ภาพยนตร์แห่ง ชาด
ภาพยนตร์แห่ง ชาด
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 11 พฤษภาคม 2551
ชาด ในที่นี้หมายถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่มีทางออกทะเล ติดอันดับต้นๆ ประเทศยากจนที่สุด และไม่มีข่าวคราวให้เรารับรู้มากนัก หรือถึงมี...ก็มักเกี่ยวกับความขัดแย้ง-สู้รบ ดังเช่นข่าวกลุ่มกบฏบุกล้อมกรุงเอ็นจาเมนาเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีไอดริสส์ เดบี เมื่อปี 2008
แต่สภาพที่ไม่เอื้อดังกล่าวยังมีหนังจากประเทศนี้มาให้เราได้ดูกันจนได้
อันที่จริง ชาดไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เนื่องจากปัญหาสงครามกลางเมือง ทั้งประเทศมีโรงหนังจริงๆ เพียงโรงเดียว แถมอยู่ในพื้นที่ของชาวฝรั่งเศส สถานการณ์คล้ายกับประเทศแอฟริกาอื่นๆ เช่น มาลี แองโกลา แคเมอรูน
ดังนั้น ใครที่คิดจะทำหนังต้องขอทุนจากองค์กรหรือบริษัทสร้างหนังต่างชาติซึ่งไม่พ้นฝรั่งเศสหรืออังกฤษในฐานะประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหญ่ของแอฟริกา ส่วนคนทำหนังย่อมไม่ใช่คนท้องถิ่นทั่วไป แต่เป็นผู้ที่จากบ้านเกิดไปอาศัย เล่าเรียน หรือทำงานในต่างประเทศ และเมื่อภายในประเทศไม่มีการจัดฉายหนังเป็นเรื่องเป็นราว ตลาดหลักของหนังเหล่านี้จึงอยู่ในยุโรปหรือตามเทศกาลหนังต่างๆ กระนั้น คนทำหนังพลัดถิ่นก็มักหาทางให้หนังตนเองได้ฉายในบ้านเกิดแม้ในวงจำกัด สำหรับภาษาที่ใช้ในหนังจะมีทั้งภาษาฝรั่งเศสกับภาษาอาหรับสำเนียงเฉพาะที่ใช้ในชาดและประเทศใกล้เคียง
เนื่องจากชาดเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส คนทำหนังซึ่งมีผลงานและเป็นที่รู้จักเพียง 2 คน จึงต่างเป็นชาวชาดที่อพยพมาอยู่ในฝรั่งเศส และได้เงินทุนทำหนังส่วนใหญ่จากบริษัทสร้างหนังสัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งคือ อิสสา แซช โคเอโล (Issa Serge Coelo) เจ้าของหนังดังเรื่อง Daresalam (2000) อีกคนซึ่งจะกล่าวถึงคราวนี้คือ มะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน (Mahamat-Saleh Haroun) กับหนัง 2 เรื่องของเขาที่ผู้เขียนเคยชม
มะหะหมัด ซาเลห์ ฮารูน หนุ่มใหญ่วัยปลายสี่สิบ อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองมาลงหลักปักฐานในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1982 หนังเรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับเขาคือ Bye Bye Africa (1999) ตามด้วย Abouna (2002) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Our Father ซึ่งช่วยตอกย้ำความสำเร็จมากยิ่งขึ้นด้วยการเปิดตัวที่เมืองคานส์และได้ฉายในอีกหลายประเทศทั่วโลก กระทั่งซาเลห์ ฮารูน เป็นเสมือนตัวแทนหรือกระบอกเสียงของชาวชาด อย่างไรก็ตาม เขายังพยายามนำหนังไปฉายตามศาลากลางของหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้คนในประเทศได้ชมแม้ต้องเจอฝนตกเป็นอุปสรรคบ้างก็ตาม
ซาเลห์ ฮารูนถ่ายทำ Abouna ในกรุงเอ็นจาเมนาและในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อกาอุย ใกล้ชายแดนแคเมอรูน โดยแต่ละวันที่ถ่ายทำเสร็จต้องส่งฟิล์มกลับไปปารีส รอคำตอบข้ามวันว่าไม่มีปัญหาจึงสามารถถ่ายทำต่อได้ แต่ถึงอย่างนั้น เขายังสามารถทำหนังเสร็จภายในเวลาเพียง 1 เดือน
หนังเล่าถึงเด็กชายพี่น้อง คนพี่ชื่อ ตาฮีร์ อายุ 15 ปี ส่วนคนน้อง 8 ขวบ ชื่อ อามีน เริ่มต้นในวันแรกที่พ่อทิ้งพวกเขาไปโดยไม่บอกกล่าว ส่วนแม่ได้แต่บอกเพียงว่าพ่อเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ ทั้งสองออกตามหาพ่อและเริ่มไม่สนใจการเรียน กระทั่งก่อเรื่องด้วยการขโมยม้วนฟิล์มหนังซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเห็นพ่ออยู่ในนั้น แม่ทนไม่ไหวจึงพาสองพี่น้องไปทิ้งไว้ที่โรงเรียนสอนศาสนาห่างไกลเมือง แต่พวกเขายังพยายามหนีออกไปให้ได้
หนังมีความคล้ายคลึงกับหนังอิหร่านด้วยตัวละครนำเป็นเด็กกับการใช้นักแสดงสมัครเล่น แต่เรื่องราวและการนำเสนอที่เล่นกับ มายาภาพ ทำให้หนังแตกต่างออกไป ขณะเดียวกัน เพลงและดนตรีประกอบกลิ่นอายท้องถิ่นช่วยให้หนังซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างจริงจังดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา
เรื่องราวว่าด้วยชะตากรรมของครอบครัวหนึ่งสามารถตีความเปรียบได้ถึงประเทศชาดซึ่งถูกทอดทิ้งให้อ่อนแอและดิ้นรนกันเอง แม้ตัวละครจะกล่าวประโยคสำคัญว่าอิสรภาพคือสิ่งสำคัญ แต่อิสรภาพที่ตัวละครได้รับต้องแลกมาด้วยความสูญเสียมากมาย เหมือนเช่นชาดซึ่งเป็นอิสระจากฝรั่งเศส แต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาแก่งแย่งอำนาจทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งล้วนแต่เป็นเชื้อร้ายจากยุคอาณานิคม
ตัวละครหญิงสาวหูหนวกเป็นใบ้ที่มาพบรักกับตาฮีร์ กับอาการป่วยของแม่และอามีนคือภาพเปรียบเทียบว่าประเทศต้องเผชิญความยากลำบากอย่างไรบ้าง
ผลงานล่าสุดของซาเลห์ ฮารูนคือ Daratt (2006) หรือ Dry Season เป็นหนัง 1 ใน 7 เรื่อง จาก 7 ผู้กำกับฯ ที่ได้รับเลือกโดยโครงการ New Crowned Hope เฉลิมฉลอง 250 ปี โมซาร์ต ให้ทำหนังโดยใช้งานของคีตกรผู้ยิ่งใหญ่เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่ง แสงศตวรรษ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คืออีกหนึ่งเรื่องจากโครงการเดียวกันนี้
ซาเลห์ ฮารูน เลือกนำเสนอแก่นสารว่าด้วย ความจริงและความปรองดอง จากงานชื่อ La clemenza di Tito ของโมซาร์ต ร้อยเรียงไปในเรื่องราวว่าด้วยความแค้นฝังแน่นอันเนื่องจากสงครามกลางเมืองของชาดตลอด 4 ทศวรรษ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้กับอาชญากรมือเปื้อนเลือดทุกคน
อาติม เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ซึ่งสูญเสียพ่อไปในสงครามกลางเมือง ได้รับมอบหมายจากปู่ให้ไปฆ่าชายชื่อ นาสซารา ผู้ฆ่าพ่อของอาติม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฆาตกรคนนี้เป็นเพียงชายสูงอายุที่มีอาชีพทำขนมปังขาย ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับเมียสาวซึ่งกำลังตั้งครรภ์
อาติมทำทีไปขอทำงานกับนาสซาราเพื่อหาโอกาสปลิดชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขายิ่งเห็นความเป็นมนุษย์ไร้พิษสงในตัวนาสซารามากขึ้น ขณะที่นาสซาราก็รู้สึกผูกพันกับเด็กหนุ่ม ถึงกระนั้น อดีตแห่งความแค้นใช่ว่าจะลบเลือนไปง่ายๆ
Daratt ถือเป็นก้าวที่พัฒนาอย่างเห็นได้ชัดของซาเลห์ ฮารูน หนังมีเรื่องราวที่ลงตัวกับความชัดเจนในประเด็นที่ต้องการสื่อ ตัวละครหลักเพียง 2 คน ที่แสดงออกอย่างคลุมเครือ คาดเดาไม่ได้ บางครั้งตึงเครียด บางครั้งผ่อนคลาย ทำให้หนังมีแรงผลักอยู่ตลอดเวลา และอย่าได้คิดว่าเรื่องราวความผูกพันที่ค่อยๆ ก่อตัวจะทำให้หนังเดินเรื่องและมีบทสรุปสูตรสำเร็จเหมือนหนังเรื่องอื่น
จาก Abouna ซึ่งเปรียบได้ถึงประเทศที่ต้องเผชิญความยากลำบากหลังได้รับอิสรภาพ Daratt เลือกเจาะลึกลงไปยังผู้คนในประเทศที่ต้องอยู่กับความขัดแย้ง-สู้รบอันนำมาซึ่งความเคียดแค้นชิงชังไม่รู้จบสิ้น หนังให้ตัวละครเด็กหนุ่มคือผู้รับมรดกความแค้นจากปู่ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า และการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่นี่เองที่ควรจะเป็นทางออกที่ดีให้แก่สังคม
สงครามกลางเมืองผลักให้ ซาเลห์ ฮารูน ต้องจากแผ่นดินเกิด วันนี้เขาใช้ภาพยนตร์เยียวยาอดีตให้แก่ตนเองด้วยความหวังว่าจะไม่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีก
แย่ตรงที่ ปืน กับ อำนาจ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมวางลงง่ายๆ
Create Date : 16 พฤษภาคม 2552 |
|
9 comments |
Last Update : 16 พฤษภาคม 2552 15:55:41 น. |
Counter : 1624 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: Seam - C IP: 58.9.197.154 16 พฤษภาคม 2552 17:22:31 น. |
|
|
|
| |
โดย: ปุถุชน (ปุถุซน ) 16 พฤษภาคม 2552 22:20:46 น. |
|
|
|
| |
โดย: ฟ้าดิน 17 พฤษภาคม 2552 16:02:53 น. |
|
|
|
| |
โดย: เอกเช้า IP: 124.120.193.238 17 พฤษภาคม 2552 22:42:10 น. |
|
|
|
| |
โดย: beerled IP: 203.150.245.181 20 พฤษภาคม 2552 17:23:15 น. |
|
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 25 พฤษภาคม 2552 11:42:21 น. |
|
|
|
| |
โดย: จูริง 30 พฤษภาคม 2552 19:46:24 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]
|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................
พญาอินทรี
ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
อ่้านแล้วนึกถึงคำๆหนึ่งที่เขาว่ากันครับประมาณว่า "ความยากลำบาก สร้างศิลปินผู้ยิ่งใหญ..."
ยุคล่าอาณานิคมนี่คงเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในโลกยุคหนึ่งเลยนะครับ?