มิงกาลาบาห์ เมียนมาร์ ( 2 )


หลังจากก้าวสู่แผ่นดินพม่าอย่างเต็มตัวแล้ว ก็หอบหิ้วสัมภาระส่วนตัวไปยังรถทัวร์ปรับอากาศคันบักเอ้บ ที่จอดรอรับพร้อมไกด์หน้าอาคารสนามบินล่ะครับ

สำหรับลูกทัวร์คณะนี้ มีเพียง 14 คนเท่านั้น พอขึ้นรถได้ จึงเลือกหาที่นั่งได้ตามอัธยาศัย

และแน่นอน ผมเลือกที่นั่งริมหน้าต่าง เพื่อความสะดวกในการชมบ้านเมืองระหว่างทางไปด้วย

ตามกำหนดการวันนี้ จะเดินทางผ่านเมืองหงสาวดี ข้ามสะพานแม่น้ำสะโตง โดยมีจุดหมายปลายทางที่วัดเจดีย์อินทร์แขวน เมืองไจ้ก์ทีโย รัฐมอญ



ข้าวของสัมภาระ จะถูกเก็บไว้ใต้ท้องรถ โดยมีป้ายชื่อเจ้าของ และบริษัททัวร์ผูกติดให้อย่างเรียบร้อย โดยมีหัวหน้าทัวร์และไกด์ คอยดูแลความเรียบร้อย



เก็บภาพแท็กซี่เมืองย่างกุ้งมาฝาก แถมมีทั้ง Uber Taxi และ Grab Taxi ด้วยสิ

ป้ายทะเบียนที่บ้านเราถือว่าเป็นรถใหม่นั้น บ้านเขาถือว่าเป็นรถรับจ้าง ส่วนรถส่วนตัวจะเป็นป้ายดำ ตัวอักษรขาวครับ

ได้ยินจากไกด์เล่าภายหลังว่า ปกติ จะเป็นราคาสำหรับวิ่งไม่เปิดแอร์ หากต้องการแอร์เย็นๆ บอกลูกพี่คนขับ จะได้รับแอร์เย็นฉ่ำสมใจ โดยเสียค่าบริการเพิ่มอีก 2,000 จ๊าดเท่านั้น



พอจัดข้าวของแล้วเสร็จ หัวหน้าคณะทัวร์พร้อมไกด์ ต่างช่วยกันนับจำนวนลูกทัวร์ เพราะยังไม่คุ้นหน้ากัน พอเห็นว่าลูกทัวร์ขึ้นรถครบถ้วน ไม่มีหายหกตกหล่นแต่ประการใดแล้ว

ล้อเริ่มหมุน ลัดออกชานเมืองย่างกุ้งไปยังวัดพระธาตุอินทร์แขวนโดยไม่รอช้า



ถึงเวลาที่คุณมัท หัวหน้าคณะทัวร์ กล่าวแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ บริการต่างๆ ที่จะได้รับ และรายการทัวร์ของแต่ละวันพร้อมสิ่งละอัน พันละน้อยต่างๆ ที่ลูกทัวร์ควรทราบ นอกเหนือจากรายละเอียดที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าไปแล้ว

จากนั้น ไกด์ของบริษัทสาขาประเทศเมียนมาร์ ได้กล่าวแนะนำตัวเองบ้างด้วยสำเนียงไทยชัดเจน 98 % ชื่อว่า นางแสงแก้ว ไม่มีนามสกุล เป็นชาวเมืองเชียงตุง รัฐฉาน และอธิบายเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของประเทศเมียนมาร์ มีพื้นที่ทั้งหมด 676,578 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 56,400,000 คน มีชาติพันธุ์พม่า 68 % ไทใหญ่ 9 % กะเหรี่ยง 7 % ยะไข่ 3.50 % จีน 2.50 % มอญ 2 % คะฉิ่น 1.50 % อินเดีย 1.25 % ชิน 1 % คะยา 0.75 % อื่น ๆ 4.50 %

สกุลเงิน เป็นเงินจั๊ด อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 บาท / 25 - 30 จั๊ด หรือ 1 US Dollar = 833 จั๊ด หรือ 1,000 จั๊ด = 40 บาท และมีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันในรถให้ด้วย โดยสามารถแลกคืนตามอัตราท้องตลาด

เวลาในประเทศเมียนมาร์ ช้ากว่าเวลาในประเทศไทยประมาณ 30 นาที และการนัดหมายตั้งแต่วันนี้ไป จะใช้เวลาในประเทศเมียนมาร์ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ผมจึงคิดง่ายๆ ว่าได้กำไรเรื่องเวลานิดหน่อย และขอเรียกชื่อประเทศของเขาง่ายๆ ให้คุ้นปากว่า พม่า ก็แล้วกัน

พม่าแบ่งการปกครองออกเป็น 7 เขต 7 รัฐ และอีก 1 ดินแดนสหภาพ คือ เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศนั่นเอง

เหมือนกับจะรู้ว่าคงโดนซักถามเรื่องไม่มีนามสกุลแล้วมีวิธีจำว่าอย่างไร ? น้องเลยอธิบายว่า ปกติ จะเรียกชื่อ แล้ววงเล็บด้วยชื่อพ่อพร้อมกับลักษณะนามที่เด่นๆ เช่น สูง ต่ำ ดำ ขาว หากมีซ้ำกันอีก ก็ลามไปถึงชื่อปู่ล่ะ

ส่วนคำว่า นาง นั้น พอโตจากเด็กสาว ก็เป็น นาง เลยล่ะ เช่นเดียวกับสาวลาว

ความใฝ่ฝันของน้องก็คือ มีโอกาสนั่งรถไฟฟ้าเวลามาเที่ยวเมืองไทย และได้ยินว่า มีภาษาพม่าใช้กันแพร่หลายตามตู้ เอ.ที.เอ็ม. และธนาคารในเมืองสมุทรสาครและสมุทรสงคราม แต่ยังไม่มีโอกาสได้เห็น

ถึงตอนนี้บรรดาลูกทัวร์กว่าครึ่ง ต่างผงกศรีษะรับ ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า มีแน่นอน 100 % เลยได้ข้อมูลว่าบรรดานักรบแรงงานชาวพม่า เริ่มทยอยกลับประเทศ เพราะมีบริษัทห้างร้านต่างๆ ตั้งเพิ่มในพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ชาวพม่ายังให้ความเชื่อถือในสินค้าไทยในด้านคุณภาพ ถึงแม้ว่าจะมีราคาค่อนข้างสูงนิดหน่อยก็ตาม

สำหรับวีรกรรมที่เคยมีในประเทศไทยนั้น ตอนเข้าชมพระบรมมหาราชวัง ทางเจ้าหน้าที่โบกมือให้ไปต่อแถวในช่องของคนไทย แทนที่จะไปอยู่ในช่องสำหรับชาวต่างประเทศ ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ทำเอาเจ้าตัวดีใจสุดๆ เพราะหน้าตาเป็นคนไทยไม่ผิดเพี้ยน แต่ต้องทำเงียบ กลัวเขาจับได้ว่าไม่ใช่คนไทย เวลาพูดออกมา

แต่ผมว่า น้องเขาพูดไทยได้ชัดเจนมาก เจ้าตัวยังขวนขวายหาหนังสือไทยมาอ่านเสมอ และบอกว่า ชาวพม่าทุกวันนี้ หากจะก้าวหน้า ต้องมีความรู้ด้านภาษาถิ่นเกิด ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาต่างประเทศอย่างน้อยอีก 1 ภาษา ในที่นี้น้องเขาเลือกเรียนภาษาไทย

แถมรักอาชีพไกด์ด้วยสิ



หลังจากบรรยายสรุปเสร็จ ทีมงานก็ปล่อยให้ลูกทัวร์ได้พักสายตาระหว่างเดินทาง หรือนั่งชมทิวทัศน์สองข้างทางตามอัธยาศัย

จะหาว่าชาตินิยมก็ยอมครับ ที่เห็นป้ายโฆษณาสินค้าไทยผงาดในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีอดีตนักรบแรงงานบ้านเขาเป็นผู้รับประกัน



เจอโฉมใหม่ของรถเมล์เมืองย่างกุ้งครับ ติดแอร์เย็นเฉียบ แถมด้วยระบบชำระเงินด้วยตัวเอง ไม่มีกระเป๋าคอยห้อยโหนโจนทะยานแบบเมื่อก่อน ในอัตรา 10 จั๊ตต่อเที่ยว

รถเมล์เมืองย่างกุ้งยุคใหม่ Yangon Bus Service (YBS) ดำเนินการโดย การขนส่งรถประจำทางเขตย่างกุ้ง Yangon Region Transport Authority (YRTA) เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2560

ให้บริการแก่ประชาชนจำนวน 2.8 ล้านคนต่อวัน รวมถึงบริษัทรถร่วมเอกชนด้วย มีจำนวนถึง 7,800 คันเฉพาะในตัวเมืองย่างกุ้ง

มีถึง 4,000 คันที่วิ่งอยู่บนถนน ให้บริการถึง 300 เส้นทางทีเดียว



มีปั๊มน้ำมันอีกหลากยี่ห้อที่กำลังผุดขึ้นในกรุงและหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

เสียดายที่ปากหนัก ลืมสอบถามไกด์ว่ายังมีการปันส่วนน้ำมันเช่นแต่ก่อนหรือยัง ?



บ้านใครบ้านมัน ระเบียบปฏิบัติคงแตกต่างกัน จึงของดการวิจารณ์มา ณ ที่นี้



ป้ายรถเมล์ หนึ่งในหลากรูปแบบในกรุงย่างกุ้งวันนี้

แบบที่มีหลังคาเป็นซุ้มอย่างบ้านเราก็มีครับ แต่ไม่มีจังหวะบันทึกภาพ



คงจะเป็นรถร่วมบริการแน่ๆ เชียว แต่ที่แน่ๆ ไม่มีบริการรถตู้ให้เห็นแม้แต่คันเดียว



เสาไฟฟ้าบ้านเขาแปลกตาจากที่เคยเห็น เพราะทำเป็นเสา คสล.แบบกลมครับ



ภาพส่งท้าย ก่อนออกนอกเขตเมืองย่างกุ้งในบ่ายวันนั้น



ผ่านตลาดสดริมถนนสายย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์

เราจะผ่านถนนสายนี้ก่อน แล้วค่อยแยกกันที่เมืองหงสาวดีครับ



รถสองแถวเมืองพม่า ล้อหลังโต หุ่น classic เชียว



ดูจากสภาพ คงบึกบึนดีแท้ ก่อนถนนหนทางจะลาดยางราบเรียบเช่นทุกวันนี้



ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทาง เข้าใจว่าทางรัฐบาลใช้เงินกู้มาก่อสร้าง พอแล้วเสร็จ จึงตั้งด่านเก็บเงินจากผู้ใช้ทางจนกว่าจะหมดภาระหนี้สินนั่นแหละ

ด่านเหล่านี้ ยังมีด่านประจำเขตเมือง หรือด่านของรัฐต่างๆ อยู่ด้วย เคยมีคณะอาจารย์มาทัวร์ตั้งข้อสงสัยว่าเอาเงินไปใช้ทำอะไร ? และขอให้ไกด์ลงไปสอบถาม

คำตอบที่ได้จากเจ้าหน้าที่ประจำด่าน หน้าตาแบบชาวบ้าน ทำให้ไกด์ต้องแปลงความหมายที่ควรจะพูด ขึ้นไปบอกคณะอาจารย์ได้ทราบอีกทีหนึ่ง

ตามคำพูดที่แท้จริงแล้ว แปลตรงตัวว่า "ถามทำไมวะ ?"



ถึงจะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทางด่านก็มีตาชั่งขนาดใหญ่เช่นกันไว้รองรับ

จากการสังเกต ค่ายรถบรรทุกจากญี่ปุ่น มักจะครองตลาดในพม่า โดยมียี่ห้อ "ฮีโน่" ครองแชมป์จำหน่ายสูงสุด

ต่างจาก สปป.ลาว ที่ค่ายรถยนต์ "ฮุนได" จากเกาหลี ครองแชมป์อย่างขาดลอย ทั้งๆ ที่หน้าตาคล้ายกับรถบรรทุกค่ายมิตซูบิตชิ "ฟูโซ่" อย่างไม่ผิดเพี้ยน



โฉมหน้าของปั๊มน้ำมันสมัยใหม่ ที่ทำให้ผมคิดว่ามีหลากหลายยี่ห้อปานปั๊มตามท้องถิ่นประมาณนั้น

แต่ไม่มีร้านสะดวกซื้อเป็นของแถมแบบในบ้านเรานะครับ



กิจการอีกอย่างหนึ่งที่กำลังผุดขึ้นปานดอกเห็ดหน้าฝนก็คือ สาขาธนาคารต่างๆ ที่แต่ก่อน รัฐบาลทหารเคยยึดกิจการเข้ามาเป็นของรัฐ

หากใครอ่านนวนิยายเรื่อง "สิ้นแสงฉาน" คงจะทราบเหตุผลนะครับ



ปั๊มอีกแห่งหนึง มีบริการจำหน่ายน้ำมันตลอด 24 ชม.ด้วยแน่ะ



นั่งรถชมสองข้างทางกำลังเพลินๆ เรากำลังเข้าเขตชานเมืองหงสาวดีแล้ว

ระยะทางจากย่างกุ้งมายังหงสาวดี ประมาณ 80 กม.เท่านั้น



รถสกายแล็ปเมืองพม่า ยางหลังโตปานขนาดของรถกะป๊อบ้านเรา แถมใช้เพลาขับล้อหลังแทนโซ่อีกด้วย



ขอเรียกว่า "รถกะป๊อ" ไปพลางๆ ก่อนครับ ทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ากันเป็นไหนๆ



เข้าสู่ตัวเมืองหงสาวดี หรือเมืองพะโค แล้วล่ะ



โฉมหน้ารถสกายแล็ปขนาดใหญ่ มีล้อหลังคู่ด้วยนะ



ความเจริญที่ผมพอจะอ้างได้ว่า เครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้แผ่มาถึงแล้ว

ตอนนี้ทราบว่า กำลังประสบปัญหาหมายเลขโทรศัพท์ไม่พอกับความต้องการครับ



หอนาฬิกาเมืองหงสาวดี โดยมีสัญญลักษณ์หงส์สองตัวขี่ซ้อนกันอยู่

เนื่องจากแผ่นดินที่ตั้งเมืองตามตำนานแต่โบราณมีน้ำท่วม จนเหลือแผ่นดินให้หงส์ยืนได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น



ใจกลางเมืองหงสาวดี มองเห็นองค์พระเจดีย์ชเวมอดอว์ หรือพระธาตุมุเตา ตั้งอยู่ไกลๆ เป็นจุดสังเกต



เนื่องจากทำเวลาได้ดี และยังเหลือหนทางอีกไกลกว่าจะเดินทางไปถึงพระเจดีย์อินทร์แขวน ทางหัวหน้าทัวร์จึงขอพักเพื่อเข้าห้องน้ำ และนมัสการพระพุทธรูป 4 ทิศกันก่อน

ตามตำนานกล่าวว่า เป็นตัวแทนของของพระพุทธเจ้าในอดีต สร้างเมื่อปี พ.ศ.1476 โดยสตรีสี่พี่น้องที่มีพุทธศรัทธาสูงส่งและต่างให้สัตย์สาบานว่าจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ชั่วชีวิต

ต่อมามี 1 ใน 4 สาวนี้หนีไปแต่งงาน ทำให้พระพุทธรูปองค์หนึ่งเกิดฟ้าผ่าจนพังทลายขึ้นทันที ต้องสร้างขึ้นมาใหม่

แต่บางประวัติกล่าวว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์ของชาติมอญเป็นผู้สร้าง แต่องค์ที่พังทลายนั้นเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งพื้นที่เมืองหงสาวดีตั้งอยู่ในเขตแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง

น้องสาวกับผมได้แวะซื้อกระดิ่งเพื่อนำไปแขวนยังพระเจดีย์อินทร์แขวนอีกด้วย



หลังจากปล่อยให้ลูกทัวร์เข้านมัสการเจดีย์ไจ้ก์ปุ่นกันพอสมควรแล้ว ล้อก็เริ่มหมุนบ่ายหน้าสู่เมืองไจ้ก์ทิโย แข่งกับแสงตะวันที่บ่ายคล้อยลงทุกขณะ



ถึงตอนนี้ รถยนต์ต้องผ่านด่านเก็บเงินเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข NH 8 ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เพื่อย่นระยะทางไปสู่ภาคใต้ของพม่าจากทางหลวงหมายเลข 8 ระหว่างเมืองหงสาวดี (พะโค) ไปยังเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ และเมืองพะอานของรัฐกะเหรี่ยง สู่ชายแดนไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก



เส้นทางรถไฟสายใต้ จากเมืองหงสาวดี ไปยังเมืองทะวาย เริ่มเข้ามาตัดผ่านถนนสายนี้ล่ะ

น้องผมโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นขบวนรถไฟสายนี้แล่นเข้าสู่เมืองย่างกุ้ง เพราะนั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผมซึ่งเห็นเพียงท้ายขบวนที่กำลังลับจากสายตา

แถมไม่มีโอกาสเก็บภาพด้วยสิ ตลอดรายการทัวร์ครั้งนี้



แผงขายแตงโม และมันแกวริมทางที่มีอยู่หลายแห่ง เท่าที่เห็น ลูกแตงโมมีขนาดเท่ากับตัวเด็กอ่อนทีเดียว

ไกด์เล่าว่า หลังจากเกี่ยวข้าวประจำปีแล้ว ผืนนายังมีความชื้นอยู่ เจ้าของนาจึงปลูกแตงโม หรือมันแกวตามถนัด เพื่อจำหน่ายหารายได้ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งจริงๆ ในช่วงเดือนเมษายน

แตงโมของพม่า มีน้ำมาก ยังไม่มีการใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ผู้ซื้อจึงนำไปบริโภคได้สะดวกใจ

เป็นน้ำผลไม้ดื่มแทนน้ำเปล่าได้ แถมยังหวานชื่นใจอีกด้วย



เห็นกองทัพรถมอเตอร์ไซต์จอดเรียงรายกันหนาแน่นริมเส้นทาง สร้างความสงสัยแก่ลูกทัวร์ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ บริเวณนั้นมิใช่ตลาดสดแต่ประการใด

ได้รับคำอธิบายจากไกด์เช่นกันว่า เป็นรถของชาวบ้านที่มาฟังเทศน์จากพระภิกษุชื่อดังที่ทางวัดที่อยู่ริมถนนด้านตรงข้าม นิมนต์มาโปรดญาติโยมในวันสำคัญทางศาสนา รถราจึงมีมากดังที่เห็น



แถมมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการอำนวยความสะดวกด้านรับฝากรถด้วย



ผมว่าน่าจะเป็นสถานีอนามัยหรือสำนักงานสาธารณสุขชุมชน ที่ปิดทำการในวันสำคัญทางศาสนานี้ด้วย



ทางรถไฟสายใต้ เริ่มกลับมาอยู่อีกด้านหนึ่ง เพื่อข้ามแม่น้ำสะโตงต่อไปครับ

เห็นต้นมะม่วงริมทาง นึกถึงสมัยผมยังเด็กขึ้นมาทันที



ถึงด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ริมสะพานข้ามแม่น้ำสะโตงแล้วครับ



ตื่นตา ตื่นใจกับความกว้างของแม่น้ำสะโตง ที่มีความกว้างในหน้าน้ำหลากถึง 3 กม. และเป็นที่มาของประวัติศาสตร์ไทยเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จหลบหนีกองทัพพม่าของพระมหาอุปราชมังสามเกียดพร้อมนำครอบครัวชาวมอญที่สมัครใจอพยพมากับกองทัพของพระองค์ด้วย

พระองค์ได้หลบหนีข้ามพ้นมา และแสดงวีรกรรมยิงพระแสงปืนข้ามลำน้ำสะโตง คือ ยิงปืนคาบศิลาจากอีกฝั่งของแม่น้ำถูกแม่ทัพพม่า ชื่อ สุรกรรมา เสียชีวิตคาคอช้าง เมื่อปี พ.ศ.2127

ซึ่งต่อมาพระแสงปืนกระบอกนี้ได้ถูกขนามนามว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"

จากที่ไกด์เล่ามา ในประวัติศาสตร์ของพม่ามิได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด กล่าวเพียงว่า แม่ทัพฝ่ายพม่าพิจารณาแล้ว แม่น้ำมีความกว้างมาก หากติดตามไปอีก อาจถูกกองทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งคอยทีอยู่แล้ว โจมตีจนแตกพ่ายก็ได้ จึงบ่ายหน้ากลับกรุงหงสาวดี



ภาพของสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง จากเอกสารเผยแพร่ของสายการบินที่คณะทัวร์ใช้บริการในครั้งต่อมา



แนวสะพานจากภาพถ่ายทางดาวเทียมของ Google Earth ยังเห็นแนวตอม่อสะพานเดิมซึ่งทางการอังกฤษได้ทำลายลงเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของกองทัพญีุ่่ปุ่นช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามสิ้นสุด ได้มีการก่อสร้างสะพานขึ้นใหม่ทางด้านเหนือของแม่น้ำ ก่อนที่จะสร้างถนนและสะพานแห่งปัจจุบัน



เราข้ามเขตสู่รัฐมอญแล้วล่ะ



ที่เปลี่ยนไปได้ชัดก็คือ สภาพภูมิประเทศจากเรือกสวนไร่นา กลายเป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นแนวเขา และอากาศอำนวยต่อการเพาะปลูก



ส่วนหนึ่งของสวนยางพาราครับ



จากสภาพของร้านค้า ทำให้ผมนึกไปถึงสมัยเด็กๆ

จนกระทั่งบัดนี้ พม่ายังไม่มีร้านสะดวกซื้ออย่างในบ้านเราเลย



นอกจากจะเป็นร้านชำแล้ว เจ้าของร้านหลายแห่ง ยังดัดแปลงชั้นบนให้เป็นเกสต์เฮาส์ รับนักเดินทางแบบสะพายเป้ ถีบจักรยานรอนแรมตามเส้นทางอีกด้วย



วัดตามลักษณะชาวมอญ ริมทางหลวงครับ



ทางรถไฟสายใต้ของพม่า เริ่มตัดผ่านมาอีกครั้งหนื่ง โดยสถานีต่อไปคือ สถานีไจก์ทิโย ใกล้เคียงกับบริเวณต้นทางสู่พระเจดีย์อินทร์แขวน



ถึงทางแยกเข้าสู่คิมปุน เบส แค้มป์ ต้นทางขึ้นพระเจดีย์อินทร์แขวน ในยามบ่ายคล้อยพอดี



ด้วยระยะทางตามถนน 160 กม.จากเมืองย่างกุ้ง ซึ่งคณะทัวร์เดินทางแบบไม่หยุดพักทั้งการโดยสารเครื่องบินจากดอนเมือง ต่อด้วยรถทัวร์ มายังที่นี่

ปล่อยให้ชาวคณะแวะเข้าทำธุระที่ห้องน้ำให้แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงจะย้ายไปนั่งรถบรรทุกเตรียมสู่ยอดดอย



ที่นี่มีร้านค้าจำหน่ายสิ่งของมากหลาย ทั้งเตรียมไปทำบุญ นำไปกินเอง และกลับไปฝากญาติพี่น้องทางบ้าน

ส่วนรถทัวร์ที่นั่งมา จะหาที่จอดนอนเพื่อรอรับชาวคณะกลับเข้าสู่เมืองหงสาวดี และย่างกุ้ง ในวันรุ่งขึ้น



สภาพรถบรรทุก 6 ล้อ ที่จะนำชาวคณะขึ้นไปยังพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,100 เมตร ระยะทางซึ่งคดเคี้ยวขึ้นเขาตลอดประมาณ 13 กม.

สำหรับคันที่จะนำชาวคณะขึ้นไป ทางบริษัททัวร์ได้ติดต่อจัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องไปนั่งปะปนกับชาวบ้าน



เสียงหัวหน้าทัวร์คอยบอกเป็นระยะๆ ว่า ข้าวของไม่จำเป็นต้องขนไปทั้งหมด เพราะจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างคนแบกขน ให้แบ่งเป็นกระเป๋าใบเล็ก นอกจากเป็นการประหยัดค่าขนย้ายแล้ว ทางคณะจะพักเพียงคืนเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น

โชคดีที่ผมมีเพียงย่ามสะพายหลังเพียงใบเดียวเท่านั้น เลยไม่ต้องจ่ายค่าขนย้ายแต่อย่างใด



เสร็จสรรพดีแล้ว คาราวานรถบรรทุกก็มาจอดรวมกันเพื่อรอขึ้นบนยอดเขา โดยทางผู้ควบคุมรถจะปล่อยให้วิ่งสลับกันกับคาราวานรถบรรทุกที่ลงจากเขา โดยสื่อสารกันทาง ว. เพราะถนนค่อนข้างแคบ รวมเวลาที่รอหลีกกัน ราวๆ 30 นาที

และตามธรรมเนียมครับ จะมีเหล่ามรรคทายกวัดถือขันเดินรับบริจาคปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่นั่งมาในรถ เรียกว่าชวนทำบุญตั้งแต่เชิงเขาเชียวล่ะ

การบริจาคนี้ แล้วแต่จิตศรัทธา มิได้มีการบังคับแต่ประการใด



พักสายตาระหว่างรอขึ้นเขากับลำห้วยริมทาง ที่เริ่มจะแห้งเหือดลงเรื่อยๆ ตามฤดูกาล



ขบวนรถขาล่องเริ่มทยอยลงมาแล้วล่ะ ร่วม 10 คันเห็นจะได้



พอล่องลงมาครบจำนวนที่แจ้งตาม ว. แล้ว ก็ถึงคราวขบวนรถขาขึ้นจะซิ่งขึ้นดอยบ้างล่ะ

เลขทะเบียนนอกเหนือจากป้ายจริงประจำรถ ระบุไว้สังกัดรัฐมอญครับ จะใช้เฉพาะรถยนต์เท่านั้น ส่วนรถมอเตอร์ไซต์ยังเป็นตัวอักษรและตัวเลขพม่าเหมือนเดิม



บรรดาลูกทัวร์ที่กลายเป็นผู้โดยสารก็เฮฮากระตู้วู้พองามตามอัธยาศัยเวลารถซิ่งเข้าโค้งบนดอย สร้างบรรยากาศยามขึ้นเขาได้สนุกสนานไปด้วย



บนเส้นทาง จะผ่านสถานีรถกระเช้าขึ้นไปบนยอดเขาเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นาน ซึ่งนับว่าเป็นการเดินทางอย่างโก้หรูในวันนี้

รถส่วนตัวจะไม่ได้รับอนุญาตขับขึ้นไปถึงยอดดอย เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ และมีพื้นที่จอดจำกัด



หน้าตาก็แบบนี้แหละครับ เสียอย่างเดียวที่ไปขึ้นยังสถานี เมื่อเดินทางมาตั้งครึ่งทางแล้ว



สภาพเส้นทาง มองจากโค้งหักศอกด้านบน



พอถึงยอดเขาแล้ว ต้องเดินเท้าต่อไปอีกนิดหนึ่ง จึงจะถึงด่านชำระเงินค่าบำรุงวัด และที่พักในคืนนี้

ที่สะพายกระชุเดินไปพร้อมกับคณะ เป็นคนรับจ้างขนสัมภาระในเย็นวันนี้ แข็งแรงทรหดจริงๆ



ยังไม่เหงา ถึงจะเป็นเวลาพลบก็ตาม



ระหว่างรอให้ไกด์เข้าไปติดต่อชำระเงินค่าบำรุงของทางวัด ซึ่งมีทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาดสถานที่ และรวบรวมขยะลงมาทิ้งยังเบื้องล่างอีกด้วย



พอเสร็จสรรพ ก็ออกย่ำเท้าต่อไปอีกนิดหนึ่งเข้าสู่โรงแรมที่พักในคืนนี้ ฝั่งตรงข้ามเป็นห้องอาหารของโรงแรมครับ



นับว่าคราวนี้ค่อนข้างมีโชคตรงที่ได้โรงแรมตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุอินทร์แขวนเพียง 800 เมตรเท่านั้น

แม้แต่ทางบริษัททัวร์ยังไม่สามารถยืนยันล่วงหน้าว่าจะสำรองห้องพักกับทางโรงแรมได้ตรงตามต้องการทุกครั้งหรือไม่ นอกจากยืนยันเป็นที่แน่นอนก่อนการเดินทางเพียงวันเดียวเท่านั้น



หลังจากนำข้าวของไปเก็บยังห้องพักเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาของมื้อเย็นมื้อแรกในพม่าล่ะ

พอดีน้องผมสังเกตเห็นดวงจันทร์วันเพ็ญเคือน 3 กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า เลยขอให้เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกตรงระเบียงห้องอาหารนั่นแหละ



ไม่ทันตะวันยามพลบที่เขาลือกันนักว่าสวยนักสวยหนาเวลาถ่ายภาพพระเจดีย์อินทร์แขวน เพราะมาถึงตอนย่ำค่ำพอดี เอาแค่บรรยากาศพระจันทร์ขึ้นก็ได้

หัวหน้าทัวร์ประกาศว่า ราวสองทุ่ม เวลาท้องถิ่น จะพาคณะทัวร์ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์อินทร์แขวน ขอได้เตรียมพร้อมไว้ด้วย

จวนได้เวลาประทับใจแล้วกระมัง ?



Create Date : 29 เมษายน 2561
Last Update : 29 เมษายน 2561 12:24:34 น.
Counter : 1169 Pageviews.

2 comments
春和歌山市 : ทำไมต้องวากะยามะ mariabamboo
(15 เม.ย. 2567 11:06:33 น.)
ตลาดน้ำกวางโจว ดาวริมทะเล
(12 เม.ย. 2567 18:42:45 น.)
ระยองฮิสั้น จันทราน็อคเทิร์น
(12 เม.ย. 2567 15:33:48 น.)
หาอะไรดับร้อนกับน้องถั่วแดงที่ร้านเย็น เย็น หวานเย็น สาขาMRTท่าพระ นายแว่นขยันเที่ยว
(12 เม.ย. 2567 00:32:31 น.)
  
แวะมาทักทายจ้าา ^__^ อิอิ sinota ซิโนต้า Ulthera สลายไขมัน SculpSure เซลลูไลท์ ฝ้า กระ Derma Light เลเซอร์กำจัดขน กำจัดขนถาวร รูขุมขนกว้าง ทองคำ ไฮยาลูโรนิค คีเลชั่น Chelation Hifu Pore Hair Removal Laser freckle dark spot cellulite SculpSure Ultherapy กำจัดไขมัน ร้อยไหม adenaa ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ สักคิ้วถาวร สักคิ้ว 6 มิติ Cover Paint สักไรผม 3D Eyebrow ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
โดย: สมาชิกหมายเลข 4507140 วันที่: 29 เมษายน 2561 เวลา:12:41:18 น.
  
ขอบคุณครับ
โดย: owl2 วันที่: 29 เมษายน 2561 เวลา:13:42:05 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด