Afghan Star อัฟกัน เรียลิตี้
Afghan Star อัฟกัน เรียลิตี้
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 21 กุมภาพันธ์ 2553
ในยุคที่ ความฝัน กลายเป็นเรื่องที่ต้องประกาศให้โลกรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ประเภทประกวดประชันทักษะความสามารถหลากหลายรูปแบบ ผู้คนในดินแดนยากแค้นอย่างอัฟกานิสถานก็มีโอกาสได้สัมผัส ความฝัน ในจอสี่เล่มในแบบของตนเองเช่นกัน
อัฟกัน สตาร์ คือรายการประกวดร้องเพลงแบบเรียลิตี้ของอัฟกานิสถานลักษณะใกล้เคียงกับรายการอเมริกัน ไอดอล ของสหรัฐอเมริกา คัดเลือกผู้ประกวดจากทั่วประเทศ จนเหลือรอบ 10 คนสุดท้ายที่ตัดสินผู้ตกรอบและผู้ชนะด้วยคะแนนโหวตผ่านโทรศัพท์มือถือ ว่ากันว่ามีชาวอัฟกันถึง 11 ล้านคน เกาะขอบจอเพื่อลุ้นผลการประกวดแต่ละรอบอย่างใกล้ชิด
ส่วน Afghan Star ที่เขียนถึงคราวนี้คือหนังสารคดีสัญชาติอังกฤษโดยผู้กำกับหญิง ฮาวานา มาร์คกิง ตัวแทนอังกฤษชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศในรอบปีที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องราวหลากแง่มุมเกี่ยวกับรายการดังกล่าว
ความน่าสนใจของ Afghan Star มองเห็นได้ตั้งแต่รายการต้นเรื่องที่เป็นการประกวดร้องเพลงป๊อปและตัดสินแบบป๊อปปูลาร์โหวตผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงมีลักษณะเปิดกว้างให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ผู้เข้าประกวดมีอิสระในการแสดงออก และใช้เทคโนโลยีทันสมัย ขัดแย้งกับภาพความยากจน สภาพบ้านเมืองภายใต้สงคราม และความเคร่งครัดแบบอิสลามของอัฟกานิสถานอย่างที่เคยรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของอัฟกัน สตาร์ ภายหลังทาลิบันหมดอำนาจ ทำให้ผู้ชมชาวอัฟกันจำนวนหนึ่งไม่ได้มองว่านี่เป็นแค่รายการประกวดร้องเพลงธรรมดา แต่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสงบสุขและเสรีภาพซึ่งพวกเขาใฝ่ฝันมาตลอด
หนังเริ่มต้นโดยขึ้นข้อความเกริ่นนำถึงความเป็นไปของอัฟกานิสถานนับแต่ปี 1979 ที่โดนรุกรานจากต่างชาติ สงครามกลางเมืองของกลุ่มมูจาฮีดีน และถูกปิดกั้นอย่างเคร่งครัดจากทาลิบัน กระทั่งการเต้นรำและดนตรีเป็นเรื่องต้องห้าม วิทยุและโทรทัศน์ถูกปิด แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรขับไล่ทาลิบันได้สำเร็จและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2004 ข้อห้ามต่างๆ จึงถูกยกเลิกจนนำไปสู่ยุคใหม่ของสถานีวิทยุ-โทรทัศน์
หนึ่งในนั้นคือสถานีโทรทัศน์โทโลที่เผยแพร่รายการอัฟกัน สตาร์ เป็นครั้งแรกในปี 2005
หนังไล่เรียงความเป็นไปของรายการในซีซั่นที่ 3 (ปี 2007) ตั้งแต่รอบคัดเลือกตามเมืองใหญ่หลายเมืองที่มีผู้สมัครรวมกว่า 2,000 คน จนถึงรอบ 10 คนสุดท้ายซึ่งใช้คะแนนโหวตต่ำสุดเพื่อคัดออกทีละคน จากนั้นติดตามผู้ประกวด 4 คน ที่มาจากต่างเมืองและมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน คู่ขนานไปกับรายการซึ่งเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
คนแรก ราฟี หนุ่มหล่อวัย 19 ปี เชื้อสายทาจิกจากเมืองมาซาร์-อี-ชารีฟ ในจังหวัดบัลข์ คนที่สองเป็นผู้หญิงชื่อ เซทารา วัย 21 ปี จากเมืองเฮราต ที่มองว่าการเป็นศิลปินไม่จำกัดเพศและต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก
คนที่สาม ฮามีด หนุ่มมาดดีวัย 20 ปี เชื่อสายฮาซาราจากคาบูล แต่มีพื้นเพมาจากจังหวัดวาร์ดัก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นปัชตุน คนสุดท้ายเป็นผู้หญิงชื่อ เลมา ชาวปัชตุนจากกันดาฮาร์ที่เล่าว่าเธอต้องลักลอบหัดร้องเพลงโดยไม่ให้พวกทาลิบันจับได้
การแข่งขันไม่ได้มีเฉพาะบนเวทีเท่านั้น ผู้ประกวดอย่างราฟีและฮามีดมีทีมหาเสียงอย่างกับนักการเมือง คอยตระเวนติดโปสเตอร์ แจกจ่ายใบปลิว และขับรถกระจายเสียงเพื่อเชิญชวนให้โหวต ขณะที่เจ้าตัวต้องเดินสายไปตามที่ต่างๆ เพื่อพบปะผู้คน
สำหรับสองสาวแม้ไม่มีทีมหาเสียงแบบหนุ่มๆ แต่พวกเธอต่างเชื่อมั่นในทัศนคติและการแสดงออกของตนเองว่าจะเรียกคะแนนได้ เซทาราเชื่อในการแสดงออกอย่างอิสระ ส่วนเลมายังยึดมั่นกับการเป็นหญิงมุสลิมที่ไม่แสดงออกเกินงาม
ผลคือเซทาราได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 7 คนสุดท้ายจนต้องกลับบ้านก่อนใคร แต่เรื่องราวของเธอยังไม่จบแค่นั้นเมื่อการร้องเพลงสั่งลาที่เธอเปิดผ้าคลุมศีรษะแล้วเต้นตามจังหวะเพลงอย่างเต็มที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนแม้แต่ผู้เข้าประกวดด้วยกันยังรับไม่ได้ กระทั่งรายการถูกองค์กรทางศาสนาทำหนังสือตำหนิ และเซทาราถูกชาวเมืองเฮราตขู่เอาชีวิต
ส่วนอีก 3 คน เมื่อมาถึงรอบ 3 คนสุดท้าย เผ่าพันธุ์-พื้นเพของแต่ละคนก็ยิ่งมีส่วนตัดสินผลแพ้-ชนะ ราวกับว่ารายการประกวดร้องเพลงกลายเป็นการแข่งขันผ่านตัวแทนของกลุ่มต่างๆ จนไม่ใกล้เคียงกับภาพความเป็นหนึ่งเดียวของชาวอัฟกานิสถานอย่างที่หลายคนคาดหวัง
ความยาว 88 นาที ของ Afghan Star ประกอบด้วยเรื่องราวและรายละเอียดที่อัดแน่นอย่างหลากหลายและรอบด้านจนถือเป็นความดีเด่นประการแรกของหนังสารคดีเรื่องนี้ หนังใช้เทปรายการจริง ติดตามและสัมภาษณ์ผู้ผลิตรายการ ผู้ประกวด ผู้ชม กองเชียร์ ไปจนถึงฝ่ายศาสนา ประกอบกับภาพสถานที่และชีวิตผู้คนในอัฟกานิสถานที่ยังหลงเหลือร่องรอยของสงครามและความยากลำบาก และภาพแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยจากทั่วสารทิศที่เฝ้าดูรายการอย่างใจจดใจจ่อ
กระทั่งสามารถนำมาประกอบกันเป็นภาพอัฟกานิสถานที่มีมิติซับซ้อนและขัดแย้งในตัวเองผ่านเรื่องราวการประกวดร้องเพลงป๊อปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เช่น การปิดกั้นที่ย้ายจากอำนาจของฝ่ายปกครองมาอยู่ในทัศนคติของผู้คน (ชาวบ้านร้านตลาดบอกว่าเซทาราสมควรตาย!) เสรีภาพและการแสดงออกที่ยังถูกจัดแบ่งด้วยเพศและสถานที่ (อยู่ในกันดาฮาร์ผู้หญิงต้องใส่ชุดบุรกา แต่ห้ามใส่ชุดบุรกาในคาบูลเพราะจะถูกหาว่าเป็นพวกมือระเบิดพลีชีพ)
ยังมีความเป็นหนึ่งเดียวที่ยังถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อสาย-เผ่าพันธุ์ และการโหวตให้คะแนนผู้ประกวดถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ทั้งที่การโหวตมากต้องใช้เงินมาก แต่ก็ได้ ผู้แทน ที่เชื่อใจได้มากกว่าการเลือกผู้แทนในสภา
แง่มุมตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้หนังสารคดีดูสนุก มีสีสัน ทั้งยังมีจุดให้ตื่นเต้น-แปลกใจได้ตลอดเวลา
หนังจบลงด้วยบทสรุปของผู้เข้าประกวดแต่ละคนที่ยังต้องค้นฟ้าคว้าดาวตามทางของตนเองต่อไป แต่สำหรับอัฟกานิสถานคงยังไม่มีบทสรุปในตอนนี้ ในเมื่อผู้เข้าประกวดคนสำคัญอย่างทาลิบันและสหรัฐยังโชว์ดีไม่มีตก แถมไม่ยอมถูกโหวตออกง่ายๆ อยู่แล้ว
Create Date : 28 พฤษภาคม 2553 |
|
9 comments |
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 15:32:08 น. |
Counter : 1882 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 28 พฤษภาคม 2553 21:17:45 น. |
|
|
|
| |
โดย: Seam - C IP: 58.9.201.2 31 พฤษภาคม 2553 10:46:45 น. |
|
|
|
| |
โดย: beerled IP: 58.9.248.14 2 มิถุนายน 2553 23:56:43 น. |
|
|
|
| |
โดย: เอกเช้า IP: 124.122.187.89 3 มิถุนายน 2553 21:23:44 น. |
|
|
|
| |
โดย: aomzon (aomzon ) 10 ตุลาคม 2554 19:32:50 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|