Dokuz คำให้การจากตุรกี
Dokuz คำให้การจากตุรกี
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 17 สิงหาคม 2551
Dokuz หรือในชื่อสั้นๆ สำหรับเวทีต่างประเทศว่า 9 เป็นหนังตุรกีปี 2002 ผลงานของ อูมิต อูนาล หนุ่มใหญ่นักเขียน-คนเขียนบทหนัง-ผู้กำกับหนังโฆษณา ที่ขยับมากำกับหนังเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จสูงสุดจากการคว้ารางวัลภาพยนตร์ตุรกียอดเยี่ยมแห่งปีจากเทศกาลภาพยนตร์อิสตันบูล และได้สิทธิไปชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศในปี 2003
ทีเด็ดของ Dokuz อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมผ่านคำบอกเล่าของคนจำนวนหนึ่ง
หลายคนอาจนึกถึง Rashomon (1950) หรือหนังหลายเรื่องในแนวเดียวกันนี้ที่ผู้สร้างถ่ายทอดเรื่องราวฆาตกรรมตามคำบอกเล่าซึ่งต่างกันไปแต่ละตัวละคร โดยมีตัวละครอีกฝ่ายหนึ่งอาจเป็นผู้สืบสวนคดีคอยรับฟัง ส่วนผู้ชมจะมีสถานะไม่ต่างจากผู้สืบสวนคดี เพราะต้องติดตามและคิดตามเรื่องราวตามคำบอกเล่าซึ่งผู้สร้างได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเล่าเรื่องอีกชั้นหนึ่ง
แต่สำหรับ Dokuz นั้นแตกต่างออกไป เพราะแทนที่จะมี ภาพเล่าเรื่อง ในแต่ละมุมมอง หนังกลับมีแต่ภาพ คนเล่าเรื่อง มาร้อยเรียงกันตลอดเวลาร่วมชั่วโมงครึ่ง
ผลคือหนังเต็มไปด้วยบทพูด...พูด...พูด....และ..........พูด!
นอกจากนี้ ตัวละครยังมีแค่ฝ่ายผู้เล่าเรื่องฝ่ายเดียว ตัวละครฝ่ายค้นหาความจริงไม่มีเป็นตัวเป็นตน ไม่มีตัวละครเอก (พระ-นาง-ตัวร้าย) ไม่มีตัวละครหลักที่เป็นจุดศูนย์กลางหรือคอยดำเนินเรื่อง
สมมุติว่าหนังฆาตกรรมหลากมุมมองเรื่องหนึ่งประกอบด้วยตัวละครหลักอย่างนักสืบ ผู้ต้องสงสัย รวมถึงพยานหรือผู้เกี่ยวข้อง หนังเรื่อง Dokuz ก็มีแต่ "ผู้ต้องสงสัย" มานั่งให้การกันล้วนๆ
แล้วอย่างนี้หนังจะสนุกได้หรือ?!
เรื่องราวเกิดขึ้นในห้องสอบปากคำมืดทะมึน ตัวละครนั่งอยู่บนเก้าอี้ ไม่มีโต๊ะหรืออุปกรณ์อื่น นอกจากกระจกบานใหญ่ด้านหน้าของพวกเขา เป็นกระจกสองด้านซึ่งเห็นกันบ่อยๆ ในหนัง ภาพที่หนังนำเสนอจะมีทั้งการถ่ายตัวละครอยู่ภายในห้อง ถ่ายตัวละครจากด้านนอกผ่านกระจกห้องสอบปากคำ ภาพโทนฟ้าจากกล้องวงจรปิดในจอมอนิเตอร์ 2 จอที่อยู่หลังกระจกด้านนอก (ส่วนใหญ่เป็นภาพโคลส-อัพ) เห็นเงาหรือร่างของตำรวจผู้สอบปากคำเพียงเล็กน้อยนานๆ ครั้งในตำแหน่งฉากหน้าของภาพ โดยไม่เห็นหน้าหรือได้ยินเสียงแม้แต่ครั้งเดียว
ภาพอื่นนอกเหนือจากนี้เป็นภาพย่านที่อยู่อาศัยในอิสตันบูลซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ กับภาพอิริยาบถต่างๆ ของหญิงสาวชื่อ สไปกี้ ก่อนถูกฆาตกรรม ใส่แทรกมาในช่วงต้นที่ตัวละครเท้าความถึงสถานที่และผู้เป็นเหยื่อ ส่วนช่วงท้ายของหนังจะมีภาพจากกล้องวิดีโอของตัวละครซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานใส่แทรกมาประกอบคำให้การ
เรื่องมีอยู่ว่า สไปกี้ หญิงสาวจรจัดหน้าตาดีแต่ท่าทางเหมือนคนไม่ปกติถูกพบเป็นศพเปลือยในเช้าวันหนึ่ง ตัวละครที่ถูกเรียกมาสอบปากคำประกอบด้วย
ซาลิฮา หญิงสูงวัยที่คนย่านนั้นรู้จักนับถือ มีลูกชายชื่อ คาย่า ซึ่งนางบอกว่าไม่ได้กลับบ้านนานกว่าสัปดาห์
ซาลิม ชายสูงวัยเจ้าของร้านหนังสือและเครื่องเขียน มีการศึกษาสูงกว่าคนอื่น
ตุน หนุ่มท่าทางเสเพล รักสนุก อวดดี เจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์
ฟิรุส หนุ่มใหญ่ร่างใหญ่เจ้าของร้านถ่ายรูป ชอบถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพชาวบ้านในย่านนั้น
อีกคนหนึ่งเป็นชายชาวตุรกีที่เคยไปอยู่สหรัฐอเมริกานานกว่าสิบปีจนชาวบ้านเรียกเขาว่า อเมริกัน มีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกันชายคนนี้ เขาเหมือนคนสติไม่ดี ไม่มีบ้าน สร้างเพิงพักเป็นที่หลับนอน และให้สไปกี้มาอยู่ด้วย
คนสุดท้ายเป็นเจ้าของร้านขายผลไม้ที่พบศพสไปกี้แล้วโทร.แจ้งตำรวจ
ตัวละครทั้งหมดนี้เชื่อมโยงถึงกัน และเกี่ยวโยงกับหญิงสาวผู้เป็นเหยื่อ แน่นอนว่าต้องมีใครคนหนึ่งพูดโกหกเพื่อปกปิดความจริง
...หรืออาจไม่มีใครพูดความจริงเลยสักคน
อย่างที่บอกว่าหนังใช้ คำให้การ มาร้อยเรียงกัน แถมไม่มีตัวละครเอก ดังนั้น ขั้นตอนแนะนำตัวละคร เล่าเรื่องราว และดำเนินเรื่องให้น่าสนใจเหมือนหนังทั่วไปจึงต้องพึ่ง การตัดต่อ เป็นสำคัญ
ตัวละครซึ่งให้ปากคำตามลำพังจะถูกตัดสลับกันไปมาตลอดเวลาอย่างถี่ยิบจนผู้ชมรู้สึกราวกับว่าพวกเขาอยู่ในห้องเดียวกัน ได้ยินและโต้ตอบกันเอง มีปฏิกิริยาผ่านสีหน้าท่าทางเมื่อรับรู้ว่าอีกฝ่ายพูดอะไร หรือพูดพาดพิงถึงตนเองอย่างไร (ความจริงคือรับรู้ผ่านผู้สอบปากคำอีกที) ตามมาด้วยการพูดแก้ต่าง-พลิกเกมกันพัลวัน
เมื่อเรื่องราวจากปากคำตัวละครยิ่งเปิดเผยมากขึ้น การรับ-ส่งโต้ตอบเรื่องราวและอารมณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ มีจุดพลิกผันหรือปมปริศนาผุดขึ้นเป็นระยะ หนังที่ไม่มีตัวละครเอกและดูเหมือนไม่มีตัวละครหลักดำเนินเรื่องจึงกลับกลายเป็นว่าตัวละคร ผู้ต้องสงสัย 5-6 คนนี้เองที่ร่วมกันทำให้หนังคืบเคลื่อนไปข้างหน้าได้ชวนติดตาม ด้วยคำพูดและสีหน้าท่าทางผ่านการตัดต่ออันชาญฉลาดและแม่นยำ
กระทั่งหนังที่อุดมไปด้วยบทพูด ใช้ฉากซ้ำเดิมฉากเดียว และไม่มีตัวละครเอกให้ติดตามเอาใจช่วย กลายเป็นหนังที่ดูสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ทั้งหมดที่กล่าวมาว่ากันเฉพาะเรื่องรูปแบบการนำเสนออันโดดเด่นเท่านั้น ข้อดีของหนังยังอยู่ที่เนื้อหาเรื่องราวซึ่งแม้จะเป็นแค่คดีฆาตกรรม แต่สามารถสะท้อนทัศนคติของผู้คนในสังคมตุรกีได้ โดยเฉพาะอคติทางศาสนา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ รวมถึงอคติต่อจุดยืนทางการเมืองในอดีตที่แสดงออกผ่านคำพูดและท่าทีของตัวละคร
เช่นเหยื่อสาวอย่างสไปกี้ถูกซาลิฮาพูดจาดูถูกเรื่องพฤติกรรมอื้อฉาวโดยโยงไปว่าเธอเป็นยิว ชายผู้ไปอยู่สหรัฐนับสิบปีถูกชาวบ้านมองด้วยสายตาเคลือบแคลง เช่นเดียวกับอดีตฝ่ายซ้าย-มีการศึกษาอย่างซาลิมดูแปลกแยกกับคนอื่นจนน่าสงสัย ขณะที่พฤติกรรมรักร่วมเพศของตัวละครหนึ่งก็พร้อมจะถูกยกเป็นเหตุทำลายความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การสรุปคดีของตำรวจทั้งที่หลักฐานยังไม่ชัดเจนนัก เหมือนกระทำด้วยอคติหรือเจตนาบางอย่างโดยผู้มีอำนาจในมือ
เห็นได้ว่าทัศนคติที่สะท้อนออกมาคือร่องรอยของลัทธิฟาสซิสม์ และคงเพราะเหตุนี้หนังจึงให้ตัวละครเหยื่อฆาตกรรมอย่างสไปกี้(ซึ่งไม่แน่ว่าเป็นยิวหรือเปล่า) สวมจี้ห้อยคอรูปดาวดาวิด สัญลักษณ์ของยิว-เผ่าพันธุ์ซึ่งตกเป็นเหยื่อฟาสซิสม์ในอดีต
ฉากสุดท้าย จี้ห้อยคอรูปดาวถูกตัวละครหนึ่งเก็บได้ ...หรือเหยื่อรายต่อไปได้ถูกกำหนดไว้แล้ว!
Create Date : 19 ตุลาคม 2551 |
|
7 comments |
Last Update : 19 ตุลาคม 2551 13:00:09 น. |
Counter : 1504 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: nanoguy IP: 125.24.172.137 22 ตุลาคม 2551 18:27:06 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|