Konnichiwa Nihon no densha (14)
วันนี้ อ.วิรัตน์พาชาวคณะไปเยี่ยมปู่ C 56 44 ซึ่งเคยเป็นนักรบคราวสงครามมหาเอเซียบูรพา ประจำการอยู่กับกองพลรถไฟคราวสร้างเส้นทางระหว่างไทย - พม่า หรือเส้นทางรถไฟสายมรณะนั่นแหละครับ 

โดยปู่ C 56 44 ได้ประจำการจนสงครามสิ้นสุด และกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขายเส้นทางรถไฟสายนี้พร้อมรถจักร ล้อเลื่อน ให้รัฐบาลไทย ในราคา 50 ล้านบาท (ราคาในสมัยนั้น) 

ปู่ C 56 44 เลยสังกัดการรถไฟฯ ภายใต้หมายเลข 735 และวิ่งทบทวนความหลังบนเส้นทางสายน้ำตก จนกระทั่งปลดประจำการ

ก่อนที่จะถูกขายแยกชิ้นส่วนเป็นเศษเหล็กไปนั้น เรื่องเข้าถึงหูบริษัทรถไฟ โออิกาวะ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ถึงประวัติอันน่าทึ่งของปู่ C 56 เลยติดต่อขอซื้อไปทั้งคัน และลำเลียงไปซ่อมประกอบใหม่ที่ญี่ปุ่น จนสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหมือนคราวบรรจุประจำการใหม่ๆ แถมยังให้เกียรติพ่นตราของ รฟท.ไว้อีกด้วย จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสีดั้งเดิมจนปัจจุบัน

ไปดูกันหน่อยสิว่า ปู่ยังพูดภาษาไทยได้ฤาไฉน ?



รุ่งเช้า ชาวคณะออกเดินทางจากที่พักไปยังสถานีนาโกยา เพื่อขึ้นรถด่วน ชิง กังเซ็น ฮิคาริ ไปยังสถานีฮามามัตสึ ซึ่งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของบริษัทรถไฟแห่งนี้ และปู่ C 56 อยู่ในสังกัด และประจำการอีกด้วย



รถด่วนชิน กังเซ็น ฮิคาริ เที่ยวเช้านี้ ค่อนข้างว่างครับ แต่อาจมีผู้โดยสารคึกคักช่วงกลางทางก็ได้



เส้นทางช่วงแรกระหว่างสถานีนาโกยา ไปยังสถานีฮามามัตสึ



เส้นทางสายใต้จะไม่เหมือนทางเหนือ เพราะหนาแน่นไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ล้วนแต่สูงระดับสิบชั้นขึ้นไปทั้งนั้น



เก็บภาพชีวิตตามรายทางไปเรื่อยๆ นะครับ



คราวนี้ เราจะเห็นสีสันของรถไฟในสังกัด JR East บ้างล่ะ



แน่นอนครับว่า จำนวนผู้โดยสารย่อมมีมากกว่าเส้นทางสายเหนืออยู่แล้ว  คงเป็นต้นแบบของกระเป๋าลากที่พี่น้องวัยรุ่นเรากำลังฮิตกระมัง ?



แค่มองไม่ไกลนัก สามารถเห็นสะพานรถไฟ 2 แห่ง และสะพานรถยนต์อีก 2 แห่งด้วยสิ



ยี่ห้อนี้ คงไม่ต้องบอกนะครับ เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของบริษัท



ผ่านย่านสถานีอันใหญ่โต แต่จำไม่ได้ว่าเป็นสถานีใด ?



และอีกแห่งครับ แฟนรถไฟคงชอบ



สภาพภายในตู้โดยสาร ก่อนที่ชาวคณะจะลงปลายทาง



มองแค่ป้ายชื่อสถานีก็พอรู้แล้วนะครับ



ขณะรอขึ้นรถไฟ Local Train ไปยังสถานีคานายา



กับผู้โดยสารรายอื่นที่รอขึ้นรถเช่นกัน



มาล่ะครับ ขบวนรถ Local Train สายโทไคโด ที่จะเดินทางไปยังสถานีคานายา



เส้นทางรถไฟ local train โทไดโด ช่วงสถานีฮามามัตสึ - คานายา



แล้วต่อด้วยขบวนรถไฟของบริษัท โออิกาวะ จากสถานีคานายา ไปยังสถานีชิน คานายา  ซึ่งเส้นทางสายนี้เป็นของบริษัทรถไฟเอกชน เพิ่งเคยขึ้นตอนนี้แหละ



ผู้คนยังว่างอยู่ เพราะเป็นช่วงเช้าและสถานีต้นทาง



ดูความสะอาดเอี่ยมภายในตัวรถเขาบ้างเป็นไร ?



ป้ายบอกสถานีบนเส้นทางตลอดสาย และอัตราค่าโดยสาร ไม่ผิดเพี้ยนไปจากขบวนรถของกลุ่มบริษัท JR   ผมคิดว่า ขบวนนี้คงให้บริการผู้โดยสารที่มาชมการแสดงที่พิพิธภัณฑ์รถจักรสถานีชิน คานายา โดยเฉพาะ



เส้นทางช่างแสนสั้นสำหรับชาวคณะ แค่สถานีเดียวเท่านั้น



ช่วงแรก จะขนานกับเส้นทางสายโทไคโดของ JR ไปก่อน



จากนั้น จะแยกซ้ายไปตามเส้นทางของบริษัท สู่สถานี ชิน คานายา



ราวอึดใจเดียว ก็เข้าสู่สถานี ชิน คานายาแล้ว



ยังใช้ห่วงทางสะดวกอยู่ด้วย



พอมาถึงชานชาลาสถานีชิน คานายา ก็เห็นขบวนรถพิเศษจอดอยู่ที่รางว่างในย่านสถานีแล้ว  แถมรถจักรที่หาซื้อมาสะสมนั้น สามารถใช้การได้ดีทุกคันอีกด้วย



มีแฟนคลับรถไฟชาวญี่ปุ่นเริ่มทะยอยมาบ้างแล้ว  แต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดงานครับ โดยใช้รถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ทำขบวนไปยังสถานีเซ็นสุซึ่งเป็นปลายทาง



จากป้ายประชาสัมพันธ์ภายในอาคารสถานี จะมีบาร์โค้ตให้โหลดฟังคลิปเสียงรถจักรที่ระบุอีกด้วย ไม่เชื่อก็ลองดูสิ



แผ่นที่สองครับ



และแผ่นสุดท้าย  ผมคิดว่าประธานบริษัทรถไฟนี้ คงเป็นนักสะสมตัวยงเลยล่ะ

หลังจากนั้น ชาวคณะชวนกันเดินไปยังลานแสดงและโรงรถจักรที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ สถานีโดยไม่รอช้า



เจอกับรถจักรไฟฟ้า รุ่น E 102 ซึ่งถือว่าเป็นรถจักรรุ่นปู่ของเด็กสมัยนี้  เห็นว่าเป็นรุ่นปู่แบบนั้น แต่ยังใช้การได้ดีมากๆ ทีเดียว เพราะพ่วงท้ายขบวนรถประวัติศาสตร์นำกลับมายังต้นทางอีกด้วย



ดูจากตัวจริง เสียงจริงดีกว่าครับ



เจอคุณปู่ C 12 อีกคันหนึ่งครับ แต่วันนี้ จอดอยู่ที่แท่นกลับรถจักร ไม่มีทีท่าจะเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด



ดูบั้นท้าย ไม่พ่วงรถลำเลียงอย่างที่เราเคยเห็น  แสดงว่าใช้งานเฉพาะช่วงทางระยะใกล้เท่านั้น

มีป้ายบอกผังลานแสดงรถจักรให้เห็นด้วยครับ



มองดูปู่ C 56 44 เห็นพนักงานกำลังสาละวนเติมน้ำ เติมถ่านหินเร่งทำสตีมเป็นการใหญ่ ก่อนที่จะเข้าทำขบวน



ดูบรรยากาศการอุ่นเครื่องกันสักนิดนะครับ



อาจเป็นเพราะชาวคณะมาถึงเช้าเกินไปก็ได้ จึงกลับไปตั้งหลักยังอาคารแสดงโมเดลและภายในสถานี ชิน คานายา ก่อนเวลาแสดงจริงต่อไป



ส่วนคุณอรรณพนั้น ขอตัวไปหาซื้อน้ำดื่มเพราะคอแห้งแต่เช้าแล้ว ก่อนที่จะกลับมาสมทบกับชาวคณะอีกครั้งหนึ่ง



อาคารหลังนี้ เป็นที่แสดงโมเดลรถไฟให้นักท่องเที่ยวได้ชม แต่มีขนาดเล็กกว่าพิพิธภัณฑ์รถไฟที่โอมิยะ



พอเข้าไปข้างในก็ทึ่งกับงานทำโมเดล ซึ่งรวมรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไว้ด้วยกัน



เข้าไปดูใกล้ๆ กันหน่อย คงไม่ต้องอธิบายซ้ำนะครับ เพราะเราเห็นมาแล้ว



สำคัญอยู่ที่ C 56 คันนี้ สมัยยังประจำการอยู่ที่การรถไฟฯ แต่วันนี้ ชาวคณะได้ดั้นด้นมาดูตัวจริงกันถึงถิ่น



ญาติตระกูลเดียวกันครับ C 12 แต่นิยมใช้ทำขบวนรถในระยะทางสั้นๆ หรือทำเป็นรถจักรสับเปลี่ยนขบวนรถในย่านสถานี



โมเดลของสถานี ชิน คานายา



อันนี้ไม่จำลอง แต่เป็นไฟหน้ารถจักรไอน้ำในสมัยก่อน



โมเดลรถจักรไอน้ำรุ่น D 51 ญาติของรถจักรรุ่น "มิกาโด" ของการรถไฟฯ



รถจักรไอน้ำใช้งานตามโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริษัททำไม้ โดยใช้พลังไอน้ำดันลูกสูบไปหมุนเพลาล้อ เช่นเครื่องยนต์เรือเดินทะเลในสมัยก่อน



ขบวนรถโดยสารใช้พลังไฟฟ้า แทนเครื่องยนต์ดีเซล



น่าสนใจมาก เห็นจะเป็นโมเดลรถไฟซึ่งมีขบวนรถหลากหลายวิ่งกันขวักไขว่ ที่อยู่ในฝันของแต่ละคน รวมทั้งตัวผมด้วย



เห็นแล้วยังนึกๆ อยู่ว่า ทำไมเราไม่เอารางเก่าของรถไฟสายแม่กลอง หรือสายน้ำตก มาทำเป็นของที่ระลึกแบบนี้บ้างหนอ ?  ปล่อยให้สูญหายไปตามกาลเวลา น่าเสียดายมากๆ




อ.วิรัตน์ เสนอว่า เพื่อไม่ให้วุ่นวายล่าช้าตอนขากลับ ขอให้แต่ละคนจัดแจงซื้อตั๋วรถไฟกลับไปยังสถานีคานายาด้วย

เนื่องจากผมได้เก็บรูปเรียบร้อยแล้ว พอซื้อตั๋วเสร็จ กะว่าจะเดินออกไปที่ชานชาลาแต่ประตูถูกปิดไว้  นายสถานีบอกเป็นภาษาญี่ปุ่นทำนองว่า จะเปิดประตูให้ก่อนขบวนรถจะเข้ามาถึงเพียงเล็กน้อย ต้องเดินเกร่ภายในอาคารสถานีนั่นเอง



ชมป้ายโฆษณาไปพลางๆ ที่ญี่ปุ่น มักใช้การ์ตูนในการสื่อความหมายการผู้ชมครับ



แม้แต่ป้ายเตือน ห้ามเล่นริมทางรถไฟ



มีตู้ไปรษณีย์รุ่นคลาสสิกตั้งไว้หน้าอาคารสถานีด้วย คิดว่าคงใช้งานอยู่น่า



จู่ๆ นายสถานีเปิดประตูให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วแล้วออกไปยังชานชาลาและหนึ่งในจำนวนนั้นมีผมที่ติดหลังแหออกมาด้วยสิ 

ปรากฎว่าเขาขึ้นขบวนรถขาล่องไปจนหมด เหลือผมค้างอยู่คนเดียวที่ชานชาลา  เหอ...  เหอ...



ครั้นจะกลับเข้าไป เขาก็ปิดประตูแล้ว เลยมองโน่น ถ่ายรูปนี่ไปพลางๆ

เป็นประแจมือเสือหมอบแบบญี่ปุ่น ท่าทางจะนิรภัยกว่าของบ้านเรา ที่อาจตีกลับได้ เวลารถจักรหนักๆ วิ่งผ่าน



เดินเตร็ดเตร่ได้ไม่นานนัก รถจักรไฟฟ้าที่พ่วงกับขบวนรถพิเศษวันนี้ ได้นำขบวนออกจากย่าน ถอยหลังเข้าเทียบชานชาลาสถานี



เป็นตู้โดยสารรุ่นป้าโอชินยังสาวกระมัง ?



เป็นรุ่นเก่าจริงๆ ด้วย จากที่แอบมองลอดหน้าต่าง จะเห็นที่เขี่ยบุหรี่ยังติดไว้อยู่เลย เพราะตอนนี้ มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนขบวนรถแล้วครับ

โอบะซังที่เป็น พรร.ประจำรถ เห็นผมมยืนเก้ๆ กังๆ ที่ชานชาลาสถานี เอ่ยถามว่าผมจะไปไหน เลยตอบเป็นภาษาประกิตไปว่า

" I waiting my friend "

รอดตัวไปได้หนึ่งมื้อ ทราบภายหลังว่าทั้ง อ.วิรัตน์ และคุณอรรณพ กำลังหามุมเหมาะๆ เพื่อถ่ายคลิปครั้งสำคัญนี้



แล้วปู่ C 56 44 แล่นเข้ามาต่อขบวน คราวนี้เป็นทีของผมบ้างล่ะ เพราะเป็นคนเดียวที่อยู่บนชานชาลาขณะนั้น



แถมยังได้ภาพ พขร.กับ ชค. ขณะตรวจสอบความเรียบร้อยบนรถจักรด้วยสิ






ก่อนที่จะลงจากรถจักรไปตรวจสอบความเรียบร้อยของช่วงล่างรถ



ตอนนี้ ทางสถานีได้ปล่อยให้ผู้โดยสารมาขึ้นรถ ทำให้ผมไม่เหงาแล้วล่ะ  หลายรายคงทำอย่างที่แฟนรถไฟไทยทำ คือไปจ้องมอง และถ่ายรูปกันคึกคักทีเดียว



ผู้โดยสารต่างเข้าไปนั่งตามที่นั่งซึ่งได้จับจองไว้ ในขณะที่พนักงานได้นำรถเข็นบรรจุของว่างและเครื่องดื่มขึ้นรถไปให้บริการด้วย



เท่าที่สังเกต พื้นตู้โดยสารจะเป็นไม้ล้วนๆ ไม่มีแผ่นไวนิลปูทับแต่ประการใด



พอได้เวลา ขบวนรถไฟพิเศษชักหวีดแล่นออกจากสถานีชิน คานายา  โดยมีพี่น้องชาวบ้านและญาติมิตรที่มาส่ง โบกมือให้เป็นทิวแถว



มองไกลๆ ไปทางโรงรถจักร ยังมีรถจักรไอน้ำรุ่น C 56 จอดติดเตาควันกรุ่นอีกหนึ่งคัน  เข้าใจว่าคงรับเวรช่วงบ่าย หลังจากขบวนเช้าวันนี้ได้กลับมาจากปลายทางแล้ว



หลังจากไปส่งขบวนรถพิเศษออกเดินทางสมความตั้งใจแล้ว ชาวคณะก็เดินทางกลับไปยังสถานีคานายา เพื่อเดินทางกลับไปที่เมืองนาโกยาต่อไป








 



Create Date : 10 มิถุนายน 2563
Last Update : 10 มิถุนายน 2563 22:01:47 น.
Counter : 975 Pageviews.

0 comments
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
พาเที่ยววัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ขอพรวัดเก่าใจกลางเมืองรับปีใหม่ไทย นายแว่นขยันเที่ยว
(15 เม.ย. 2567 13:57:04 น.)
ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มฟื้นคืนชีพ สวยสุดซอย
(12 เม.ย. 2567 14:13:40 น.)
Bangsaen 21 The Finest Running Event Ever 2023 บางแสน แมวเซาผู้น่าสงสาร
(12 เม.ย. 2567 10:20:55 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด