เริ่มทำให้ฝรั่งเศสคิดหาทางเอาชนะธรรมชาตินี้ให้ได้ โดยมีการระเบิดแก่ง แต่เนื้อหินที่แข็งแกร่ง และตัวแก่งมีขนาดใหญ่โตกว่าที่คาด ทำให้วิธีนี้ไม่ได้ผล จึงใช้วิธีก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนาดเล็กความยาว 6.5 ก.ม.เพื่อลำเลียงสินค้าจากเรือที่แล่นในแม่น้ำโขงตอนบนลงสู่เรือที่แล่นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เมื่อปี พ.ศ.2460 พร้อมทั้งสร้างหลักแสดงระดับน้ำให้ชาวเรือได้สังเกตด้วย หากตัวหลักใหญ่โผล่พ้นจากน้ำเมื่อใด จะแสดงให้ทราบว่าเรือที่กินน้ำลึก ไม่สามารถแผ่นผ่านร่องน้ำตรงนั้นได้ ในการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างดอนเดด(ดอนเดช) กับดอนคอนนั้น ประสบปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บและขาดแคลนเสบียงอาหาร กองทหารอาณานิคมซึ่งเป็นชาวเวียตนามผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ ได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่บรรดาทหารเวียตนามผู้เสียชีวิตที่ดอนคอน ซึ่งตั้งอยู่จนทุกวันนี้ แต่เปิดพอใช้งานได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และฝรั่งเศสได้หมดอำนาจจากอาณานิคมอินโดจีนในที่สุด เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกทิ้งร้างไป อย่างไรก็ตาม เพิ่อลำเลียงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้ซุง และแร่ธาตุ ที่มีอยู่มากมายในลาวออกสู่ตลาดภายนอกให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากการลำเลียงทางเรือที่มีข้อจำกัดด้านอุปสรรคจากสี่พันดอน ฝรั่งเศสยังได้ก่อสร้างเส้นทางหลวงอาณานิคมหมายเลข 13 จากเมืองหลวงพระบาง ลัดเลาะตามแม่น้ำโขงจนเข้าสู่ดินแดนของกัมพูชาและเวียตนามตอนใต้ และทางหลวงสายนี้ได้เริ่มพัฒนาจนเป็นเส้นทางสายหลักของ สปป.ลาว พูดถึงเรื่องสี่พันดอน หลายท่านอาจจะนึกถึงนามสกุลของ ท่านคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศลาวขึ้นมาได้ ซึ่งท่านมีภูมิลำเนาอยู่ถิ่นนี้เองครับ ฟังน้องเหลือง ไกด์สาวลาวเล่ากำลังเพลินๆ อยู่นั้น พอดีรถเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน "ลาดยางหมด" (หมดทางลาดยาง) สู่บ้านนากะสัง ต้นทางลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปยังดอนเดด(ดอนเดช) กันล่ะ ![]() แล้วถนนมาสิ้นสุดที่หน้าร้านอาหาร ในหมู่บ้านนากะสัง แต่ยังมีเส้นทางในหมู่บ้านลัดเลาะริมแม่น้ำโขงไปยังวัดและตลาดสดด้วยครับ น้องเหลืองกล่าวเพิ่มเติมให้คณะทัวร์ทราบว่า จะต้องลงเรือหางยาวต่อไปอีกราว 20 นาที ไปขึ้นที่ท่าดอนเดด(ดอนเดช) แล้วต่อ "รถห้าแถว" อีกทอดหนึ่ง ไปยัง น้ำตกหลี่ผี เคยได้ยินแต่คำว่ารถสองแถว สามแถว แล้วรถห้าแถว หน้าตาจะเป็นอย่างไรหนอ ? ![]() จากนั้น บรรดาลูกทัวร์ ต่างพากันลงจากรถแล้วเข้าแถวรอรับเสื้อชูชีพสีสะดุดตาก่อนลงเรือครับ ส่วนรถทัวร์นั้น ออกไปจอดรอตั้งหลักพักนอนที่ลานกลางหมู่บ้าน รอจนกว่าลูกทัวร์จะกลับนั่นแหละ สภาพเรือหางยาวที่จะพาคณะทัวร์ล่องแม่น้ำโขงไปสู่ดอนเดด(ดอนเดช)นั้น ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นเรือหางยาว แต่ความจุผู้โดยสารนั้นเกินตัว เพียงแค่สองลำเท่านั้น สามารถรองรับคณะทัวร์ ไกด์และทีมงานผู้จัดลงเรือได้ทั้งหมด ![]() หลังจากผมเอาหัวระโครงหลังคาเรือได้สองโป๊ก เพราะกะระดับความสูงผิด ก็ลงนั่งประจำเรือได้เรียบร้อยครับ โดยนั่งได้พอหลวมๆ สี่คนต่อ 1 แถว หลังจากตรวจสอบความเรียบร้อยของผู้โดยสารแล้ว นายท้ายก็เริ่มออกเรือ บ่ายหัวล่องใต้ไปยังดอนเดด(ดอนเดช) ![]() ผ่านแนวหลักแสดงระดับน้ำ สร้างมาตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม ![]() ตัวหมู่บ้านนากะสัง ด้านใต้ ซึ่งเป็นชุมชนค่อนข้างหนาแน่นแห่งหนึ่งริมแม่น้ำโขง ก่อนเข้าสู่ คอนพะเพ็ง ![]() วิถีชาวบ้านขณะหาปลา ช่วงเรือเริ่มลัดเลาะตามดอนกลางแม่น้ำโขงครับ ![]() และท่าเรือบ้านดอนเดด(ดอนเดช) เริ่มปรากฎให้เห็นเบื้องหน้า เห็นโครงสร้างคุ้นๆ ตานี้แล้ว คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคืออะไร เราจะเข้าเทียบท่ากันตรงนี้แหละ ![]() ตามที่น้องเหลืองกล่าวมาตั้งแต่แรกว่า การเดินทางไปยังน้ำตกหลี่ผี พอขึ้นจากเรือที่ดอนเดด จะต่อ "รถห้าแถว" อีกทอดหนึ่งไปยังดอนคอน จึงจะไปถึงน้ำตกซึ่งอยู่ติดชายแดนลาว-กัมพูชา ผมไม่ติดใจเรื่องการเดินทาง เพราะเป็นรสชาติของชีวิต แต่สงสัยว่า "รถห้าแถว" นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร ? พอเห็นตัวจริงแล้ว ก็เลิกสงสัยอีกต่อไป ![]() ![]() หลังจากทะยอยขึ้นรถห้าแถวกันเรียบร้อยแล้ว ก็แล่นตามกันไปบนถนนที่สร้างทับแนวเส้นทางรถไฟเก่าสายดอนเดด - ดอนคอนนั่นแหละครับ ![]() ขณะข้าม "ขัวฝรั่ง" หรือสะพานรถไฟฝรั่งเศส สร้างข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างดอนเดด กับ ดอนคอน ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวมาตามลำพัง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านใต้สะพานด้านดอนคอน ![]() เจอกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่งบนดอนคอน โบกมือทักทายด้วยแหละ ผมว่าเรามาช้ากว่าพวกฝรั่งทุกทีสิน่า ![]() ![]() ยังมีทรากทางรถไฟเก่าอีกนิดหน่อย ที่ถูกนำมาพิงไว้ริมทางช่วงใกล้สะพานบนดอนคอน พอให้นักท่องเที่ยวรู้ว่า เคยมีรถไฟขนถ่ายสินค้าของฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมอินโดจีน วิ่งบนเกาะแห่งนี้ ![]() ผ่านหัวรถจักรไอน้ำโบราณ ซึ่งปัจจุบันถูกยกไปไว้ในอาคารโถงถาวรให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้เข้าแวะชม ไม่ต้องถูกทิ้งไว้ตากแดดตากฝนอีกต่อไป ![]() เส้นทางแยกลงจากแนวทางรถไฟเก่า ผ่านบ้านคอนใต้ แล้วมาสิ้นสุดตรงหน้าบอนขายปี้ (ที่จำหน่ายตั๋ว) เข้าชมน้ำตกหลี่ผีครับ ในเมืองลาว ทางรัฐมักจะใช้วิธีให้เอกชนยื่นสัมปทานแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และโบราณสถานต่างๆ โดยจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ความเรียบร้อย และอื่นๆ ตามข้อตกลง โดยเรียกเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวเพื่อบริหารกิจการ ทำให้ลดภาระด้านงบประมาณที่มีอยู่จำกัดลงไปได้มาก สำหรับน้ำตกหลี่ผีแห่งนี้ ทราบจากไกด์ลาวว่า ผู้รับสัมปทานเป็นชาวเวียตนามครับ ![]() ขณะที่รอให้ไกด์ไป "ซื้อปี้" นอกจากจะบรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ไกด์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบด้านประสานงานอำนวยความสะดวกแก่คณะทัวร์ รวมถึงการซื้อ "ปี้" ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่พึงมีอีกด้วย นับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างรับผิดชอบมากทีเดียว ![]() จะแอบมั่วนิ่มข้ามไปก่อนก็ไม่ได้ เพราะพนักงานรอคุมเชิงเจาะตรวจ "ปี้" อยู่แล้ว ![]() ![]() มาแล้วครับ "ปี้" เข้าชมน้ำตกหลี่ผี ที่ผู้จัดนำมาแจกให้กับลูกทัวร์ ก่อนแจ้งให้เดินข้ามสะพานเป็นคู่ๆ เพื่อความสะดวกของพนักงานที่รอตรวจ "ปี้" และเจาะรู "ปี้" ไว้เป็นหลักฐาน ![]() พอผ่านด่านตรวจ "ปี้" มาได้ ต่างถอนหายใจโล่งอก แล้วรีบเดินตัวปลิวไปยังน้ำตกหลี่ผีโดยมิชักช้า ![]() พอพ้นจากหมู่บ้านท้ายสะพานแล้ว จะข้ามสะพานอีกแห่งหนึ่ง ไปยังบริเวณน้ำตก ![]() และแล้ว ตัวน้ำตกหลี่ผี หรือน้ำตกโสมพะมิด ที่ส่งเสียงครึกโครม ก็ปรากฎอยู่ข้างหน้า ![]() ด้วยความใหญ่โตของตัวน้ำตก แถมด้วยข้อจำกัดของมุมกล้อง ทำให้ภาพที่ได้ไม่ใหญ่โตอลังการเท่าที่ควร ![]() มาไกลทั้งที ขอเก็บภาพตัวเองไว้กับสถานที่ไว้เป็น "ที่ละนึก"(ภาษาลาวแปลว่า ที่ระลึก) ก่อนครับ ![]() บริเวณตัวน้ำตก ![]() ที่มุมมองมหาชน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพกันมาก แสดงถึงตัว "หลี่" หรืออุปกรณ์จับปลาของชาวบ้านที่นำมาตั้งบริเวณน้ำตก ในช่วงสงคราม มักจะมีศพของทหารและชาวบ้านไหลตามกระแสน้ำตกมาค้างที่ตัว "หลี่" เสมอ น้ำตกแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "น้ำตกหลี่ผี" ![]() ที่ทิวไม้เห็นไกลๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น คือประเทศกัมพูชา นี่ผมมาถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่งหนึ่งแล้วกระมัง ? ![]() หลังจากได้อิ่มเอมกับทิวทัศน์น้ำตกหลี่ผี หรือน้ำตกโสมพะมิด กันทั่วหน้าแล้ว บรรดาลูกทัวร์ต่างทะยอยกันนั่งรถห้าแถวกลับไปลงเรือ คงเหลือแต่ขาช้อปปิ้งเหล่านี้ ยังยังให้ความสนใจกับบรรดา "ของที่ละนึก" จนกระทั่งผู้จัดค่อยๆ เข้ามาตะล่อมชวนกันกลับนั่นแหละ ถึงได้ออกจากร้านแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าใดนัก ![]() ![]() อาจเป็นโชค ที่ยังมีเพื่อนร่วมทางมารอสบทบก็ได้ครับ เพราะว่าลูกทัวร์ที่กลับไปก่อนนั้น มีอยู่คันหนึ่ง รถยางแตกกลางทาง ต้องรอมาลงขึ้นรถจากคิวท่าดอนเดดกลับมารับ แต่ทว่า มาติดหล่มริมทางเข้าอีก ต้องทุลักทุเลกันอยู่นาน กว่าจะกลับถึงท่าเรือ ![]() ลำน้ำย่อยจากแม่น้ำโขง บริเวณ "ขัวฝรั่ง" เชื่อมระหว่างดอนเดด และ ดอนคอน ![]() ไปล่ะเด้อ ดอนเดด - ดอนคอน คงอีกนาน... กว่าจะมีโอกาสกลับมาเยือนอีก ![]() ระหว่างเดินทางกลับ มีนักร้องสมัครเล่นซึ่งเป็นลูกหลานนายท้ายเรือ อาสาขับกล่อมในเรือด้วยครับ เพลงลูกทุ่ง หมอลำซิ่งที่ฮิตๆ ในเมืองไทย นักร้องอาสาเหล่านี้ฮ้องได้เหมิ๊ด... "ยึกๆ ยักๆ เป๋นหยังยึกๆ ยักๆ" ฮ่า.... เลยได้สินน้ำใจเป็นค่าทุนการศึกษาจากลูกทัวร์ในเรือไปอีกหลายบาท แต่ต้องไปแลกเป็นเงินกีบที่บนฝั่งเอาเองนะ ![]() ![]() ชุมชนบ้านนากะสัง มองจากในเรือตอนขากลับ ![]() กว่าจะถึงบนฝั่ง เข้าสู่ร้านอาหาร "วงวิวัน" ที่ท่าเรือ บรรดาลูกทัวร์ที่กลับมาเที่ยวแรกๆ ต่างโซ้ยมื้อเที่ยงไปตั้งครึ่งค่อนแล้วครับ รีบทำเวลาตามให้ทัน โดยว่ากันเต็มพิกัด มื้อนี้ล้วนแต่ปลาน้ำโขงทั้งสิ้น Bon Appetit !!! จบตอนที่สอง... ถ้าเขียนเสร็จ ช่วยนำมาแชร์กันด้วยนะครับ จะได้มีมุมมองที่เพิ่มเติม
โดย: owl2
![]() |
บทความทั้งหมด
|
...
ผมเพิ่งไปมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ..
ตอนนั้นที่บ้านนากะสังน้ำลง ..
จากปลายบันไดกลายเป็นหาดทราย
ยาวออกไปกลางแม่น้ำซักเกินครึ่งสนามฟุตบอลได้ ..
ชาวบ้านลงไปตั้งเพิงขายของกันติดริมน้ำกันเลย ..
...
แต่ร้อนมากๆๆๆๆ จริงๆ ครับ ..
...
กำลังเอามาเขียนบล็อคอยู่เหมือนกัน ..
...