Grace Is Gone ผู้หญิงแนวหน้า ผู้ชายแนวหลัง




Grace Is Gone
ผู้หญิงแนวหน้า ผู้ชายแนวหลัง

พล พะยาบ
คอลัมน์ rear window , mars กรกฎาคม 2551


*“จลาจลในอิรักคร่า 6 ชีวิต”

พาดหัวข่าวบนเว็บไซต์ยาฮูซึ่งผมตั้งไว้เป็นหน้าแรกเวลาเปิดเบราเซอร์สะดุดตากว่าข่าวอื่น สันนิษฐานว่าคงเป็นความคุ้นเคยกับกลุ่มคำ-เนื้อความลักษณะใกล้เคียงกันซึ่งผมเห็นตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมงสำนักข่าวเอพีก็เพิ่งสรุปยอดทหารอเมริกันเสียชีวิตในอิรักอย่างน้อย 4,098 นาย นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2003

เห็นตัวเลขแล้วไม่น่าแปลกใจที่พบเจอข่าวทำนองนี้บ่อยเหลือเกิน กระทั่งคิดว่าปริมาณข่าวซึ่งมากมายจนแทบจะเป็นความสูญเสียแบบเดจาวูได้เปลี่ยนความสลดหดหู่เป็นความด้านชาคุ้นชินบ้างหรือเปล่า

ความจริงนอกเหนือจากเนื้อข่าวซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ ยิ่งมีทหารอเมริกันเสียชีวิตมากเท่าใด จำนวนผู้สูญเสียย่อมมีมากกว่าหลายเท่า ทั้งคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง-คนรู้จักอีกนับไม่ถ้วน

พื้นที่สื่อรองรับความตาย ไม่มีใครรายงานข่าวความเศร้า…

หนังเรื่อง Grace Is Gone (2007) หยิบความจริงดังกล่าวมาถ่ายทอดให้เห็นว่าผู้ที่สูญเสียคนสำคัญไปในสงครามปลดปล่อยอิรักต้องเผชิญกับอะไรบ้างโดยนำเสนอผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ที่พิเศษคือหนังให้ผู้จากไปเป็นผู้หญิง แทนที่จะเป็นทหารผู้ชายตามปกติ ส่วนคนที่ต้องแบกรับความโศกเศร้ากลับกลายเป็นสามีผู้อยู่ในแนวหลัง

หนังเขียนบทและกำกับโดย เจมส์ ซี สเตราส์ ได้ จอห์น คูแซ็ก นักแสดงหนุ่มใหญ่รับบทนำ ส่วนทีมงานที่ถือเป็นเซอร์ไพรส์เล็กๆ คือตำแหน่งคนทำดนตรีประกอบเพราะเป็นบิ๊กเนมรุ่นเก๋าอย่าง คลินต์ อีสต์วู้ด และปู่คลินต์นี่เองที่พาหนังเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำถึง 2 สาขา ได้แก่ สาขาดนตรีประกอบ และสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากเพลงชื่อเดียวกับหนัง

พูดถึงเรื่องเพลงแล้ว ใครเป็นแฟนวงร็อค เดฟ แมทธิวส์ แบนด์ (Dave Matthews Band) คงสงสัยว่าหนัง Grace Is Gone เกี่ยวอะไรกับเพลง Grace Is Gone ในอัลบั้ม Busted Stuff ปี 2002 ของวงหรือเปล่า แถมเดฟ แมทธิวส์ ยังเคยพูดว่าอุทิศเพลงนี้แด่เพื่อน ครอบครัว และผู้คนรอบตัวที่ถูกส่งไปร่วมสงครามอิรัก อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านบทสัมภาษณ์ของเจมส์ ซี สเตราส์ และข้อมูลเบื้องหลัง ไม่มีการอ้างอิงถึงเพลงนี้

หนังเล่าถึงหนุ่มใหญ่ชื่อ สแตนลีย์ (จอห์น คูแซ็ก) พนักงานระดับหัวหน้าแผนกในศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ภายในบ้าน พ่อของลูกสาว 2 คน คือ ไฮดี้ และดอว์น วัย 12 และ 8 ขวบตามลำดับ เช้าวันหนึ่งเขาได้รับแจ้งการเสียชีวิตของเกรซ ภรรยาซึ่งเป็นทหารและกำลังปฏิบัติภารกิจในอิรัก แม้จะช็อคและเศร้าเพียงใด สแตนลีย์ต้องข่มความรู้สึกไว้เพื่อเป็นหลักให้ลูกๆ ซึ่งต้องรู้ความจริงในไม่ช้า

กระนั้น ความพยายามครั้งแรกที่จะบอกข่าวแก่ลูกล้มเหลว สแตนลีย์จึงคิดแผนให้เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ นัยว่าเพื่อเหนี่ยวรั้งโมงยามแห่งความเศร้าให้มาถึงช้าที่สุด และเพื่อให้ตัวเขาเองได้ผัดผ่อนบอกความจริงอันโหดร้ายแก่ลูกๆ ไปก่อน

เมื่อดอว์นเสนอว่าต้องการไปเที่ยวสวนสนุกในฟลอริดา การเดินทางไกลข้ามรัฐของพ่อและลูกสาว 2 คน จึงเริ่มต้นขึ้นโดยมีทั้งความสุขและความเศร้ารออยู่ที่ปลายทาง

แม้จะพูดถึงสงครามอิรักโดยตรง แต่หนังเลือกนำเสนอเฉพาะเรื่องราวของ 3 ตัวละคร คือพ่อและลูกสาวซึ่งเป็นผู้สูญเสีย ไม่มีภาพสงครามหรือภาพในอิรัก ไม่มีฉากแฟลชแบ็คเพื่อเพิ่มมิติความสัมพันธ์ของตัวละครซึ่งหนังเรื่องอื่นชอบใช้ แต่เลือกปล่อยเวลาให้กับตัวละครทั้งสามอย่างเต็มที่ตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง

...นั่นคือพวกเขาเหลือกันอยู่แค่นี้

ขณะเดียวกัน หนังใส่ทรรศนะวิพากษ์จอร์จ ดับเบิลยู บุช และสงครามอิรักไว้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ขยายให้เป็นประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทิศทางของหนังยังมุ่งไปที่อารมณ์ความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย

อย่างที่บอกว่าหนังเรื่องนี้มีความพิเศษโดยสลับบทบาทของชายและหญิงจากที่คุ้นเคยกัน ผู้หญิงกลายเป็นทหารถูกส่งไปรบในอิรัก หรือในความหมายแบบไม่เจาะจงว่าถูกส่งไปแนวหน้า ส่วนผู้ชายอยู่แนวหลังต้องเป็นฝ่ายดูแลบ้านและลูกๆ ลองนึกภาพตามอาจเห็นตัวละครสแตนลีย์หุงหาอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู ขณะที่ภรรยาถือปืนลาดตระเวน

*หนังยังเน้นบทบาทความเป็นผู้ชายที่ “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” ให้ตัวละครสแตนลีย์เพิ่มขึ้นโดยให้เขาทำงานในศูนย์จำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ทุกเช้าต้องนำลูกน้องบูมปลุกใจก่อนทำงานด้วยการสะกดคำว่า Home Store อย่างเข้มแข็ง ราวกับว่าเขาเป็นหนึ่งเดียวกับบ้านจนแยกไม่ออก

การสลับบทบาทยังต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมเข้ากลุ่มพูดคุยกันในหมู่คู่สมรสของทหารซึ่งสแตนลีย์เป็นผู้ชายคนเดียวท่ามกลางสาวน้อยสาวใหญ่ 5-6 คน ขณะที่หน้าที่ดูแลลูกสาว 2 คน ซึ่งควรจะเป็นบทบาทอันเหมาะสมของผู้เป็นแม่ พ่ออย่างสแตนลีย์ก็ต้องรักษาการแทนให้ดีที่สุด

เห็นได้ว่าหนังตั้งใจเล่นกับการรับรู้ของผู้ชมโดยเปลี่ยนภาพคุ้นเคยไปในทางตรงกันข้าม ข้อดีคือความแตกต่างที่น่าสนใจซึ่งหนังเรื่องหนึ่งควรจะมีเพื่อดึงดูดผู้ชม บทบาทการเป็นทหารของตัวละครหญิงซึ่งดูขัดแย้งกับตัวละครชายที่ไม่เพียงต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านและลูกๆ หากยังเผยความอ่อนแอ ลังเล สับสนออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง อาจชวนให้คิดว่าหนังมุ่งนำเสนอบทบาทของสตรีเพศในปัจจุบันว่าทัดเทียมได้กับผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเรื่องราวทั้งหมดดำเนินตามการตัดสินใจของตัวละครชายอย่างสแตนลีย์ การเป็นพ่อที่ต้องเลี้ยงดูลูกสาวถึง 2 คน ทำให้เขาต้องแสดงทั้งความเข้มแข็งและอ่อนโยนออกมา เขาไม่ได้กล้าหาญในสนามรบที่ห้อมล้อมด้วยศัตรู แต่เป็นการหยัดยืนในความสัมพันธ์ของสามีกับภรรยา ของพ่อกับลูกๆ และของหัวหน้าครอบครัวกับสมาชิกตัวน้อยที่เฝ้ามองอย่างไว้วางใจ กระทั่งสุดท้ายตัวละครชายผู้นี้ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทอันไม่คุ้นเคยได้อย่างสมบูรณ์ นั่นย่อมแสดงว่าหนังให้ค่าของเพศชายไม่ได้น้อยไปตามบทบาทอันขัดแย้งที่แสดงออกมา ยังไม่นับว่าตัวละครหญิงซึ่งเป็นแนวหน้าถูกกันออกไปเป็นเพียงฉากหลังที่ถูกเอ่ยอ้างถึงเท่านั้น

นอกจากนี้ หนังได้ใส่แบ็คกราวน์เป็นเหตุผลสำคัญให้เห็นว่าทำไมสแตนลีย์ถึงต้องรับบทบาทดูแลบ้านและลูกๆ ไม่ใช่เพราะเขาอ่อนแอหรือขลาดกลัวแต่อย่างใด อันที่จริง สแตนลีย์ใฝ่ฝันจะเป็นทหาร แม้รู้ดีว่าตนเองสายตาไม่ดีก็ยังหาทางซิกแซกเข้าไปเป็นทหารจนได้ กระทั่งได้พบรักและแต่งงานกับเกรซ แต่ปัญหาเรื่องสายตาทำให้สแตนลีย์ต้องพ้นสภาพการเป็นทหารในที่สุด

หมายความว่าถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุสุดวิสัยที่ควบคุมไม่ได้ สแตนลีย์ย่อมรับบทบาทเดียวกับภรรยาได้เช่นกัน

ถึงกระนั้น การเป็น “แนวหน้า” หรือ “แนวหลัง” ไม่ใช่เรื่องต้องใส่ใจสำหรับสแตนลีย์ เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดนับแต่นี้ คือคอย “นำหน้า” และ “หนุนหลัง” ให้ลูกสาวตัวน้อย 2 คน เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

...ในวันที่ไม่มีแม่อีกแล้ว




 

Create Date : 12 เมษายน 2552
11 comments
Last Update : 12 เมษายน 2552 6:07:30 น.
Counter : 2223 Pageviews.

 





 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 12 เมษายน 2552 6:08:33 น.  

 

เป็นหนังอีกเรื่องที่อยากดูมากครับ จ้องมาตั้งแต่ตอนที่ฮือฮากันแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ดู มีแววว่าน้ำตาท่วมจอแน่ๆ เลย

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.120.188.134 12 เมษายน 2552 20:27:38 น.  

 

เรื่องนี้น่าดูนะครับ ผมล่ะเบื่อสงครามอิรัก

อ่อ มีสนพ.หนึงเขาก็ไม่ชอบมหกรรมแบบนี้เหมือนกันครับ เขาบอกว่าจะทำให้ร้านหนังสือขายไม่ค่อยได้ แต่พอไม่ออกงานไปสักปีได้ เขาก็กลับมาเปิดบูธขายใหม่ครับ เหอๆ

 

โดย: McMurphy 12 เมษายน 2552 21:28:49 น.  

 

ยังไม่ได้ดูอีกตามเคย =_=

เพิ่งดู Still Walking ไป ค่อนข้างชอบนะครับ

 

โดย: merveillesxx 14 เมษายน 2552 3:00:20 น.  

 


ตอบ เอกเช้า
มีช็อตเรียกน้ำตาเยอะครับ
แต่ก็โอเค ไม่เว่อร์มาก ไปตามเนื้อหา

ตอบ McMurphy
สนพ.อะไรเอ่ย?
ถ้าไม่อุดมการณ์+มั่นคงจริงๆ คงต้องตามน้ำอ่ะครับ
อย่าง สนพ.เล็กๆ ยังไงคงต้องหวังเงินเข้ากระเป๋าโดยตรง ไม่ต้องผ่านเอเยนต์ จากงานอย่างนี้เหมือนกัน

ตอบ merveillesxx
อยากดู Still Walking ด้วย แต่ยังไม่มีเลย


 

โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ 15 เมษายน 2552 1:01:23 น.  

 

เคยดูค้างไว้นานแล้วค่ะ จนลืมไปเลยว่ายังดูไม่จบ

ปก way สีชมพูแจ่มมาก สวยดีค่ะ
(Writer's Secret : //www.tuneingarden.com/secret/)

 

โดย: renton_renton 17 เมษายน 2552 10:13:25 น.  

 

อ๋อ คิดว่าเป็นสนพ.ผีเสื้อนะครับ

 

โดย: McMurphy 17 เมษายน 2552 11:07:24 น.  

 

^
^
พี่ยังไปแซวๆกับคนรู้จักอยู่เลยว่า ผีเสื้อจะไม่ขายหนังสือในงาน แต่พี่ยังไปซื้อหนังสือเขามาในงานตั้งสองสามเล่ม ชักยังไงๆ

ปรากฏว่าเป็นบูธดวงกมลนี่หว่า ไม่ใช่บูธผีเสื้อ

 

โดย: nanoguy IP: 125.26.168.231 18 เมษายน 2552 2:22:59 น.  

 

ยังไม่เคยดูครับ แต่สะดุดกับ 2 บรรทัดก่อนสุดท้ายครับ

ในเรื่องความสัมพันธ์ ผมว่ามันเป็นประโยคที่จริงมากครับ

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.198.108 18 เมษายน 2552 15:31:05 น.  

 

ชอบเลยเรื่องนี้ บิ๊วด์แต่พองาม และคูแซ็คเล่นดีผิดหูผิดตา

 

โดย: yatiko IP: 118.173.165.155 22 เมษายน 2552 14:39:19 น.  

 

ยังไม่ได้ดูเลยครับเรื่องนี้

 

โดย: beerled (beerled ) 22 เมษายน 2552 22:15:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
12 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.