สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (3) สวัสดีครับ... สารคดีสั้นตอนนี้กลับมาเล่าเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีประจำปีในพื้นถิ่นล้านนา ที่พี่น้องชาวเหนืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป (รวมผมด้วยนี่นา ฮ่าๆๆ) จะมีโอกาสได้พบ ได้เห็น มีความคุ้นเคยกับสภาพบรรยากาศในขณะนั้นนะครับ แต่ปัจจุบันนี้ หากจะได้พบ ได้เห็น คงจะเป็นในท้องถิ่นนอกเมืองออกไป หรือไม่ก็มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนะครับ สำหรับเนื้อเรื่องตอนนี้ บรรยายโดยคุณ ศิริชัย ซึ่งเป็นนามปากกาเช่นเคย โดยเป็นที่นิยมกันในยุคนั้น ส่วนการบันทึกภาพ เป็นฝีมือจากคุณนิคม กิตติกุล จากกองบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" และได้นำลงพิมพ์ในปีที่ 2 ฉบับ 6 ประจำเดือน ธันวาคม 2498 เช่นเคย จะมีการเล่าเรื่องนำเสนอก่อนถึงสารคดีประกอบภาพชุด "เทศกาลของชาวพิงค์" ซึ่งอาจแตกต่างจังหวัดอื่นในภาคเหนือไปบ้าง โดยการบรรยายผมจะยังคงสำนวนและการสะกดในยุคนั้นเอาไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ลองติดตามชมได้เลยครับ... ........................... เทศกาลของชาวพิงค์ ภาพโดย นิคม กิตติกุล พากษ์โดย "ศิริชัย" .................... ทุกท้องถิ่นไม่ว่าที่ไหน ก็ย่อมจะมี "เทศกาล" ของตัวเอง ผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง สุดแท้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ เวียงพิงค์ก็เช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นทั่วไป ที่มี "เทศกาล" ประจำของตนเป็นงานใหญ่ประจำปี ซึ่งแสดงออกมาถึงวัฒนธรรมทางจิตใจและระเบียบประเพณีของท้องถิ่นที่ได้ถือประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านานจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ นครเชียงใหม่ ได้มีประวัติความเป็นมาดีเด่นมาแต่โบราณกาลทั้งในด้านวัฒนธรรม, ศาสนา, และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับนับถือกันอยู่แล้ว และเพราะเหตุที่เคยเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองและวัฒนธรรมของลานนาไทยนี้เอง เวียงพิงค์จึงได้ชื่อว่า เป็นกลางแห่งการแสดงออกซึ่งประเพณีนิยมของคนทั่วภาคเหนือไปด้วย ทั้งในอดีตและปัจจุบันซึ่งอาจรวมอนาคตด้วย เทศกาลของชาวเวียงพิงค์ในทุกวันนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมที่สืบเนื่องติดต่อกันมาแต่ก่อน อันยืนยันว่า หมู่คนเมืองมิได้หันหลังให้กับกำพืดเดิมของตน พระบวรพุทธศาสนา อันเป็นหลักชัยประจำชาติทุกวันนี้ ได้เคยหยั่งรากลงลึกและได้เคยรุ่งเรืองอย่างถึงขนาดมาแล้ว เวียงพิงค์ เคยได้เป็นสถานที่กระทำฉัฎฐสังคายนาในรัชชสมัยติโลกราช (ราว ๕๐๐ ปีเศษมาแล้ว) ด้วยประการฉะนี้เอง, ชาวเวียงพิงค์จึงยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันเวียงพิงค์มีวัดวาอารามอยู่ทั่วทุกแห่งหน แต่ละแห่งก็ได้มีประวัติอันดีงามในการที่อบรมบ่มสอนพุทธมามิกชน ให้มีศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ดังนั้น, ทุกเช้าเราจึงเห็นชาวพิงค์ออกมารอคอยตักบาตรแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ ที่ภิกขาจารไปตามท้องถนนทุกสาย ยิ่งถ้าเป็นระยะเวลาระหว่างเข้าพรรษามีภิกษุสงฆ์มากด้วยแล้ว ชาวพิงค์ก็ถือกันเคร่งครัดว่าต้องเกื้อกูลพุทธบุตรมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสืบต่อพระศาสนาให้ยั่งยืนตลอดไป นอกจากจะตักบาตรในตอนเช้าเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว เมื่อถึงวันธรรมสวนะ วัดวาอารามทุกแห่งจะแน่นขนัดไปด้วยเหล่าชาวพุทธทั้งชายหญิง, คนหนุ่มสาวและเด็ก ทุกคนพากันไปวัดทำบุญสุนทานและฟังธรรมเพื่อกล่อมเกลาจิตใจของตนให้เกิดศรัทธาปสาทะจำหลักหนักแน่นยิ่งขึ้น เทศกาลปีใหม่ (หรือสงกรานต์) ของหมู่คนเมืองอีกอย่างหนึ่ง ที่จัดเป็นงานใหญ่มาก เป็นงานที่ทุกคนสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจกันเต็มที่ นอกจากจะมีพิธีการทางศาสนาแล้ว ในเทศกาลปีใหม่หมู่คนเมืองยังมีประเพณีรดน้ำดำหัวสมัครษมาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เป็นประเพณีที่แสดงถึงการรู้จักเคารพผู้ที่ควรเคารพ การรู้จักให้อภัย อันเป็นจิตใจของอารยชนโดยแท้จริง "สงครามน้ำ" ยามสงกรานต์ของเวียงพิงค์ สนุกสนานครึกครื้นเพียงใดนั้น เห็นจะไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว เพราะย่อมเป็นสิ่งประทับใจผู้เคยมาอยู่แล้วทุกคน และก่อนหน้าที่จะถึง "สงกรานต์" โรงแรมทุกแห่งในเวียงพิงค์ก็ถูก "จอง" ไว้หมด ย่อมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่า สงกรานต์เวียงพิงค์เป็นแม่เหล็กดึงดูดจิตใจอยู่เพียงใด ! ตลาดวโรรส แม้จะเป็นตลาดสดที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคตะวันออกไกลของซีกโลกภาคนี้ ใหญ่กว่าตลาดสดทุกแห่งบรรดามี ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว มลายู พม่า แม้กระนั้น ก่อนจะถึงวันที่มี "งานเทศกาล" อาทิ เทศกาลสงกรานต์ (ปีใหม่ของหมู่คนเมือง) ตลาดใหญ่ขนาดนี้ก็ "คับแคบ" ลงไปถนัดใจ คับคั่งด้วยผู้ซื้อทุกเพศวัย จนพ่อค้าแม่ค้าต้องวางของขายล้นออกมาริมบาทวิถี ราวกับ "หาบเร่" กรุงเทพฯ เวลานี้ การที่เป็นดังนั้น ก็เนื่องมาจากเหตุที่ว่า ชาวพิงค์ไม่ยอมหันหลังให้ขนบทำเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน ทุกบ้านเรือนต้องหาซื้อสิ่งของไปเพื่องานเทศกาลนั้น เมื่อมีผู้ต้องการซื้อมาก ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ขายก็ทวีจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อสนองความต้องการให้สมดุลย์กัน งานศพ อีกอย่างหนึ่งที่คนเมืองเหนือ ได้ถือเป็นประเพณีมานานช้าแล้วว่าเป็นงานที่ทุกคนต้องร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มความสามารถ พอรู้ว่ามีใครถึงแก่กรรม ชาวบ้านก็จะบอกกล่าวกันต่อๆ ไปโดยเจ้าภาพไม่จำเป็นต้องออก "บัตรเชิญ" แล้วจากนั้น ทุกครอบครัวก็จะมา "ฮอม" ช่วยเหลืองานศพนั้นตามกำลังฐานะและอัตตภาพ ยิ่งเป็นงานศพพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลด้วยแล้ว ก็จัดว่าเป็น "งานใหญ่" มากทีเดียว เพราะเวียงพิงค์เป็นเมืองพุทธ การแสดงออกซึ่งจิตใจเห็นปานนี้ นับว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยแท้อย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังจะสูญหายไปทุกทีแล้ว ประเพณีนิยมที่ได้รับความสนใจจากอาคันตุกะผู้มาจากท้องถิ่นอื่น และแม้แต่ชาวต่างประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ "การฟ้อนรำถวายเป็นพุทธบูชา" ซึ่งมีทุกคราวไม่ว่าจะเป็นกฐิน หรือผ้าป่า ทุกๆ วัดส่วนมากจะมี "นางรำ" ประจำวัดของตน ศิลปการฟ้อนและร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงามนี้ ได้รับการถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พอพ้นพรรษาปวารณา จึงเป็นเทศกาลที่ผู้มาเยือนเวียงพิงค์จะได้พบเห็นการร่ายรำเป็นพุทธบูชาดังกล่าวแทบไม่เว้นวัน และก็ไม่เคยมีใครจะเว้นการสนใจเสียได้ หลักเมือง ซึ่งถือว่าเป็น "หลักชัย" ของบ้านเมืองที่สร้างมาแต่โบราณกาลนั้น ที่เวียงพิงค์มิได้เรียกว่า "หลักเมือง" หากเรียกว่า "อินทะขิล" ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าก่อนที่พ่อขุนเมงรายจะบูรณะเวียงพิงค์ขึ้นก็ได้พบ "อินทะขิล" นี้ และเห็นว่าเป็นชัยภูมิแห่งนี้เคยเป็นเมืองใหญ่มาแต่ก่อน จึงได้เร่งรัดจัดสร้าง "เวียง" ใหม่ขึ้น การ "เข้าอินทะขิล" ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีนั้น มีการถวายดอกไม้ธูปเทียน โดยมากผู้หญิงเป็นผู้ "ตักบาตร" ดอกไม้มากกว่าผู้ชาย เทศกาลเข้าอินทะขิลนี้ต้องจัดให้มีทุกปีขาดไม่ได้ เชื่อกันว่าจะได้อยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย งานใหญ่อีกงานหนึ่งของเวียงพิงค์ก็คือ งานลอยกะทง เพราะทุกปีมีการแห่แหน "กะทงขนาดใหญ่" ไปตามถนนหลายสาย กะทงที่จัดขึ้นนั้นใหญ่โตขนาดสามารถจัดเป็นเรื่องราวมีผู้คนไปแสดงได้หลายคน ต้องบันทุกรถยนต์แล่นวนเวียนไปท่ามกลางกลุ่มคนที่แออัดยัดเยียด จนกระทั่งถนนไม่ว่างพอจะเดินไม่ "ชน" กัน ! งานลอยกะทงของเวียงพิงค์ จะเริ่มตั้งแต่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (เดือนยี่เหนือ) และไปสิ้นสุดเอาวันแรม ๑ ค่ำ มีคนเที่ยวเตร่โต้รุ่งกันทั้งสองคืนไม่มีใครถอย ! พอเริ่มหนาว ชาวเวียงพิงค์ก็พูดถึง และรอคอยงานยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งซึ่งเป็นทั้ง "งาน" ท้ายปี-และเริ่มปี นั่นคือ.. งานรื่นเริงฤดูหนาวและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๓๑ ธันวาคม และได้สิ้นสุดเอาในวันที่ ๖ มกราคม ทุกๆ ปี ความยิ่งใหญ่ของงานนี้ ประกอบด้วยงานออกร้าน การกีฬา การมหรสพ การแสดงเพื่อความรอบรู้ และเหนืออื่นใดการกระกวดนางสาวเชียงใหม่ และการประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม ซึ่งประมวลเอาโฉมงามจากทุกถิ่นลานนาไทยมาเพื่อประชันโฉมกัน ว่าใครจะครองความเป็นเลิศ งานใหญ่ในรอบปีของเวียงพิงค์ ทั้งในด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน และด้านที่น่าสนใจในความบรรเจิดของงาน ก็มีเพียงเท่าที่เราได้นำเสนอต่อมิตรผู้อ่านใน "สารคดีภาพ" ประจำฉบับนี้ ดังต่อไปนี้... (จากวารสารพิเศษรายเดือน คนเมือง ปีที่ ๒ ฉบับ ๖ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๔๙๘) ..................... ทำบุญตักบาตร ![]() ชีวิตของชาวเวียงพิงค์ได้เริ่มต้นตั้งแต่อรุณรุ่ง เมื่อเหล่าพระภิกษุสงฆ์พุทธบุตรออกจากอาราม เที่ยวบิณฑบาตรไปตามท้องถนนสายต่างๆ ผ้ากาสาวพัตรเหลืองอร่ามสะพรึบไปหมด เพราะเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีวัดวาอารามมากไม่เป็นรองกรุงเทพฯ และนอกจากนั้นชาวเชียงใหม่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศาสนิกชนไม่ด้อยไปกว่าท้องถิ่นใด ทุกๆ เช้า พุทธศาสนิกชนทั้งหญิงและชายก็จะนำภัตตาหารมาคอยอยู่หน้าบ้าน เพื่อว่าเมื่อพระภิกษุสงฆ์จาริกผ่านมาก็จะได้ถวายเป็นทาน เป็นกิจวัตรดังนี้เสมอมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สาดน้ำ "ปีใหม่" ![]() ฤดูกาลทีสนุกที่สุด, ครึกครื้นที่สุด, และประทับใจที่สุด ก็คือเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของหมู่คนเมือง รอบๆ นครพิงค์ ท้องถนนทุกสายจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งหญิงชาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นหรือจากถิ่นอื่น ทุกคนจะถือขันน้ำ เที่ยวสาดรดกันพร้อมกับคำอำนวยพรให้อยู่ดีมีสุข ตลอดระยะเวลา ทุกๆ คนได้สำแดงออกซึ่งจิตใจอันสูงส่งและดีงาม ไม่มีการขึ้งเคียดเกลียดชังกันเลย ถนนทุกสายจึงนองเจิ่งไปด้วยน้ำ หนุ่มสาวยิ้มระรื่นชื่นบาน สงกรานต์ที่เวียงพิงค์จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้ที่ยังไม่เคยมาอยากจะมา ผู้ที่เคยมาแล้วก็อยากจะมาอีก จ่ายตลาดตอนเช้า ![]() ตั้งแต่แสงเงินแสงทองฉาบขอบฟ้า ที่ตลาดวโรรส อันเป็นตลาดสดที่ทันสมัยที่สุดแห่งตะวันออกไกล ก็จะมีแม่บ้านทั้งสาวแก่แม่ม่าย รวมทั้งหญิงสาวและชายหนุ่มมาหาซื้ออาหารประจำวันกันแน่นขนัด ยิ่งเป็นวันใกล้เทศกาล สินค้าจำพวกดอกไม้ก็จะขายดีเป็นพิเศษ เพราะมีผู้ต้องการซื้อไปถวายเป็นพุทธบูชา ตามจารีตที่กระทำสืบเนื่องกันมาช้านานแล้ว ตลาดวโรรสจึงเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่อาคันตุกะไม่เคยละเว้นที่จะมาดูมาชมในตอนเช้า เพราะไม่มีที่แห่งไหนจะรวมผู้คนมากหน้าหลายตาไว้ได้เป็นแห่งเดียวเหมือนตลาดวโรรสอีกแล้ว ส่งศพสู่สุสาน ![]() การแสดงออกของน้ำใจประการหนึ่ง ที่ชาวเวียงพิงค์ได้รับการยกย่องอย่างสูง ก็คือจิตใจที่พร้อมที่จะให้อภัยและสามมัคคีธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีใครสักคนหนึ่งได้สิ้นชีวิตลงไป บ้านใกล้เรือนเคียงจะมาช่วยกันเต็มที่ ตั้งแต่จัดการศพจนถึงส่งศพสู่สุสาน ยิ่งเป็นงานศพพระ (เจ้าอาวาส) ด้วยแล้ว ผู้มาช่วยก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีตรีคูณ จนกล่าวได้ว่าเป็นงานของทุกคนก็ว่าได้ การกระทำเพื่อผู้ตาย เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจและสามัคคีธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่สักวันหนึ่งตัวเองจะต้องประสบ ดังนั้น. งานอย่างนี้จึงไม่มีใครคิดรังเกียจเดียดฉันท์ นางรำนำองค์กฐิน ![]() เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็จะถึงฤดูกาลทอดกฐิน ด้วยเหตุที่ชาวเชียงใหม่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดต่อการแสวงบุญ และเพราะเหตุที่เชียงใหม่มีวัดวาอารามอยู่มากมาย เมื่อถึงฤดูกาลดังกล่าวทุกเวลาบ่าย จึงมีขบวนแห่แหนองค์กฐินเวียนไปรอบๆ เวียง เพื่อบอกกล่าวป่าวร้องให้ทุกคนได้ร่วมมือกันในการจาริกแสวงบุญกุศลบริจาคทรัพย์สินร่วมกัน นางรำ (ช่างฟ้อน) นำองค์กฐิน เป็นสิ่งที่มีมานานและก็ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งไม่แต่คนท้องถิ่นเท่านั้น. แม้คนต่างถิ่นก็สนใจต่อการร่ายรำเป็นพุทธบูชาอันเป็น "วัฒนธรรม" ของชาวพิงค์นี้อย่างยิ่ง เข้า "อินทะขิล" ![]() ธรรมดาเมืองใหญ่ที่สร้างมาแต่โบราณกาล ย่อมมีหลักเมืองเป็นมิ่งขวัญเวียงประจำอยู่ นครเชียงใหม่ก็เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง แต่หลักเมืองเชียงใหม่นั้นเรียกว่า "อินทะขิล" อยู่บริเวณวัดเจดีย์หลวง กลางเวียง ทุกๆ ปีชาวเชียงใหม่ได้จัดให้มีการสมโภชอินทะขิลขึ้น โดยจัดให้มีการตักบาตรดอกไม้เป็นเครื่องอัฐบูชา งานสมโภชอินทะขิลจะมีเป็นเวลาตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็ม การตักบาตรดอกไม้บูชาหลักเมือง หรืออินทะขิลนี้ น่าสังเกตว่ามีผู้หญิงทั้งสามสาวแก่แม่หม้ายจำนวนมากกว่าผู้ชาย เป็นทำเนียมที่ชาวเชียงใหม่กระทำเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำการสมโภชอินทะขิลแล้ว บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ชาวเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน ลอยกระทงเดือนยี่เป็ง ![]() งานเทศกาลที่สนุกสนานอีกงานหนึ่งของเวียงพิงค์ ก็คือ งานลอยกะทงเดือนยี่เป็ง (เพ็ญเดือนสิบสอง) ตั้งแต่ตะวันยังไม่ชิงพลบ, และก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนเต็มดวง ผู้คนก็จะพากันหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง ทุกคนถือกะทงเล็กๆ ไว้ในมือ แล้วเดินมุ่งหน้าสู่แม่น้ำปิงเพื่อปล่อยกะทงลงน้ำ ในวันนี้เรียกกันว่าลอยกะทงชาวบ้าน ต่อรุ่งขึ้น จึงจะถึงวันที่มีการประกวดประขันกันเป็นงานใหญ่ นครพิงค์ถึงแม้จะเป็นเมืองใหญ่ แต่เมื่อเวลาที่มีเทศกาลประจำปีทุกคราว เวียงพิงค์ก็จะคับแคบไปถนัดใจ ทุกท้องถนนจะมีแต่คลื่นมนุษย์เต็มไปหมด เบียดเสียดยัดเยียดกันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่แม้กระนั้นด้วยจิตใจที่ถูกบ่มสอนมาให้รู้จักการให้อภัย จึงไม่เคยมีเรื่องวิวาทกันอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น ประชันความงาม ![]() พอฤดูหนาวเริ่มต้น... ก็เป็นที่รู้กันว่า. งานฤดูหนาวและงานรื่นเริงต้อนรับปีใหม่จะเวียนมาถึง ความสนใจของชาวเวียงพิงค์จึงอยู่ที่ว่าใครจะได้ครองมงกุฎนางสาวถิ่นไทยงาม และใครจะได้ครองความงามเป็นนางสาวเชียงใหม่ ? งานฤดูหนาวประจำปีจึงเป็นงานที่ใครๆ ก็รอคอย การประกวดนางสาวถิ่นไทยงามก็ดี, การประกวดนางสาวเชียงใหม่ก็ดี ทุกๆ ปีที่ได้กระทำกันมา นับว่าเป็นสิ่งเชิดชูงานประจำปีให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ชาวเวียงพิงค์สนับสนุนเต็มที่ เพราะเหตุที่ว่า แต่ก่อนนั้น, หลังจากการประกวดความงามสิ้นสุดลงแล้ว โฉมไฉไลผู้มีความเป็นเยี่ยมก็จะถูกเลือกเฟ้นให้ไปชิงมงกุฎนางสาวไทยที่กรุงเทพฯ ทั้งยังเคยได้ครองมาแล้วด้วยซ้ำไป ...................... (วารสารพิเศษรายเดือน คนเมือง ปีที่ ๒ ฉบับ ๖ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๔๙๘) |
บทความทั้งหมด
|