พินิจงานรถไฟสายอีสานด้วยค่าโดยสารเพียง 50 บาท (ตอนจบ)


มาถึงแล้วครับ ข. 135 (กรุงเทพ - อุบลราชธานี) ที่ทีมงานโดยสารมาเมื่อวานนี้ กำลังเข้าสู่ชานชาลาสถานีมวกเหล็ก

และก็ได้เวลาของ ข.234 (สุรินทร์ - กรุงเทพ) ออกเดินทางสู่กรุงเทพฯ ต่อไป



ครั้งที่ก่อสร้างทางรถไฟหลวงสายกรุงเทพ - นครราชสีมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น มีช่วงที่ฝรั่งช่างก่อสร้างมักเกรงกลัวกันมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ผ่านเทือกเขาดงพญาไฟ อันชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า ทำให้นายช่างและคนงานล้มตายกันมากมาย ถึงกับทรงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ดงพญาเย็น" จนกระทั่งเปิดเดินรถได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2443 อันทำให้กรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน มีความรู้สึกใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิม

ในเวลาต่อมา รัฐบาลได้ก่อสร้างถนนมิตรภาพช่วงสระบุรี - นครราชสีมา โดยความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2501 ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้าไปหักร้างถางพงเพื่อทำการเกษตร ทำให้เทือกเขาดงพญาเย็นอันคร่ำคร้ามเมื่อได้ยิน แทบจะลืมเลือนไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่

แถมยังมีโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ อันเป็นอุตสาหกรรมหนักของประเทศ ไปตั้งอยู่ที่นี่ถึง 3 โรงด้วยกัน ทำให้ถนนมิตรภาพต้องขยายเป็น 4 เลน มีรถวิ่งขวักไขว่ตลอด 24 ชั่วโมง ต่างจากการคมนาคมทางรถไฟ ที่นับวันจะร่วงโรยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการฟื้นฟูโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ขึ้นมานั่นแหละ

สุดหลักแดงนั้น เป็นพื้นที่ของลานจอดขบวนรถสินค้าของบริษัทเจ้าสัวประชัย ซึ่งเมื่อก่อนโน้น ยังเป็นป่ารกอยู่เลย



สถานีหินลับ ที่อยู่กลางดงพญาเย็น ปัจจุบันเห็นจะไม่เปล่าเปลี่ยวอีกแล้ว



ไม่เพียงแต่โรงงานผลิตปูนซิเมนต์เท่านั้น ยังมีคลังน้ำมัน โรงปุ๋ยเคมี ขบวนรถสินค้าและรถจักรเหล่านี้ ล้วนเป็นทรัพย์สินของบริษัทในเครือของเจ้าสัวประชัยทั้งสิ้น

แต่ถ้าออกเส้นทางใหญ่เมื่อใด เป็นหน้าที่ของพนักงานของการรถไฟฯ ซึ่งคุ้นเคยกับระบบอาณัติสัญญาณ และสภาพทางมากกว่า ทำการแทนครับ



สีของรถจักรติดแอร์ที่มีเกือบ 20 คัน คงคุ้นตากันอยู่แล้ว เห็นไม่ต้องบอกซ้ำอีกกระมัง ?



โรงรถจักรของบริษัท อยู่บนเนินข้างบนที่เห็นลิบๆ โน้นครับ



เส้นทางในย่านด้านซ้ายภาพ เป็นทางเข้าสู่โรงปูนของเจ้าสัวประชัย ส่วนเส้นทางใหญ่จะโค้งขวาข้างหน้านี้แหละ



ช่องหินลับ ที่แต่ก่อนเคยเป็นยุทธภูมิปะทะกันระหว่างกองทหารฝ่ายรัฐบาล กับกองกำลังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อปี พ.ศ.2476

จนเป็นเหตุให้ นายทหารฝ่ายกบฏ ได้แก่ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงโดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดยพันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2476 ทำให้ฝ่ายกบฎเริ่มเพลี่ยงพล้ำ

พระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายานั้น ทรงขึ้นเครื่องบินเดินทางหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2476

...............................

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Wikipediathai.Com



ผ่านโรงงานปุ๋ยเคมีที่มีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์นัก เข้าโค้งด้านเหนือสถานีผาเสด็จ

หากนั่งรถไฟขาขึ้น จะเห็นเส้นทางที่มีความลาดชันอย่างชัดเจน

อีกไม่กี่วันต่อมา ขบวนรถขนปูนซิเมนต์ผงของเจ้าสัว ซึ่งทดลองวิ่งจากโรงงานไปส่งยังคลังที่เชียงใหม่ ก็มาเทกระจาดแถวๆ นี้แหละ

โชคดีจริงๆ ที่ผ่านมาก่อน ไม่อยากนั่งรถย้อนทางเดิมครับ



สำนักสงฆ์ผาเสด็จ บริเวณจุดเกิดเหตุรถตกราง

ถ้าขับรถมาตามถนนใหญ่ จะมีถนนซอยข้างโรงปูนตรานก เข้าสู่สำนักสงฆ์แห่งนี้

และสามารถเดินทางไปชมผาเสด็จได้อีกด้วย



สถานีผาเสด็จ หากใครที่เคยมากับทัวร์รถไฟแล้ว ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก จริงไหม ?




จากสถานีผาเสด็จด้านใต้มาอีกเล็กน้อย บังเอิญที่ผมกะจังหวะถ่ายรูปผิด ทำให้พลาดจังหวะไปอย่างน่าเสียดาย และทีมงานที่กะจะถ่ายรูปตามผม พลอยพลาดโอกาสไปด้วย

คงมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่รู้ทางไปยืนอยู่ท้ายขบวน เลยได้จังหวะงามในการบันทึกรูปครั้งนี้



ถึงสถานีมาบกะเบา ปลายทางคู่สายอีสานในขณะนี้ ก่อนที่จะก่อสร้างต่อไปถึง จ.นครราชสีมา และ ขอนแก่น

เหตุที่สร้างสถานีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งสถานีทับกวาง (เดิม) อยู่ในทางลาด หยุดขบวนรถได้ลำบาก เพราะระบบเบรกรถไฟสมัยก่อนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ครั้นบริษัทปูนตรานกอินทรี ก่อสร้างโรงงานอยู่ใกล้เคียงกับสถานีแห่งใหม่ การรถไฟฯ จึงก่อสร้างอาคารสถานีพร้อมย่านสินค้า ให้ชื่อว่า "สถานีมาบกะเบา" โดยยุบสถานีทับกวางลงเป็นที่หยุดรถและเลิกใช้งานในทีสุด



ตัวอาคารสถานีมาบกะเบาครับ



ทรากรถเก่า "โตกิว" แขวงรถดีเซลรางมหาชัย และ KIHA ที่เหลือเพียงเล็กน้อย
รอขนย้ายไปยังสถานีต่างๆ บนเส้นทางสายชุมทางแก่งคอย - ชุมทางบัวใหญ่ เพื่อเคลียร์ย่านสถานีรองรับโครงการก่อสร้างทางคู่ไปยัง จ.นครราชสีมาในเร็วๆ นี้



จากสถานีมาบกะเบา ขบวนรถได้ไหลเร็วรี่ตามทางลาดปานน้ำป่า เพราะเป็นทางคู่เข้าสู่ชุมทางแก่งคอย จนผมยกกล้องถ่ายรูป (อดีต) ที่หยุดรถทับกวางแทบไม่ทัน





คราวนี้มีผู้โดยสารลงจากขบวนรถค่อนข้างหนาตาที่ชุมทางแก่งคอย

หลวงพี่ที่เห็นในภาพได้ยินเสียงคุยกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันในรถว่า จะไปช่วยงานทอดผ้าป่า หรืองานวัดประจำปีตามนัดหมายนี่แหละ นั่นคือภารกิจเช่นนกขมิ้นป่าของท่าน

ส่วนขบวนรถดีเซลรางที่เห็นไกลๆ เป็น ข.439 (ชุมทางแก่งคอย - ชุมทางบัวใหญ่) ที่ทีมงานได้โดยสารไปเมื่อวานนี้เอง



พอผู้โดยสารลงเสร็จ ก็ถึงคราวผู้โดยสารที่จะเดินทางขึ้นรถบ้าง



โรงงานผลิตหมอน คสล. รองรางรถไฟที่สถานีหนองบัวครับ จำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ



ทางเข้าสู่ที่เก็บหมอน คสล.รอนำขึ้นรถ



บ้านป๊อกแป๊ก สถานีของขบวนรถพลังงานสายเหนือและสายอีสานมาหยุดรับที่สถานีจ่ายน้ำมันแห่งนี้

แต่ริมทางเข้าหญ้าขึ้นรกจังเลย เมื่อเทียบกับสถานีจ่ายน้ำมันดิบที่สถานีบึงพระ จ.พิษณุโลก จนกระทั่งมองแทบไม่เห็นหลังคา

ส่วนขบวนรถบรรทุกก๊าซ NGV นั้น ต้องไปรับที่สถานีบางละมุง จ.ชลบุรี

เหตุที่ชื่อฟังแล้วแปลกหูนั้น ผู้รู้ในทัองถิ่นสันนิษฐานว่า มาจากชื่อเดิมว่า "บ้านเพ็งเพ็ก" แต่นายช่างฝรั่งสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ฟังแล้วกลับออกเสียงและให้เขียนชื่อสถานีว่า "บ้านป๊อกแป๊ก"

ชื่อเลยเพี้ยนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



หนองสีดา คนพื้นถิ่นและพี่น้องชาวอีสานคงเข้าใจตรงกันนะครับ



หนองแซง สถานีที่ผู้โดยสารเพื่อนร่วมทางของผมเมื่อวานนี้ ลงสถานีที่นี่แหละ

ขากลับ มีแม่ค้านำผลผลิตชื่อดังของอำเภอนี้มาเร่ขายให้กับผู้โดยสารกันหนาตา



หนองกวย สถานีแรกและสถานีสุดท้ายของเส้นทางสายอีสาน ก่อนบรรจบกับเส้นทางสายเหนือที่ชุมทางบ้านภาชี

ผมเพิ่งนึกออกว่า เหตุที่พลาดถ่ายรูปสถานีหนองบัว จ.สระบุรี คงจะมีขนาดเล็ก และอยู่ฝั่งตรงข้ามเช่นสถานีแห่งนี้กระมัง ?



ถึงสถานีแห่งนี้ หนึ่งในทีมงานกับลูก แยกจากคณะลงจากขบวนรถไปยังบ้านโดยมิชักช้า

ส่วนผมกับทีมงานที่เหลือ ขอสั่งไอติมมาฉลองทริปงวดนี้กันหน่อย



จากชุมทางบ้านภาชี ขบวนรถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารตรงที่หยุดรถบ้านดอนกลางอยู่ครู่หนึ่ง

แล้วก็ไม่หยุดตามสถานีใดๆ อีก จนกระทั่งมาถึงสถานีอยุธยา



หยุดที่สถานีบางปะอินอีกสถานีเดียว แล้วก็แซง ข.202 (พิษณุโลก - กรุงเทพ) ซึ่งจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีเชียงราก เข้าชิงธงสู่สถานีรังสิตก่อน

อีกหนึ่งในทีมงาน ขอแยกวงลงที่สถานีหลักสี่ซึ่งอยู่ใกล้ที่พักมากกว่า เหลือผมเป็นคนบ๊วยสุดลงทีสถานีชุมทางบางซื่อ ก่อนมุดดินกลับบ้าน

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมมาจนจบนะครับ



Create Date : 28 กันยายน 2560
Last Update : 28 กันยายน 2560 8:15:52 น.
Counter : 3047 Pageviews.

6 comments
เลี้ยงรุ่น 15/ 04 / 2024 tanjira
(19 เม.ย. 2567 17:52:18 น.)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ Wat Phrasri Rattana Mahathat, Phitsanulok. nanakawaii
(21 เม.ย. 2567 07:36:08 น.)
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
วัดพระธาตุเสด็จ อำเภอเมือง ลำปาง tuk-tuk@korat
(14 เม.ย. 2567 13:54:44 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณKavanich96, คุณป้าทุยบ้านทุ่ง

  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 29 กันยายน 2560 เวลา:2:11:05 น.
  
ขอบคุณที่แวะมาเยือนครับ
โดย: owl2 วันที่: 29 กันยายน 2560 เวลา:12:54:08 น.
  
ละเอียดดีมากครับ นั่งดูสถานีรถไฟต่างๆที่ยังไม่เคยไป
เพลินดีจริงๆ ครับ
โดย: พายุสุริยะ วันที่: 30 กันยายน 2560 เวลา:16:56:43 น.
  
อีกหน่อย โครงการรถไฟทางคู่เริ่มก่อสร้าง สองข้างทางแบบนี้คงจะเปลี่ยนไปอีกครับ

รวมถึงสถานีต่างๆ ตามเส้นทางอาจถูกรื้อถอนอีกด้วย น่าเสียดาย...
โดย: owl2 วันที่: 1 ตุลาคม 2560 เวลา:12:36:46 น.
  
ขออภัยค่ะ เลือกหัวข้อเนื้อหาของบล็อกผิดไป ขออนุญาตแก้ตัวในครั้งต่อไปนะคะ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลการเดินทางนะคะ
โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง วันที่: 5 พฤศจิกายน 2560 เวลา:9:16:29 น.
  
ไม่เป็นไรครับ
โดย: owl2 วันที่: 5 พฤษภาคม 2561 เวลา:10:00:53 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด