สารคดีสั้น...จาก "คนเมือง" (11)
สวัสดีครับ.....

สารคดีสั้นที่ผ่านมาอาจหนักสมองไปบ้างนะครับ สำหรับช่วงนี้ขอมอบบรรยากาศเบาๆ ผ่อนคลายไปกับสายน้ำ ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งชื่อที่ลงตัวเหมาะสมว่า "แม่น้ำสลักหิน"

สำหรับแม่น้ำสลักหินนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับลำน้ำสองแห่งด้วยกัน คือ ลำน้ำแม่กลาง และลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งมีต้นน้ำจากดอยอินทนนท์ และบางช่วงได้ไหลเซาะผ่านแก่งหิน หรือเป็นน้ำตกที่สวยงามโจนจากโตรกผา ซึ่งประทับใจผู้มาเยือน ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้น ไม่ได้สะดวกดายเหมือนทุกวันนี้

สำหรับสารคดีตอนนี้จะมีสองส่วนครับ ส่วนแรกเป็นทรรศนะภาพจากแผ่นปกโดย ศิลป วิจิตรศิลป และส่วนที่เป็นสารคดีสั้น ถ่ายภาพโดย นิคม กิตติกุล บรรยายโดย "ศิริชัย" นามแฝงของนักเขียนนิรนามของกองบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ลงพิมพ์ในปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ประจำเดือน ธันวาคม 2497

ลองชมดูบรรยากาศการท่องเที่ยวชมน้ำตกของนักท่องเที่ยวสมัยโน้นว่า มีอะไรแตกต่างจากสมัยนี้บ้าง เชิญติดตามได้เลยครับ


.............................

ทรรศนะภาพจากเมืองเหนือ

ออบหลวง- แม่น้ำสลักหิน

ศิลป วิจิตรศิลป ถ่ายภาพ





ท้องฟ้าและสายน้ำที่รอบๆ มีแต่ความสงบสงัดนั้น ว่ากันว่าทำให้ความคิดคำนึงของเรากระเจิดกระเจิงไปในความฝัน- ซึ่งมีทั้งแสนสุขและซึมเศร้า... ร่าเริงและร่ำไห้ เพราะในบรรยากาศอย่างนั้น, จิตใจของคนธรรมดายากนักจะแสวงวิเวกได้... ใครเลยจะทำได้ ?

ออบหลวง- แม่น้ำสลักหิน ซึ่งขึ้นชื่อลือชาแห่งหนึ่งของเวียงพิงค์ก็เช่นเดียวกัน บรรยากาศรอบๆ มีแต่เสียงใบไม้พลิกล้อลม... เสียงนกร้อง... และเสียงน้ำซัดแก่งหินอยู่ตลอดเวลา

คนหนุ่มและสาว (ฉะเพาะอย่างยิ่งผู้อยู่ในวัยรัก) เมื่อมาถึง “แม่น้ำสลักหิน” แห่งนี้และได้อยู่เงียบๆ ตามลำพัง ท่ามกลางบรรยากาศชวนฝันเช่นนั้น ก็อดที่จะ “เพ้อ” ออกมาไม่ได้ว่า “โอ้ว่าอนิจจาความรัก ไม่ประจักษ์ดังสายน้ำไหล...” ดังที่กวีพร่ำเพ้อมาแต่เก่าก่อน

หรืออีกที, ก็อาจละเมอออกมาว่า “ความรักเมื่อล่องเลยไปแล้วก็ไม่มีวันกลับคืนมา” เหมือนสายน้ำที่ซัดแก่งหินอึงอลอยู่ตลอดกาล...

ซึ่งคล้ายเสียงตะโกนว่า No Return ! No Return !

...........................


แอ่วออบหลวง


นิคม กิตติกุล ถ่ายภาพ
“ศิริชัย” บรรยาย



หลังจากขบวน “ทัศนาจร” กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีทั้งเด็กผู้ใหญ่ – ผู้ชายและผู้หญิง ๑๐๐ คนเศษ โดยรถยนต์ร่วมยี่สิบคัน วิ่งตะบึงฝ่าฝุ่นและเปลวแดด ผ่านถนนที่บางตอนราบเรียบ – บางตอนขรุขระ และบางตอนก็ลาดชัน – ผ่านสพานไม้ชั่วคราว ซึ่งอาจจะยุบฮวบลงไปเมื่อไรก็ได้ เป็นระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ ในที่สุด, พวกเราก็มาถึง “ออบหลวง” จุดหมายปลายทาง

“มันเหลือจะคุ้มค่าที่อุตส่าห์มา” ใครคนหนึ่งพูดออกดังๆ

“แม่ขา เปี๊ยกอยากลงเล่นน้ำ”

“ไม่มีใครเขามาเล่นน้ำกันหรอก เปี๊ยก” พ่อพูดขัดขึ้นเบาๆ “เรามาดูความงามตามธรรมชาติกันต่างหาก เปี๊ยกเคยเห็นที่ไหนงามเหมือนเหมือนออบหลวงนี่บ้าง ?”

เป็นความจริง “ออบหลวง” งามเหมือนสวรรค์บรรจงเศกสรรค์ เพราะมีทุกอย่างที่จะตรึงใจผู้มาพบเห็น น้ำใส – ผาสวย – และความเงียบสงัด... ที่นี่เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเหมาะสำหรับรักษาใจเสียจริงๆ

“น้ำใสยังงี้ เปี๊ยกอยากลงเล่นน้ำเหลือเกิน” ลูกสาวบ่นพึมพำอยู่คนเดียว


“ทูนหัว, - เราไปนั่งที่ชะง่อนผาริมน้ำตรงโน้นเถอะ” เขาชวนและอย่างว่าง่าย เธอเดินนำ – มีเขาตามไปต้อยๆ “ตรงนี้แหละ-“ เขาปูผ้าเช็ดหน้าให้เธอรองนั่ง แล้วเขาเองเอนตัวลงนอน...

ไม่มีใครมีหูทิพย์จะได้ยินเสียงกระซิบกระซาบด้วยภาษาหัวใจ ที่สอดแซกอยู่กับเสียงน้ำเซาะแก่งหินนั้นอีก... นอกจากจะเห็นเขาและเธอนั่งอยู่เคียงกัน... ท่ามกลางแดดร่ม, ลมโชย..

ทุกคนที่ได้เห็นก็ได้แต่นึกรู้อยู่ในใจว่าเขาและเธอมีความสุขอย่างเหลือเกิน สุขเหมือนกับว่าโลกทั้งโลกมีเขาและเธออยู่ด้วยกันตามลำพัง


“รู้ยังงี้- ให้ตายเถอะ นอนอยู่บ้านดีกว่า”

“เฮ่ย – บ่นเป็นบ้าไปได้ เอ้า, ล่อไอ้นี่เสียหน่อย จะได้เปิดตามองเห็นโลกแจ่มขึ้นบ้าง”

เขากรอกเหล้าเข้าปาก ใช้หลังมือเช็ดพลางพ่นควันบุหรี่ลอยเป็นกลุ่ม

“ที่นี่มันเหมาะสำหรับคนที่มีความรัก ไม่เหมาะสมกับคนไร้รักเลยสักนิด.. ดูซี, ผาสวย – น้ำใส – แดดร่ม – ลมโชย – และนอกจากเสียงลมพัดใบไม้ไหว – ประสานกับเสียงน้ำเซาะแก่งหินและเสียงนกร้องแล้ว มันจะมีอะไรเหมาะเท่ากับมีผู้ที่เป็นที่รักสักคนหนึ่ง แล้วพากันมาที่นี่... หรือไง ?”

“หมอนี่ฝันไกลไม่ใช่เล่น เอ้า – ล่ออีกสักกรุ๊บ !”

“ไม่เสียเที่ยวเลยนะคะคุณ” แม่บ้านบอกกับพ่อบ้าน “ออบหลวงงามไม่แพ้ที่ใดเลย นี่ถ้าถนนไปมาสะดวกกว่านี้ ออบหลวงจะเป็นวนาที่มีคนมาเที่ยวกันไม่ใช่น้อยเลย”

“กรมทางหลวงแผ่นดินมีโครงการณ์อยู่แล้วนี่เธอ” พ่อบ้านว่า “ แต่คงอีกนาน และถ้าถนนสายนี้ตัดตรงไปถึงแม่สะเรียงได้ ออบหลวงนี่แหละจะเป็นอุทธยานสวรรค์สำหรับคนเดินดินทีเดียว”

“คุณคิดอย่างนั้นหรือคะ ?”

“ฉันเชื่อเอาทีเดียวแหละ” พ่อบ้านว่า

ออบหลวง- อยู่ห่างจากเวียงเชียงใหม่เพียง ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ เราอาจจะไปเช้า – เย็นกลับได้อย่างสบาย ถ้าหากว่ากรมทางหลวงแผ่นดินจัดการสร้างทางสายนี้เสร็จ และเปิดให้ยวดยานผ่านไปมาได้อย่างสะดวก แน่นอนที่สุด, ออบหลวงจะเป็นอุทธยานสวรรค์สำหรับคนเดินดินจริงๆ อย่างที่พ่อบ้านผู้นั้นเชื่อและมั่นใจ

ใครที่มาถึง “ออบหลวง” ก็ย่อมจะมี “สิ่งหนึ่ง” ที่ประทับใจ เด็กๆ มองเห็นที่เล่นน้ำ... เห็นออบหลวงเป็นสระสนาน... คนหนุ่มคนสาวที่กำลังมีรักก็เห็นว่าไม่มีที่ไหนเหมาะเท่า... คนแก่คนเฒ่าก็ว่าสงบดีเหลือเกิน... และคนไร้รักที่ช่างฝัน ก็จะได้บ่นงึมงำ ว่ามันทารุณอย่างร้าย !


ออบหลวงเป็นอย่างนี้เอง.

............................





ทรรศนภาพอันแรกที่ผ่านเข้ามาสู่คลองจักษุของเรา ขณะที่มาถึงอำเภอจอมทอง ปากทางสู่ออบหลวงก็คือ ธารน้ำตกแม่ยะ ซึ่งแลเห็นขาวโพลนลิบๆ อยู่บนภูผาทมึนเบื้องหน้า




จากทางแยกที่ตลาดจอมทองขึ้นไปทางทิศเหนือเพียง ๘ กิโลเมตร เราก็จะพบน้ำตกอันมีชื่อเสียงที่สุดของนครพิงค์ คือตาดแม่กลาง ซึ่งมีความวิจิตรพิศดารอันจะหาที่ใดเหมือนอีกไม่ได้แล้วบนผืนแผ่นดินไทย




ถนนสายเชียงใหม่ - แม่สะเรียง ในท้องที่อำเภอฮอด ถูกตัดเลียบไปตามลำน้ำแม่แจ่ม... เป็นถนนสายเดียวในปัจจุบันนี้ที่สวยที่สุด แต่ก็อันตรายที่สุดในเมืองไทย

ทรรศนภาพตลอดระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร จากปากทางไปถึงออบหลวง เป็นทรรศนภาพที่วิเศษที่สุด ซึ่งจะหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว




ออบหลวงกำลังได้รับสถาปนาขึ้นเป็นวนอุทยานธรรมชาติของนครพิงค์ ปัจจุบันถึงแม้จะอยู่ในระหว่างปรับปรุง แต่ก็เป็นแหล่งเที่ยวที่สำคัญที่สุด และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนทีละไม่น้อย




ออบหลวงแม่แจ่มได้ชื่อว่าเป็น The River of no Return ของนครพิงค์ เพราะบนธารมฤตยูสายนี้ นอกจากฝูงปลาแล้วยังไม่เคยปรากฎว่ามีสิ่งที่มีชีวิตใดๆ สามารถจะทวนกระแสน้ำอันเย็นเยียบ และเป็นบ้าตลอดฤดูกาลขึ้นไปเหนือออบได้เลย




จุดอันตรายที่สุดของออบหลวงคือ ตอนที่กระแสน้ำได้เจาะหน้าผาลงไปจนกลายเป็นเหวลึก

การข้ามออบจากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่งจะต้องต่ายลงไปตามหน้าผาอันชันละลิ่ว ซึ่งถ้าพลาดก็หมายถึงมฤตยูในวังน้ำวนเบื้องล่าง




ปากอุโมงค์ใหญ่ของออบหลวง ได้ชื่อว่าเป็นวังวนแห่งความตาย ณ จุดนี้ ไม้ซุงขนาดใหญ่เคยถูกกระแสน้ำวนดูดหายลงไปใต้น้ำนับเป็นสิบๆ ต้น

ณ จุดเดียวกันนี้ เมื่อสามสิบปีก่อนเคยเป็นสุสานของหญิงหนึ่ง ซึ่งพุ่งตัวลงจากหน้าผาอันสูงละลิ่ว ร่างของเธอจมดิ่งลงสู่วังวนเบื้องล่าง และหาไม่พบจนกระทั่งเวลานี้




ดั่งพญานาคคำรณ กระแสน้ำอันเชี่ยวควั่กโถมตัวเข้าทะลวงหน้าผาอย่างดุเดือดปานฟ้าถล่มวันแล้ววันเล่าเป็นเวลานับด้วยศตวรรษ

เสียงอึงอลของกระแสน้ำอันพล่านเดือดอยู่เป็นนิจ เหมือนกับจะตะโกนก้องอยู่ตลอดกาลว่า

No Return ! No Return ! No Return !

.........................

(จากนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ประจำเดือน ธันวาคม 2497)


หมายเหตุ



ผมมีโอกาสไปเยือนวนอุทยานออบหลวง เมื่อช่วงปลายปี 2544 ดูแล้ว ไม่น่าจะสูงสักเท่าใดนัก แต่ก็เสียวพอสมควร หากขึ้นไปยืนบนสะพานข้ามออบหลวงที่เห็นอยู่ด้านหลัง แล้วมองดูลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลผ่านข้างล่าง



มุมมองจากบนสะพานเหล็กข้ามออบหลวง ซึ่งทางวนอุทยานฯ ได้เปลี่ยนจากสะพานไม้ซุง (เดิม) ลงมายังจุดชมวิวตามภาพแรกครับ




Create Date : 13 กันยายน 2553
Last Update : 13 กันยายน 2553 9:14:19 น.
Counter : 3591 Pageviews.

4 comments
ขอบคุณ คุณวิลลิส ฮาวิแลนด์ แคเรียร์ ผู้ค้นคิดเครื่องปรับอากาศสมัยใหม่ สมาชิกหมายเลข 4149951
(22 เม.ย. 2567 09:24:38 น.)
สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ…วางแผนการเงินอย่างไร ให้เหลือใช้ถึงปลายเดือน! สมาชิกหมายเลข 7654336
(13 เม.ย. 2567 02:04:45 น.)
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
  
สะพานน่ากลัว
โดย: นาฬิกาสีชมพู วันที่: 13 กันยายน 2553 เวลา:3:23:55 น.
  
ขอบคุณที่เข้ามาแวะชมครับ ลองเปรียบเทียบกับภาพปัจจุบัน ซึ่งผมได้ไปเยือนครั้งแรกเมื่อปี 2544 ดูสิครับ
โดย: owl2 วันที่: 13 กันยายน 2553 เวลา:9:04:40 น.
  
ภาพสมัยก่อน (ภาพสีภาพแรก) ถ่ายได้สวยมากและดูน่าหวาดเสียว เมื่อเที่ยบกับภาพปัจจุบันดูเหมือนจะไม่สูงมากนัก
การบรรยายของผู้เขียน ทำให้เห็นภาพความเป็นธรรมชาติของออบหลวง ที่ยังลี้ลับจากผู้คน คนในยุคใกล้ พ.ศ. 2500 เขายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากๆ
ยิ่งอ่านยิ่งเห็นความสวยงามของเมืองเหนือ คิดถึงเพลงที่กล่าวถึงวังน้ำวนครับ
โดย: Insignia_Museum วันที่: 14 กันยายน 2553 เวลา:22:40:58 น.
  
เท่าที่สังเกตในภาพ ผมว่ามาจากการตั้งมุมกล้องครับ เข้าใจว่าทีมงานเขาตั้งกล้องตรงริมลำน้ำแม่แจ่ม แล้วเงยขึ้นมามุมบน

ที่ผมถ่ายมา จะอยู่บนจุดชมวิว สูงขึ้นมาจากลำน้ำอีกประมาณ ครึ่งหนึ่งของออบหลวง เลยดูไม่สูงมากนัก

จากช่วงปีตามเนื้อเรื่อง ถนนสายฮอด - แม่สะเรียงยังไม่ได้ก่อสร้างเป็นทางมาตรฐานครับ เป็นเพียงเส้นทางลำลองเท่านั้น ทำให้ออบหลวงอยู่ไกล ไปมาค่อนข้างลำบาก นักท่องเที่ยวต้องเป็นประเภทที่ตั้งใจไปจริงๆ ถึงจะชื่นชมความสวยงามของออบหลวงครับ
โดย: owl2 วันที่: 15 กันยายน 2553 เวลา:21:44:58 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Owl.BlogGang.com

owl2
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด