เที่ยวไปกับทัวร์ Circular Train (ตอนที่ 1) สวัสดีรับบรรยากาศตรุษจีนครับ... ช่วงเวลาดังกล่าว ทางผมมีกิจกรรมร่วมทัวร์กับชาวคณะซึ่งเลื่อนหนีภัยน้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 มาลงตัวพอดีกับช่วงวันตรุษจีนพอดี เป็นเหตุให้สมาชิกหลายรายติดภารกิจดังกล่าวจนไม่อาจไปร่วมทัวร์ครั้งนี้ได้ ![]() แต่...ไม่เป็นไรครับ สำหรับรายการทัวร์ทางรถไฟที่เพื่อนผมร่วมกันจัดนั้น เป็นการจัดรถไฟท่องเที่ยวแก่บรรดาสมาชิกเว็บไซต์ Rotfaithai.Com โดยมีเส้นทางระหว่างสถานีชุมทางบางซื่อ - ชุมทางแก่งคอย - คลองไผ่ - กรุงเทพ จึงได้ตั้งชื่อรายการทัวร์นี้ว่า Circular Train จะลองติดตามกันไปเที่ยว ดีไหมครับ ? ![]() ![]() หลังจากเวลาได้ล่วงถึง 05.45 น. ขบวนรถดีเซลรางที่จะนำคณะทัวร์ Circular Train แล่นมาถึงสถานีชุมทางบางซื่อ 1 คณะทัวร์ต่างมะรุมมะตุ้ม ขนข้าวขนของขึ้นบนขบวนรถกันอุตลุต แค่ไม่กี่อึดใจ ก็เรียบร้อย รวมถึงจัดการเปลี่ยนป้ายรถจัดเฉพาะที่ติดขบวนรถมาเอาจัดเก็บ แล้วนำป้ายชื่อเว็บไซต์ลงสวมใส่แทน เหตุผลเพื่อกันผู้โดยสารที่ไม่ทราบเรื่องจะขึ้นรถติดไปด้วยสิครับ แถมด้วยความเก๋ไก๋เป็นการส่วนตัวด้วย ![]() ![]() สำหรับบรรดาเสบียงในรถที่เตรียมแจกให้กับลูกทัวร์นั้น มีน้ำเปล่าคนละ 1 ขวด อาหารกล่องคนละ 1 กล่อง จากร้านอาหารชื่อดังในตลาดแก่งคอย ซึ่งไปรับขึ้นรถที่สถานีชุมทางแก่งคอย ที่เหลือนอกนั้นเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล และของขบเคี้ยวต่างๆ ซึ่งตั้งใจนำไปขายเพื่อหาเงินเข้าพรรค เอ๊ย !! เก็บไว้เป็นทุนกองกลางบริหารกิจกรรมครับ ![]() ![]() ครั้นได้เวลา 06.30 น. ขบวนรถไฟพิเศษ Circular Train นี้ ก็ชักหวูด ออกเดินทางจากชุมทางบางซื่อโดยมิชักช้า แต่แปลกกว่าขบวนรถไฟนำเที่ยวอื่นๆ ตรงที่แล่นมาทางทิศเข้าหัวลำโพงนี่แหละ ![]() ![]() เมื่อรถเคลื่อนขบวน ฝ่ายนายทะเบียนเริ่มต้นเช็ครายชื่อลูกทัวร์ พร้อมแจกป้ายคล้องคอให้สวมใส่เพื่อเป็นสื่อทำความรู้จักกัน และเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย ![]() สถานีถัดไปที่ขบวนรถจะหยุดรับลูกทัวร์ คือสถานีสามเสน ถึงตอนนี้ อาจมีหลายท่านสงสัยว่า จะไปชุมทางแก่งคอยนี่นา แต่ทำไมถึงวิ่งลงใต้ล่ะ ? ต้องขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งครับว่า ทางผู้จัดได้สมคบคิด เอ๊ย !! ได้วางแผนกันไว้ว่า เพื่อเป็นการสนองความต้องการของบรรดาคณะทัวร์ ที่จะผ่านเส้นทางสายตะวันออก ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เชื่อมต่อกับสายอีสานแล้ว และได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางคราวน้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ นี้เอง โดยการรถไฟฯ ได้จัดให้ขบวนรถไฟสายอีสาน ใช้เส้นทางสายตะวันออก แล้วต่อเชื่อมกับสายอีสานที่ชุมทางแก่งคอยก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางปกติ ไปยังปลายทางต่อไป นั่นทำให้รถไฟสายอีสานไม่ต้องหยุดการเดินรถเช่นสายเหนือ จนกระทั่งน้ำลดเป็นปกติครับ สำหรับเส้นทางสายเหนือที่ไปเชื่อมกับสายตะวันออกนั้น จะผ่านเส้นทางช่วงสามเหลี่ยมยมราชด้านเหนือ และตรงกับความต้องการของเหล่าสมาชิกลูกทัวร์ ที่ไม่เคยนั่งรถไฟผ่านเส้นทางช่วงนี้ จึงเป็นการเรียกตลาดสร้างความสนใจใน Circular Train อยู่ไม่น้อย ![]() ![]() ขบวนรถไฟพิเศษเริ่มเข้ารางแยกจากเส้นทางสายเหนือ ผ่านสถานีรถไฟจิตรลดา ยามเช้าตรู่ ก่อนเข้าสู่ย่านเสาวนีย์ และเส้นทางสามเหลี่ยมยมราชด้านเหนือครับ ซึ่งปกติจะมีเพียงขบวนรถชานเมืองยามเช้าตรู่เพียงขบวนเดียวเท่านั้นที่ผ่านเส้นทางสายนี้ คือขบวนรถชานเมืองสาย รังสิต - หัวตะเข้ นอกเหนือจากขบวนรถสินค้าจากท่าเรือคลองเตย ไปยังย่านสินค้าพหลโยธิน ![]() เข้าทางแยกสามเหลี่ยมยมราชด้านเหนือแล้วครับ และก็เป็นครั้งแรกสำหรับผม ที่นั่งรถไฟผ่านเส้นทางช่วงนี้ด้วย ![]() เส้นทางช่วงสามเหลี่ยมยมราช ก่อสร้างในสมัยสมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ขบวนรถสินค้าไปยังท่าเรือคลองเตย และยังใช้ขอพ่วงแบบ เอบีซี. ซึ่งเป็นขอสับ แตกต่างจากทุกวันนี้ ทำให้ไม่ต้องไปสับเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกรุงเทพ ถึงแม้ว่ารถไฟไทยในปัจจุบันจะเปลี่ยนมาใช้ขอพ่วงแบบปัจจุบันนี้ก็ตาม แต่ยังมีบางขบวนที่อาศัยประโยชน์จากเส้นทางช่วงสามเหลี่ยมยมราช คือขบวนรถท่องเที่ยวพิเศษ Eastern Orient Express (กรุงเทพฯ - สิงคโปร์) ซึ่งมีโบกี้ชมทิวทัศน์อยู่ด้านท้ายขบวน ต้องมากลับรถที่นี่ เพื่อให้โบกี้ชมทิวทัศน์ได้อยู่ด้านท้ายขบวนตลอดครับ ไม่เช่นนั้นจะต้องนำไปเข้าแท่นกลับรถจักร ซึ่งสถานีกรุงเทพไม่มีใช้งาน ![]() บริเวณภายในสามเหลี่ยมยมราชแห่งนี้ เป็นนิคมรถไฟให้พนักงานการรถไฟฯ และครอบครัวตั้งอยู่ด้วยครับ และยังมีสระเก็บน้ำรูปทรงกลมขุดเอาไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย บ้านพักรถไฟที่นี่ ยังเป็นที่เกิดของอดีตพระเอกหนังไทยรุ่นอาวุโส คือคุณสมบัติ เมทะนี ด้วยครับ มองจากหน้าต่างรถไฟขณะแล่นผ่าน จะเห็นบรรยากาศเงียบสงบ ผิดแผกจากบรรยากาศภายนอกเหมือนขาวกับดำ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นท้องนากลางกรุงก็ยังได้ ![]() ![]() พักเดียว เส้นทางรถไฟจะแล่นขนานกับเส้นทางช่วงสามเหลี่ยมยมราชด้านใต้ที่มาจากสถานีกรุงเทพ สภาพสองข้างทางเริ่มกลายเป็นชุมชนหนาแน่นอยู่ประชิดราง จนผู้โดยสารนั้น ห้ามชะโงกศรีษะ หรือยื่นแขนขาออกนอกตัวรถโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้น จะโดนสังสะสีมุงหลังคาบ้านที่ปลูกประชิดริมทาง บาดเอาสิครับ ![]() ![]() ออกมาสู่ความศิวิไลซ์ บริเวณหลังอาคารสูงย่านถนนศรีอยุธยาครับ ตอนนี้ด้านซ้ายทาง จะมีแนวเส้นทางรถไฟฟ้า Airport Rail Link จากสถานีพญาไท แล่นขนานกันจะกว่าจะถึงสถานีบ้านทับช้าง และแยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ![]() เลยสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link ราชปรารภ อีกเล็กน้อย จะมีเส้นทางแยกไปยังสถานีรถไฟแม่น้ำ ท่าเรือคลองเตย และโรงกลั่นน้ำมันบางจากครับ ![]() เสียงพนักงานสถานีมักกะสันออกประกาศว่า ขบวนรถไฟพิเศษนี้ไม่ใช่ขบวนรถรับส่งผู้โดยสารตามปกติ และเตือนมิให้ผู้โดยสารอย่าขึ้นไปบนขบวนรถ ขณะจอดรอสัญญาณออกเดินทางต่อไป แต่ยังมีลูกทัวร์อีกสองสามราย วิ่งกระหืดกระหอบขึ้นรถทันจนได้ เรียกเสียงเฮฮาได้ทั้งขบวน ![]() ![]() สถานที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้ๆ บริเวณนี้ ก็คือ โรงงานมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั่นเอง นอกเหนือจากสถานีรถไฟฟ้า ARL มักกะสัน และโรงพยาบาลบุรฉัตร หรือโรงพยาบาลรถไฟ(เดิม) นั่นแหละครับ ![]() ผ่านที่หยุดรถไฟอโศก ใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพชรบุรี และสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ARL มักกะสัน บริเวณติดๆ กัน แต่เรียกกันหลายชื่อนะครับ ![]() ![]() รอรับใบผ่านทาง ที่สถานีคลองตัน ![]() เดี๋ยวจะหาว่าจืดชืดเกินไป ![]() ![]() ออกจากสถานีหัวหมาก ช่วงนี้เริ่มเข้าเส้นทางคู่สายตะวันออก ยาวไปจนถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ![]() กับมุมสบายๆ ตลอดเส้นทางของแฟนรถไฟไทยตัวยงรายหนึ่ง บนรถไฟจัดเฉพาะขบวนนี้ครับ ![]() ![]() ชีวิตยามเช้าของผู้คนขณะไปทำงาน เป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผม ถึงแม้ว่าจะแตกต่างไปบ้างทั้งตัวผู้คน ภาษา การแต่งกาย และยานพาหนะก็ตาม ![]() ปกติ สถานีรถไฟมักจะตั้งอยู่ริมเส้นทาง ยกเว้นสถานีบางแห่งที่แตกต่างออกไป เช่น สถานีแม่น้ำ ที่มีถนนเชื้อเพลิงตัดขวางอยู่ระหว่างอาคารสถานีกับย่านรถไฟ และอีกแห่งที่ค่อนข้างพิสดารก็คือ สถานีบ้านทับช้าง เนื่องจากมีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง Airport Rail Link ตัดผ่านพื้นที่ตั้งของสถานี ตัวอาคารสถานีจึงต้องขึ้นไปอยู่ระดับเหนือทางรถไฟดังที่เห็น ![]() ขอปรับโหมดกล้องเป็นแสงปกติครับ ทันเก็บภาพขบวนรถชานเมืองสายตะวันออก แล่นเข้ากรุงเทพฯ ขบวนแรก ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ![]() ตามมาติดๆ เป็นขบวนรถสินค้าขนตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบัง เข้าสู่ลานสินค้าบรรจุกล่อง (ลาน ICD) ลาดกระบัง ได้แล่นผ่านไปโดยเร็วเช่นกัน แต่มาแปลกตรงที่รถสินค้าขบวนนี้ แล่นบนเส้นทางเดิมที่ยังไม่ได้ถูกรื้อทิ้ง จึงกลายเป็นรางที่สามของทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงระหว่างสถานีหัวตะเข้ - ชุมทางฉะเชิงเทรา ด้วยครับ ![]() ท้องนาข้างกรุง ช่วงสถานีเปรง ใกล้ชุมทางฉะเชิงเทราเข้ามาทุกขณะ หากไม่บอกไว้ก่อน หลายๆ ท่านอาจคิดว่าคงเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ แถวๆ จ.พระนครศรีอยุธยา กระมัง ? ![]() ![]() ถึงชุมทางฉะเชิงเทราแล้วครับ ด้วยระยะทางประมาณ 60 กม.จากสถานีกรุงเทพ ทำให้ฉะเชิงเทราทุกวันนี้ อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครแทบคาดไม่ถึง แถมด้วยขบวนรถชานเมืองมีวิ่งบริการระหว่าง ฉะเชิงเทรา - กรุงเทพฯ ตลอดทั้งวันนั้น ช่างแสนสะดวกดายจริงๆ ครับ ![]() บางส่วนของย่านสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ที่สามารถรองรับขบวนรถสินค้าจากกรุงเทพฯ และภาคอีสาน เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังถึงวันละเกือบ 20 ขบวนทีเดียว ยิ่งเส้นทางรถไฟทางคู่ระหว่างชุมทางฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง ที่สร้างแล้วเสร็จและรอเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้าด้วยแล้ว ปริมาณขบวนรถสินค้าคงจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ![]() ขณะที่จอดรอทางอยู่นั้น มีขบวนรถสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง แล่นเข้าเทียบชานชาลาสถานีพอดี ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไปยังลาน ICD ลาดกระบัง ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ![]() ขอเก็บรูปบรรดาพ่อค้าแม่ขายบริเวณสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา มาฝากให้ชมด้วยครับ ![]() ![]() ครั้นได้เวลา ขบวนรถจัดเฉพาะ Circular Train เริ่มเคลื่อนขบวนออกเดินทางต่อไปยังชุมทางคลองสิบเก้า มุ่งหน้าสู่เส้นทางสายอีสานกันต่อไป (ติดตาม เที่ยวไปกับทัวร์ Circular Train ตอนที่ 2 กันต่อไปนะครับ) ![]() โดย: Kavanich96
![]() ขอบคุณที่มาแวะชมครับ ผมยังทำต้นฉบับตอนที่ 2 อยู่ เดี๋ยวค่อยเปิดตัว แฮ่ะๆ
โดย: owl2
![]() รถไฟ ปู๊นๆๆ มาแล้ว...
ชอบภาพวาด บนสุด นะคะ น่ารักจัง... โดย: phuketian
![]() เป็นฝีมือของสมาชิกเว็บไซต์ Rotfaithai.Com และเป็นผู้หญิงด้วยครับ
โดย: owl2
![]() |
บทความทั้งหมด
|