Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ





คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ
ดัดแปลงจาก ……….อรุณี เหมาอุปถัมภ์, อัสนี คชนันทน์,เพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ์



การมารับยาสลบเพื่อการผ่าตัด ผู้ป่วยควรได้รับทราบแผนการเตรียมตัวเพื่อมารับยาสลบ เนื่องจาก ความเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยเตรียมกายและใจได้เป็นอย่างดี ทำให้ลดความหวาดกลัวและความกังวลที่อาจจะมีมากเกินไปจนเกิดความเครียดหรือ ปัญหาในการทำผ่าตัด


การเตรียมตัวของผู้ป่วย

งดอาหารและน้ำดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน หรือ ที่เรียกว่า N.P.O. ก่อนวันผ่าตัด

ทั้งนี้เพราะต้องการให้กระเพาะอาหารว่าง จะได้ไม่เกิดอาเจียนและสำลักอาหารเข้าไปในหลอดลมเวลาที่หมดสติจากยาสลบ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเศษอาหารอาจจะเข้าไปอุดตันในหลอดลมทำให้หายใจไม่ได้ นอกจากนั้น เศษอาหารและน้ำย่อยซึ่งมีภาวะเป็นกรด จะทำลายเนื้อเยื่อปอด เกิดอาการบวมและอักเสบอย่างรุนแรงของปอด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ท่านต้องงดอาหารและน้ำดื่ม ไม่เช่นนั้น ท่านจะต้องถูกงดการผ่าตัดในวันนั้น

โดยทั่วไป อาหารที่มีกากและนมจะผ่านกระเพาะอาหารในเวลา 6-8 ชั่วโมง ส่วนอาหารน้ำหรือน้ำหวาน จะผ่านในเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะแนะนำให้งดทุกอย่าง หลังเที่ยงคืน เพื่อความสะดวกและปลอดภัย

ในกรณีเด็กเล็ก การงดอาหารและน้ำดื่มจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดย ให้งดนมและอาหาร 6 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด แต่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ให้ดื่มน้ำได้จนกระทั่ง 3 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้ดื่มน้ำได้จนกระทั่ง 4 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อเด็กจะไม่ทรมานจากหิว และกระหายน้ำมากจนเกินไป

ยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ

ยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำเพื่อการักษาโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น กรุณาปรึกษาแพทย์ที่รักษาท่านอยู่ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร จะต้องงดยาก่อนผ่าตัดหรือไม่ และต้องแจ้งให้วิสัญญีแพทย์ หรือ วิสัญญีพยาบาล ทราบก่อนผ่าตัดด้วยเสมอ

การทำความสะอาดร่างกายและเครื่องแต่งกาย

ท่านควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สระผม ตัดเล็บให้เรียบร้อย เพราะหลังผ่าตัด แพทย์มักจะสั่งไม่ให้แผลถูกน้ำในระยะแรกๆ ส่วนมากมักใช้วิธีเช็ดตัวแทนการอาบน้ำ

ควรจะบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากบ่อยๆ ในเช้าวันผ่าตัด เพราะการงดอาหารและน้ำนานๆ จะทำให้คอแห้งและเกิดกลิ่นปาก การกลั้วคอบ้วนปากด้วยน้ำยาจะช่วยให้ปากไม่แห้งจนเกินไป และช่วยลดแบคทีเรียในปาก ทำให้สบายขึ้น

สำหรับท่านที่มีฟันปลอมชนิดถอดได้ กรุณาถอดเก็บไว้ให้เรียบร้อย
ท่านที่เคลือบสีเล็บไว้ ควรเช็ดออกเพื่อที่จะได้ใช้สีเล็บ เป็นสิ่งสังเกตภาวะของออกซิเจนในร่างกาย เมื่อท่านกำลังรับยาสลบอยู่ ในกรณีที่เกิดมีความผิดปกติของทางเดินหายใจ

ควรใส่เสื้อผ้าที่ค่อนข้างหลวมและสวมใส่สบาย ๆ ง่ายต่อการถอดเปลี่ยนชุดสำหรับใส่เข้าห้องผ่าตัด หลังผ่าตัดท่านอาจมีผ้าปิดแผลที่หนาขึ้นพอสมควร หากท่านใส่เสื้อผ้าที่แนบพอดีตัว จะทำให้ใส่ชุดเดิมลำบาก
ท่านควรจะมีญาติมาด้วยหรือไม่ในกรณีที่ท่านจะมารับการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก

ท่านควรจะมีญาติมาส่งและรับกลับ โดยเฉพาะท่านที่ต้องมารับการผ่าตัดภายใต้การให้ยาสลบ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของท่านเอง ญาติจะคอยช่วยเหลือในด้านการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ซื้อยาหรือชำระเงิน บางครั้งอาจต้องช่วยตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น ผลเจาะเลือด ผลเอกซเรย์ เป็นต้น รวมทั้งหลังการผ่าตัดและฟื้นจากยาสลบ ท่านอาจมึนงง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการเดินทางกลับบ้าน หรือถ้าต้องทำผ่าตัดมากกว่าที่คาดไว้ และแพทย์เห็นว่าควรต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อดูอาการก่อนสัก1-2 วัน ก็จะได้มีญาติติดต่อไปยังครอบครัวของท่านได้ ดังนั้นการมาโรงพยาบาล เพื่อทำการผ่าตัดจึงควรมีญาติมาด้วยทุกครั้ง

ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยเด็ก บิดามารดาหรือผู้ที่ดูแลเด็กเป็นประจำ ควรจะเป็นผู้พามาเองจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะบิดามารดาย่อมรู้ประวัติต่างๆ ของเด็กดี แม้กระทั่งการงดอาหารและน้ำดื่ม ขณะเดียวกันเด็กจะได้รับความอบอุ่นทางใจ ลดความหวาดกลัวลงได้ ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การเอาใจใส่ดูแลเด็กหลังฟื้นจากยาสลบ ซึ่งถ้าหากพบอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ควรไต่ถามทันที


ของมีค่าควรทำอย่างไร

ไม่ควรนำของมีค่าติดตัว มายังโรงพยาบาล ควรจะถอดเก็บไว้ที่บ้านจะปลอดภัยกว่า ทั้งนี้เพราะการที่ท่านต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเข้าและออกจากห้องผ่าตัด อาจทำให้ของมีค่าตกหล่นได้ แต่ถ้าหากท่านลืมถอดของมีค่าไว้ที่บ้านและนำติดตัวมา ทางเจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วยหรือห้องเตรียมผ่าตัด จะขอให้ท่านถอดออกและเขียนระบุของมีค่านั้น ลงในสมุดฝากของ โดยที่เจ้าหน้าที่จะเก็บรักษาไว้ชั่วคราว จนกว่าท่านจะฟื้นดีแล้วจึงมอบคืนให้ท่าน


ท่านจะพบอะไรบ้าง เมื่อท่านมาถึงห้องผ่าตัด

ท่านจะพบวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลที่คอยท่านอยู่ ท่านจะถูกถามชื่อ นามสกุล เมื่อตรวจชื่อ นามสกุล ผลการตรวจทางห้องทดลอง และตารางผ่าตัด เรียบร้อยแล้ว จะให้ท่านเปลี่ยนไปนอนบนเตียงล้อเลื่อนเพื่อเข้าห้องผ่าตัด ขณะเดียวกันจะถามประวัติเจ็บป่วยและโรคประจำตัว ตลอดจนการเตรียมงดอาหารและน้ำดื่มอีกครั้งหนึ่ง

ท่านจะได้รับการวัดความดันเลือด จับชีพจร และฟังเสียงหายใจ
ท่านจะได้รับบริการให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยทั่วไปมักจะให้ทางด้านหลังมือหรือเหนือข้อมือ

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ท่านจะถูกพาเข้าไปในห้องสำหรับผ่าตัด ท่านจะได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นการให้ยาชาเฉพาะที่ การให้ยาสลบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกว่าควรจะให้ยาระงับความรู้สึกแบบไหน ที่จะทำให้ท่านสบายและปลอดภัยมากที่สุด ตลอดการผ่าตัดจะมีวิสัญญีแพทย์ และวิสัญญีพยาบาล เฝ้าสังเกต และช่วยดูแลท่านจนกว่าการผ่าตัดจะเสร็จสิ้น

หลังผ่าตัดเมื่อท่านรู้สึกตัวดีแล้ว จึงส่งท่านกลับไปดูแลต่อยังหอผู้ป่วยเพื่อพักฟื้นและให้การดูแลหลังผ่าตัดต่อไป

ในกรณีที่ท่านรับการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ท่านจะได้ออกมาพบญาติที่ห้องเตรียมผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับบ้าน พร้อมทั้งมอบบัตรนัดของแพทย์เพื่อติดตามการรักษาต่อไป



ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ???.... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???"

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และการบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18





Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 22 มกราคม 2562 21:55:44 น. 0 comments
Counter : 6841 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]