สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (8)
สวัสดีครับ...

สารคดีสั้นจาก "คนเมือง" ชุดนี้ จะหมิ่นเหม่เกี่ยวกับเรื่องภัยของสุขภาพหรือเปล่าหนอ...? แต่ก็เอาเถอะครับ เราไม่ได้เสพ แต่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปลูกยาสูบ และการบ่มใบยา ที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ขออนุญาตเก็บมาเล่าสู่กันฟังกันหน่อย

สมัยผมยังเด็กๆ หากได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดหรืออำเภอใกล้เคียงในภาคเหนือแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชอบมองดูขณะที่รถวิ่งผ่าน คือหมู่อาคารทรงทึบสีอิฐแดง หลังเล็กๆ ปลูกเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ และแปลกกว่าอาคารอื่น ตรงที่หน้าจั่วจะมีคันโยงปลายเชือกผูกติดไว้ โดยปลายเชือกจะนำมารวมกันบริเวณข้างๆ อาคาร ถามพ่อแม่ ได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า เป็นโรงบ่มใบยา

โตขึ้น มาอยู่กับยายเพื่อเรียนหนังสือ ก็ได้รู้เพิ่มเติมอีกว่า ยาเส้นในกระป๋องประจำตัวยาย จะเป็น "ยาจ๋าง" หรือ ยาจืด "ยาเส้นเมืองสอง" ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียจาก อ.สอง จ.แพร่ นั่นเอง ต่างจากกระป๋องยาเส้นของพ่อผมที่เป็น "ยาขื่น" หรือยาฉุน ยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ มาจากกรุงเทพฯ ยี่ห้อ 555 จากร้านแถวหน้าวัดสามปลื้มนี่แหละ สูบทีหนึ่ง กลิ่นฉุนจนเป็นกลิ่นประจำบ้าน แต่ก็ได้ประโยชน์ตรงที่ทำให้ผมกลายเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่มาจนทุกวันนี้ เพราะดมแต่กลิ่นบุหรี่ในบ้านตั้งแต่เล็กแต่น้อย จนอิ่มตัว

พูดมากไปหน่อยครับ สารคดีสั้นชุดนี้จะประกอบด้วยภาพสี่สีนำเรื่อง และเรื่องราวของยาสูบ ถ่ายภาพโดย ศิลป วิจิตรศิลป และบรรยายโดย เชน ชยาวุธ ลงพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2498 ครับ

สำหรับข้อมูลในเรื่อง จะเป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2496 - 97 แต่แสดงให้เห็นว่า ก่อนเข้าสู่ยุครณรงค์ให้งดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเช่นปัจจุบันนั้น พี่น้องชาวไทยเราต้องเสียเงินเป็นค่าบุหรี่กันคนละไม่น้อย โดยที่ยังไม่รวมยาเส้นที่วางขายเป็นก้อนตามร้านโชวห่วยและตามตลาดสด ดังนั้น ขอเชิญติดตามชมบรรยากาศเรื่องราวของยาสูบในยุคโน้นได้เลยครับ

............................


ทัศนภาพจากเมืองเหนือ

ไร่ยาสูบในภาคเหนือ

ภาพโดย ศิลป วิจิตรศิลป





บนผืนแผ่นดินไทยของเรานี้ ในวันหนึ่งๆ ปรากฎว่าบุหรี่ที่จัดจำหน่ายโดยโรงงานยาสูบของรัฐบาล สิ้นเปลืองไปไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านมวน เมืองไทยเรามีชาวไร่ที่เพาะปลูกยาสูบอยู่ ๑๖ จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นเอง นับว่าสามารถผลิตได้ผลเพียงพอแก่การใช้ในประเทศ..

หลังจากที่กล้ายาสูบได้แยกจากแปลงเพาะมาปลูกในไร่แล้ว เมื่อผ่านการทะนุบำรุงและดูแลเป็นอย่างดี ต้นยาสูบจะงอกงามชูยอดสะพรั่ง เป็นสัญญาณบอกให้ชาวไร่รู้ว่า ในไม่ช้าใบยาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเงินเป็นทอง คุ้มค่าเหนื่อยที่ได้ลงทุนลงแรงทำมาแต่ต้น มันเป็นผลจากแรงงานโดยแท้...

ทุกเช้าและทุกเย็น เจ้าของไร่ที่กำลังจะเป็นเงินเป็นทอง ก็จะลงมาดูแลไร่ คอยกำจัดตัวแมลงที่กัดกินใบยา และพร้อมกันนั้น ก็ชื่นชมผลงานที่ได้ทำมาแต่ต้นของตนว่า ผลที่จะได้รับตอบแทนปีนี้ มันไม่ได้น้อยไปกว่าเมื่อปีที่แล้วเลย.

.............................

เรื่องของยาสูบ

ศิลป วิจิตรศิลป ถ่ายภาพ
เชน ชยาวุธ บรรยาย


.......................

ทุกวันนี้ บุหรี่มีบทบาทแนบแน่นอยู่กับชีวิตประจำวันของคนไทยทั้งประเทศ กิจการผลิตยาสูบเป็นวิสาหกิจผูกขาดของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อใบยา การผลิตบุหรี่, และการจำหน่ายแก่ประชาชน จากสถิติที่เปิดเผยปรากฎว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ทั่วประเทศมีผู้สูบบุหรี่สิ้นเปลืองไปราวสี่สิบล้านมวน ! ยาสูบจึงทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำท่านผู้อ่านไปสู่ไร่ยาสูบ... ไปดูการผลิตใบยา... ตั้งแต่เริ่มแรกลงมือหว่านกล้า... จนกระทั่งเข้าเตาอบ พร้อมที่จะส่งเข้าโรงงานผลิตเป็นบุหรี่ออกสู่ท้องตลาด... ก็เพราะ “เรื่องยาสูบ” ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ารู้ น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เหตุว่า, ยาสูบก็นับว่าเป็นขุมทองขุมหนึ่ง ในจำนวนไม่กี่ขุมที่มีอยู่บนผืนแผ่นดินไทยของเรา...

........................





เมื่อพูดถึง “ยาสูบ” ทุกคนคงจะร้อง อ๋อ ! เพราะคนไทยส่วนมากรู้จักยาสูบกันดีทั้งผู้ชายและผู้หญิง, เด็กและผู้ใหญ่ เราจึงขอเล่าเรื่องของยาสูบสู่กันฟัง

ภาพข้างบนนี้คือเตาบ่มยาสูบ ซึ่งในจังหวัดภาคเหนือมีอยู่มากมายหลายแห่ง โดยจัดตั้งเป็น “สถานีบ่มใบยา” ขึ้นดำเนินการ

ตามสถิติที่เปิดเผยแล้ว, ปรากฎว่า การผลิตยาสูบนั้นมีชาวไร่ถึงเจ็ดแสนคน, มีโรงบ่มทั่วประเทศ ๒,๗๖๔ โรง เมื่อปีกลายนี้เอง, เมืองไทยผลิตยาสูบได้รวมน้ำหนักถึง ๑๒ ล้านกิโลกรัมเศษ นับว่าเพียงพอใช้ในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งใบยาจากต่างประเทศเลย

หมายเหตุ : เป็นข้อมูลในช่วงปี พ.ศ.2496 - 97






งานขั้นแรกของการผลิตยาสูบก็คือ หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงเพาะ และคอยเฝ้าทะนุบำรุงจนต้นกล้ายางอกงาม นอกจากนั้น, โดยที่ยาสูบเป็นพืชล้มลุก ไม่สามารถจะต้านทานแดดและฝนได้ แปลงเพาะต้นกล้ายาจึงต้องใช้ผ้าดิบขาวดาดโค้งเหมือนประทุนเรือกระแชงปกคลุมไว้ ป้องกันกล้ายาเหี่ยวเฉาและล้มเมื่อถูกแดดหรือฝน

งานปลูกยาสูบของชาวไร่ได้เริ่มต้นจริงจังแล้ว จากแปลงเพาะกล้ายานี้แหละ เมื่อได้รับการเอาใจใส่เพียงพอ มันก็ทำเงินให้ชาวไร่ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย นอกจากจะช่วยเศรษฐกิจในครอบครัวแล้ว ยังผดุงเศรษฐกิจของชาติอีกโสดหนึ่งด้วย





ไม่เพียงแต่จะต้องใช้ผ้าดาดคลุมกันแดดและฝนเท่านั้น กล้ายาก็เหมือนกับพืชอย่างอื่น ที่ต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นเพื่อเจริญเติบโตต่อไป ดังนั้น, งานประจำอีกอย่างหนึ่งของชาวไร่ (โดยฉะเพาะเป็นงานของผู้หญิง) ที่ต้องรดน้ำแปลงเพาะกล้ายาเป็นประจำทุกๆ วัน จนกว่า... ต้นยาจะเลี้ยงตัวเองยืนต้นติด !

ยังไม่หมดหรอก, งานของชาวไร่ยาสูบยังคงมีต่อไป และก็เป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งทุนรอนและแรงงานอยู่ไม่น้อย...





เมื่อต้นกล้ายาเติบโตเพียงพอ สามารถที่จะนำไปปลูกในไร่ต่อไปได้แล้ว คนงานจะช่วยกันถอนกล้ายาจากแปลงเพาะ เพื่อส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวไร่นำไปปลูกในไร่ รอวันรอคืนและเฝ้าดูแลกันต่อไป จนกว่าใบยาจะแก่ใช้การได้





เมื่อใบยาแก่สุกเต็มที่แล้ว ชาวไร่ก็มองเห็นเงินทอง โดยช่วยกันเก็บใบยาบันทุกเกวียนนำมาส่งให้สถานีบ่มใบยา เมื่อถึงคั่นนี้, งานของชาวไร่ก็นับว่าสิ้นสุดลงแล้ว

ต่อจากนั้นไป, ก็เป็นเรื่องของสถานีบ่มใบยา ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนกว่า- ใบยาสดจะกลายเป็นใบยาแห้งส่งขายโรงงานยาสูบได้





ก่อนที่จะรับซื้อใบยาจากชาวไร่ เจ้าหน้าที่ของสถานีบ่มใบยาก็จะทำการคัดเลือกตรวจคุณภาพของใบยาเสียก่อน หลังจากนั้นจึงจะรับซื้อ, ตกลงราคากับชาวไร่ โดยคิดราคาเป็นน้ำหนักต่อกิโลกรัม





เมื่อทางสถานีบ่มใบยารับซื้อใบยาจากชาวไร่แล้ว คนงานหญิงของสถานี ก็จะช่วยกันมัดใบยาเป็นมัดๆ เพื่อจัดส่งเข้าเตาอบต่อไป

เรื่องของยาสูบเกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว เพราะหลังจากนี้ใบยาเป็นมัดๆ ก็จะถูกขนเข้าไปสู่โรงบ่ม จัดการอบให้แห้งตามหลักวิชาต่อไป





ใบยาสดเมื่อได้นำเข้าเตาอบตามวิธีการเรียบร้อยแล้ว ใบยาสดนั้นก็จะกลายเป็นใบยาแห้งสีเหลืองอร่าม ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนงานหญิงที่จะต้องนำไปคัดแยกเป็นยาชั้นหรือชนิดต่างๆ กันต่อไป

หลังจากนั้น, ใบยาแห้งที่อบแล้วเหล่านี้ก็จะทะยอยกันสู่โรงงานยาสูบ เพื่อผลิตเป็นบุหรี่ตราต่างๆ ออกมาจำหน่ายในท้องตลาด

เรื่องของยาสูบ— ถ้าจะว่ากันไปแล้ว มันก็เท่ากับว่าเป็นการหมุนเงินจากประชาชนสู่ประชาชนนั่นเอง

.............................

(จากนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2498)



Create Date : 04 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 22:48:47 น.
Counter : 3305 Pageviews.

2 comments
โรงงานผลิตอาหารเสริมผู้ชาย ตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ได้คุณภาพ สมาชิกหมายเลข 7213059
(3 เม.ย. 2567 00:10:02 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเอกซ์โพเนนเชียล & ลอการิทึม นายแว่นขยันเที่ยว
(27 มี.ค. 2567 00:52:25 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
  
ผมเข้าชมทุกตอน ได้ความรู้หลากหลายของดินแดนในภาคเหนือในยุคสมัยนั้น อีกทั้งคำบรรยาย อ่านได้เพลินที่เดียวครับ

ให้ภาพของบ้านเมืองที่สุข สงบ อาชีพ ประเพณี ที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
โดย: Insignia_Museum วันที่: 4 กันยายน 2553 เวลา:18:48:37 น.
  
ขอบคุณครับ ที่เข้ามาแวะชม แต่ลึกๆ ในใจของพี่น้องชาวบ้านนั้น ยังมีความอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจกับผู้อื่นอยู่เต็มเปี่ยมครับ

จุดประสงค์ที่ผมนำลงเผยแพร่ เพราะต้นฉบับอยู่ในสภาพเก่ากรอบ เริ่มหมดสภาพแล้ว อยากให้ผู้อื่นได้มีโอกาสชื่นชมบรรยากาศในสมัยเก่าๆ และชื่นชมฝีมือของผู้ถ่ายภาพ รวมถึงผู้เขียนคำบรรยาย โดยไม่แก้ไขสำนวนเดิมแต่อย่างใดครับ
โดย: owl2 วันที่: 4 กันยายน 2553 เวลา:23:17:57 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด